Skip to main content

ในภาพอาจจะมี ท้องฟ้า, เมฆ และ สถานที่กลางแจ้ง

 

๒๓ มีนาคม ๖๐ ที่ผ่านมา, เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นที่ "ลอนดอน" มหานครหลวงอังกฤษอีกแล้วครับ 
คราวนี้ปะทุขึ้นใกล้อาคารรัฐสภาอังกฤษ ไม่ห่างจากหอนาฬิกาบิ๊กเบนที่เราคุ้นชิน ขอแสดงความเสียใจมาในบรรทัดนี้ด้วยครับ

ช่วงนี้กระแสการเมืองในยุโรปถือว่ามีคลื่นความถี่สูง แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่ๆ คงเป็นสองกรณี นั้นคือ "ความเคลื่อนไหวของตุรกี" และ "กรณีอังกฤษกำลังจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป" หรือที่นิยมเรียกว่า "Brexit"

จนมาถึงเหตุการณ์รุนแรงในลอนดอนแทรกเข้ามา ตามหลังมาตรการการห้ามนำอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโทรศัพท์มือถือขึ้นเครื่องบินที่มีต้นทางในกลุ่มประเทศเฉพาะ อันมีจุดหมายไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งอังกฤษก็ตอบรับมาตรการนี้ด้วยเช่นกัน 

(ส่วนตัวยังไม่โยงประเด็นมาตรการห้ามฯ กับเรื่องระเบิดเข้าด้วยกันครับ ดูหยาบๆ เกินไป)

เรามาคุยประเด็น "ตุรกี" กันดีกว่า , 
แทบจะรู้สึกได้ว่า "ตุรกี" มีพื้นที่ข่าวในเวทีโลกที่ถี่ยิบมาก โดยเฉพาะในช่วงสองปีหลังสุดนี้ เราแทบจะคุ้นชินกับประเทศนี้ เพราะบ่อยครั้งที่ความเคลื่อนไหวในตุรกีก็ส่งผลต่อทีท่าในหลายๆ มิติของโลก

ไล่เรียงเด่นๆ มาตั้งแต่ การเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย ต่อมาก็ไปยิงเครื่องบินรบของรัสเซีย ทะเลาะกับปูตินไปพักนึง รัฐประหารประธานาธิบดีที่ล้มเหลว ต่อมาด้วยการสานสัมพันธ์กับรัสเซียอีกครั้ง (คราวนี้บางแหล่งข่าวบอกว่าดีกว่าเดิม) หรือการก่อวินาศกรรมในสนามบินนานาชาติของตุรกีก็มีมา 

ล่าสุดนี้ เห็นจะเป็นการตอบโต้กันไปมาระหว่างผู้นำเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ต่อด้วยการตอกกลับของเบอร์หนึ่งตุรกีต่อชาติดัชต์ที่ว่าเป็นเศษซากของนาซี ตอกยุโรปว่ากำลังเล่นกับเรื่องศาสนาที่จะก่อให้เกิดสงคราม 

รัฐมนตรีเดนมาร์กที่มีกำหนดเยือนตุรกีก็ประกาศเลื่อน 
เปิดฉากข้อมูลด้านลบของ"ประธานาธิบดีแอรโดกัน"ของตุรกีผ่านสื่อในยุโรปเป็นกับแกล้มการโต้กลับ

เบอร์หนึ่งตุรกีตวาดขนาดนี้ ก็ทำเอาสหภาพยุโรปต้องหยุดคิดสักหน่อย และผมเดาว่าคงจะมีการประชุมอะไรเล็กๆ เกี่ยวกับประเด็นตุรกีหลังจากนี้แน่ๆ 

เพราะอย่าลืมว่ายุโรปนี้มีพรมแดนติดกับทวีปที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเอเชียที่แผ่นดินตุรกี ภูมิศาสตร์สำคัญแบบนี้ก็ต้องระวังกันหน่อยหากจะผลีผลามอะไรเข้าไป มันจะกลายเป็นประตูของความสูญเสียก็ได้ เป็นประตูแห่งความสำเร็จก็ดี 

การโต้ตอบทางสื่อของยุโรปนั้นจะว่าไปก็เริ่มปล่อยประเด็นที่ว่า"แอร์โดกัน"ในปัจจุบันกำลังเดินสวนทางกับบิดาของชาติอย่าง "คามาล อตาเติร์ก" 

และยกย่องอตาเติร์กว่าเป็นวีรบุรุษที่ชาญฉลาดในการปกครอง เพราะสามารถแยกศาสนาออกจากการเมือง และปฏิรูปตุรกีไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ทันสมัยตะวันตก 

เล่าย่อๆ ให้ทราบกันหน่อยว่า แต่เดิมนั้น ตุรกีเป็น "ราชอาณาจักรออตโตมัน" มี "สุลต่าน" เป็นประมุข ราชอาณาจักรนี้ยิ่งใหญ่มากจวบจนเข้าสู่ยุคอ่อนแอและพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้เสียดินแดนมากมาย และความมั่งคั่งลดลง ส่งผลให้จักรวรรดิออตโตมันล่มสลาย 

เมื่อแพ้สงคราม ฝ่ายชนะก็บังคับสุลต่านให้ลงพระนามในสนธิสัญญาแซฟัวร์ที่ทำให้ออตโตมันลดขนาดจักรวรรดิลงมาก มีแต่นครหลวงอิสตันบูลและบางส่วนในอะนาโตเลีย ทำให้ประชาชนไม่พอใจในข้อนี้มาก อำนาจสุลต่านจึงลดลงไปในขณะเดียวกัน

