เล่าคร่าวๆ กับเรื่องอดีตนายก ฯ , ตอนที่ ๒.
หากจะว่าไป โลกเราหมุนกันทุกๆ วันนี้ การเมืองแทบจะเกี่ยวข้องกันทุกสิ่ง
ขอความกรุณาจง "อย่า" ไปเข้าใจว่า "การเมือง" เป็นเรื่องของสภา ของผู้แทน หรือในสมัยปัจจุบันอาจจะเทห์หน่อยว่าเป็น "เรื่องของลุงประยุทธ์" เท่านั้น
และ กฏสำคัญ(ที่คนมักจะลืม)ของ "การเมือง"
คือ "อะไรก็เกิดขึ้นได้" (จะเติม "ถ้ามีปาปิก้า" อะไรก็แล้วแต่นะ)
แรงผลักให้เรื่องราวทางการเมืองทั้งหลายมีมากมายครับ
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ๑๐๐ คน ก็ ๑๐๐ เรื่อง
แต่เมื่อพิจารณาเป็นหมวดหมู่ ปัจจัยที่หนุนให้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นไปอย่างไรนั้นที่เห็นชัดที่สุด คือ "ผลประโยชน์" ครับ
และขอความกรุณาอีกครั้งว่า อย่าเผลอเข้าใจว่า "ผลประโยชน์" ที่ว่านี้ คือ "ตัวเงิน" หรือ "ตัวทอง" (อย่าเอามาเรียกติดกันนะจ๊ะ" เท่านั้น แต่มันยังครอบคลุมไปถึง "โอกาส" "ความนิยม" "ช่องทาง" "อำนาจ" เหล่านี้พ่วงไปด้วย
ยกตัวอย่างคร่าวๆอย่างนี้เปรียบคือน้ำซุปในหม้อสุกี้ ชาบู
ส่วนเราจะใส่เครื่องปรุง เนื้อ นม ไข่ อย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบทในเวลานั้น พื้นที่นั้น เอาอย่างนี้ละกัน
การไม่มาปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรีหญิงท่านแรกของประเทศไทย ในวันนัดฟังคำพิพากษา "คดีจำนำข้าว" ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันศุกร์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๖๐ ที่ทราบกันดีนั้น
ลองคิดเล่นๆนะ ว่าหากเป็นการ "จงใจ" ของทุกฝ่ายนี้ คงสนุกเป็นพล็อตเรื่องทางการเมืองที่น่าสนใจไม่น้อย
แบบนี้ครับ
เราทราบกันดีว่าเจ้าภาพหลักทางอำนาจในแผ่นดินไทยในขณะนี้คือ "คสช." ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ และยังมีดาบอาญาสิทธิ์อย่าง "ม.๔๔" ภายใต้คำสั่งของท่านผู้นำที่ปลดล็อกทุกสิ่งอย่างได้
การมาของท่านผู้นำนี้ ใครๆก็มองออกว่ายืนมาเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลเดิมที่เกี่ยวพันกับสายตระกูลชินวัตร ด้วยเหตุผลมากมายที่ยกกันมา แต่จุดยืนคือ "ไม่ยืน"ฝั่งเดียวกัน
เมื่อมีการพิจารณาคดี และใครๆก็รู้อยู่แล้วว่า คดีละเลยนี้ มองยังไงก็เสียหาย เพราะรูปการมันออกมา "ขาดทุน" แม้จะเป็นความพยายามจากฝ่ายไหนก็ช่าง แต่ในสำนวนคดีคือ "ขาดทุน" รัฐเสียหาย ต้องฟ้องทั้งอาญา และชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐ
ซึ่งผลจากการเป็นผู้บริหารนโยบาย ก็ต้องถูก "ตัดสิทธิ์" ทางการเมืองตลอดชีวิตอีกด้วย
เรียกว่า ถ้าศาลท่านพิจารณาว่า "ผิด" ก็โดนสามด่านใหญ่ๆแน่ๆคือ ๑.ติดคุก ๒.ชดใช้ค่าเสียหาย และ ๓.ตัดสิทธิ์ทางการเมือง
และนี่คือ "ดีล" --- "DEAL"
