"สงครามอสมมาตร" (Asymmetric Warfare) ที่ชายแดนใต้ ในมิติ การปรากฏข่าว ปรับโครงสร้าง ‘’สภาซูรอบีอาร์เอ็น’’ ใหม่
นายทวีศักดิ์ ปิ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่
หมายเหตุ บทวิเคราะห์ บนพื้นฐานของการศึกษา
(ภาพ นักศึกษา กับ อจ.ดร. โนเบิรต์ โรเปอร์ส )
จากที่ ได้มีการปรากฏข่าวเผยแพร่ทางเว็บไซต์ benarnews ว่า สภาซูรอบีอาร์เอ็นตั้ง “ดูนเลาะ แวมะนอ” เป็นประธานสภาองค์กรนำ เมื่อวันนี้ 21 มีนาคม 2560
ซึ่งในรายละเอียดข่าวดังกล่าวนี้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงของไทย ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ (20 มีนาคม 2560) ว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นได้จัดประชุมแต่งตั้งนายดูนเลาะ แวมะนอ เลขาธิการ สภาองค์กรนำของขบวนการ เป็นประธานสภาองค์กรนำคนใหม่ ในต้นปีวันที่ 17 มกราคม 2560
รายงานข่าวได้ระบุอีกด้วยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงของไทย ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ได้กล่าวแก่เบอนาร์นิวส์ว่า แกนนำสมาชิกสภาซูรอหรือสภาสูงสุด ซึ่งประกอบด้วยแกนนำของบีอาร์เอ็นทั้งสามกลุ่มย่อย คือ กลุ่ม BRN-Ulama (ฝ่ายจิตวิญญาณ) กลุ่ม BRN-Congress และ กลุ่ม BRN-Coordinate ได้จัดประชุมขึ้นที่โรงเรียนปอเนาะ มัดราซะห์ อัลดะวะห์ อิสลามียะห์ ปอเนาะ ศรีปัรมัย บ้านปัรมาตัง ซุงไก ถนนกำปงฮูตัน อำเภอปาเสปูเต๊ะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย (MADRASAH AL DAWAH ISLAMIYAH PONDOK SRIPARMAI KAMPONG PERMATANG SUNGKAI PASIR PUTEH KELANTAN) เพื่อคัดเลือกประธานสภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti หรือ DPP)
"ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้งให้นายดูนเลาะ แวมะนอ เลขาธิการสภาองค์กรนำ DPP ขึ้นมาเป็นประธานสภาองค์กรนำ DPP และแต่งตั้งให้อุสตาซอดุลย์ มุณี ขึ้นมาเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ DPP กับหัวหน้าฝ่ายการเมืองสภาองค์กรนำ DPP ส่วนคณะกรรมการสภาองค์กรนำ DPP ที่เหลือให้คงอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยให้มีผลตั้งแต่ 17 มกราคม 2560" แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว
ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ ศึกษาหนังสือ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ซึ่งเขียนโดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ได้เขียนว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากฝ่ายความมั่นคง แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่มขบวนการและอดีตสมาชิกของขบวนการ มีหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า BRN - Coordinate มี “สภาองค์กรนำ” ที่เรียกว่า DPP ซึ่งย่อมาจากคำว่า Dewan Pimpinan Parti ในภาษามลายู ข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า DPP เป็นคณะกรรมการใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญของ BRN ซึ่งร่างขึ้นในพ.ศ. 2518 ก่อนที่ BRN จะแตกออกเป็น 3 กลุ่มในช่วงทศวรรษ 2520 ต่อมาใน พ.ศ. 2546 ทหารได้ค้นพบเอกสารที่เขียนถึงโครงสร้างของ DPP พร้อมๆ กับการค้นพบเอกสาร “บันได 7 ขั้น” ที่โต๊ะทำงานของนายมะแซ อุเซ็ง ดังนี้
