Skip to main content
ณรรธราวุธ เมืองสุข
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
 
 
“ผมยอมเป็นจำเลยของสังคมใหญ่” นี่คือปากคำของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ที่ลั่นไว้กลางเวทีพบปะตัวแทนภาคประชาสังคมเมื่อค่ำคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
 
คำกล่าวข้างต้นนี้มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะหากศึกษาเส้นทางและแนวนโยบายของแม่ทัพแต่ละคนก่อนหน้านี้ที่เข้ามารับรับหน้าที่คุมหางเสือกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อันมีปัญหาความขัดแย้งและสู้รบในแนวทางจรยุทธ์อย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังของรัฐและขบวนการใต้ดิน ไม่ปรากฏว่ามีแม่ทัพคนใดเคยเอ่ยปากลั่นวาจา “ผมยอมเป็นจำเลยของสังคมใหญ่” ซึ่งดูประหนึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ปัญหาขนานใหญ่ อย่างน้อยก็ในหน่วยงานระดับปฏิบัติ
 
ทั้งนี้ คงต้องกล่าวด้วยว่าแนวทาง “การยอมเป็นจำเลยของสังคมใหญ่” จะเคยถูกเรียกร้องอย่างหนักหน่วงจากหลายฝ่ายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักสิทธิมนุษยชน และคนที่ติดตามศึกษาปัญหาไฟใต้อย่างใกล้ชิด  เพราะหลายคนเชื่อว่าการฟังเสียงของคนในพื้นที่หรือการเปิดช่องทางให้มีความเห็นที่แตกต่างมีที่ทางที่ถกเถียงแลกเปลี่ยน กระทั่งต่อรองกันได้ ตลอดจนการพร้อมยอมรับผิดของเจ้าหน้าที่ น่าจะเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาไฟใต้อย่างยั่งยืน แม้ว่าจะมีแรงเสียดทานจาก “สังคมใหญ่” เพียงใดก็ตาม
 
แต่ถึงอย่างนั้นผู้เข้าร่วมพบปะในคืนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคม ที่แม้ไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่ก็ถือเป็นกลุ่มใหญ่ ต่างรู้สึกแปลกใจไปตามๆ กัน เพราะผู้พูดประโยคนั้น คือแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ที่เลื่อนขึ้นมาจากอดีตรองแม่ทัพฯ และเป็นลูกหม้อขนานแท้ของกองทัพภาคที่ 4 (อ่านประวัติ เส้นทางชีวิตและการงานเพิ่มเติมได้ที่ www.udomchai.net)
 
กล่าวสำหรับที่มาของคำพูดประโยคดังกล่าว มาจากนโยบายเฉพาะหน้าที่ถูกตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อแจกให้กับข้าราชการหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ในงานเวทีพบปะวันเดียวกันนี้ในช่วงเช้า นัยว่าเป็นการประกาศแนวทางการทำงานของกองทัพภาคที่ 4 นับต่อไปจากนี้ที่มีแม่ทัพชื่อ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้ซึ่งควบรวมตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.) จากฤดูกาลก่อนที่หน้าที่ดังกล่าวเป็นของ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ซึ่งถูกเลื่อนขั้นไปแล้ว
 
สำหรับแนวนโยบายเฉพาะหน้าของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ประกอบด้วย
 
1. อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมอย่างปกติสุข
2. เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้
3. ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงอันส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคม ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
4. ฟื้นฟูและส่งเสริมวิถีชีวิตตามหลักคุณธรรมที่ดีงามของสังคมอันหลากหลายบนพื้นฐานการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
5. สนับสนุนประชาชนและภาคประชาสังคมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วด้าน
6. รณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
 
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทุกข้อต่างมีนัยยะอันสำคัญ นักวิเคราะห์ปัญหาไฟใต้บางคนสรุปให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า เป็นการให้ความสำคัญกับความเห็นต่าง การสร้างความมีส่วนร่วม การใช้เงื่อนไขทางศาสนาและวิถีชีวิตเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และ เป็น ‘สันติวิธีที่จับต้องได้’
 