หากฝ่ายขั้วอำนาจเดิมเสนอให้อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเดินทางออกนอกประเทศไปด้วยเงื่อนไขเดียวคือ "ไม่ต้องกลับมาอีก" และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปตามปกติ แลกกับอิสรภาพนอกประเทศไทย
สิ่งที่อดีตนายกได้คือ "อิสระ"
สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันได้คือ "ความคล่องตัว" , "โอกาส" , "ความชอบธรรม" "คะแนนความนิยม" บลา บลา บลา
แม้ดูเผินๆ ว่า "ผู้มีอำนาจ" จะได้มากกว่า
ในทางการเมืองเป็นไปได้ครับ แลกไม่เท่ากัน ก็เกิดดีลได้
และมูลค่าของ "อิสรภาพ" คือสิ่งมีค่าสูงสุดอย่างนึงของมนุษย์ (คงไม่มีความหมายมากนักที่จะมีอำนาจแต่ไร้อิสรภาพ)
บทต่อไปที่น่าสนใจคือ "โมเดลการเลือกตั้ง" จะเป็นอย่างไร กลับสู่หนทางเดิม คือมีเลือกตั้งแน่ๆปีหน้า หรือว่า จะประคองค่อยเลือกกันไปก่อน ก็น่าคิดเป็นโดมิโนเช่นกัน
แต่ก่อนถ้าผมจำไม่ผิด ทางการส่งตำรวจติดตามอดีตนายกฯไปทุกหนแห่ง จนอดีตนายกฯก็เคยบอกออกมาว่าอึดอัด แต่เมื่อสองสามวันนี้กลับหายไปอย่างน่าสงสัย และตามมาด้วยการหายไปของอดีตนายกฯดังที่ทราบกัน
อีกจุดคือ การอ้างว่า "น้ำในหูไม่เท่ากัน" เป็นการป่วยที่ทำให้ไม่มาศาลได้ โดยไม่ได้ยื่นใบรับรองแพทย์ นั้นเป็นจุดที่ผมตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ว่าหากตั้งใจประวิงเวลาโดยไม่มีดีลแล้วก็ไม่น่าจะพลาดในเรื่องของใบรับรองแพทย์ (แต่ก็เป็นแค่คำถามของผมอ่ะนะ ไม่ได้รู้จริงอะไรหรอก)
ต่อไปบทบัญญัติในการ "ยึดทรัพย์" ก็คงจะออกมาเป็นระลอกตามสูตร
เมื่อ "ยิ่งลักษณ์" ไป ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ?
ว่ากันคร่าวๆในเรื่องผลกระทบ
ในแง่เศรษฐกิจก่อน ก็คงจะไม่มีอะไรมากมาย ดีไม่ดี ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะลึกๆแล้วไม่มีนักลงทุนคนไหนที่ต้องการรัฐบาลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ในเมื่อเสี้ยนหนามใหญ่ๆออกไปแล้ว เสือที่เหลือตัวเดียวก็ผงาดเป็นเจ้าป่าได้ดังๆ จุดนี้ คสช. จะได้อานิสงค์ในตัวเลขเศรษฐกิจซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทหารมาโดยตลอด
ในแง่สังคมไทย ความรู้สึก "ผิดหวัง" จะก่อตัวในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย กลายเป็น "ความเจ็บปวด" บทหนึ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง และความรู้สึก "สะใจ" ของกลุ่มตรงข้ามก็จะเหิมมากขึ้นกลายเป็นความมั่นใจในความเชื่อของตนเอง ตอกย้ำวาทกรรม "ถ้าไม่ผิดแล้วจะหนีทำไม" ให้หนักมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเหมารวมถึงทัศนคติประชาธิปไตยไทย เพราะ "ยิ่งลักษณ์" มิใช่ความหมายของประชาธิปไตยไทย ประยุทธ์ก็มิใช่ความหมายของประชาธิปไตยเช่นกัน ไม่มีประยุทธ์ ไม่มียิ่งลักษณ์ ประชาธิปไตยก็อยู่ได้ด้วยตัวของมัน ในที่นี่อาจจะชี้ให้เห็นถึง "ทัศนคติประชาธิปไตย" ของคนไทย ที่มีความแตกต่างกับ "ประชาธิปไตยกระแสหลัก" ค่อนข้างมากขึ้น
