Skip to main content

 

อิมรอน  โสะสัน  

 

ไม่นานมานี้ ผมได้เจอลูกศิษย์คนหนึ่ง ตอนนี้เขากำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว และเริ่มมีบทบาทรับใช้ชุมชนและสังคมของเขา ผมเจอเขาครั้งแรก ตอนนั้น ผมยังศึกษาชั้นปีที่ 3 ในรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านไปหลายปีแล้ว เราทั้งสองยังติดต่อสัมพันธ์กันตามวาระ แต่ก็เฝ้าติดตามหน้าที่การงาน ครอบครัว ที่สำคัญ ผมเฝ้ามองเขาด้วยความยินดีที่เห็นเขาเป็นคนรุ่นใหม่และตั้งใจจะทำงานเพื่อรับใช้สังคม อุทิศตนเพื่องานศาสนาที่เขารักและศรัทธา

ลูกศิษย์คนนี้มาเยี่ยมผมที่บ้านพักในมหาวิทยาลัยพร้อมกับผู้อาวุโสอีกสองท่าน เราคุยกันหลายเรื่อง ถามสารทุกข์สุกดิบตามประสาคนคุ้นเคย แต่สิ่งที่แปลกไปคือเขาโตขึ้นมาก ดูสง่า มีภูมิ  ตัวสูงใหญ่ตามลักษณะชาติพันธุ์ของเขา เขาเล่าให้ผมฟังว่า เขาได้ทำงานศาสนาในหลายพื้นที่ในภาคอีสาน งานของเขาคือ การเดินทางไปเยี่ยมเยือนพี่น้องมุสลิมตามมัสยิด ชุมชน ท้องที่ต่างๆ เขาเล่าว่า ขณะนี้มีพี่น้องมุสลิมอพยพเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่อีสาน หลายแห่ง มาแบบเป็นครอบครัว บางทีก็มากันเป็นกลุ่ม บางกลุ่มเข้ามาพร้อมอาชีพที่ตนถนัด เช่นทำสวนยาง ขายพริกแกง และอาชีพอื่นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็คงมีเหตุผลของตัวเอง เหตุผลครอบครัว และกลุ่มมากพอในการคิดย้ายถิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกประเด็นหนึ่งที่ลูกศิษย์คนนี้บอกผมและผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย คือ เขาบอกว่า ตามความเข้าใจของเขา คนอพยพเข้ามาอยู่ในอีสานรุ่นหลังๆอาจมีมากกว่าจำวนวคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรุ่นแรกๆ และมีหลากหลายมากขึ้น....

หลังจากที่ผมส่งแขกชุดนี้กลับไป ผมนั่งย้อนถึงบทสนทนาเหล่านั้น และพยายามมองปรากฏการณ์ทางสังคมมุสลิมอีสานอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้างที่น่าจะลองเขียนถึงบ้าง

แน่นอนครับ ในขณะนี้ บริบทมุสลิมอีสานมีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน เรามีมัสยิดมากขึ้น มีคนเข้ามาอาศัย ศึกษา ทำงาน และท่องเที่ยวในอีสานก็ไม่น้อย (มากขึ้นเช่นกัน) อีสานเริ่มเป็นเป้าหมาย (destination) ของการตั้งถิ่นฐาน (settlement) มากกว่าพื้นที่ทำมาหากินชั่วคราว (temporary living) ของมุสลิมโดยปริยาย สิ่งนี้ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเช่นกันว่า  แล้วเราจะคิดถึงการจัดวางความสัมพันธ์อย่างไรเมื่อโครงสร้างทางสังคมเริ่มเปลี่ยนไปไม่น้อย

สัจธรรมอันหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ เมื่อเรามองเข้ามาในประชาคมมุสลิมอีสาน (หรืออาจหมายรวมประชาคมมุสลิมทั้งหมดด้วย) นั่นคือ พวกเขามีพลวัต มีการเคลื่อนตัว มีการเดินทาง อพยพย้ายถิ่น ส่วนหนึ่งอาจมาจากค่านิยมของคำสอน และบางส่วนก็มาจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และอื่นๆ เป็นต้น

