Skip to main content

 

ตุรกีกับการสร้างอารยธรรมสันติภาพ : นัยสำคัญ ความหวัง และความท้าทายของโลกมุสลิม และภูมิภาคอาเซียน

 

อิมรอน ซาเหาะ

 

ช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตที่ประเทศตุรกี พ่อค้าแม่ขายมักจะทักเราด้วยกับการให้สลามและพูดว่ามาเลเซียๆ บางเจ้าก็พูดมลายูกับเราว่าของในร้านของเขาราคาถูก พอเราบอกว่าไม่ได้มาจากมาเลเซีย แต่มาจากฟาฏอนี/ปาตานี เกือบทุกคนจะไม่รู้จักที่นี่ พอบอกว่าภาคใต้ของประเทศไทย บางส่วนก็พอจะ อ๋อ! เคยได้ยินมาบ้าง ต่างจากคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านมุษยธรรมที่ตนเองมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะรู้จักปาตานี และรับรู้ถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างอาณาจักรออตโตมันกับรัฐปาตานี ทำให้นึกถึงปาฐกถาพิเศษของ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เรื่อง “ตุรกีกับการสร้างอารยธรรมสันติภาพ : นัยสำคัญ ความหวัง และความท้าทายของโลกมุสลิม และภูมิภาคอาเซียน” ที่ตนเองเคยเขียนและยังไม่ถูกเผยแพร่มาก่อน จึงนำมาลงในบล็อกส่วนตัวนี้ เพื่อผู้อ่านสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ต่อไป

โดยปาฐกถาพิเศษดังกล่าวมีขึ้นในโครงการสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ปีที่ 3 เรื่อง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต : สยาม-ปาตานี ในความสัมพันธ์กับ ออตโตมัน-ตุรกี ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559 จัดโดย สถาบันสันติศึกษา โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) ซึ่งมีใจความสำคัญดังนี้

 

กำลังแสดง 14322215_1285036428174306_6453096798994056070_n.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ 

 

สยาม-ปาตานี-ออตโตมัน-ตุรกี ความสำคัญของการใช้คำ

ผศ.ดร.สุกรี เริ่มด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของภาษามลายูว่าเป็นภาษาที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่เกิดในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่ออิสลามเดินทางมาถึงพื้นที่แห่งนี้ ประเด็นแรกที่ต้องการกล่าวถึงคือ งานนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และจะเป็นเรื่องราวที่จะดำเนินต่อไป ในยี่สิบปีต่อจากนี้ไป ทิศทางที่จะพูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็คงจะต้องดำเนินต่อไป

สิ่งที่จะต้องคุยกัน คือ ประเด็นเรื่องของชื่อ ศัพท์ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการจัดงาน และจะเป็นศัพท์ที่จะไปสู่การทำวิจัยในอนาคต แค่คำว่า สยาม และ ปาตานี ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัวอีกมากทั้งในทางวิชาการ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ คำว่าสยาม อยู่ข้างหนึ่ง คำว่า ปาตานี อยู่ข้างหนึ่ง เมื่อนำมาอธิบายด้วยประวัติศาสตร์การเมือง ก็จะเป็นเรื่องราวที่จะมีการรบพุ่งเพื่อชัยชนะ ช่วงชิงการนำในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องปกติในช่วงนครรัฐ เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สยาม ปาตานี หากแต่เกิดขึ้นแม้กระทั่งต่อสยามและหงสาวดี ต่างรบกันเพื่อสรรหาทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงประชากรตนเอง เกิดเช่นเดียวกันกับปะหังและกลันตัน ยะโหร์และเปรัค หรือตรังกานูและเกอดะห์ แต่เมื่อมาพูดถึงเรื่องราวของยุคนครรัฐในยุครัฐชาตินั้น คงต้องคุยในมิติวิชาการ วิจัย ในเรื่องราวเหล่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น งานนี้ยังนำเอาสองคำนี้ไปเชื่อมกับคำว่า ออตโตมัน พร้อมต่อด้วยคำว่าตุรกี ออตโตมันเป็นย่เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับโลกมุสลิม คุณูปการของออตโตมันต่อโลกมุสลิมนั้นมีความยิ่งใหญ่ ความสัมพันธ์ของทั้งสยามกับออตโตมัน ทั้งปาตานีกับออตโตมัน วิทยากรเสวนาและบรรยายวันนี้จะมาไขให้ฟัง ส่วนตัวอยากจะเรียกอุษมานียะห์มากกว่าออตโตมันด้วยซ้ำไป เพราะออตโตมันเป็นศัพท์ที่ทางตะวันตกพยายามจะเข้าใจออตโตมัน เหมือนกับวาทกรรมที่ว่าสยามไม่เข้าใจปาตานีหรอก ต้องให้คนปาตานีเขียนขึ้นมาเอง ฉันใดก็ฉันนั้น หากใช้คำว่าออตโตมันในแง่หนึ่งก็จะถูกตีกรอบกับกรอบคิดของตะวันตก ซึ่งบางครั้งก็จะทำให้เราเห็นแต่ภาพลบที่เกี่ยวกับออตโตมัน แต่เมื่อใช้อุษมานียะห์ คนหนึ่งคนที่สถาปนาชื่อตนเองเป็นอาณาจักร คนๆ นี้ต้องมีความสำคัญ และการสถาปนาของอุสมานต่างจากคนรุ่นหลัง อาณาจักรออตโตมันเองก็มีผู้นำที่ทั้งดีและไม่ดี ส่งผลทั้งแง่บวกและแง่ลบ

