Skip to main content

 

“Mother of All Bombs” เจ้าแม่แห่งระเบิดของสหรัฐ สัญญานอันตรายโลกมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2017 กลายเป็นวันที่จะถูกจารึกไว้อีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐได้ทิ้งระเบิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่ใช่นิวเคลียร์เป็นครั้งแรกลงที่จังหวัดนานการ์ฮาร์ ประเทศอัฟกานิสถาน เป็นการใช้อาวุธใหม่ของกองทัพสหรัฐในห้วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจกำลังทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อาจมองได้ว่าการใช้ระเบิดชนิดนี้รุนแรงขนาดนี้ในช่วงเวลาแบบนี้ นอกจากเป็นการทดสอบจริงแล้วยังหมายถึงการส่งสัญญานข่มขู่ด้วยการแสดงแสนยานุภาพให้คู่ขัดแย้งเกิดความสะพรึงกลัวหรือไม่

แต่หากย้อนมองปฏิบัติการทิ้งระเบิดและการโจมตีของสหรัฐในอัฟกานิสถาน จะเห็นว่าสหรัฐเคยทิ้งระเบิดด้วยรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ในสมรภูมินี้มาแล้วหลายครั้งเสมือนห้องทดลองจริง เมื่อประสบความสำเร็จแล้วสิ่งที่ตามมาคือการทิ้งระเบิดในลักษณะนั้น ๆ ถี่ขึ้นในประเทศมุสลิมหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการใช้ปฏิบัติการโดรน (Drone) หรือการโจมตีทางอากาศโดยอากาศยานไร้นักบิน ที่สหรัฐนำมาใช้เพื่อการโจมตีครั้งแรกในสงครามอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ตุลามคม ค.ศ. 2001 นับจากนั้นการโจมตีในลักษณะนี้ก็เป็นที่นิยมนำมาใช้โดยสหรัฐและพันธมิตรทั้งหลายถล่มหลายประเทศมุสลิมในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ประเทศที่ถูกโดรนโจมตีในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อิรัก ซีเรีย เยเมน โซมาเลีย ซูดาน อียิปต์ ลิเบีย ปาเลสไตน์ ฟิลิปปินส์ (พื้นที่มินดาเนา) ทำให้พลเรือนเสียชีวิตรวมกันนับแสนคน

แน่นอนว่าการโจมตีทางอากาศของสหรัฐหรือการทิ้งระเบิดในลักษณะนี้ หรือการใช้กำลังในประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยของตัวเองนั้น ไม่มีความชอบธรรมของกฎหมายระหว่างประเทศใด ๆ รองรับ และที่ผ่านมาก็ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสากลอย่างรุนแรง เป็นการตั้งศาลเตี้ยปฏิบัติการกันเองจนกลายไปเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่าสหรัฐทำได้ประเทศอื่น ๆ ก็ทำได้ จึงจะเห็นได้ว่าอังกฤษก็นำมาใช้ในสงครามอิรัก อิสราเอลก็ใช้โจมตีในปาเลสไตน์ เป็นต้น

สหรัฐคิดค้นและทดลอง “เจ้าแม่แห่งระเบิด” มาตั้งนานแล้ว แต่นำมาใช้หรือทดสอบสมรภูมิจริงที่อัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก เหมือนกับที่สหรัฐใช้โดรนในภารกิจอื่น ๆ มาก่อนและนำมาใช้ในการโจมตีครั้งแรกในอัฟกานิสถาน ต่อมาก็ขยายพื้นที่การใช้ออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่สหรัฐไม่ได้เป็นคู่สงครามด้วย โดยอ้างสิทธิการป้องกันตนเองแบบชิงโจมตีก่อน (Pre-emptive strike) ที่ไม่ต้องรอให้เกิดภัยคุกคามขึ้นต่อหน้า ซึ่งเป็นการตีความแบบใหม่ที่ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ

การใช้ “เจ้าแม่แห่งระเบิด” อาจนำไปสุ่การตีความให้เกิดความชอบธรรมในการใช้ และกลายไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้ประเทศอื่น ๆ นำหรือคิดค้นระเบิดชนิดนี้มาใช้บ้าง โดยเฉพาะอังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศษ หรือแม้แต่รัสเซียที่มีระเบิด Aviation Thermobaric Bomb of Increased Power (ATBIP) เรียกอีกอย่างว่า “เจ้าพ่อแห่งระเบิด” ก็ว่าได้ รัสเซียอาจนำมาใช้โดยอ้างการโจมตีกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียเหมือนที่สหรัฐอ้าง

โดยลักษณะของการทำลายล้างที่เน้นการโจมตีใต้ดินหรือพื้นที่อุโมงค์ อิสราเอลก็อาจจะนำมาใช้กับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์

หากมองจากลักษณะและชื่อเรียกทางการของอาวุธทำลายล้างชนิดนี้ หรือ GBU-43 / B (ระเบิดจีบียู) ยาว 9 เมตร หนัก 9,800 กิโลกรัม ใช้จีพีเอสนำทาง อาวุธตัวนี้ก็คือระเบิดที่รุนแรงที่สุด แต่ไม่ถึงขั้นนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ถูกควบคุมหรือจำกัดการใช้ภายใต้เงื่อนไขแบบเดียวกับนิวเคลียร์หรืออาวุธร้ายแรงอื่น ๆ (แต่น่าจะโหดเหียมไม่แพ้อาวุธเคมีนะครับ) แม้กระทั้งการถล่มครั้งนี้ทางกองทัพยังบอกว่าไม่ต้องขออนุญาตประธานาธิบดี เพราะไม่ใช่นิวเคลียร์

การโจมตีครั้งนี้ มองเผิน ๆ อาจเป็นเพียงระเบิดแค่ลูกหนึ่งที่ถูกทิ้งมาจากอากาศ เหมือนๆ กับที่มันเคยหล่นๆ มา 26,171 ลูกเฉพาะในช่วงปี 2016 ในยุคของโอบามา แต่ที่น่ากังวลคือหากมองย้อนไปถึงการโจมตีทางอากาศครั้งแรกของโดรนในอัฟกานิสถาน ครั้งนั้นไม่มีใครสนใจพูดถึงมากนัก แต่มาถึงวันนี้ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะฆ่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับแสน ๆ คนในประเทศมุสลิม จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของความรุนแรงในโลกมุสลิมที่มีลักษณะเฉพาะในเชิงพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก

วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2017 วันแรกของการเปิดตัว “เจ้าแม่แห่งระเบิด”ในอัฟกานิสถาน ทำให้ผมหวนคิดถึงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ของปฏิบัติการโจมตีครั้งแรกของโดรน ที่ต่อมาขยายวงกว้างกลายเป็นความรุนแรงในโลกมุสลิมที่ฆ่าชีวิตบริสุทธ์ไปแล้วนับไม่ถ้วน

การถล่มด้วยระเบิดในอาจนำไปสู่แนวโน้มการใช้ระเบิดในระดับที่รุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้นหรือไม่อย่างไรในโลกมุสลิมคือสิ่งที่ต้องจับตา โดยเฉพาะ หากสหรัฐใช้ “แม่แห่งระเบิด” รัสเซียใช้ “พ่อแห่งระเบิด” ปัญหาที่จะตามมาคือ “ลูกกำพร้าในโลกมุสลิม” ที่อาจเติบโตเป็นกองกำลังเด็กกำพร้าที่ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสหรือกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ เหมือนที่มันเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานและอิรักตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

 

แก่งกระจาน

14/4/2017