เหตุดังกล่าวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อ
ความเชื่อทีว่า "คนไทยยังไม่เหมาะกับประชาธิปไตย" โดยมุ่งไปยังชนชั้นรายได้ต่ำ ชายขอบของประเทศ ว่าไม่เหมาะสมที่จะมีคะแนนเสียงเท่ากับชนชั้นรายได้สูง เป็นอีลีทของสังคม และจะปลูกฝังความชอบธรรมในการแสวงหาอำนาจและอภิสิทธิ์ของตนที่ผูกพันกับภาษีที่ตนเสียไป หรืออย่างน้อยที่สุดคือ "ตำแหน่งหน้าที่" ซึ่งหากแนวคิดประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไปมากเท่าไร เราจะเห็นความเลื่อมล้ำนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
วัฒนธรรมการเมือง จะเปลี่ยนทิศ แต่จุดร่วมที่คล้ายกันมากระหว่างสองฝั่งคือ "อำนาจนิยม" ที่จะกลายเป็น "สูตรสำเร็จ" ในการบริหารประเทศ ไม่ว่าฝั่งไหนจะกุมอำนาจ แนวโน้มก็จะมุ่งสู่การสะสมอำนาจมากขึ้น และมีผลกระทบต่อแนวคิดในการ "ออกกฏหมาย" ที่มีผลผูกพันกับประชาชนและระยะเวลาการบังคับใช้ กฏหมายใดให้อำนาจกับฝ่ายบริหารมากก็จะอยู่นาน กฏหมายใดที่กระจายอำนาจก็จะถูกพิจารณาปรับเปลี่ยนกันใหม่
พรรคการเมืองจะถูกลดขนาดลงเพื่อเป็นหลักประกันของความอยู่รอด และคล่องตัวในการตอบโจทย์ของตนเอง ต่อไปนี้พรรคใหญ่จะคลายอำนาจลง และกลายเป็น "กลุ่มการเมือง" ที่จะมีอำนาจมากเสมือนสถานการณ์การเมืองของไทยในอดีต
เมื่อระบบการเมืองเปลี่ยนไป ระบบราชการก็เปลี่ยนตาม เป็นธรรมชาติ เท่าที่มอง อำนาจจะถูกริบเข้าสู่ส่วนราชการมากขึ้น และการปกครองส่วนท้องถิ่นจะอ่อนแอลง
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าคำว่า "ชินวัตร" ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และยังไม่แน่ใจว่าถึงตอนจบดังที่บางฝ่ายได้คาดหวังหรือยัง
หากการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึง (แม้ว่าจะไม่มั่นใจนักว่า "เมื่อไร ?" ) ทายาทของ "ไทยรักไทย" สามารถปักธงได้อีก ประเทศก็จะเปลี่ยนทิศใหญ่ๆอีกครั้ง
เพราะอย่าลืมกฎสำคัญของการเมืองที่เขียนไว้ตอนต้นว่า
"อะไรก็เกิดขึ้นได้"
อนาคตเมืองไทย ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย ก็คงจะต้องสะกดกันใหม่ บริบททางการเมืองไทยที่อาจผงาดสิงห์เสือเพียงไม่กี่ตัวที่จับกันด้วย "ผลประโยชน์" ก็ต้องเผชิญกับคลื่นโลกาภิวัฒน์ภายนอกอีกระลอกใหญ่
ซึ่ง "ผู้นำ" ไม่ว่าจะเป็นใครจะเอาตัวเองรอด หรือ ประเทศรอด
อีกครั้งนะครับว่า "อะไรก็เกิดขึ้นได้"
ข้อเขียนนี่เป็นความเห็นส่วนตัวเสี้ยวหนึ่ง ที่เป็นเพียงความเห็นนะครับ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยัน ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญานในการเสพด้วยนะครับ และหากมีข้อแลกเปลี่ยนก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง.
#PrinceAlessandro
26-08-2017
อ่านตอนที่แล้ว
เล่าคร่าวๆ กับเรื่องอดีตนายก ฯ , ตอนที่ 1