ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลานั้น มีความแตกต่างทางด้านภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ต่างจากคนไทยในภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการก่อเหตุความรุนแรงและความขัดแย้งอันเป็นผลต่อเนื่องจากเงื่อนไขที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกกดขี่ข่มเหงและถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจากส่วนกลางในอดีต
โดยเฉพาะนับแต่ปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง หรือค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสเป็นต้นมา สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็เกิดขยายตัวยกระดับมากขึ้นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจะมีความเข้าใจต่อคนและสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นรายวันอย่างต่อเนื่อง
คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้จะมีความแตกต่างกับคนไทยส่วนอื่นๆของประเทศ ทางภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่ความรู้สึกมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในพื้นที่นี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าประชาชนในเขตพื้นที่อื่นๆ ของประเทศแม้แต่น้อย ร้านน้ำชาแต่ละร้านในเขตพื้นที่สามจังหวัดมักเปิดทีวีช่องที่มีการรายงานข่าว ผู้คนมักแลกเปลี่ยนและถกประเด็นทางการเมืองตามร้านน้ำชา สถานที่ สาธารณะต่างๆ รวมทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นักศึกษาหลายๆ คนทั้งชายและหญิง ต่างยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองอย่างออกอรรถรสจนบางทีผู้หญิงไม่ยอมแพ้ผู้ชาย
การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็เช่นกัน คนในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งมากขึ้นหากเทียบกับแต่ก่อน นับแต่การเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
กระทั่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา จำนวนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งอยู่ที่ประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังได้สะท้อนสิ่งที่ยากแก่ความเข้าใจต่อคนหลายๆ คนต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีปุจฉาผุดขึ้นมาในใจ 2 คำถาม คำถามแรกคือ “ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงชนะแบบถล่มทลายในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้?” ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เว้นจากภาคใต้ตอนบน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน พรรคเพื่อไทยเป็นผู้กุมชัยชนะอย่างท่วมท้น ตามมาด้วยคำถามที่สองซึ่งเกิดข้อสงสัยอย่างหนักหน่วงว่า “ทำไมกลุ่มวาดะห์ถึงปราชัยอย่างย่อยยับ?”
ในการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตครั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มวาดะห์ที่เป็นแกนนำของกลุ่มซึ่งเป็นตัวหลักในการก่อตั้งวาดะห์เมื่อหลายปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นคุณมุข สุไลมาน หรือคุณบูราฮานุดดิน อูเซ็ง และน่าจะถือเป็นกลุ่มตัวแทนของชนมลายูมุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในอดีตที่ผ่านมานั้น อย่างน้อยๆ ที่สุดก็ต้องมีหนึ่งหรือสองคนจากกลุ่มวาดะห์ที่จะต้องได้รับการเลือกตั้งเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2529
แต่ทว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขากลับไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย หลายคนถึงขนาดขานถามกันว่า กลุ่มวาดะห์ได้มาถึงจุดอวสานแล้วอย่างนั้นหรือ? (แม้ว่าหลายคนอาจจะเห็นว่าวาดะห์นั้นล้มหายตายไปจากแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548 ก็ตาม)
พื้นที่ภายในภูมิภาคอย่างจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เป็นพื้นที่ที่หลายคนจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อย คนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจใช้กรอบของความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ ซึ่งหากมองจากผลการเลือกตั้ง ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า คนในพื้นที่แห่งนี้ยังคงมีแนวคิดที่ไม่ได้ต่างกับคนในเขตภาคใต้ตอนบนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์ และเลือกที่จะปฎิเสธพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เท่านั้นเอง
วิเคราะห์แบบนี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่เป็นการมองที่ขาดมิติด้านลึก เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงไม่ได้มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในแถบนี้เท่าไหร่ นอกเหนือจากนี้ยังไม่สามารถปฎิเสธได้ว่ามีอีกหลายตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ แล้วอะไรล่ะคือคำตอบ?
บางคนก็อาจวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐบาลที่ลงทุนมากมายนานับประการให้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดโดยผ่านการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มรูปแบบทั้งในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ การขยายกำลังฝ่ายปกครองท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.)
นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้กรุยทางเอาไว้โดยดำเนินนโยบายตามแนวทางของมาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหตุนี้จึงได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นให้ได้กลับมารับใช้ประชาชนอีก เรื่องเป็นเช่นนี้หรือ?
