"...อิสลามไม่ได้แยกระหว่างทางโลกทางธรรม อิสลามไม่ได้แยกระหว่าง ร่ายกาย ภายนอก (Body) และ จิตวิญญาน ภายใน(Soul) อิสลามไม่ได้แยกระหว่าง church กับ state นั่นคือ ไม่ได้แยกอาณาจักรกับศาสนาจักร..." ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
(ภาพประกอบจาก รายการ ก(ล)างเมือง ตอนห้องเรียนเพศวิถี)
จากกรณีรายการ ก(ล)างเมือง เรื่อง "ห้องเรียนเพศวิถี" ที่กลายเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จนเกิดการวิจารณ์ในวงกว้างถึงความถูกต้องต่อประเด็นหลักคิดเสรีนิยมกับหลักการศาสนา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝั่งออกมาวิพากษ์ อธิบายกันแล้ว
เราเองในฐานะคนที่ติดตามไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย กำลังคิดว่าเอาเข้าจริงๆ มันยากที่จะอธิบายหลักคิดเสรีนิยม กับหลักธรรมศาสนา
จากประเด็นนี้ อันดับแรกหากมองในแนวคิดเสรี ก็ไม่ผิด พี่ที่ทำงานตรงนั้นเองก็ไม่ได้ผิดอะไรในแง่นี้
ส่วนต่อมาในแง่ของคนในพื้นที่(มุสลิม) หากมองในเชิงธรรม เตะบอลยังไม่ถือว่าผิด แต่เรื่องแนวคิดเสรีที่ว่าจะรักใครก็มีสิทธิ์รัก อันนี้อาจต้องตั้งคำถาม อิงตามที่หลักการอิสลาม ถามว่าทำไมต้องอิง
คือเสรีนิยมไม่ได้ผิด ดดยส่วนตัวไม่ได้คัดค้านเรื่องนี้ แต่เสรีนิยมจะต้องไม่มาอยู่เหนือศาสนา ซึ่งอันนี้มีคนอธิบายไปแล้วค่อนข้างดี (อ่านประกอบ http://www.deepsouthwatch.org/node/10266)
ในบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ มะลูลีม ในนิตยสาร WAY ฉบับนึง อ.บอกว่า " อิสลามไม่ได้แยกระหว่างทางโลกทางธรรม อิสลามไม่ได้แยกระหว่าง ร่ายกาย ภายนอก (Body) และ จิตวิญญาน ภายใน(Soul) อิสลามไม่ได้แยกระหว่าง church กับ state นั่นคือ ไม่ได้แยกอาณาจักรกับศาสนาจักร"
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า (ความคิดเห็นส่วนตัว) ต่อให้โลกเปิดเสรีกว้าง เป็นอิสระแค่ไหน เราเองก็สามารถทำได้ในอิสระเสรีที่ไม่ได้ขัดกับหลักการในศาสนา กล่าวคือ อิสลามเองก็ไม่ได้บังคับจนเราแคบเสียจนไม่สามารถอยู่ในโลกใบนี้ได้เลย เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ตัวนี้ ลำพังจะต้องอธิบายให้คนที่ไม่เชื่อในคอนเซ็ปต์นี้แต่ต้นอาจจะยาก ซึ่งนั่นคือการต้องการอาศัยการอธิบายในเชิงเหตุผลถึงหลักคำสอนหรือแนวคิดอิสลามที่มีต่อผู้หญิงด้วย
แน่นอนว่าการจะอธิบายเรื่องนี้ได้ต้องอาศัยองค์ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมผนวกเข้าด้วย คำถามแรกที่เกิดขึ้นระหว่างการขบคิดคือ มุสลิมเองชัดเจนในเรื่องนี้มากน้อยเพียงไหน
สิ่งที่น่าสนใจกว่าสำหรับประเด็นนี้คือ เราต้องกลับมาดูว่าแล้วพวกเราเองในฐานะมุสลิม หรืออย่างกรณีในพื้นที่ เราแอบสงสัยว่าในกระบวนการสร้างสันตินั้น มุสลิมหรือโต๊ะครูมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจในบริบทความเป็นไปของโลก กับหลักธรรมมากน้อยเพียงไหน
กรณีนี้ที่เกิดขึ้นมันอาจสะท้อนความล้มเหลวของระบบการเรียนการสอนของเรา(มุสลิม)ด้วยหรือเปล่า