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ของคนรุ่นหลังๆย่อมหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ การผูกโยงกับคนท้องถิ่นเดิมไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้ผมขอขยายความเพิ่มสักนิดว่า ชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่น้อยกว่า 2 ช่วงอายุคน (generation) หรือมากว่านั้น ผมถือว่าเป็น “คนพื้นที่” (the Locals) เพราะได้กำเนิดทายาทในพื้นที่อีสานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนมุสลิมที่เพิ่งอพยพเข้ามาไม่นานนักยังไม่ถึงหนึ่งช่วงอายุคน ผมถือว่ากลุ่มนี้เป็น “คนรุ่นหลัง” หมายถึง อาจมาแบบคนเดียว ยกครอบครัวกันเข้ามา หรือเป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือญาติ แต่ยังไม่ได้ให้กำเนิดทาทายรุ่นที่สองบนแผ่นดินอีสาน แต่มาอยู่กันเป็นเดือน เป็นปีก็ได้ อันนี้เป็นเพียงการให้ทัศนะการแบ่งของผมเท่านั้นนะครับ

คำถามที่ตามมาคือ จะจัดวางความสัมพันธ์และการแบ่งหน้าที่อย่างไรระหว่างสองกลุ่มที่กล่าวมา ผมลองสมมุติตัวแบบ (scenario) หยาบๆดูสัก 2 ตัวแบบเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ ดังนี้

ตัวแบบที่ 1 โดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่มาก่อนย่อมเป็นผู้วางรากฐาน วางโครงสร้างทางสังคม เพราะพวกเขาจำเป็นจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ชีวิต หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจที่จะปักหลักถาวร ผมได้รับการบอกเล่าจากคนรุ่นเก่าๆว่า เมื่อก่อนมุสลิมจะรวมตัวกันตามบ้าน และทำละหมาดร่วมกัน พอหลังๆมา จำนวนประชากรมุสลิมขยายตัวขึ้น และมั่นใจแน่วแน่กันแล้วว่า พวกเขาจะไม่เคลื่อนที่ไปไหนอีกแล้ว  ผู้นำ หรือแกนนำชุมชนจึงเริ่มนึกถึงโครงสร้างทางสังคมถาวร เช่น การสร้างมัสยิด สร้างสุสาน ที่เรียนศาสนา ร้านอาหารฯ บางท้องที่พัฒนาไปไกลถึงการสร้างอาชีพรองรับ  สิ่งเหล่านี้ย่อมหมายถึงทิศทางของการวางโครงสร้างทางสังคมในขณะนั้น และยังมีให้เห็นจนถึงเดี๋ยวนี้

สำหรับกลุ่มคนรุ่นหลังที่เข้ามาในพื้นที่ที่มีความพร้อมเชิงโครงสร้างทางสังคมอยู่มากแล้ว  พวกเขาอาจต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดการหลอมรวมเป็นชุมชนเดียวกันกับคนในพื้นที่ ในทางเดียวกัน พวกเขาควรได้รับพื้นที่ (space) ในการทำหน้าที่ต่างๆที่สามารถทำได้ให้กับชุมชนที่พวกเขาเข้ามาอยู่ใหม่ เช่น ช่วยสอนศาสนา ช่วยบริหารมัสยิด ช่วยระดมทุนการศึกษา ทุนก่อสร้างมัสยิด ฯลฯ ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ สามารถมีให้เห็นได้ไม่ยากนัก ซึ่งในที่นี้ กลุ่มคนรุ่นหลังคือผู้ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มและสร้างความแข็งแรง ขยายสมาชิกให้กับโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่เดิม และสามารถขยายพื้นที่บริการของมัสยิด สุสาน ร้านอาหาร ฯด้วย พวกเขาสามารถยอมรับการเป็นสมาชิกของชุมชน (belongingness) ที่มีอยู่เดิม ถึงแม้ว่าจำนวนกลุ่มคนมาใหม่จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ ได้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่ชุมชน โครงสร้างทางสังคมที่มีก่อนหน้าพวกเขาจะอพยพเข้ามาด้วยความเต็มใจ แต่ก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้ว่า การเข้ามาอยู่ใหม่ของกลุ่มคนรุ่นหลัง แต่อาจมีจำนวนสมาชิกมากกว่าคนพื้นเมืองเดิม พวกเขาอาจคิดถึงการต่อรองทางสังคมบางอย่าง เพื่อสร้างพื้นที่การยอมรับให้มากขึ้นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข การตกลง การแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบ ดูแลโครงสร้างทางสังคมระหว่างกัน