 

Soft Power กับการล่าอาณานิคมในปัจจุบัน?

ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า เมื่อโยงเรื่องราวเข้ากับคำว่าตุรกี หลายคนพยายามโยงถึงการฟื้นตัวของตุรกีภายใต้ความเป็นเซคคิวล่าร์แบบปัจจุบัน ว่าเป็นนีโอออตโตมัน หลายคนใช้คำว่านีโอตุรกี แต่ประธานาธิบดีแอรโดก์อานกล่าวชัดเจนว่าไม่ต้องการสร้างนีโอออตโตมัน ออตโตมันมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สิ่งที่ไม่ดี เช่น การทำลายญาติพี่น้องตนเองเพื่อตนเองจะถูกสถาปนาขึ้นเป็นสุลต่าน ก็จะไม่เอามาเพียงเพราะความเชื่อในความเป็นออตโตมัน แต่จะเอาสิ่งที่ดีในอดีต

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่ออีดิ้ลอัฎฮาที่ผ่านมา วัวหลายแสนตัวออกจากตุรกีสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งใน Political Innovation ก็อาจเป็นได้ แต่ถ้าจะมองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมิติ Soft Power คือ ตุรกีกำลังแสดงบทบาทไม่ต่างจากประเทศจีน ที่เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ

การใช้ Soft Power ก็อาจตีความได้ว่าเป็นการล่าอาณานิคมแบบหนึ่งในปัจจุบันได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม Soft Power ที่จีนใช้ต่อแอฟริกาสามารถทำให้คนแอฟริกาปักธงจีนไว้บนหลังคาบ้านตนเองเพียงแค่ได้ใช้รถยนต์คันแรกบนถนนที่จีนช่วยในการก่อสร้างถนนผ่านสี่ประเทศในแอฟริกา โดยมีเงื่อนไขว่าให้ซื้อรถจีนเท่านั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด

ฉะนั้นแล้วในมิตินี้สิ่งเหล่านี้หากมองในเรื่องการทำกุรบ่านแล้วโยงไปกับความเป็นพี่น้องหรือความเป็นอุมมะห์(ประชาชาติ)แล้ว ตุรกีกำลังสร้างสิ่งที่ไม่ต่างจากจีน แต่ก็ไม่วายโดนมองว่าตุรกีสร้างคนที่จะมาสนับสนุนรัฐบาลตนเอง ฐานเสียงในอนาคต เป็นต้น ซึ่งอาจจะไม่มีเวลาอธิบายในส่วนนี้ได้

 

ความสัมพันธ์ระหว่างออตโตมันกับอาเจะห์ 

ผศ.ดร.สุกรี กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาที่โลกมหาอำนาจปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น ก็ทำให้มีพื้นที่ของอำนาจทางเลือกของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน หรืออินเดีย สองประเทศนี้ก็มีความพยายามในการผนวกความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งจีนและอินเดียมีวาระหลักต้นๆ คือ ตุรกีและโลกมุสลิม นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับแอฟริกาซึ่งในอดีตออตโตมันให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มาก มัสยิดทรงออตโตมันมีปรากฏในแอฟริกา