ซึ่งนั่นทำให้เราเองกลับมาคิดกับประเด็นอีกอย่างที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นไป แล้วพบว่าค่อนข้างน่าใจหายคือมีเด็กมุสลิมจำนวนมากในพื้นที่ที่ไปเรียนจบจากต่างประเทศ(โดยเฉพาะประเทศมุสลิม) ซึ่งหลายครั้งเราคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะกลับมานำพางานในเชิงวิชาการ ที่ทันสมัยมากขึ้น หมายความคือ การผนวกกับเอาคอนเซ็ปต์ของอิสลามกับโลกกาภิวัฒน์เข้าด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่พบว่าส่วนมากเลือกไปทำงานล่ามตามโรงพยาบาลมากกว่า
ซึ่งไม่ได้ผิดน่ะ (อันนี้ออกตัวก่อน อย่าเพิ่งด่า) เพราะด้วยโครงสร้างทางสังคม อะไรบางอย่าง การสร้างฐานะหรือการผลักดันฐานะของครอบครัวขึ้นมาก็สำคัญ อันนี้ไม่ปฏิเสธ
เราเก็บเอาประเด็นนี้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับรุ่นพี่ที่สนใจในประเด็นสังคม เขามองว่า สังคมไทยไทยไม่เคยขาดปราชญ์ นักการศาสนา(อูลามะ) แต่เราขาดผู้ชี้นำและเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีหนึ่งองค์กรทำงานทางด้านประเด็นนี้โดยเฉพาะ หยิบยกประเด็นเห็นต่างทางด้านศาสนามาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เข้าใจ
"สังคมเราขาดตรงนี้มาตั้งแต่ต้น จนพอเกิดปัญหาก็รับมือกันไม่ถูก สะเปะสปะไปหมด เราขาดการจัดการองค์ความรู้"
แต่ก็แปลกน่ะ ทุกคนมีองค์ความรุ้อย่างมาก แต่ขาดการจัดการองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ทางด้านความต่างและการสร้างทำความเข้าใจร่วมเพื่ออยู่ด้วยกัน รู้สึกว่าจะเป็น"ศูนย์"
"คนเก่งเยอะ คนรู้เยอะ แต่คนมองก้าวผ่านความต่างท่ามกลางความรุนแรงน้อยมาก เรามักแยกฝ่ายและแบ่งสีตั้งแต่ต้น จนลืมทำความเข้าใจ ขาดการสื่อสารที่ชัดเจน สังคมของเราจึงมีความเชื่อแบบเทาเทา ค่านิยมแบบเทาเทาและจัดการปัญหากันแบบเทาเทา ไปในที่สุด"
ที่นี่(ก่อนจะพาออกทะเลไปไกล ฮ่าๆ) ประเด็นคือว่า เราคงถึงเวลาทบทวนตัวเราเองแล้วแหละว่า ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติ เพื่อผนวกบริบทสังคมกับศาสนาเข้าด้วยกันยังไง แล้วคนรุ่นใหม่จะสามารถทำงานด้านวิชาการได้ในขณะเดียวกันก็เลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอดได้ด้วยยังไง
คือทั้งหมดมันมีรากของปัญหาอยู่ เราไม่ปฏิเสธหลักคิดเสรีนิยม แต่เราก็ไม่ทิ้งหลักคิดทางศาสนา วัฏปฏิบัติด้วย
วันนี้มุสลิมเองสามารถตอบให้ชัดๆ แล้วหรือยังว่าที่เราถืออยู่นั้นคืออะไร สามารถอธิบายจุดนี้ให้คนที่ไม่เข้าใจอยู่ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะได้หรือยัง และเราก็มองว่ากรณีอันนี้ก็เป็นผลดีในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงมากขึ้น และจะน่าเสียดายหากจะพบว่าท้ายที่สุดการถกเถียงที่เราคาดหวังนั้น ไม่ได้เกิดขึ้น แต่กลับกลายเป็นความสุดโต่งของกลุ่มคนบางคน ที่ก้มหน้าก้มตาจะขับไล่ ราวกับว่าเขาหรือเธอคนนั้นเป้นแม่มด ถ้าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น มันก็น่าเศร้าที่สังคมรังแต่จะเดินสู่ความรุนแรง
สุดท้าย คือมิติการสร้างสันติในพื้นที่ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดรอบร้าวลงบนความต่างซ้ำรอบแผลเดิม ซึ่งเรื่องนี้มีนักวิชาการให้ทัศนะไว้เเล้ว (อ่านประกอบhttp://www.deepsouthwatch.org/node/10258)