ตัวแบบที่ 2 กล่าวได้ว่า กลุ่มคนที่มาใหม่ อาจคิดว่า โครงสร้างทางสังคมเดิมคงไม่เหมาะสำหรับพวกเขา พวกเขาอาจมีความคุ้นเคยกับลักษณะโครงสร้างทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเดิมที่พวกเขาจากมา กลุ่มนี้อาจคิดว่า พวกเขามีจำนวนมากพอที่จะไม่ต้องเข้าไปหลอมรวมกับกลุ่มใด แต่ก็ยอมรับการมีของชุมชนเดิม พวกเขาสามารถสร้างชุมชน สร้างโครงสร้างทางสังคมเพื่อรองรับการดำรงอยู่ของกลุ่มตนได้ โดยการรวมกลุ่มของเครือญาติ พี่น้อง ที่อพยพมาอยู่ในดินแดนใหม่พร้อมๆกัน พวกเขาต้องคำนึงถึงว่า โครงสร้างทางสังคมแบบใดจะเหมาะสมกับชาติพันธุ์ อาชีพ ลักษณะนิสัย และเป้าหมายการอพยพ และในความเป็นจริง พวกเขาได้ตัดสินใจอย่างถ่องแท้หรือยัง ? ที่จะปักฐานบนแผ่นดินใหม่แห่งนี้ หรือ พวกเขาเข้ามาอยู่เพียงชั่วคราว เพียงระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ การคิดถึงโครงสร้างทางสังคมแบบถาวร หรือการคิดที่จะเข้าไปหลอมรวมกับคนพื้นเมืองเดิมและร่วมกันกำหนดทิศทาง กำหนดอนาคตของชุมชน หรือสังคม ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกมากนัก

 ถึงแม้ว่าปรากฎการณ์นี้อาจจะยังไม่เห็นเด่นชัด ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ผมแค่เพียงจินตนาการด้วยกับข้อมูลที่ลูกศิษย์ของผมนำมาเล่าให้ฟังเท่านั้น แต่ถ้าตัวแบบที่สองนี้เกิดขึ้น ย่อมหมายถึง ว่าประชาคมมุสลิมจำเป็นต้องคิดถึงโครงสร้างความสัมพันธ์กันใหม่ระหว่าง “โครงสร้างเดิม” กับ “โครงสร้างใหม่” ที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ของกลุ่มคนที่รวมตัวเป็นประชาคมใหม่ในภูมิภาค

ไม่ว่าตัวแบบการวิเคราะห์ของผมจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมมุสลิมอีสาน หรือ อุมมะฮ์มุสลิมทั่วไป อาจต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชน สังคม ที่อาศัยอยู่ในทุกๆมิติ การจัดวางความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ในสังคมจะทำกันอย่างไร โครงสร้างเดิมที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการให้บริการ และการขยายตัวของสมาชิกทั้งเก่าและใหม่อย่างไร หรือการมีโครงสร้างใหม่ที่แยกตัวออกจากโครงสร้างเดิมจะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของประชาคม

...เพราะถ้าเราไม่วิเคราะห์ ปรับปรุง จัดวาง บริหารโครงสร้างทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป บางทีช่องว่างของกลุ่มต่างๆที่รวมกันในโครงสร้างทางสังคม ย่อมมีผลต่อการกำหนดอนาคต ทิศทางของชุมชน และสังคมของเรา โดยที่เราตั้งตัวไม่ทันได้เหมือนกัน.....

....วัลลอฮุละลัม....