ซาฮารี เจ๊ะหลง
เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสันติภาพชายแดนใต้(SPM)
ผู้เลี้ยงปลาชายแดนใต้โวยขาดทุนยับ ปลาดุกล้นตลาด เลี้ยงแล้วขายไม่ออก ประมงบ่นอุบ สารพัดหน่วยงานไล่แจกพันธุ์ปลาชาวบ้าน แจกซ้ำแจกซ้อน หมดสิทธิ์คุมปริมาณผลผลิต
นายบัง เจ๊ะเละ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงปลาดุกพบปัญหาเลี้ยงแล้วขายไม่ได้ ไม่มีตลาดรองรับ เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยลงมาแจกพันธุ์ปลาดุกให้ชาวบ้านเลี้ยงจนเกินความต้องการของตลาด หลังแจกจ่ายพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงแล้ว แต่ละหน่วยงานไม่ได้ลงมาช่วยหาตลาดให้กับผู้เลี้ยง ชาวบ้านต้องร่วมกันหาพ่อค้าคนกลางจากต่างอำเภอมาช่วยรับซื้อ
“ตอนนี้เกือบทุกบ้านมีบ่อเลี้ยงปลาดุกอยู่หลังบ้าน จนพูดกันว่าจะเอาปลาดุกหัวโตไปขายที่ไหน” นายบังกล่าว
นายซอบรี ดาหะแม กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า พบปัญหาปลาที่เลี้ยงในกระชังตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ชาวบ้านขาดทุนจากการเลี้ยงปลาจำนวนมาก ปกติรายได้จากการขายปลาแต่ละครั้งมากกว่า 50,000 บาทต่อกระชัง โดยเฉพาะปลากระพงขาวจะขายได้ราคาดี ผมอยากให้ภาครัฐสนใจแก้ปัญหาปลาในกระชังตายด้วย ไม่ใช่แค่มาแจกพันธุ์อย่างเดียว
นายอรรสิทธิ ฉัตรชัยชาญ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการด้านการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีผลผลิตปลาดุกล้นตลาดว่า เป็นเพราะมีหน่วยงานราชการหลายหน่วย ทั้งศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างคนต่างทำโครงการแจกพันธุ์ปลาซ้ำซ้อน โดยไม่มาแจ้งหรือปรึกษากับประมงจังหวัด ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตได้ เมื่อเกิดปัญหาปลาล้นตลาด ต่างก็โยนปัญหามาให้ประมงแก้
นายสุนันท์ ศิริมากุล หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่า ปัญหาปลาในกระชังตายเกิดจากแบคทีเรียในเหงือกปลาที่มาจากกระแสน้ำขุ่นตอนน้ำท่วม ทำให้ปลาไม่กินอาหาร ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ประมงลงไปช่วยผู้เลี้ยงปลาในกระชังแล้ว แต่อาจช่วยไม่ได้ทั้งหมด เพราะงบประมาณมีจำกัด
“ขณะนี้มีผู้เลี้ยงปลาในกระชังจังหวัดปัตตานีมากถึง 2,318 กระชัง กระชังละ 500 ตัว นี่เฉพาะที่มาลงทะเบียนเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนยังมีอีกมาก โดยอำเภอสายบุรีเป็นอำเภอที่เลี้ยงปลาในกระชังมากที่สุดของจังหวัดปัตตานีคือ 1,056 กระชัง” นายสุนันท์ กล่าว
นายสุนันท์ เปิดเผยว่า ในการแจกจ่ายพันธุ์ปลาในปี 2553 จากตรวจสอบพบว่า รายชื่อชาวบ้านที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากฝ่ายปกครอง มีชื่อผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย จึงส่งกลับไปให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่นายวัชรินทร์ ลักษ์ยอดจิตร หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของปลาดุกล้นตลาด เพราะกำลังดำเนินการแก้ไข และสามารถควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อให้ประชาชนบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น
เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ปริมาณปลาดุกที่ล้นตลาดในยะลา ทางศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจัดประชุมในวันที่ 30 กันยายน 2553 เวลา 9.00 น. ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เพื่อหาตลาดรองรับ คาดว่าจะส่งให้เรือนจำรับซื้อเพื่อระบายปริมาณปลาดุกที่ล้นตลาด
อย่างไรก็ตามนายเวทมนต์ บุญผ่องศรี หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดยะลา ปฏิเสธว่า ในยะลาไม่มีปัญหาเรื่องปลาดุกล้นตลาด
นางสอบารียะ เจะแว แม่ค้าขายปลาในตลาสดเทศบาลเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ปลาในกระชังที่มีราคาสูงในท้องตลาดคือ ปลากะพงขาว กิโลกรัมละ 150 บาท ขณะที่ปลาดุกราคาเพียง 30 บาทต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่บ่อเลี้ยงแค่ 23–25 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------
*ผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้น
ศูนย์อบรมผู้ผลิตสื่อ INTERNEWS
ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี