สามจังหวัดชายแดนใต้: จำเป็นต้อง “ทบทวน” ข้อเรียกร้องอิสรภาพ
โกตาบารู มาเลเซีย
โฆษกของมาราปาตานี นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม ที่กำลังพูดคุยเพื่อสันติสุขกับตัวแทนของรัฐบาลไทย กล่าวว่า คำถามเรื่องการแยกตัวเป็นอิสรภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นถัดไป
“วัตถุประสงค์ของขบวนการต่างๆ คือ การแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขบวนการต่างๆ ต่อสู้ให้ได้มา จากในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องทบทวนเรื่องนี้” นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้
“เราต้องทบทวนเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ บางทีอาจขอเป็นเขตปกครองตนเอง เขตบริหารตนเอง หรือเขตที่สามารถกำหนดความต้องการของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นไปได้มากกว่า แต่ชื่อเรียกขานเขตเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่เนื้อหาสาระ และชาวมลายูปาตานีต้องใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข”
นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม อายุ 60 ปี มีอาชีพเป็นแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ ในเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตันเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ศกนี้
นายอาบู ฮาฟิซ เป็นสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปาตานี (Patani Islamic Liberation Front – BIPP) และเป็นตัวแทนของขบวนการที่เข้าร่วมในองค์กรมาราปาตานีที่ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเขาได้รับหน้าที่โฆษกของมาราปาตานีด้วย
กลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมกับมาราปาตานี เพื่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (National Revolutionary Front – BRN) ซึ่งมีกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุด กลุ่มย่อยในขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization – PULO) สองกลุ่ม และ กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (Islamic Mujahideen Movement of Patani – GMIP)
นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่า ในคณะกรรมการควบคุมนโยบายนั้น มาจากสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็น 6 ราย และตัวแทนจากขบวนการอื่นๆ อีก 8 ราย
“ตำแหน่งสำคัญๆ เป็นของสมาชิกจากบีอาร์เอ็นเพราะว่า บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มใหญ่สุด” นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวเพิ่มเติม
พื้นที่ที่เคยเป็นปาตานีดารุสลาม ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา
เหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่จนกลายเป็นเหตุรายวัน ตามสถิติที่รวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 มีเหตุการณ์ยิงหรือเหตุระเบิดกว่า 15,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,700 คน
นายอาบู ฮาฟิซ เข้าร่วมในความพยายามเจรจาสันติภาพมาแล้วหลายปี ก่อนที่จะมีการเจรจาในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 ที่สะดุดลงในเวลาไม่นานนักเสียอีก
การพยายามเจรจากับทางทหารไทยที่ยึดอำนาจมาเมื่อ ปี 2557 นั้น ยังไม่มีผลที่ชัดเจน และยังมีความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ นายอาบู ฮาฟิซ ได้แสดงความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และพร้อมที่จะยอมรับผลการพูดคุย แม้ว่าผลลัพท์จะไม่ได้เป็นอิสรภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดก็ตาม
เบนาร์นิวส์: การพูดคุยฯ จะคืบหน้าไปในทิศทางใด? คุณคาดหวังถึงห้วงเวลาในการพูดคุยว่าจะยาวนานเท่าไหร่?
อาบู ฮาฟิซ: เป็นกระบวนการที่ยาวนาน ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองปี...
เมื่อเราคุยกับทหาร เรามีจุดประสงค์เพื่อทำให้กระบวนการมีแก่นสารและสร้างความไว้วางใจแก่กัน (รัฐบาล)ทหารไม่ได้มีอำนาจตลอดไป... ในเรื่องที่สำคัญๆ เราจะคุยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป เราเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราแตะต้องเรื่องที่อ่อนไหว มันจะทำลายกระบวนการพูดคุย ในการพูดคุยก่อนหน้านี้ บีอาร์เอ็น ได้ยกข้อเรียกร้องเบื้องต้นห้าประการ จนทำให้ช็อคกันไปทั่ว มันเหมือนการที่เราไปบ้านใครสักคน แล้วพูดว่าเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้... มันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ก่อนอื่น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นในขั้นต่อไป
นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่ในขณะนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าจะพูดคุยเรื่องการพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา หรือการบริหาร บางทีอาจจะคุยเรื่องความมั่นคง นั่นคือเหตุผลที่เราต้องการคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย... เราเห็นด้วยที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะว่าเขาเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่เราจะคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย
เบนาร์นิวส์: รัฐบาลไทยจริงใจหรือไม่?