เอกสารที่พบจากโต๊ะทำงานของนายมะแซระบุว่า DPP แบ่งงานออกเป็น 7 ฝ่าย ประกอบด้วย การต่างประเทศ ทหาร เยาวชน เศรษฐกิจ ปฏิบัติการจิตวิทยา/ประชาสัมพันธ์ อูลามา และคณะกรรมการเขต (ปกครอง)
คณะกรรมการ DPP ในฝ่ายเยาวชน เศรษฐกิจ ปฏิบัติการจิตวิทยา/ประชาสัมพันธ์ อูลามา จะทำงานอยู่ในสายของ MASA ด้วย งานด้านต่างประเทศดูเหมือนจะเป็นงานเดียวที่จำกัดอยู่กับคณะกรรมการ DPP โครงสร้างการบังคับบัญชาเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในระดับปฏิบัติการนั้น จะมีการแบ่งสายบังคับบัญชาหลักๆ สองปีก คือ ปีกการทหาร (MAY) กับ ปีกการเมือง (MASA) หรือที่ในแผนผังนี้เรียกว่า “คณะกรรมการเขต” โดยในฐานข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคง โครงสร้างเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา มีการเปลี่ยนชื่อและปรับลดโครงสร้างในบางช่วงชั้น แผนผังด้านล่างนี้เป็นโครงสร้างที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับการปฏิบัติการในปัจจุบันมากที่สุด
และผู้เขียนก็ได้ศึกษา คำว่า สภาซูรอ จากตำราอื่นๆ ประกอบจะเห็นว่า สำหรับสภาซูรอ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คือ ซูรอ เป็นภาษาอาหรับมาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-shura) แปลว่า การปรึกษาหารือ สำหรับความหมายทางศาสนบัญญัติ หมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามศาสนบัญญัติจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการหรือผู้ร่วมกระบวนการชูรอหรือสมาชิกสภาจะต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกล่าวคือความยุติธรรม คุณธรรมและความรู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือกระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าว ส่วนสมาชิกสภาในระบอบประชาธิปไตยได้รวบรวมบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้รู้หรือไม่ เป็นคนดีหรือคนร้าย บรรดาบุคคลเหล่านี้เมื่อประชุมในสภาไม่ว่าในเรื่องอะไรก็ต้องใช้เสียงของบรรดาผู้คนเหล่านี้เป็นมติการประชุม ซึ่งบางครั้งมติว่าสิ่งที่ตนเองเสนอหรือลงมติไปนั้นจะขัดกับหลักศาสนธรรมหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงและความถูกต้องในระบบชูรอ ไม่ได้นับที่เสียงข้างมากของที่ประชุมเสมอไป แต่ต้องดูกันที่หลักฐาน ซึ่งเป็นหลักการ และดูว่าฐานแห่งศาสนธรรมว่าอย่างไร และที่สำคัญมตินั้นต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก
ผู้เขียนได้นำองค์ความรู้ทั้งสอง มาขมวดจะเห็นว่า DPP ย่อมาจาก "Dewan Pimpinan Parti’’ แปลเป็นว่า “สภาองค์กรนำ” ส่วนคำว่า สภาซูรอ คือ การปรึกษาหารือทางศาสนบัญญัติหรือการประชุม ปรึกษาหารือตามศาสนบัญญัติจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ
ฉะนั้น สภาซูรอ หากตีความตามความหมาย นั้นก็คือ สภาหารือ ทั้งนี้ในหนังสือ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ที่ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ได้เขียนก็ยังระบุว่า
"ขบวนการเอกราชปาตานีเคลื่อนไหวใต้ดินอย่างปิดลับ แม้กระทั่งคนที่เป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการเองก็ไม่รู้ถึงโครงสร้างทั้งหมด จากการสัมภาษณ์อดีตสมาชิกหลายคน ทุกคนให้ข้อมูลตรงกันว่าพวกเขาได้รับรู้เท่าที่จำเป็นในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น’’