ความสำคัญลำดับแรกๆ น่าจะอยู่ที่ 3 ข้อแรก เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่จะใช้ “แนวทางการเมือง” เป็นทิศทางหลัก ซึ่งดูเหมือนว่าการเดินทางกลับภูมิลำเนา “ทุกหมู่เหล่า” ที่จะไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นจะเป็นหลักหมายสำคัญของความสำเร็จของนโยบายชุดนี้ หากผนวกเข้ากับการก่อร่าง “รูปธรรม” ของการเปิดโอกาสให้ความคิดเห็นที่ “แตกต่างจากรัฐ” ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและขจัดปัดเป่า “เงื่อนไข” อันบ่มเพาะความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในหมู่ประชาชนด้วยแล้ว หน้าตาของไฟใต้อาจต้องมีส่วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างปัจจุบันไม่น้อย
 
แม้กระทั่งนโยบายข้อสุดท้าย ซึ่งดูเหมือนว่าธรรมดาที่สุด เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่แม่ทัพทุกคนต่างบรรจุไว้ในทุกยุค แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรังและกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้เป็นใจกลางของความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ผลสัมฤทธิ์จากนโยบายข้อนี้ที่โดดเด่นกว่าที่แล้วมาจะหนุนเสริมบทบาทของกองทัพต่อจากนี้ไม่มากก็น้อย เพราะแม้แต่ในค่ำคืนของการพบปะระหว่างแม่ทัพและตัวแทนกลุ่มประชาสังคมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อภิปรายในประเด็นนี้ ข้อเสนอโดยมากก็คือการเน้นย้ำความต่อเนื่องของโครงการญาลันนันบารูและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคมให้เข้าหนุนเสริมในกระบวนการที่ทางการกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
 
 
 
ต่อจากนี้ คือน้ำเสียงของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ที่จะมาบอกเล่าแนวคิดและทัศนะก่อนจะกลั่นออกมาเป็นนโยบายเฉพาะหน้าและถูกประกาศใช้ในการแก้ปัญหาภาคใต้ในวันนี้
 
DSW: อยากให้เล่าความเป็นมาเป็นไปของนโยบายเฉพาะหน้าว่ามีกระบวนการก่อนออกมา 6 ข้อนี้อย่างไร?
 
พล.ท.อุดมชัย: มันเกิดจาก หนึ่ง ประสบการณ์ การทำงานของผมที่อยู่ในพื้นที่ การได้รับความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย ผมเองเคารพความคิดเห็นทุกภาคส่วน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็แล้วแต่ เมื่อผมได้รับหน้าที่นี้ปั๊บ ได้รับคำสั่ง แต่จริงๆ ผมเตรียมไว้ก่อนนะครับ เตรียมไว้เพื่อช่วยแม่ทัพตอนผมเป็นรองฯ เกิดจากที่เราเห็นว่าแนวทางที่เราจะแก้ปัญหาแล้วมันมีความลึกอะไรยังไง ช่วงนั้นผมศึกษานโยบาย 206 ค่อนข้างจะมาก (นโยบาย 206 คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น –ผู้สัมภาษณ์) คิดว่านโยบาย 206 ร่างขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย อาจไม่ทุกระดับก็จริง แต่มีการร่วมกัน แล้วนโยบายของอดีตผู้บัญชาการทหารบกซึ่งทำหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) รวมๆ กันทั้งประสบการณ์ ทั้งนโยบาย ทั้งอะไรต่างๆ การเดินทางในช่วง 6-7 ปี คล้ายๆ กับที่มาฟังภาคประชาสังคมวันนี้ ได้ร่วมกับหลายๆ คนได้เขียนนโยบายขึ้นมา นโยบายทั่วไปนี่เราทำอยู่แล้ว น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ - เข้าใจนี่เป็นเรื่องใหญ่ และเข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางเพื่อยืนยันว่านโยบายเดียวกัน
 