จะเท็จจริงมากน้อยเพียงไรว่าชาวบ้านจะซาบซึ้งกับผลงานของพรรคประชาธิปัตย์มากมายอย่างคณานับนั้นก็คงยากที่จะฟันธงว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะควรมีงานวิจัยประเมินผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีผลทำให้ชาวบ้านพึงพอใจมากน้อยขนาดไหนอย่างไร
เพื่อที่จะหาคำตอบเฉพาะหน้าที่ชัดเจน จนสามารถไขโจทก์ปัญหาสองปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้นั้น จำเป็นที่จะต้องนำข้อมูลคะแนนดิบของผลการเลือกตั้งมาวิเคราะห์ประกอบ นี่เป็นการวิเคราะห์โดยอิงการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
ตารางที่ 1 แสดงผลคะแนนการเลือกตั้งของส.ส.เฉพาะแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปรียบเทียบเพียงปี 2548 และ ปี 2554 ระหว่างฝ่ายแรกที่เป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้สมัครพรรคไทยรักไทย (มีกลุ่มวาดะห์เป็นส่วนหนึ่ง) ในปี 2548 และผู้สมัคร 4 พรรคการเมืองในปี 2554 ซึ่งแต่ละกลุ่มนำโดยอดีตแกนนำคนสำคัญของกลุ่มวาดะห์เดิมที่กระจายไปอยู่ตามพรรคดังกล่าว ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่ได้นำปี 2551 มาประกอบการวิเคราะห์เนื่องจากปี 2551 มีระบบการเลือกตั้งแบ่งเขตรวมหลายเบอร์ที่แตกต่างออกไปจากปี 2548 และ ปี 2554
จังหวัด
|
เขต
|
ผลการเลือกตั้งปี 2548
|
ผลการเลือกตั้งปี 2554
|
||
ประชาธิปัตย์
|
ไทยรักไทย
|
ประชาธิปัตย์
|
มาตุภูมิ + ประชาธรรม + เพื่อไทย + ภูมิใจไทย
|
||
ปัตตานี
|
1
|
28, 554
|
15, 663
|
28,740
|
44, 651
|
2
|
41, 968
|
8, 532
|
38,158
|
26, 335
|
|
3
|
33, 385
|
20, 763
|
19,961
|
56, 047
|
|
4
|
28, 769
|
13, 921
|
19,735
|
44, 490
|
|
นราธิวาส
|
1
|
33,927
|
16, 329
|
37,854
|
27, 748
|
2
|
36,653
|
24, 717
|
25,883
|
40, 564
|
|
3
|
21, 717
|
22, 189
|
24,704
|
32, 952
|
|
4
|
39,497
|
22, 801
|
28,674
|
35, 896
|
|
ยะลา
|
1
|
33, 393
|
20, 336
|
40, 035
|
16, 648
|
2
|
23, 212
|
19, 314
|
28, 636
|
45, 833
|
|
3
|
38, 040
|
22, 162
|
33,228
|
33, 290
|
ตาราง 1: ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขตของปี 2548 และ 2554 ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา
หากดูจากผลการเลือกตั้งในปี 2548 จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคไทยรักไทยในทุกเขตการเลือกตั้ง (ยกเว้นจังหวัดนราธิวาส เขต 3 ที่พรรคชาติไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเขตนี้) หากมองในมุมที่กลับกัน กลุ่มวาดะห์ซึ่งย้ายมาอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ทุกเขตการเลือกตั้งหลังเกิดเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในปี 2547 ในอีกด้านหนึ่ง สมาชิกกลุ่มวาดะห์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในคดีปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง นอกจากนี้หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวาดะห์ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญระดับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ช่วงเวลาดังกล่าว แต่กลับเลือกที่จะเพิกเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ดังนี้แล้ว จะเป็นการสรุปฟันธงได้หรือไม่ว่าคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เอากลุ่มวาดะห์แล้ว?
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าคนในสามจังหวัดปฎิเสธวาดะห์หรือไม่ คือ การที่กลุ่มดารุสลามภายใต้การนำของนายไวโรจน์ พิพิธภักดี ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้ปีกของพรรคประชาธิปัตย์ มาครั้งนี้ กลุ่มดารุสลามกลับเลือกที่จะโยกย้ายมาร่วมกับพรรคไทยรักไทย ผลการเลือกตั้งที่ออกมาปรากฎว่ากลุ่มดารุสลามต่างก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งเช่นกัน
หากประชาชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปฎิเสธกลุ่มวาดะห์จริง ทำไมกลุ่มดารุสลามที่ปกติก็ได้รับการเลือกตั้งภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ พอย้ายมาพรรคไทยรักไทยแล้วก็ยังประสบกับความพ่ายแพ้?
จากรูปการรูปการนี้พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทักษิณกำลังเจอ “ปรากฎการณ์โหวตลงทัณฑ์" หรือ “punishment vote” ในขณะที่คนที่ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งก็ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์เพราะสูงถึงเกือบ 80% ถือเป็นการตอบโต้อย่างชัดเจนจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อพรรคไทยรักไทย เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของรัฐบาลทักษิณที่ใช้กฎเหล็กจัดการกับเหตุการณ์ทั้งในกรณีกรือเซะและตากใบ
เขต
|
ปัตตานี
|
นราธิวาส
|
ยะลา
|
|||
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับหนึ่ง
|
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับสอง
|
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับหนึ่ง
|
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับสอง
|
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับหนึ่ง
|
ผู้สมัครคะแนนนำอันดับสอง
|
|
1
|
28,740 (38%)
(ประชาธิปัตย์)
|
24,291 (32%)
(ภูมิใจไทย)
|
37,854 (46.78%)
(ประชาธิปัตย์)
|
24,357 (30.10%)
(มาตุภูมิ)
|
40,035 (69.96%)
(ประชาธิปัตย์)
|
12,101 (21.15%)
(เพื่อไทย)
|
2
|
38,158 (59%)
(ประชาธิปัตย์)
|
20,378 (31.5%)
(ภูมิใจไทย)
|
25,883 (34.60%)
(ประชาธิปัตย์)
|
21,227 (28.37%)
(ภูมิใจไทย)
|
28,636 (37.75%)
(ประชาธิปัตย์)
|
28,061 (36.99%)
(เพื่อไทย)
|
3
|
27,124 (35.67%)
(มาตุภูมิ)
|
25,928 (34.1%)
(ภูมิใจไทย)
|
24,704 (30.70%)
(ประชาธิปัตย์)
|
22,802 (28.34%)
(ชาติไทยพัฒนา)
|
33,228 (47.03%)
(ประชาธิปัตย์)
|
21,558 (30.51%)
(เพื่อไทย)
|
4
|
21, 508 (33.25%)
(ภูมิใจไทย)
|
19, 753 (30.54%)
(มาตุภูมิ)
|
28,674 (31.30%)
(ประชาธิปัตย์)
|
27,657 (30.19%)
(มาตุภูมิ)
|
|
ตาราง 2: ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขต เปรียบเทียบคะแนนของผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งและคะแนนผู้สมัครที่อยู่ใน
การเลือกตั้งปี 2554 กลับเกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจโดดเด่นหลายประการ หากมองจากตารางที่ 2 เพื่อประกอบการวิเคราะห์ เปรียบเทียบระหว่างผู้สมัครของพรรคที่ชนะนำเป็นอันดับหนึ่งกับผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับสองจะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งถึง 8 เขตการเลือกตั้ง
หากใครจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะแบบถล่มทลายก็คงต้องมานั่งดูคะแนนเสียงว่าชนะกันขาดลอยขนาดไหน ประชาธิปัตย์ชนะขาดลอยอย่างเห็นได้ชัดในจังหวัดยะลาเขต 1 (พรรคประชาธิปัตย์ 69.96% ต่อ พรรคเพื่อไทย 21.5%) ในจังหวัดปัตตานี เขต 2 (พรรคประชาธิปัตย์ 59% ต่อ พรรคภูมิใจไทย 31.5%) ในส่วนของจังหวัดนราธิวาสเขต 1 และจังหวัดยะลาเขต 3 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนผู้ชนะอันดับหนึ่งก็ยังถือว่าชนะห่างกันประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ สำหรับเขตอื่นๆ ที่เหลือถือว่ามีการชนะกันแบบฉิวเฉียด เขตที่คะแนนชนะกันเพียงฉิวเฉียดจนหัวใจเกือบวายคือเขต 2 จังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคเพื่อไทยเพียง 0.76%
มีความแตกต่างของการเลือกตั้งปี 2544 และการเลือกตั้งของปี 2554 นั่นคือในปี 2554 กลุ่มวาดะห์มีการแตกกลุ่มกันเกิดขึ้น วาดะห์เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “เอกภาพ” การจัดตั้งกลุ่มวาดะห์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2529 ถือเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่เขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มแรกๆ ที่สามารถก่อตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้น เพื่อสามารถที่จะเข้าไปในสภาแล้วมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลในการที่จะออกตัวบทกฎหมายต่างๆ เพื่อพี่น้องมุสลิมทั้งในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการผลักดันในเรื่องการจัดตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทยโดยเสนอร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเข้าสูสภา หรือกระทั่งการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาให้สามารถคลุมฮิญาบได้ ซึ่งได้ในโรงเรียนทุกระดับ เป็นต้น
