โรฮิงญา: ขุดรากประวัติศาสตร์บาดแผล
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการสำรวจวรรณกรรมที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่าในรัฐยะไข่ ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานใดๆที่บ่งชี้ว่าได้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมก่อนการมาของจักรวรรดิอังกฤษ คนเหล่านี้เคยอยู่ร่วมกันมายาวนานก่อนที่ประเทศพม่าจะถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอิสลาม พุทธ คริสต์ หรือฮินดู ต่างก็เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นบนดินแดนอื่น แล้วถูกนำเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น ดังนั้น ความพยายามในการเชื่อมโยงว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องศาสนาจึงไม่มีน้ำหนักมากพอ
แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในรัฐยะไข่อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคอาณานิคมอังกฤษ เมื่ออังกฤษต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจจึงสนับสนุนให้ชาวอินเดียที่ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามอพยพเข้าสู่พม่าเพราะชาวพม่าขณะนั้นมีทักษะการทำงานที่ด้อยกว่า ชาวอินเดียจึงได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและโอกาสในระบบราชการมากกว่าชาวพม่า
ถึงแม้ว่ามุสลิมกลุ่มใหม่ที่มาจากอินเดียจะแตกต่างกับชาวมุสลิมท้องถิ่น จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมอินเดียกลุ่มใหม่ที่พยายามมีอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมเหนือชาวมุสลิมท้องถิ่น แต่ชาวพุทธพม่ากลับมองชาวมุสลิมทั้งหมดว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ทำให้ชาวมุสลิมท้องถิ่นถูกต่อต้านจากชาวพุทธพม่าเช่นเดียวกันกับชาวมุสลิมจากอินเดีย
การต่อต้านชาวมุสลิมในระยะแรกได้เกิดขึ้นในเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ เช่น ย่างกุ้ง ฯลฯ
ต่อมาเมื่อความไม่พอใจทางเศรษฐกิจได้ถูกยกระดับไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้แนวคิดชาตินิยมแนวพุทธแบบพม่า ชาวมุสลิมท้องถิ่นจึงได้กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วย โดยเฉพาะชาวมุสลิมในยะไข่ที่สนับสนุนอังกฤษในการรบกับกองทัพญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธพม่าในสงครามโลกครั้งที่ 2เหตุการณ์ทำร้ายและฆ่าฟันระหว่างประชากรพุทธกับมุสลิมและการแยกอาณาเขตการอยู่อาศัยระหว่างชุมชนชาวพุทธกับชาวมุสลิมจึงได้เกิดขึ้นในยุคนี้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแนวคิดชาตินิยมในกลุ่มชาวมุสลิมก็ได้ก่อตัวขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยหลายประการ เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวพุทธตลอดยุคอาณานิคม ชาวมุสลิมได้รับการส่งเสริมจากอังกฤษให้มีอิทธิพลในยะไข่เพื่อตอบแทนมุสลิมที่ให้ความช่วยเหลือจนมีชัยชนะเหนือญี่ปุ่น และอิทธิพลของประเทศมุสลิมเกิดใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะประเทศปากีสถาน
ความขัดแย้งที่ถูกบ่มเพาะขึ้นจากนโยบายแบ่งแยกและปกครอง (Divide and Rule) ของอังกฤษที่ได้แบ่งพม่าออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพม่าแท้ (People Burma) ให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง (Direct Rule) กับส่วนบริเวณภูเขา (Hill Areas) หรือส่วนชายแดน (Frontier Areas) ใช้การปกครองทางอ้อม (Indirect Rule) อนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกครองตัวเองได้ตามประเพณีภายใต้การให้คำปรึกษาของข้าหลวงอังกฤษ
นโยบายของอังกฤษอย่างนี้ได้ปิดโอกาสการเรียนรู้และการมีวิวัฒนาการทางสังคมร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตพม่าแท้กับเขตชายแดน
การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ของอังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางการทหารได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีพัฒนาการทางอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรม และเกิดสำนึกความเป็นชาติที่เข้มข้น ในทำนองเดียวกัน ชาวพม่าก็ได้พัฒนาแนวคิดชาตินิยมที่แยกขาดจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่บ่มเพาะความขัดแย้ง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนพม่าแท้กับกลุ่มชาติพันธ์ตามแนวชายแดนตลอดมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ การเรียกร้องอิสรภาพเพื่อปกครองตัวเองและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่พม่าต้องเผชิญตลอดมา
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
โรฮิงญา: “ระยะสุดท้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”