จากทั้งหมดที่มาประมวลแล้วที่ผมได้เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นว่าพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า การรักภูมิลำเนาถิ่นเกิดก็เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราอำนวยความสะดวกให้เค้าได้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขแล้วคิดว่าปัญหามันน่าจะคลี่คลายลงได้จึงได้ดำเนินร่างนโยบายอันนี้ออกมา แล้วนโยบายอันนี้มันก็จริงๆ ไม่ใช่ผมคิดขึ้นมาเอง หน่วยต่างๆ เสนอขึ้นมา จากภาคประชาชนด้วยถึงจะเป็นสิ่งนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าคุณได้กลับภูมิลำเนาได้อยู่อย่างปลอดภัยเลิกหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ผมคิดว่าปัญหาการต่อสู้ด้วยอาวุธต่างๆ ก็น่าจะเบาบางลง สู้ในแนวทางอื่นซึ่งเราก็สนับสนุนอยู่แล้ว แนวทางประชาธิปไตย การเลือกตั้งต่างๆ อันนี้เป็นที่มาของแนวทางหรือนโยบายเฉพาะทางที่ผมเขียนขึ้นมาในข้อแรก
 
DSW: ข้อแรกนี่หมายถึงประชาชนประเภท 131 คนไทยที่หนีภัยไปอยู่มาเลเซียใช่ไหม?
 
พล.ท.อุดมชัย: (รีบตอบ) ทุกหมู่เหล่า เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ผมหมายรวมถึงแม้แต่คนที่ติดคุกอยู่ ที่ต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์ เราก็ต้องเข้าไปดูว่าทำไม ชี้แจงกันให้เห็นว่าเข้าใจกันแล้วจะช่วยเหลือยังไง
 
DSW: แล้วกรณีของการเปิดโอกาสคือสำหรับคนที่กลัวผลกระทบจากเหตุการณ์ ทางกองทัพเองมีแนวคิดในการประสานหรือดำเนินการในขั้นตอนวิธีปฏิบัติอย่างไร?
 
พล.ท.อุดมชัย: ผมเองมีหลายช่องทางการติดต่อในภาคส่วนอื่น เช่น ฐานมาเลเซียก็ต้องพูดคุยเรื่องนโยบาย ความตั้งใจ ประสานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เค้าเห็นช่องทาง ให้เลิกหวาดกลัว
 
DSW: ข้อที่สอง การเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ทางแม่ทัพฯ มีแนวปฏิบัติหรือแนวคิดอย่างไรในการต่อเชื่อมไปยังกลุ่มคนเหล่านี้?
 
พล.ท.อุดมชัย:  ความแข็งของรัฐในการมองปัญหาก็มองผ่านแผนงาน-โครงการ-นโยบาย ซึ่งมันก็แข็งอยู่ดี บรรลุไม่บรรลุมันก็ต้องทำตามห้วงปีงบประมาณ การได้ฟังเขาแล้วมาปรับแผนงานโครงการให้มันสอดคล้อง ฟังนี่หมายถึงฟังทุกหมู่เหล่า คือนึกออก แม้จะเห็นต่างแต่เขาพูดเขาชี้ให้เราเห็นเราก็แก้ปัญหาได้ เราต้องฟังเพราะเขาชี้ให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนว่าเราแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นความแข็งกระด้างของรัฐน่าจะลดลงไปเรื่องนโยบายข้อนี้ ก็คือเปิดโอกาสให้มีคนเห็นต่างให้ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
 
DSW: ได้พูดคุยกับท่านผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่?
 
พล.ท.อุดมชัย: ผมนำเสนอนโยบายอันนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่านได้นำไปให้ฝ่ายเสนาธิการคิด ท่านก็มียุทธศาสตร์ของท่านซึ่งนโยบายของผมต้องไปสอดรับกับนโยบายของท่านอีกที
 
DSW: ดูเหมือนว่าประโยค “ผมอาจต้องตกเป็นจำเลยสังคม” มาจากสามข้อแรกของแนวนโยบายเฉพาะหน้า มีความคิดต่อคำๆ นี้ ซึ่งเชื่อมโยงมาสู่สิ่งที่จะต้องทำในวันข้างหน้าอย่างไร?
 
