Skip to main content

 

 

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย เพราะในระยะหลัง ๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก"

 

ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

เมื่อปี 2534 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เสนอให้สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกต้นเดือนพฤษภาคมนี้เป็นวาระที่ประเทศต่างๆ รัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชนเองจะได้ร่วมกันปลุกจิตสำนึก พิจารณาและพัฒนาข้อคิดข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองและประเมินสถานการณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน

ถึงแม้การเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2536 แต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อปลายปี 2491 ก็บัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเป็นวันเดียวกันกับวันครบรอบการประกาศปฏิญญาวินด์ฮุค (Windhoek Declaration) ว่าด้วยการส่งเสริมสื่อมวลชนที่เป็นอิสระและหลากหลาย ปฏิญญานี้ ประกาศในวันสุดท้ายของการสัมมนาว่าด้วยการส่งเสริมสื่อมวลชนแอฟริกาที่เป็นอิสระและหลากหลาย ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองวินด์ฮุค ประเทศนามิเบีย ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2534 ปฏิญญาวินด์ฮุคเรียกร้องให้ก่อตั้ง ส่งเสริม และทำนุบำรุงสื่อที่เป็นอิสระและมีรูปแบบและเนื้อหาหลากหลาย ปฏิญญานี้ย้ำว่าสื่อที่เป็นอิสระสำคัญต่อการพัฒนา และคงไว้ซึ่งประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

เสรีภาพของสื่อมวลชนเถือเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนและเป็นหลักประกันเสรีภาพอื่นๆ ด้วย เสรีภาพของสื่อมวลชนกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ซึ่งจะประกันว่าสังคมจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังเป็นสะพานสู่ความเข้าใจและความรู้ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงและความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยืนนาน

ในวันที่ 3 พฤษภาคมทุกปี องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกย้ำเตือนรัฐบาลทุกประเทศให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่จะเคารพสิทธิในการแสดงออกของสื่อมวลชน

ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ยังไม่เป็นที่ยอมรับและเคารพในหลายประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นตัวจักรสำคัญในขบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในขบวนการตัดสินใจ พลเมืองจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงได้ถูก ก็ต่อเมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงข้อมูลและความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ เสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้สำคัญต่อศักดิ์ศรีของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และประชาธิปไตยอีกด้วย

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเป็นโอกาสที่สื่อฯได้บอกกล่าวและกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน และได้รับรู้ว่า มีสื่อมวลชนทั่วโลก ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยการเซ็นเซอร์ข่าวและงานเขียน สำนักพิมพ์ถูกปรับ ถูกขู่ ถูกปิดชั่วคราวหรือถาวร และผู้สื่อข่าว บรรณาธิการถูกทำร้าย ถูกคุมขังหรือถูกฆ่า

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกถือเป็นวันที่ผู้ที่ทำงานด้านสื่อต้องทบทวนและพูดคุยกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการแสดงออกและจริยธรรมของวิชาชีพ

ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เราขอสนับสนุนสื่อมวลชนซึ่งเป็นเป้าหมายของการลิดรอนสิทธิในการแสดงออก และเราจะร่วมกันระลึกถึงผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในระหว่างการทำงาน และผู้สื่อข่าวที่กล้าเผชิญโทษจำคุก หรือแม้แต่กล้าตายเพื่อจะนำข่าวมาเสนอให้ประชาชน

ทั้งนี้ในระหว่างปี 2535 – 2545 มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 523 คน ในจำนวนนี้ ถูกฆ่าโดยเจตนา 374 คน ถูกฆ่าเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 128 คน ถูกฆ่าเพราะแฉเรื่องทุจริตคอรัปชั่น 67 คน และถูกฆ่าขณะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั้งๆที่ได้แสดงตัวแล้วว่าเป็นผู้สื่อข่าวแล้วอีก 179 คน

(แปลและเรียบเรียงจากเอกสารของ UNESCO)

#PATANISOCIETY