อิมรอน โสะสัน
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับมอบหมายจากผู้บริหารให้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต้อนรับท่านเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ดาโต๊ะ นาซีเราะห์ ฮุสเซ็น เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ที่สำคัญท่านได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษให้แก่ คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อเรื่อง “วิสัยทัศน์ 2020: ความจริงและความคาดหวังสำหรับประชาคมอาเซียน” ผมขอสรุปบางช่วงบางตอนให้ท่านผู้อ่านเพื่อจะได้เป็นข้อมูลและเรียนรู้ความเป็นประชาคมอาเซียนต่อไปดังนี้ครับ
ขอความสันติจงประสบแด่ทุกท่าน ด้วยความเมตตาของเอกองค์อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ที่พระองค์ได้ประทานโอกาสให้พวกเราทุกคนมารวมตัวกันในวันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับทุกคนในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ 2020 : ความจริงและความคาดหวังสำหรับประชาคมอาเซียน” นับเป็นโอกาสพิเศษมากๆที่ข้าพเจ้าจะได้นำเสนอแนวคิดให้กับทุกคนถึงศักยภาพอันเปี่ยมล้นของประชาคมอาเซียน
“อาเซียน” (ASEAN- the Association of Southeast Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นในปี 1967 (พ.ศ. 2510) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือกันในภูมิภาคในมิติของความเท่าเทียม และพันธมิตรความร่วมมือ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นเวลา 49 ปีมาแล้วที่อาเซียนได้พัฒนาความเจริญไม่เฉพาะภาพรวมของภูมิภาค แต่อาเซียนยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศสมาชิกอีกด้วย
วันนี้เรากำลังอยู่ในประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วย 3 ประชาคมสำคัญได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community-APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ซึ่งทั้งสามประชาคมมีความสำคัญเท่าเทียมกันสำหรับการสร้างประชาคมอาเซียน
ถึงแม้ว่าทั้งสามเสาหลักที่กล่าวมาจะมีความสำคัญเท่ากันก็ตาม แต่เสาหลักที่ทำหน้าที่ดั่ง “บ้าน” สำหรับทุกคน คือ “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” หรือ ASCC เพราะเป็นประชาคมที่โอบกอดและถักทอเครือข่ายของสังคมอาเซียนเอาไว้ เนื่องจากว่า พิมพ์เขียวของ ASCC ถูกร่างขึ้นเพื่อเป็นเข็มทิศในการส่งเสริมแนวคิด “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” อันหมายถึงทุกๆกิจกรรมของประชาคม ASCC ต้องตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคม ตำแหน่ง หรือความสามารถที่พวกเขายึดถือโดยต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐและตัวแสดงอื่นๆที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) แต่น่าเสียดายที่เราต่างให้ความสำคัญแต่เฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นี่เป็นเรื่องจริงและเป็นความท้าทายประการหนึ่งที่ว่าประชาคมอาเซียนจะมีโลกทัศน์ร่วมกันอย่างไร?
ดังที่กล่าวมาแล้ว เราต้องเปลี่ยนโลกทัศน์การมองประชาคมอาเซียน หากเราคิดดีๆจะเห็นว่าเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรมคือหน่วยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประชาคมอาเซียน เพราะมันเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความเชื่อต่างๆสามารถอยู่ร่วมกันและได้รับการยอมรับ
สำหรับชาวเอเชียแล้ว ได้รับการขนานนามว่ามีวัฒนธรรมอันหลากหลายและมีความเฉพาะอยู่ในบริบทของตัวเอง ซึ่งสะท้อนผ่านตัวแบบจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชาและประเทศที่เหลือในประชาคมอาเซียน ด้วยเหตุดังนั้น ทำไมเราไม่มุ่งเน้นไปที่ของดีของเรา? แน่นอน ในอนาคต อาเซียนจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จาก ASCC ในฐานะชานชาลา (platform) สำหรับการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรม อาหารและสิ่งต่างๆในอาเซียน
ประการสำคัญสำหรับการสร้างประชาคมอาเซียน ได้แก่ “การศึกษา” (Education) หากเราตระหนักในเรื่องนี้เราจะพบว่า การศึกษาคือ “หัวใจ” ของกระบวนการพัฒนาประชาคมเพื่อให้ประชาคมกลายเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ (knowledge-based society) ในการยกระดับขีดความสามารถเชิงแข่งขันของอาเซียน ดังนั้น อาเซียนจึงมองการศึกษาเป็นยานพาหนะ (vehicle) ในการกระตุ้นความตระหนักรู้ในเรื่องอาเซียน เป็นแรงขับให้เกิดความเป็นพวกเดียวกัน สร้างสำนึกความเป็นเจ้าของอาเซียนร่วมกัน อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความรุ่มรวยทางด้านประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และค่านิยมร่วมของอาเซียน
กล่าวได้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ประเทศไทยถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องอาเซียนผ่านสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้ง หน่วยงานด้านนโยบาย เป็นต้น มีการจัดประชุม สัมมนา อบรมอย่างคึกคักเพื่อแนะนำความสำคัญและบทบาทของอาเซียนให้แก่นักเรียน นักศึกษาอย่างเต็มที่ และนับเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เวทีต่างๆมีส่วนร่วมของเพื่อนสมาชิกในอาเซียนด้วยกันได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนจากกันและกันให้มากยิ่งขึ้น และถือว่าการมีเวทีต่างๆให้กับคนรุ่นใหม่นับเป็นการริเริ่มที่ดีต่อการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน เพราะคนรุ่นใหม่คือผู้นำในอนาคตที่จะเป็นคนกำหนดทิศทางของอาเซียน
ขอให้ทุกคนมองไปที่การส่งเสริม “คุณภาพและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา” ซึ่งทุกประเทศสมาชิกต้องนำสิ่งนี้ไปกำหนดเป็น “นโยบายร่วม” ( common policy) ของทุกประเทศอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาก็ตาม และเมื่อใดที่นโยบายด้านการศึกษาถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ เมื่อนั้นเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีจากความท้าทายด้านการศึกษาในประชาคมอาเซียนอีกต่อไป
อาจกล่าวได้ว่า “การศึกษา” ได้ถูกกำหนดให้เป็น “หัวเครื่องจักร” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กระนั้นรัฐบาลต่างๆก็ไม่อาจที่จะสวนกระแสความต้องการของประชาชนและการจัดสรรให้มีการเรียนฟรีได้ นอกจากนั้น ยังมีความท้าทายอื่นๆในระดับอุดมศึกษาที่จะต้องช่วยกันหาทางออก อาทิ คุณภาพของผู้สอน กระบวนการรับรองคุณภาพ ขาดโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการศึกษา การกระจายโอกาสทางการศึกษาผ่านความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษ และ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยในสาขาต่างๆยังมีจำกัดอยู่มาก เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดในขณะนี้ คือ ประเทศต่างๆได้มีการให้ทุนสำหรับนักเรียน นักศึกษาทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งทุนการศึกษาดังกล่าวได้ช่วยเปิดโอกาสที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ของอาเซียนในการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมของพวกเขาสำหรับประชาคม
ท้ายที่สุดนี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันผลักดันให้เกิดความเข้าใจต่อกันแบบองค์รวมด้วยกับแรงบันดาลใจและผลประโยชน์ร่วม เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาคมอาเซียนสำหรับภูมิภาคของเราทุกคน
ขอขอบคุณทุกคน....วัสสะลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุ้ลลอฮิ วะบารอกาตุฮ์