แต่มีทหารผู้หนึ่งนามว่า "คามาล" ไม่ยอมแพ้ รวบรวมบรรดาพวกชาตินิยมทั้งหลายต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวเติร์ก ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาก ด้วยหนึ่งไม่พอใจสุลต่านอยู่แล้ว และสองคือการกู้เกียรติยศกลับมาจากความพ่ายแพ้ ทำให้ความนิยมในตัวของ "คามาล" เพิ่มขึ้นสูงมาก จนสามารถมีอำนาจในการตั้งรัฐบาลซ้อนกับรัฐบาลของสุลต่านได้ 

กลายเป็นว่า "ตุรกี" ในตอนนั้น มีรัฐบาล ๒ รัฐบาลพร้อมกัน 
คณะหนึ่ง "สุลต่าน" เป็นผู้นำ อีกคณะ "คามาล" เป็นผู้นำ

สุดท้ายก็วัดกันที่ความนิยมของประชาชน ที่แน่นอนว่า "คามาล" สามารถบังคับให้สมัชชาใหญ่แห่งชาติยกเลิกตำแหน่ง "สุลต่าน" พร้อมกับปิดประตูให้กับ "สถาบันในรั้ววัง" ได้ ทำให้รัฐบาลของ "คามาล" เป็นรัฐบาลเดียวที่ถูกต้องตามกฏหมายและเป็นที่ยอมรับของประชาคมนานาชาติ 

หลังจากนั้น สมัชชาใหญ่ ก็แต่งตั้งให้ "คามาล" เป็นประธานาธิบดีคนแรกของ "สาธารณรัฐ"ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ( ๙๔ ปีก่อน) มอบนามสกุล "อตาเติร์ก" อันหมายถึง "บิดาของชาวเติร์กทั้งมวล" ให้เป็นเกียรติยศ เราจึงได้ยินชื่อ "คามาล อตาเติร์ก" นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

"คามาล อตาเติร์ก"ปกครองตุรกีด้วยนโยบาย "หกคันศร" (The Six Arrows of Progress) นั้นคือการเน้นในเรื่อง ชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม มวลชนนิยม โลกวิสัยนิยม (เซลคูลาร์) รัฐนิยม และ ปฏิรูปนิยม

เมื่อเป็นสาธารณรัฐใหม่ที่ไร้เงาสุลต่าน ท่านประธานาธิบดีก็จัดการแยกกฏเกณฑ์ศาสนาอิสลามให้แยกส่วนจากกฏหมายของรัฐ พร้อมยุบตำแหน่ง "คอลีฟะห์" (กาหลิบ = ผู้นำ) อย่างเป็นทางการ เปลี่ยนกฏหมายประเทศให้ยึดถือตามแม่บทกฏหมายตะวันตกแทนกฏหมายที่อ้างถึงหลักศาสนาอันเคยยึดถือมานับร้อยๆปี

เหตุการณ์นั้นผ่านมาเกือบจะร้อยปีแล้วล่ะ 

ฉะนั้นในห้วงเวลาร้อยปีที่ผ่านไปนี้ ก็ได้หล่อหลอมให้คนตุรกีที่จริงอยู่ว่านับถือศาสนาอิสลาม แต่แง่คิดในเรื่องการเมืองก็มีอยู่มากที่นิยมระบบแยกศาสนาออกจากการเมือง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "เรื่องศาสนาอยู่ในมัสยิด ส่วนนอกมัสยิดก็เป็นเรื่องกฏหมายบ้านเมือง" 

ครั้งหนึ่งเมื่อสมาชิกรัฐสภาหญิงของตุรกีสวมฮิญาบเข้าสภา ก็โดนพวก ส.ส.ชาย รุมกันทำร้ายยื้อแย่งกันด้วยเหตุผลที่ว่านางทำให้ตุรกีไม่ทันสมัย 

ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยในตุรกีไม่อนุญาตให้นักศึกษาสตรีมุสลิมสวมฮิญาบเข้าเรียน

โดยทั่วไปแล้วประเทศมุสลิมจะไม่นิยมปั้นรูปปั้นของบุคคล แต่หากคุณได้ไปตุรกี คุณจะได้เห็นรูปปั้นของ "คามาล อตาเติร์ก" ได้ทั่วประเทศ

จุดเปลี่ยนอยู่ที่การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองของ "แอรโดกัน" ที่ก้าวไปเป็นเบอร์หนึ่งอย่างแท้จริง กับความสามารถและศิลปการปกครองที่ทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

จนนักประวัติศาสตร์หลายคนต้องสะกิดกันเอง ด้วยความที่ว่า "ประธานาธิบดีแอรโดกัน" นี้แปลกกว่าประธานาธิบดีตุรกีคนอื่นๆ 

จนหลายคนหวั่นเกรงว่า "ผู้นำพรรค AKP ท่านนี้" จะพาตุรกีกลับไปเป็น "จักรวรรดิออตโตมัน" ที่เข้มแข็ง เป็นที่ยำเกรงของยุโรปอีกครั้ง เหมือนสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ 

และนั้นก็นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ยุโรปอยู่ในสภาวะสะพรึง ขยับได้ไม่ค่อยถนัดนัก จึงเป็นอีกเหตุผลที่มีอคติเข้มข้นว่า 
.
"อียูไม่ชอบ !"

#PrinceAlessandro
23-03-2017