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างออตโตมันกับอาเจะห์  ซึ่งต้องศึกษาต่อไปว่าทำไมความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก กองทัพของความช่วยเหลือต่อสึนามิในอาเจะห์ที่ข่าวอาจไม่นำเสนอคือ ชุดแรกที่ไปถึงอาเจะห์เพื่อช่วยเหลือมาจากตุรกี ซึ่งความสัมพันธ์ตรงนี้มีมิติเชิงประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวิชาการ ออตโตมันรู้จักสัญลักษณ์ประตูกำแพงเมืองอาเจะห์ผ่านเอกสารที่ใช้ส่งระหว่างกัน อาเจะห์เองก็รู้จักธงแดงที่เกี่ยวข้องกับออตโตมัน

หนึ่งในคุณูปการที่ออตโตมันมีต่อสยาม ชาวเติร์ก และชาวอาหรับสามพันคนซึ่งมีประสบการณ์ในการยกธงทางทะเลเพื่อสื่อถึงความเป็นเจ้าของในพื้นที่แต่ละแห่งในอดีต หากวันนั้นธงแดงไม่ถูกยกขึ้น จะเกิดอะไรกับบางกอกก็ไม่อาจรู้ได้  ซึ่ง อ.ศุกรีย์ ส่าเหร็ม จะมาอธิบายเพิ่มเติมต่อไป

 

ประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพของออตโตมัน

สำหรับหัวข้อที่เป็นธีมหลักของการปาฐกถาในครั้งนี้ ผศ.ดร.สุกรี ระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงสันติภาพ และถูกผนวกกับออตโตมันและตุรกี จะเห็นว่าประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพของออตโตมันในอดีต เป็นประเทศที่ถ้ามองถึง Pax-Ottomana ซึ่งเกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว ออตโตมันมีประสบการณ์นี้ 24 ครั้ง ฉะนั้นเรื่องนี้สำหรับออตโตมันหรือตุรกีแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อมุสลิมเข้าพิชิตคอนสแตนติโนเปิล หลังจากนั้นใช้เวลาไม่นานก็มีสนธิสัญญาสันติภาพได้ ประสบการณ์ของการเป็นเราะหฺมาตุลลิ้ลอาละมีน (ผู้ทำความดีงามให้กับคนทั้งปวง) คอนสแตนติโนเปิลนำไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพในเวลาอันสั้น

แต่ขณะเดียวกันกว่าจะเกิดสนธิสัญญาสันติภาพได้ในแต่ละครั้งก็หลังจากเกิดสงครามขึ้น ในช่วงการก้าวขึ้นมาของออตโตมันมีสงคราม 16 ครั้งในช่วง 152 ปี ซึ่งถือว่าน้อย ยุคเข้มแข็งของออตโตมันในช่วง 153 ปี มีสงคราม 35 ครั้ง ขณะเดียวกัน การขยายตัวของออตโตมันก็ไม่ได้ถูกนับในมิติสงคราม เนื่องจากออตโตมันไม่ได้ขยายด้วยวิถีทางสงคราม แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่ดีงามออกไปเผยแพร่

ต่อมาในช่วงที่สภาพของออตโตมันชะงักงัน ในช่วง 93 ปี มีสงคราม 16 ครั้ง ในช่วงตกต่ำก็มีสงครามจำนวน 16 ครั้ง และตั้งแต่ปี 1923 ซึ่งเป็นปีที่อุษมานียะห์แปรสภาพเป็นตุรกีใหม่ ตั้งแต่นั้นเสียงอะซานถูกจำกัดให้น้อยลง หลายมัสยิดถูกกำหนดให้อะซานเป็นภาษาตุรกี ยุคนี้จึงเป็นยุคที่ทำให้ออตโตมันเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่อิสลามเดินทางมาพร้อมกับการเปลี่ยนทั้งระบบ จากสุริยคติเป็นจันทรคติ เริ่มมีเดือนในแบบเดียวกัน หลายๆ คำในภาษามลายู ไม่ว่าจะเป็นการเรียกวันเดือน ก็เป็นคำเรียกที่มาจากภาษาอาหรับ มลายูก่อนอิสลามมาเรียกวันเดือนอะไร ก็ถูกแทนที่ด้วย cosmology แบบอิสลามที่เข้ามา 

หากแต่ในเวลานั้นตุรกีก็ถูกทำให้เปลี่ยนไป ในรูปแบบที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลให้รูปแบบความสัมพันธ์บางประการก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ตุรกีกับประเทศไทย ตุรกีกับปาตานีในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย ในรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาได้ในหลายมิติ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างออตโตมันกับปาตานี

ผศ.ดร.สุกรี อธิบายต่อไปว่า คำว่าออตโตมันในอดีตเห็นภาพที่ขยายตัวในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก ในพื้นที่มุสลิมหลายๆ แห่ง ไม่ใช่แค่อาหรับที่เข้าไป แต่ยังมีเติร์กด้วย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากออตโตมันไม่น้อย  ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ยังต้องศึกษาต่อไป ในพื้นที่ใกล้เคียงที่น่าศึกษาคือ พื้นที่อาเจะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างออตโตมานและอาเจะห์นั้นมีทั้งในระดับองค์กรและบุคคล แต่ความสัมพันธ์ที่มีต่อปาตานีนั้น โดยมากแล้วเป็นเพียงในระดับบุคคล ไม่ใช่ระดับรัฐมลายูอิสลามปาตานี แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์แต่ก็ไม่มากเท่ากับมะละกาหรือยะโหร์ ส่วนของยะโหร์มีการแต่งงานของคนในราชวงค์ยะโหร์กับราชวงศ์อุษมานียะห์ สุดท้ายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย 2 คน  

แม้ว่าปาตานีจะไม่ได้รับการสร้างความสัมพันธ์ในระดับรัฐเวลานั้น แต่แค่กับบุคคลคือ เชคอะห์หมัด อัลฟาฏอนี ก็เพียงพอแล้ว อย่างน้อยที่สุด คนตุรกีรู้จักท่านในฐานะนักบริหาร นักจัดการองค์กร นักรัฐศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการในอังกฤษท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ถ้าจะพูดถึงนักฟื้นฟูคนมักจะนึกถึงนักฟื้นฟูในอียิปต์ และนักฟื้นฟูอีกหลายๆ คน แต่จงอย่าลืมเชคอะห์หมัด อัล-ฟาฏอนี เพราะเขาคือหนึ่งนักฟื้นฟูที่สำคัญด้วยเช่นกัน แม้บทบาทในปาตานีจะมองในฐานะผู้เขียนกิตาบ แต่ในตุรกี รู้จักในฐานะของนักปกครองและผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ของอาณาจักรออตโตมัน โดยเฉพาะการผลิตสิ่งพิมพ์ในสายพานที่เกี่ยวกับภาษามลายู

ฉะนั้นในอนาคตประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสยาม ปาตานี ออตโตมัน และตุรกี ถ้าทำเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป ก็จะเห็นสิ่งที่จะขยับต่อไป หากเมื่อคืนเกิดเหตุการณ์ใดก็ตามที่ตุรกี เชื่อว่าวันนี้ห้องประชุมนี้ก็คงไม่พอสำหรับผู้ฟัง เนื่องจากเรามักให้ความสำคัญกับเหตุการณ์มากกว่าแนวคิด ซึ่งหมดยุคที่ต้องให้ความสำคัญกับเพียงเหตุการณ์แล้ว เพราะดูไม่ยาก เพียงดูว่าใครคือ ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ เกิดอะไร ที่ไหน แค่นั้น แต่หากเป็นลักษณะที่แตะแนวคิดแล้ว จำเป็นที่จะต้องก้าวต่อ

ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการจัดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ต่อออตโตมันและตุรกีต่อไป โดยอาจจะผ่านสถาบัน Ottoman and Malay World Studies ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย มหาวิทยาลัยในตุรกี และจะเปิดในมหาวิทยาลัยฟาฏอนีในปีหน้าต่อไป

สิ่งแรกที่ออตโตมันเดินทางไปที่ใดก็ตามคือการให้ หรือ การวะกัฟมัสยิด หากเราอยู่ในไทยเองมุสลิมเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้

 

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกูเลนนิสต์และรัฐบาลตุรกี

ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า หากกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกูเลนนิสต์และรัฐบาลตุรกีในเวลานี้ ผศ.ดร.สุกรี ยกคำพูดของ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีว่า ความสุขของท่านคือเห็นแอรโดก์อานกับกูเลนดีกัน แต่ในส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็ให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำกันไป

ในกรณีของตุรกีนั้นเราอาจมีความเห็นอกเห็นใจและมีความรู้สึกร่วมต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จริง แต่ในฐานะมุสลิมที่ไม่ใช่คนตุรกี (แต่สำหรับคนที่เคยอยู่ในตุรกี เคยใช้ชีวิตในตุรกีนั้นอีกประเด็นหนึ่ง) บางทีไม่จำเป็นต้องเสพทุกอย่างจนมีอารมณ์ร่วมไปด้วย แต่หน้าที่ของเราคือดุอาอฺ(ขอพรต่อพระเจ้า)ว่าให้ตุรกีสามารถกลับไปเป็นตุรกีที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่จะร่วมนำพามุสลิมทั่วโลกไปสู่จุดที่ต้องการ