พล.ท.อุดมชัย: เรื่องจำเลยของสังคมมาจากการมองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ มันก็ได้วิธีการ วิธีปฏิบัติหรือผลลัพธ์เหมือนเดิม ที่ผมยกตัวอย่างคือเรื่องการปิดล้อมตรวจค้นคนที่ถืออาวุธสู้กับรัฐมา จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พ่อแม่ไม่ยอมเอาอิหม่ามมา ถ้าเรายิงเขาก็ตาย ถ้าแก้วิธีเหมือนเดิมก็ได้ผลเหมือนเดิม ผมว่าอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะว่าคนพวกนี้คิดว่าการตายก็เหมือนการได้ขึ้นสวรรค์ การมอบตัวหมายถึงผู้ทรยศ เขาก็คงยังนึกภาพในคุกไม่ออกว่าในคุกจะมีความเป็นอยู่อย่างไร มีอาหารฮาลาลมั้ย คงคิดมาก เขาขึ้นสวรรค์ดีกว่าตามคำสอน คนพวกนี้ถ้าเราล้อมแล้วเจรจาก็ไม่ยอมหรอก เราจะต้องคิดใหม่ถ้าเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้อง เราขยายวงล้อมออกไป พ่อแม่เขาดำเนินการพูดคุยกันถึงที่สุดเขาพาหนีไปผมก็คิดว่าถ้าวงล้อมมันใหญ่ขึ้นก็อาจจะเล็ดลอดไปได้ เราค่อยติดตามผลพวกนี้ใหม่เพราะเขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน
 
DSW: ถ้านโยบายออกมาอย่างนี้ ในเชิงนโยบายต้องปรับยุทธวิธีหรือลดลงอย่างไร?
 
พล.ท.อุดมชัย: คงปรับให้มันอ่อนตัวสอดคล้องกับนโยบายงานข่าวที่เรามีอยู่ ถามว่าเราต้องตรวจค้นปิดล้อมมั้ย ต้องปิด เห็นคนมีอาวุธเราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กฎหมายที่มันเกี่ยวข้องกับการเอาชนะจิตใจประชาชนเพื่อที่จะยุติเหตุทั้งหมดนั้นเราจะยืดหยุ่นให้เห็นว่าเราละเว้นได้อย่างไร การขยายวงล้อมออกไปอาจจะเป็นยุทธวิธีที่เราพูดกันเพื่อให้เห็นว่าเราตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่จะทำให้มันยุติได้จริงๆ ไม่งั้นก็เหมือนเดิม
 
DSW: นโยบายของท่านดูเหมือนจะเป็นการให้ความหวังคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี แม่ทัพฯ ได้กำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ไหม?
 
พล.ท.อุดมชัย: ผมวางไว้เบื้องต้น 6 เดือน แต่ ผบ.ทบ.ต้องการประเมินภายในสามเดือน อย่างเช่น นโยบายมันกระจายไป สอบถามแล้วทุกคนเข้าใจนโยบายต่างๆ อย่างน้อยมันน่าจะได้เห็นผล กระจายเพื่อได้พูดได้คุย คนเริ่มเข้าใจว่านโยบายของรัฐเป็นอย่างนี้ กลับมาอยู่บ้านได้สบายไม่ต้องหวาดกลัว ยุติการฆ่าฟันต่างๆ สามเดือนก็น่าจะประเมินได้ แต่จะระดับไหนเท่านั้นเอง อยู่ที่สื่อจะช่วยเขียนทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าเรามีนโยบาย เราหยุดตัวเราเอง เราจะไม่ฆ่าฟันกัน ซึ่งต้องยอมรับว่า บางสิ่งที่รัฐเคยทำมามันสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกทางลบซึ่งเป็นงานเสียทางการเมือง ซึ่งเราต้องการที่จะเอาชนะจิตใจคนไทยทั้งชาติ มันเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาให้มันยั่งยืน
 
DSW: ปรับนโยบายขนาดนี้ ทหารหรือกองกำลังในพื้นที่มีการพูดคุยหรือมีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร?
 
พล.ท.อุดมชัย: ผมไม่ได้ทำรวดเร็ว ค่อยๆ ทำค่อยๆ ปรับไป พูดคุยกับ ผบ. แล้วเค้าก็ให้เวลาเสนอ ผมเห็นก็เข้าไปทำ พี่น้องมลายูก็เหมือนกัน ผมใช้เวลา 7-8 ปีอยู่กับคน คุยกันไปคุยกันมา ใช้เวลา 7-8 ปีกว่าจะเป็นนโยบาย เมื่อผมรับหน้าที่ผมต้องทำ ได้ไม่ได้ไม่มายด์ แต่ถือว่าทำเต็มที่.
 
 
แม่ทัพขยายความ 6 นโยบายเฉพาะหน้า
(ในเวทีพบปะตัวแทนภาคประชาสังคม)
 
          ข้อแรก
 
“ผมเองก็ต้องปรับแผนงานรองรับคนที่จะกลับมา โดยที่ยังลำบาก ไอ้ที่สบายก็ไม่ว่ากัน ไอ้ที่ดีก็มีจะทำยังไงก็ต้องช่วยกันปรับช่วยกันทำ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญของพี่น้องในประเทศไทยที่ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน กลับมาแบบ...ถ้าเขาไม่ยอมสู้แล้ว เราก็คงต้องช่วยดูแลกัน ว่าทางกฎหมายนั้นเป็นอะไร อย่างไร กลับมาแบบไม่ใช่ผู้แพ้ ไม่ใช่ผู้ชนะ แต่เป็นการกลับมาแบบการดำเนินชีวิตตามปกติสุข กลับมาทางการเมืองได้ไหม รัฐต้องส่งเสริม การกลับมาเป็นเรื่องที่ดีงาม ช่วยกันคิดว่าหาวิธีการ เช่น มาตรา 21* มารองรับอะไรต่างๆ เป็นต้น”
 
ข้อสอง
 
“ส่วนข้อที่สอง ความคิดเห็นต่างเป็นเรื่องปกติธรรม แม้แต่ในหน่วยของผม ก็ยังมีคนที่คิดต่างกัน เป็นเรื่องปกติมาก แต่มันก็ต้องมีบทสรุป ใช่ไหมครับ เอ้า! คิด คิด คิด แล้วจะเอาอย่างไร เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีความเห็นต่างผมคิดว่ามันน่าสนใจ อาจเป็นเวทีที่เราจะได้มาพูดคุยกัน ซึ่งก็น่ารับฟัง แต่จะดำเนินการอย่างไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน”
 
ข้อสาม
 
“ส่วนข้อที่สาม เป็นนโยบายเฉพาะหน้าที่สำคัญมากซึ่งสอดคล้องกับข้อที่หนึ่ง ปัญหาที่เราคิดกันมาอยู่บนฐานที่ว่า ทำไม คนที่ฆ่ากันไปฆ่ากันมา รบกันไม่สิ้นสุด เราห้ามมันก็ยาก เพราะฉะนั้น เราจึงเปลี่ยนแนวความคิดว่า ถ้ารากของมันอยู่ที่ผู้ถืออาวุธก็ดี จัดตั้งโดยไม่ถืออาวุธก็ดีที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา น่าจะหยุดส่งเสริมหรืออะไรก็แล้วแต่ให้หยุดการฆ่าฟันกัน อยู่ในกรอบของกฎหมาย มันก็มีการยกตัวอย่างกันว่าจะให้อยู่ในขอบเขตขนาดไหน โดยเฉพาะขอบเขตกับคนที่สู้กับเรา จะทำกันขนาดไหน ถ้าเราเข้าไป เขาวางอาวุธ เราก็ไม่ทำแต่ถ้ามีการปะทะอันนั้นก็ต้องทำต้องทำปฏิบัติตามหน้าที่กันอยู่แล้ว อันนั้นคงไม่ว่าอะไร เพราะผมก็ไม่ได้หนังเหนียวอะไรอยู่แล้ว (หัวเราะ) ก็ต้องยอมรับในประเด็นอย่างนี้เหมือนกันนะครับ
 
แต่มันมีบางเหตุการณ์ในช่วงหลัง ผมมีความรู้สึกว่าคนที่ถืออาวุธเขาไม่ยอม เอาลูกเอาเมีย เอาพ่อเอาแม่มาก็ไม่ยอม เอาอุสตาซมาพูดให้วางอาวุธก็ไม่ยอม สู้แล้วก็ตายทุกที เราจะทำยังไง อัลลอฮ์ทดสอบพวกเรามาตลอด ถ้าสู้แล้วแก้ปัญหาเหมือนเดิมก็ตายเหมือนเดิม ผมก็มาคิดใหม่ว่า เอ๊ะ! ทำไมเขาถึงยอมตาย ทำไมถึงยอมรับให้เราฆ่า ทำไมจึงยอมพลีชีพ มันมีเงื่อนไขอะไรต่างๆ คงต้องมีวิธีการจัดการต่อปัญหานี้ใหม่
 
ถ้ามันสามารถเป็นไปได้ก็คือ เรามานั่งนึกถึงกลุ่มคนพวกนี้ที่เขาสู้กับรัฐนะ เขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่มันถูกปลูกฝังให้มาสู้กับรัฐ ก็ถือว่าเป็นนักรบเหมือนกัน เขากับผมนี่เท่ากัน ถ้าให้โอกาสเขาได้คิดใหม่ ได้ทำใหม่ เราต้องหาโอกาสได้พูดคุยกับเขาว่าสิ่งที่เขาสู้อยู่นี้มันไม่ถูกทาง ทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาใช้อาวุธสู้อยู่นี้มันไม่ถูกทาง สังคมก็เห็นว่าเขาไม่ถูกทาง แต่เขายังเข้าใจไม่ถูกต้อง เราจะให้เขาตายเหมือนเดิมหรือไม่ อาจจะใช้วิธีอบรมสั่งสอน ให้พ่อแม่เขาเข้าไปหาก่อน แล้วเราไม่ต้องกระชับวงล้อม อาจจะถอยออกไปห่างๆ ก่อน เราอาจจะใช้วิธีอย่างนั้น เพื่อให้เขาเห็นว่าเราให้โอกาสนักรบ อาจจะคิด หรือปรึกษาหารือหลายฝ่ายมากขึ้น อันนี้มันอาจต้องเป็นประเด็นใหญ่พอสมควร ผมเองก็อาจต้องตกเป็น ‘จำเลย’ ของสังคมใหญ่ ว่าทำไมแม่ทัพหรือกลุ่มทหารที่ลงมาต้องปล่อย...คนที่คนข้างนอกอาจจะเรียกว่า ‘โจร’ หนีไป ทั้งๆ ที่ล้อมได้ ซึ่งตรงนี้ผมอาจต้องตกเป็นจำเลย แต่เราก็ต้องปรับกันใหม่ คิดวิธีการใหม่ๆ อาจจะเรียกว่าต้องหาวิธีการหลายๆ ทางแล้วกัน
 
เพราะฉะนั้นข้อที่สาม ประเด็นคือ ต้องหยุดส่งเสริมยุยงให้เขาเกิดการฆ่ากัน อาจจะใช้ช่องทางของกฎหมาย ของหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้ฝ่ายโน้นได้คิดหลายๆ ทาง แล้วค่อยนำเขามาสู่การพูดจากันว่าเขาจะสู้อย่างไร ต่อสู้ทางการเมืองก็ได้ ถ้าเขามองเห็น นะครับ”
 
ข้อสี่
 
“ส่วนข้อที่สี่ ผมยังคิดเลยว่า คนทางบ้านเรานี่ต้องละหมาดต้องไหว้พระวันละตั้ง 5 เวลา ผมเปรียบเทียบว่าคนที่เขาอยู่กับศาสนาเขามีความรู้สึกนึกคิดที่ผูกพันกับการปฏิบัติศาสนกิจ คนพุทธก็เข้าวัดเข้าวาทำบุญตักบาตร มันอาจจะมีสิ่งใด เช่น อบายมุขมันเข้ามาอยู่ใกล้มัสยิด ผมอยู่มา 6-7 ปี ผมก็ฟังพวกนี้เยอะ แม้แต่สังคมภายนอกก็พยายาม zoning สิ่งเหล่านี้ก็ยังทำไม่ได้ ยิ่ง 3 จังหวัดเรามีความเข้มข้นกับการปฏิบัติทางศาสนา เราจะทำยังไง คงต้องมีการรณรงค์พวกนี้ขึ้นมา อาจมีการขยับขยายให้สังคมอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสนับสนุนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ เรื่องกระแสฟื้นฟูอิสลามที่หลั่งไหลไปทั่วโลกนั้น ผมคิดว่ารัฐไทยไม่มีปัญหา และก็เห็นด้วยกับการเข้าไปอยู่ในศีลธรรมจรรยาของศาสนา ผมว่าทางรัฐเองก็หนุนเสริมหรือพร้อมเข้าไปสนับสนุนอยู่แล้ว”
 