อาบู ฮาฟิซ: คุณไม่สามารถหยั่งความจริงใจได้ แต่คุณสามารถหยั่งความตั้งใจได้ ท่าทีที่เขาปฏิบัติ... เราดูสิ่งเหล่านี้อย่างไม่มีอคติในกระบวนการก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีโครงสร้างในการเจรจา แต่ครั้งนี้มี มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ อันดับแรก ในส่วนของทหาร เขามีคณะกรรมการกำกับนโยบายและมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในระดับล่างลงมา มีทีมพูดคุย ระดับที่สาม คือ กองทัพภาคที่สี่ที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ เมื่อก่อนนั้น มีแค่ทีมพูดคุยแต่ไม่มีอะไรอีกเลย นี่คือการวัดความตั้งใจอย่างไม่มีอคติ
เบนาร์นิวส์: ในโลกของความเป็นจริง คุณคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จใดเมื่อการเจรจาจบลง?
อาบู ฮาฟิซ: อันดับแรก วัตถุประสงค์ของขบวนการต่างๆ คือ การแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขบวนการต่างๆ ต่อสู้ในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องทบทวนเรื่องนี้ โดยมองพื้นฐานของสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์โลก เป็นเรื่องที่ทำได้ที่จะคุยเรื่องอิสรภาพหากอยู่ในยุคศตวรรษที่ 60 หรือ 70 แต่ปัจจุบัน ผู้คนพูดถึงการรวมตัวกัน ไม่ใช่การแยกตัวออก ลองมองที่สหภาพยุโรป มองดูที่อาเซียน เขตแดนไม่ใช่เรื่องที่มีสาระมาเกี่ยวข้องใดๆ และยุคนี้เป็นยุคของการพูดคุยกัน
ดังนั้น เราต้องทบทวนเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ บางทีอาจขอเป็นเขตปกครองตนเอง เขตบริหารตนเอง หรือเขตที่สามารถกำหนดความต้องการของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นไปได้มากกว่า แต่ชื่อเรียกขานเขตเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่เนื้อหาสาระ และชาวมลายูปาตานีต้องใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และตัดสินอนาคตตนเองได้
เบนาร์นิวส์: มีคนในขบวนการที่ไม่สนับสนุนมาราปาตานีหรือไม่?
อาบู ฮาฟิซ: ในมาราปาตานี มีสมาชิกบีอาร์เอ็น... แต่มีสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไม่ต้องการเจรจากับทหาร สำหรับเรา จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นที่เขาต้องแก้ไข
มีบางบุคคลในมาราปาตานีที่มีสายสัมพันธ์กับสมาชิกบีอาร์เอ็นแท้ๆ (สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น) พวกเขามีการติดต่อกันโดยความสัมพันธ์นี้ หากว่าเราเข้าใจลักษณะของการปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่าง ในปี 1991 บีอาร์เอ็นได้เจรจาโดยตรงกับทหารกองทัพภาคที่สี่ แต่การเจรจาครั้งนั้น เป็นการเจรจาของปีกทหารของบีอาร์เอ็น ไม่ใช่กับสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น
เบนาร์นิวส์: มาราปาตานีสามารถควบคุมกองกำลังในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่?
อาบู ฮาฟิซ: คำตอบที่ผมจะบอกคือ มาราปาตานี ไม่ได้เป็นกลุ่มที่รวมตัวทางด้านการทหาร มาราฯ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันทางด้านการเมือง แต่กลุ่มติดอาวุธหลากหลายกลุ่มนั้น เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่างๆ (ที่ร่วมเป็นมาราปาตานี) เช่น ขบวนการพูโล และบีอาร์เอ็น... เราไม่มีอำนาจในกลุ่มเหล่านี้ แต่สมาชิกของมาราฯ มีช่องทางติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเหล่านี้ เขาติดต่อสื่อสารกัน และเรารู้ว่าเขาติดต่อสื่อสารกันอยู่
เบนาร์นิวส์: คุณอยากจะบอกอะไรกับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในเงาคราสแห่งความรุนแรง?
อาบู ฮาฟิซ: เราต้องการให้ประชาคมโลกทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่... ประชาคมโลกต้องให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพนี้ ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเรา แต่ให้สนับสนุนกระบวนการ เราหวังว่าประชาชนปาตานีสามารถตัดสินใจอนาคตตนเองได้ เมื่อผมพูดว่าประชาชนปาตานี ผมไม่ได้หมายถึงชาวมลายูหรือมุสลิม แต่หมายถึงประชาชนทุกคนที่นั่น ทั้งชาวไทยและชาวจีนที่เป็นชนกลุ่มน้อย
ส่วนเรื่องคำถามของอิสรภาพ ในส่วนตัวของผม เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ หากเขาต้องการ เขาสามารถทำได้ด้วยวิถีทางการเมือง หากประชาชนมีความพอใจต่อผลการพูดคุย เรื่องอิสรภาพไม่ใช่เรื่องที่มีสาระมาเกี่ยวข้อง
นั่นคือสิ่งที่ประชาชนปาตานีเป็นอยู่ เขาต้องการสิ่งต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อชีวิตประจำวัน อาชีพ การศึกษา ความมั่นคงในชีวิต ศาสนา สิทธิในการตัดสินอนาคตของตนเอง
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-peace-process-11292016164157.html