 

วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งเมืองคือต้องการให้เกิดสันติภาพ

ผศ.ดร.สุกรี กล่าวต่อไปว่า เรามี peace input อยู่ การมีสนธิสัญญาสันติภาพในออตโตมันหลายๆ ครั้งก็มาด้วยกับหนึ่งในความเชื่อที่ว่าเราต่างมาจากจิตวิญญาณที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน และจะไปยังจุดเดียวกัน  คือดารุสสลาม ซึ่งถูกต่อเป็นสร้อยนามของปาตานี อาเจะห์ และบรูไน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคำว่าดารุสสลามนี้คือวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งเมืองว่าต้องการให้เกิดสันติภาพ

นอกจากนั้นดารุสสลามเป็นชื่อสวรรค์ ซึ่งหมายถึงอีกวิสันทัศน์ที่ต้องการให้มุสลิมทุกคนบนแผ่นดินนี้กลับไปสู่สวรรค์ให้ได้ ฉะนั้น peace input และ output ที่เรามีล้วนคล้ายคลึงกัน เพียงแต่สิ่งที่ต่างคือ process หรือกระบวนการ ที่ยังเห็นต่างที่ว่าบางคนอยากใช้ความรุนแรง บางคนอยากใช้สันติวิธี ซึ่งเราต้องมาคุยกัน เพื่อนำไปสู่ดารุสสลามหรือเมืองแห่งสันติภาพ

 

ข้อเขียนข้างต้นเป็นการถอดใจความสำคัญในปาฐกถาพิเศษของ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ เมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศตุรกี ทั้งที่ตนเองได้ประสพพบเจอ และได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้แทนหลายๆ องค์กรในตุรกี ผู้เขียนขออนุญาตเล่าในโอกาสต่อไป อินชาอัลลอฮฺ.

 

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบโครงการ

เอกสารประกอบงานสัมมนาวิชาการประวัติศาสตร์ปีที่ 3 สยาม-ปาตานี ในความสัมพันธ์กับ ออตโตมัน-ตุรกี

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิจัยเปิดแผนที่จักรวรรดิออตโตมัน มีคำว่า “สยาม-ยะโฮร์-มะละกา-ปาตานี” คาดมีความสัมพันธ์มากว่า 1,200 ปี

วิเคราะห์ตุรกี โดย 3 นักวิชาการรุ่นใหม่ “ตุรกีจะเป็นโมเดลหนึ่งของโลกมุสลิม”

ปาฐกถา ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ชี้ตุรกีใช้ Soft Power พัฒนาประเทศและสร้างสันติภาพ

“มนุษยธรรมคือ soft power” แบบอย่างจากตุรกีสู่การเป็นผู้นำโลกมุสลิมในอนาคต

ไปดูโรงเรียนตุรกีที่ปัตตานี สถานศึกษาด้านมนุษยธรรมเพื่อเด็กกำพร้า

มูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุขร่วมกับ IHH จากตุรกี มอบถุงยังชีพให้ผู้ยากไร้ชายแดนใต้ในเดือนรอมฎอน

องค์กร Deniz Ferneri จากตุรกีเลี้ยงละศิลอดมอบของบริจาคเด็กกำพร้าผู้ยากไร้ที่ปัตตานี

IHH จับมือมูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข จัดกิจกรรมละศิลอดแก่เด็กกำพร้าปาตานี

‘คือการแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่’ ตุรกีบริจาควัวเกือบ 300 ตัวให้เชือดแจกผู้ยากไร้ในวันรายอพรุ่งนี้

İHH ตุรกีเยี่ยมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า 4 แห่งในชายแดนใต้ที่เคยหนุน เตรียมเปิดอีกแห่งที่กรงปีนัง

โรงเรียนอิสลามที่ปะนาเระละหมาดขอพรให้ตุรกีผ่านวิกฤต ชี้เป็นต้นแบบพัฒนาสังคมมุสลิม

ละหมาดฮายัตขอบคุณพระเจ้าที่ได้คุ้มครองตุรกีพ้นภัยรัฐประหาร

สมาคมนักเรียนไทยในตุรกีจับมือองค์กรในพื้นที่จัดกิจกรรมละศีลอดแก่เด็กกำพร้าชายแดนใต้/ปาตานี

İHH ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข แจกถุงยังชีพ 1,600 คนและเลี้ยงละศิลอดรอมฎอน