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตจากการปรากฏข่าวในลักษณะเช่นนี้ ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่าคิดและน่าวิเคราะห์ว่า องค์กรที่ต่อสู้แบบลับๆ มานาน และไม่เคยมีการปรากฏให้เห็นเลยในอดีตถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เว้นแต่ จากการวิจัย หรือ บทความเฉพาะ จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น
หากมองในทฤษฎีความขัดแย้ง การปรากฏข่าวในลักษณะนี้ ว่า ‘’สงครามอสมมาตร’’ (Asymmetric Warfare) ในบทความ สงครามยุคใหม่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายทางภาคใต้และสงครามยุคใหม่ของรัฐบาล : กระดานความคิด โดย พล.ท.นันทเดข เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ให้ความหมายว่า การใช้ทฤษฎีสงครามอสมมาตรมาประยุกต์ใช้ของกลุ่มผู้ก่อการความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ เลือกใช้คือเลือกกำลังคนที่เหมาะสมไม่เกิน 5 คนในการปฏิบัติงานเพื่อปกปิดความลับ การดำรงความริเริ่มในการเป็นผู้กำหนดเวลาและสถานที่โจมตีศัตรู รวมถึงการเป็นผู้เลือกใช้อาวุธให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ แนวคิดดังกล่าวนี้เวียดนามเหนือเคยนำมาใช้ในการทำสงครามกับสหรัฐอย่างได้ผลในอดีตมาแล้ว
ทั้งนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยจึงได้เลียนแบบนำมาใช้ ซึ่งได้ผลมาตลอด เพราะยังมีสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อเหตุในภาคใต้ได้เปรียบในการทำสงครามกองโจรแบบใหม่อยู่อีก 4 ประการ คือ การรบในพื้นที่ที่ชำนาญ มีประชาชนในพื้นที่เป็นมวลชนอยู่ข้างหลัง, การกำหนดรูปการจัดองค์กรทำงานของแต่ละกลุ่มในลักษณะที่ไม่มีสายการบังคับบัญชา, ไม่มีเครื่องแบบ, ไม่มีแนวรบ (พื้นที่จรยุทธ์) ที่แน่นอน, การได้เปรียบในตัวบุคคลที่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อวันเวลาผ่านมาขนาดนี้แล้ว ความชำนาญงานของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงย่อมมีมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ผลัดเวียนกันเข้ามาทุก 6 เดือน
ฉะนั้นแล้วในภาวะสงคราม สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ข้อมูลข่าวสาร เป็นเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาเพื่อรุกเข้าสู่การยึดครองพื้นที่บนสื่อต่าง ๆ การยึดครองพื้นที่สื่อได้ ย่อมเท่ากับเป็นความสำเร็จในการชี้นำ ครอบงำสังคมเอาไว้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญในการแย่งชิงมวลชน ฉะนั้นจึงต้องใช้ประโยชน์จากสื่อและข่าวสาร นำระบบเหล่านี้เข้ามารับใช้อำนาจอย่างเต็มที่ สงครามข้อมูลข่าวสารอาจกล่าวอีกอย่างได้ว่าเป็นปฏิบัติการสงครามจิตวิทยามวลชน โดยปกติมักจะไม่นำมาใช้ปฏิบัติการสำหรับคนในชาติบ้านเมืองเดียวกัน เพราะจะนำไปสู่ความสับสนในการสร้างสันติภาพและสันติสุขในวาระต่อไปได้ครับ
อ้างอิง:
-http://www.benarnews.org/thai/news/TH-BRN-shuffle-03202017173904.html
-พล.ท.นันทเดข เมฆสวัสดิ์. 22 ต.ค. 2555 สงครามยุคใหม่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายทางภาคใต้และสงครามยุคใหม่ของรัฐบาล : กระดานความคิด
-รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี.ตอนที่ 4.โครงสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี. deepsouthwatch
#PATANISOCIETY