“อิดิลอัฎฮา” วันเปลี่ยนแปลงสังคม
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
เดือนนี้คือเดือนซุลฮิจญะฮฺ (ذو الحجة Zhul Hijjah) ซึ่งเป็นเดือน 12 ตามปฏิทินอาหรับ เป็นเดือนแห่งการประกอบพิธีฮัจญฺ ณ นครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน นับแต่อดีตเมื่อถึงเดือนนี้ บรรดาผู้แสวงบุญพิธีฮัจญฺพากันเดินทางไปยังเมืองมักกะฮฺเริ่มตั้งแต่การกำหนดเจตนาการทำฮัจญฺมีการถือครองอิฮฺรอมโดยฝ่ายชายนุ่งห่มด้วยผ้าสองผืน ฝ่ายหญิงคลุมทั้งร่างกาย ก่อนเวลาบ่ายของวันที่ 9 ทุกคนไปรวมกันที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ซึ่งอยู่ห่างจากนครมักกะฮฺไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ทำการพัก ณ ที่แห่งนั้นเรียกการพักนี้ว่า “วุกุฟ” (وقف Wuquf) ซึ่งหมายถึงการพักสงบ จัดเป็นข้อบังคับหรือรุกุ่นฮัจญ์ที่ต้องปฏิบัติ
เข้าวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺซึ่งเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 9 จนกระทั่งก่อนเที่ยงคืนบรรดาผู้แสวงบุญฮัจญฺพากันเดินทางออกจากอะรอฟะฮฺผ่านไปทางทุ่งมุซดะลีฟะฮฺกระทั่งเช้าวันที่ 10 จึงหลั่งไหลเข้าสู่หุบเขามีนาให้เสร็จสิ้นก่อนเวลาเที่ยง วันที่ 10 นี้เรียกกันว่าวันกุรบานหรือวันแห่งการเชือดพลีมีการเชือดสัตว์เพื่อแจกจ่ายเนื้อให้กับคนกลุ่มต่างๆ ผู้แสวงบุญพักที่ทุ่งมีนาในวันที่ 10 และหลังจากนั้นอีกสามวันคือวันที่ 11, 12, 13 เรียกว่า “วันตัชริก” (آل تاشريق Al-Tashreeq) การประกอบพิธีฮัจญฺทำกันที่หุบเขามีนาในวันที่ 10 ถึงวันที่ 13 หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ามักกะฮฺเพื่อประกอบพิธีฮัจญฺในส่วนที่เหลือซึ่งประกอบด้วยการฏอวาฟหรือเดินเวียนซ้ายรอบอาคารไบตุลเลาะฮฺ 7 รอบ การเดินสะแอ 7 รอบ การขลิบผมหรือโกนศีรษะ
ในวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺที่เรียกกันว่าวันกุรบาน มุสลิมทั่วโลกพากันเฉลิมฉลองกันในวันนี้เรียกกันว่า “อิดิลอัฎฮา” (عيد الأضحى Eid Al Adha) หรือการเฉลิมฉลองการเชือดพลี ในวันนี้มีเรื่องราวหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลามที่ผู้คนอาจลืมเลือนโดยเป็นเรื่องราวของเนินเขาเล็กๆแห่งหนึ่งในหุบเขามีนาที่ชื่อว่าเนินอะกอบะฮฺ (العقبة Al Aqaba) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเสาหินใหญ่ที่เรียกว่าญัมระฮฺ อัลอะกอบะฮฺ โดยในวันที่ 10 บรรดาผู้แสวงบุญพากันขว้างหรือโยนหิน 7 ก้อนที่เสาหินอัลอะกอบะฮฺ หลังจากนั้นในวันตัซรีกอีกสามวัน ทุกคนพากันขว้างหรือโยนหิน 7 ก้อนที่สามเสาหินซึ่งรวมถึงเสาหินอะกอบะฮฺ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีการโยนหินที่เสาหินอะกอบะฮฺมากกว่าเสาหินอีกสองเสารวม 7 ก้อน โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ย่อมมีเหตุผลในตัวของมัน
ย้อนหลังกลับไปในปีที่ 1 ก่อนการฮิจเราะฮฺตรงกับ ค.ศ.621 เดือนซุลฮิจญะฮฺระหว่างพิธีฮัจญฺของชาวอาหรับยุคก่อนอิสลาม ค่ำคืนสุดท้ายของวันตัชรีกก่อนทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้านเมืองของตนเอง ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) มอบหมายให้ลุงของท่านคืออับบาส อิบนุอับดุลมุตตอลิบ (ร.ฎ.) จัดการนัดพบกับชาวยาธริบ 6 คนที่เนินเขาอะกอบะฮฺซึ่งอยู่ในหุบเขามีนา มีการปรึกษาหารือกระทั่งนำไปสู่การทำสัญญาอะกอบะฮฺครั้งที่ 1 ถึงเดือนซุลฮิจญะฮฺปีต่อมาตรงกับ ค.ศ.622 ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นัดพบกับชาวยาธริบอีกครั้ง ณ ที่เดิมคือเนินเขาอะกอบะฮฺ โดยครั้งนี้มีชาวยาธริบจำนวน 75 คนมาพบท่านนบี ในจำนวนนี้ 5 คนคือชาวยาธริบที่เคยมาพบท่านในพิธีฮัจญฺปีก่อน การปรึกษาหารือก่อให้เกิดสัญญาอะกอบะฮฺครั้งที่สองซึ่งนำไปสู่การฮิจเราะฮฺหรือการอพยพของท่านนบีและท่านอบูบักร ผลที่ตามมาคือการกำเนิดอาณาจักรแรกของอิสลามที่เมืองยาธริบที่เปลี่ยนชื่อเป็นอัลมะดีนะฮฺอัลนะบะวีหรือ “มะดีนะฮฺ” ที่รู้จักกันในวันนี้
เนินเขาอะกอบะฮฺจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์อิสลาม นอกจากจะเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับพิธีฮัจญฺแล้วยังเป็นวันที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การเปลี่ยนหรือ “อัตตัฆยีร” (التغيير Attaqyeer) คือหนึ่งในวัฒนธรรมและวิธีคิดในอิสลาม วันอิดิลอัฎฮาที่เรียกกันว่าวันกุรบาน จึงย้อนเวลาให้ผมรำลึกถึงท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) และเนินเขาอัลอะกอบะฮฺเสมอ ไม่เคยลืมว่าวันนี้คือวันที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อิสลามและสังคมมุสลิมโดยรวม
“แท้จริงอัลลอฮฺจะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง” อัรเราะอฺดฺ 13:11
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมต้องเชือดสัตว์เพื่อการพลี ?
ความหมายของอุฎฮียะฮ์(เนื้อกุรบาน)และกฎเกณฑ์ของมัน
แนวคิดของการเชือดสัตว์พลีในอิสลาม
อะไรคือหลักเกณฑ์และความสำคัญของการเชือดพลี(อุฎฮียะฮฺ)
สัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็นสัตว์ดีที่สุดในการทำอุฎฮียะฮ์(เชือดกุรบาน)