ข้อห้า
 
“ในข้อที่ 5 เราก็เห็นอยู่แล้วว่าในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ พี่น้องมุสลิมอยู่แบบพอเพียงอยู่แล้ว อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก แล้วก็ประกอบศาสนกิจดำรงชีวิตคิดถึงโลกหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องหนุนเสริม คือ การอนุรักษ์ทรัพยากร ความจริงเราควรทำกันมาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 คงจะได้หนุนเสริมประสานงานช่วยเหลือสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง สร้างสิ่งพวกนี้เพื่อมวลชนส่วนใหญ่ ไม่ว่ามวลชนที่อยู่ชายฝั่งทะเลหรือมวลชนที่อยู่รอบป่าเขา เราก็จะทำ สิ่งที่เราทำได้เราก็ทำ ไม่ใช่ว่าผมทำได้หมด เจออวนรุนอวนลาก ผมอาจไปขอกองเรือภาคที่ 2 เข้ามาช่วยลอยลำดู อาจเอาภาคประชาสังคมขึ้นไปประชุมกันบนเรือรบให้ผู้การเรือ ให้ ผบ.กองเรือภาคที่ 2 ได้เห็นว่าเขามีความเดือดร้อน เขามีตัวแทน ให้เขาเห็นแล้วก็ลงมา ส่วนการสร้างปะการังเทียม หรือการออกโฉนดอะไรพวกนี้ เราต้องส่งโจทย์ แล้วทำกันนะครับ”
 
ข้อหก
 
“ประการสุดท้ายคือเรื่องยาเสพติด ที่เราคุยกันในรายละเอียดแล้ว(กับกลุ่มภาคประชาสังคม) ซึ่งก็ค่อยมาว่ากันอีกว่าจะมีแนวทางที่จะหนุนเสริมหรือขยายออกไปจากญาลันนันบารูอย่างไร”
 
สรุป
 
“อันนี้อาจเป็นนโยบายเฉพาะหน้า ที่จะรณรงค์ให้เห็นว่าเราต้องการทำเพื่อพี่น้องประชาชน เราต้องการให้เขากลับคืนสู่ภูมิลำเนา ยุติการฆ่าแกงกันโดยฝ่ายเรา ยึดหลักกฎหมายเป็นหลัก แล้วช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรหรือเรื่องยาเสพติดที่มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงเรื่องทั่วๆ ไปที่เราจะทำ แนวทางนี้เป็นสิ่งที่เราจะทำอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะขอช่วยจากภาคประชาสังคมอย่างจริงจังในด้านไหน ก็คงด้านที่เป็นข่าว เช่น เวลายิงครู ยิงคนไทยพุทธตาย ก็มีข่าวออกมาว่า ฆ่าผู้บริสุทธิ์กูต้องฆ่าอะไรอย่างนี้ มันควรยุติลงได้แล้วนะครับ เพราะฉะนั้นถ้ามีข่าวมีคราวว่ารัฐยังส่งเสริมหรือหนุนเสริมคนหนึ่งคนใดให้ทำอย่างนี้ ต้องช่วยกันบอกต้องช่วยกันรณรงค์ในสิ่งพวกนี้เพื่อเราจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ให้ภาคประชาสังคมให้ภาคโน้นภาคนี้เข้ามาช่วยกันจับ ผมคิดว่าปัญหาที่เรามาฆ่ากันเองในชาติมันคงทุเลาเบาบางลงไป เกิดจากนโยบาย เกิดจากการปฏิบัติ จากมาตรฐานของกฎหมายอะไรทั้งหลาย.
 
 
ดาวน์โหลด
 
 
*มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ระบุว่า
 
          ภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน. ดำเนินการตามมาตรา ๑๕
หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ
 
          ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
 
          การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
 
          เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป