ญิฮาดไม่ใช่ลัทธิก่อการร้าย
บรรจง บินกาซัน
เมื่อได้ยินคำว่า “ญิฮาด” คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคำนี้ว่ามีความหมายสื่อไปในทางก่อการร้าย การทำสงครามหรือการใช้ความรุนแรง ความเข้าใจเช่นนี้เกิดขึ้นจากการบิดเบือนความหมายและป้ายสีของชาตินักล่าอาณานิคมตะวันตกที่รุกรานชาติมุสลิม และเนื่องจากคำนี้มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม จึงทำให้คนเข้าใจอิสลามอย่างผิดๆ ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตอธิบายความหมายและที่มาของคำนี้
ก่อนหน้าท่านนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม การทำสงครามเข่นฆ่ากันของชาวอาหรับมิได้ถูกเรียกว่าการญิฮาด แต่ใช้คำอีกคำหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงการที่สองฝ่ายต่างพยายามหาทางเข่นฆ่าสังหารกันซึ่งไม่ใช่ความหมายของคำว่าญิฮาด
เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลามและมีผู้คนจำนวนหนึ่งหันมาเป็นมุสลิม การต่อต้านและการกดขี่ข่มเหงเริ่มเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการต่อสู้กันด้วยอาวุธ เพราะท่านนบีมุฮัมมัดกำชับสาวกของท่านมิให้ยกแม้แต่กำปั้นขึ้นต่อสู้ แต่ท่านได้สั่งสาวกของท่านที่ถูกกดขี่ข่มเหงให้อดทน ละหมาดและวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระเจ้า และเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย ท่านได้สั่งสาวกที่ทนการกดขี่ไม่ไหวให้ทยอยอพยพออกจากมักก๊ะฮฺไปสู่เมืองยัษริบ
ระหว่างที่มุสลิมอพยพออกจากมักก๊ะฮฺ พวกหัวหน้าชาวเมืองได้วางแผนลอบสังหารท่าน แต่ท่านรู้เบาะแสก่อน จึงแอบอพยพออกจากเมืองมักก๊ะฮฺในยามดึกสงัดมุ่งหน้าสู่เมืองยัษริบเพื่อไปสมทบกับบรรดาสาวกของท่านที่อพยพล่วงหน้าไปรออยู่ที่นั่น
แม้ท่านจะอพยพออกมาแล้ว พวกหัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺก็ยังไม่เลิกราวี แต่กลับส่งกองกำลังนักรบมาเพื่อที่จะกำจัดท่าน ตรงนี้เองที่พระเจ้าได้มีโองการมาถึงท่านและกลุ่มสาวกว่า
“ทำไมสูเจ้าจึงไม่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺเพื่อผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่อ่อนแอและถูกกดขี่ และพวกเขาร้องว่า ‘โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทรงนำเราออกจากเมืองที่ผู้คนเป็นผู้กดขี่ข่มเหง และโปรดตั้งผู้คุ้มครองจากพระองค์ให้แก่เราและได้โปรดตั้งผู้ช่วยเหลือจากพระองค์แก่เราด้วยเถิด’” (กุรอาน 4.75)
มาถึงตรงนี้ คำว่าต่อสู้ที่คัมภีร์กุรอานใช้ก็ยังไม่ใช่คำว่าญิฮาด แต่ใช้คำที่หมายถึงการต่อสู้ห้ำหั่นกันให้รู้แพ้รู้ชนะกันไปข้างหนึ่ง เหตุผลที่อนุญาตให้ต่อสู้ในตอนนี้ก็เพราะ : คนเหล่านี้คือผู้ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเขากล่าวว่า “อัลลอฮฺคือพระเจ้า ของเรา” ถ้าหากอัลลอฮฺไม่ทรงกำราบคนหมู่หนึ่งโดยอาศัยคนอีกหมู่หนึ่ง สถานที่บำเพ็ญภาวนา โบสถ์ สุเหร่าและมัสญิดซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวรำลึกก็จะถูกทำลาย.....” (กุรอาน 22.40)
การต่อสู้เพื่อป้องกันการรุกรานจึงเป็นความชอบธรรมและเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องปกปักษ์รักษาประเทศของตน แต่การจะทำสงครามป้องกันการรุกรานต้องใช้ทั้งทรัพย์สิน ชีวิตและจิตวิญญาณเข้าแลก การเสียสละสิ่งดังกล่าวในการต่อสู้เพื่อการปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนานี้เองที่เรียกว่าการญิฮาด เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว การต่อสู้จึงเป็นความชอบธรรมและใครที่ไม่ต่อสู้ก็ถือว่าเป็นบาป เพราะปล่อยให้ศัตรูทำลายชาติและศาสนาของตน
นั่นคือเหตุผลที่ท่านนบีมุฮัมมัดจึงได้กล่าวว่า “สุดยอดของความศรัทธาคือการญิฮาด” และเมื่อต้องต่อสู้ ท่านได้ปลุกใจบรรดาสาวกของท่านว่า “สวรรค์อยู่ใต้ร่มเงาของคมดาบ”
อย่างไรก็ตาม คำว่าญิฮาดยังมีมิติทางจิตวิญญาณและมิติที่เป็นอหิงสารวมอยู่ด้วยเช่นกัน
ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดเดินทางกลับจากการทำสงครามต่อต้านการรุกรานด้วยความพ่ายแพ้และบาดเจ็บจนบรรดาสาวกเป็นห่วงท่าน แต่ท่านได้บอกบรรดาสาวกว่าหลังจากนี้จะมีการญิฮาดที่ใหญ่ยิ่งกว่านี้อีก และเมื่อเห็นสาวกแสดงอาการตกใจ ท่านได้บอกว่าการญิฮาดที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำสงครามคือการญิฮาดกับจิตใจของตนเอง
ครั้งหนึ่ง เมื่อมีศัตรูมารุกราน ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบีมุฮัมมัดเพื่อขออนุญาตออกไปญิฮาด(ต่อสู้) ท่านนบีมุฮัมมัดได้ถามเขาว่า “พ่อแม่ของท่านยังมีชีวิตอยู่ไหม ?” ชายคนนั้นตอบว่า “ยังมีชีวิตอยู่ครับ” ท่านจึงได้บอกว่า “ดังนั้น จงทำญิฮาดต่อไปโดยการรับใช้พ่อแม่”
บางครั้ง ภรรยาของท่านนบีได้ถามท่านเกี่ยวกับเรื่องการญิฮาดของผู้หญิง ท่านได้ตอบภรรยาของท่านว่าการญิฮาดที่ดีที่สุดของผู้หญิงคือการทำฮัจญ์ให้ถูกต้อง
ในอีกคำสอนหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “ญิฮาดที่ดีที่สุดคือการพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม”