อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด
การต่อสู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ก่อกำเริบขึ้นมานานนับศตวรรษ ได้ก่อกำเนิดประวัติศาสตร์ลูกใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น หนึ่งในนั้นคือการปรากฏของบรรดานักต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า ถึงแม้ในบางยุคบางสมัยสถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี หรือเรียกในอีกภาษาหนึ่งคือ “ขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน” ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นเอาชีวิตขึ้นมาแลกและความสุขสบายเป็นเดิมพัน
ถึงแม้นับตั้งแต่การดำรงอยู่ของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น จะมีการปรับเปลี่ยนแปลงวาทศิลป์แห่งการเรียกชื่อของกลุ่มขบวนการเหล่านั้นด้วยภาษาต่างๆ หลากหลายชื่อก็ตาม ที่ต่างวัตถุประสงค์ ทว่าสิ่งหนึ่งที่คงเหมือนกันก็คือ ความประสงค์ร้ายของภาครัฐที่พยายามจะสำแดงออกถึงความหมายในการเรียกชื่อของขบวนการมลายูมุสลิม ให้ดูมีความเคร่งขรึมมีความน่าสะพรึงกลัว
อย่างเช่น กลุ่มขบวนการโจรก่อการร้ายหรือ ขจก. กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือ ขบด. และแม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่มักจะติดปากกับวาทกรรม กลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ถึงกระนั้น รัฐมิอาจขัดขวางความผูกพันระหว่างประชาชนกับความจริงได้ ถึงแม้ว่ารัฐพยายามจะลอยแพขบวนการโดยวิธีการสร้างวาทกรรมให้กับขบวนการเหล่านั้นมีความเป็นอมนุษย์สักเพียงใด แต่ประชาชนกลับฝักใฝ่กับขบวนการต่อสู้ที่มีอยู่มาอย่างช้านานนั้น เพิ่มพูนเป็นทวีคูณ
ถึงแม้ในความเป็นไปของวิถีชีวิตของคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะดูมีความเรียบง่าย ไม่ค่อยเรื่องมากกับการที่ตัวเองถูกกระทำทั้งทางปฏิบัติและความรู้สึก แต่ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นมนุษย์นั้น มิเคยว่างเปล่าจากความรู้สึกถูกกดทับจากความอธรรมแต่ประการใด ยิ่งด้วยบทบัญญัติทางศาสนาที่ค่อนข้างเน้นย้ำกับการค้ำจุนความยุติธรรม ประกอบกับอิสลามยังส่งเสริมให้ประชาชาตินั้น จงลุกขึ้นมาต่อสู้กับเหล่าอริราชศัตรูทั้งในคราบตัวบุคคลและในคราบระบอบการปกครอง สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับประชาชนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาปกป้องความยุติธรรมและจงให้การสนับสนุนช่วยเหลือให้กับผู้ที่ตกอยู่ในภวังค์แห่งการถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างไม่เป็นธรรม
สิ่งเหล่านี่คือจุดเล็กๆ ของความรุนแรงทางความคิด ที่ภาครัฐไม่อาจจะเข้าถึงแห่งจิตวิญญาณนี้ได้ ที่กลายเป็นลิ่วล้อให้กับการปะทุขึ้นของความคิดแห่งการขบถขึ้นมาอย่างทุกเสี้ยววินาที
เหตุใดรัฐไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้ นี่คือโจทย์อมตะที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนๆ ล้วนจะต้องทบทวนกับคำถามดังกล่าว ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามใช้กลอุบายวิธีในการหันเหประเด็นเพื่อให้สังคมมลายู มิอาจมองเห็นแก่นสารเนื้อแท้ของปัญหาได้ แต่ในเมื่อความจริงย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ ปัญหาที่เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษมันย่อมปรารถนาความจริงเช่นกัน ในการคลี่คลายปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
หากรัฐบาลยังคงเวียนว่ายในแอ่งกระทะเดิมๆ ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าปัญหาก็จะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ไปอีกนาน ผู้เขียนไม่ได้ต้องการเสี้ยมสอนหรือเปิดโปงความเท็จของรัฐบาลแต่ประการใดไม่ เพราะผู้เขียนเองเชื่อว่า มาถึงบัดนี้สังคมล้วนรับรู้ถึงความจริงไปเกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งมูลเหตุแห่งการต่อสู้ของขบวนการมลายูปาตานี ที่มีการแตกแขนงสาขาเป็นหลายก๊กหลายกลุ่ม ถึงกระนั้นทุกขบวนการที่ดำรงอยู่นั้น ล้วนปักธงการต่อสู้ของตนเพื่ออิสรภาพและมาตุภูมิเป็นสรณะ
จะว่าไปแล้วนับตั้งแต่การต่อสู้ของปาตานีที่อุบัติขึ้นมาอย่างขลุกขลัก จนกระทั่งถึงยุคแห่งการต่อสู้อย่างมีระบบและการวางแผนในรูปแบบองค์การ ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือในรูปแบบใต้ดิน ทุกการต่อสู้นั้น ล้วนมีการยึดมั่นถือมั่นในจุดยืนของตนอย่างแน่วแน่ ถึงแม้จะปรากฏอยู่บ้างที่อาจมีบางคนหันเหจากทิวาการต่อสู้เดิมของตน จนต้องประกาศยุติบทบาทและหันมาเอากับการร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับภาครัฐก็ตาม แต่เชื่อว่านั้นคือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ของทั้งหมด ที่กำลังถูกบันทึกเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและนำมาเป็นบทเรียน
หากรัฐไทยเพียงแค่ปักหมุดในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแค่ปรารถนาให้เหล่าบรรดานักต่อสู้ยุติบทบาท สละอุดมการณ์ทิ้ง และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อค้นหาอรรถรสแห่งคำว่า “สันติ” คงจะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจีรังไม่ เมื่อปัญหารากเหง้าที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งผู้ที่พยายามค้นหาหนทางคลี่คลายในทางสันติ กลับถูกปลดลงระหว่างทางก็มีหลายรายให้ได้เห็น คำถามก็คือรัฐจะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในหนทางใด ในเมื่อพื้นที่ทางการเมืองนั้น ยังคงปิดตาย
ถึงแม้ในระยะหลังนี้ จะมีการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นั่นอาจเป็นแนวทางที่รัฐเองต้องการ หรือเป็น “ความหวังดีประสงค์ร้าย” หรือไม่อย่างไร?
และเมื่อต้นปีศักราชใหม่ (ค.ศ.2017) ประวัติศาสตร์การต่อสู้ปาตานีได้บันทึกประวัติศาสตร์กันอีกทบหนึ่ง เมื่ออุสตาซ สะแปอิง บาซอ ซึ่งเป็นผู้ที่ทางการไทยหมายตัวอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2004 และเป็นผู้ที่มีค่าหัวนำจับสูงที่สุดในบรรดาผู้ที่ถูกออกหมายจับในคดีความมั่นคงเป็นจำนวน 10,000,000 บาท ซึ่งรัฐเชื่อว่าท่านเป็นบุคคลที่อันตรายที่สุด ที่เป็นมันสมองของขบวนการต่อสู้ปาตานี ตาถึงยังไรรัฐเองไม่อาจนำเสนอหลักฐานที่ชัดเจนได้ นอกจากการคาดการณ์ของหน่วยงานข่าวกรองของรัฐ ที่อาจชี้นิ้วไปก่อนแล้วความจริงค่อยว่าทีหลัง
และเมื่อสองสามปีให้หลัง มีการออกมารายงานของฝ่ายข่าวกรองถึงสถานภาพของอุสตาซ สะแปอิง บาซอ ว่าอยู่ในสถานะใดของขบวนการต่อสู้ บ้างก็ว่าเป็นแกนนำระดับสูง ที่มีอิทธิพลในการตัดสินในการต่อสู้กับรัฐไทย และล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2016 ที่ผ่านมา ก่อนที่อุสตาซ สะแปอิง จะเสียชีวิตอย่างสงบ มีการรายงานว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำของขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ถึงกระนั้นเป็นเพียงการคาดการณ์และสมมุติฐานเท่านั้น
ถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจนถึงสถานะของอุสตาซ สะแปอิง บาซอ อย่างชัดเจน แต่ปรากฏการณ์หลังจากที่ท่านเสียชีวิตลง ในพื้นที่กลับมีปฏิกิริยาที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับบุคคลต่างๆ ในระดับแกนนำที่ได้เสียชีวิตลง
ซึ่งปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การหลั่งไหลของประชาชนที่เข้าร่วมการละหมาดฆออิบให้กับการจากไปของท่านที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อันเป็นโรงเรียนที่ท่านได้บริหารมาเป็นระยะเวลา 30 ปี และมีลูกศิษย์มากมายเรือนหมื่น ย่อมมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธ
และการจากไปของท่านในครั้งนี้ ย่อมเป็นบทเรียนแห่งประวัติศาสตร์สำหรับชนลูกหลานมลายูปาตานีในอนาคต ในฐานะผู้ซึ่งมีคุณูปการสำหรับสังคมมลายูปาตานีร่วมสมัย ที่ได้ต่อสู้อย่างสันติวิธีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการศึกษา ผู้ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองและเสียชีวิตลงในแผ่นดินอื่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งจุดยืนของการต่อสู้ที่เขาเชื่อว่าถูกต้องและมีความชอบธรรมทั้งในทางศาสนาและสากล...และท่านจะอยู่ในหัวใจของชาวมลายูปาตานีไปอีกนาน