ดังนี้แล้ว จึงเกิดเป็นสมมุติฐานเกิดขึ้น ว่าหากกลุ่มวาดะห์ไม่แตกตัวกระจัดกระจายไปสู่พรรคต่างๆ ผลคะแนนเสียงของวาดะห์น่าที่จะมากกว่านี้และอาจชนะพรรคคู่ต่อสู้ก็เป็นได้
เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนี้ ถ้าเรารวบรวมคะแนนเสียงของพรรคมาตุภูมิ เพื่อไทย ภูมิใจไทย และพรรคประชาธรรมมาผนวกรวมกัน (พรรคที่ถือว่ามาจากการแตกกันของอดีตวาดะห์) คำนวณหาเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้โดยคำนวณจากจำนวนบัตรดีทั้งหมดกับคะแนนเสียงที่ได้ของผู้สมัครแต่ละท่านในเขตการเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ระหว่างคะแนนของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ และคะแนนรวมของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยของแต่ละเขต ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา ดังแสดงในตารางที่ 3
จังหวัด
|
เขต
|
ผลการเลือกตั้งปี 2554 (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนบัตรดีของผู้มาใช้สิทธิ์ในแต่ละเขต)
|
|
ประชาธิปัตย์
|
มาตุภูมิ + ประชาธรรม + เพื่อไทย + ภูมิใจไทย
|
||
ปัตตานี
|
1
|
38%
|
59%
|
2
|
59%
|
40.71%
|
|
3
|
26.25%
|
73.71%
|
|
4
|
30.51%
|
68.78%
|
|
นราธิวาส
|
1
|
46.78%
|
34.29%
|
2
|
34.60%
|
54.22%
|
|
3
|
30.70%
|
40.95%
|
|
4
|
31.30%
|
39.19%
|
|
ยะลา
|
1
|
69.96%
|
29.10%
|
2
|
37.75%
|
60.42%
|
|
3
|
47.03%
|
47.11%
|
ตาราง 3: ข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขต ปี2554 เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้โดยคำนวณจากจำนวนบัตรดีทั้งหมดกับคะแนนเสียงที่ได้ของผู้สมัครแต่ละท่านในเขตการเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ระหว่างคะแนนของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ และคะแนนรวมของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยของแต่ละเขต ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา
ผลที่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้ หากประมวลนำคะแนนของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยมาผนวกรวมกัน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดการสลับขั้วไปในทางตรงข้ามทันที แทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะชนะ 8 ที่นั่ง กลับกลายเป็นว่าคะแนนของกลุ่มวาดะห์จะชนะ 8 ที่นั่ง แล้วยังชนะแบบถล่มทลายอีกด้วย เขตที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะแบบคะแนนขาดลอยก็ยังยืนอยู่ที่จังหวัดปัตตานีเขต 2 จังหวัดยะลาเขต 1 และนราธิวาสเขต 1
เป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ชนะแบบถล่มทลายอย่างที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะครั้งนี้เป็นเพราะความพลาดพลั้งของกลุ่มวาดะห์เองที่แตกตัวกันไปคนละทิศ!
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเทียบคะแนนของประชาธิปัตย์ในแต่ละเขตในระหว่างปี 2548 กับปี 2554 ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำคะแนนดีขึ้นอย่างเด่นชัดแต่ประการใด คะแนนของประชาธิปัตย์ลดลงกว่าเดิมถึง 6 เขตเลือกตั้ง ทำคะแนนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น อีก 1 เขตทำคะแนนได้เกือบจะเท่าเดิมหรือต่างกันไม่ถึงห้าร้อยเสียง
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพลาดของกลุ่มวาดะห์ จะโทษผู้มาใช้คะแนนเสียงไม่ได้เลย เพราะการแตกตัวของกลุ่มวาดะห์ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “split voting” หรือ “โหวตเสียงแตก” คะแนนเสียงที่กลุ่มวาดะห์ควรที่จะได้เป็นมวลเดียว กลับต้องแตกกระเซ็นไปสู่พรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย
อีกประเด็นที่จำต้องนำมาพูดถึงในที่นี้ คือ เรื่องวาระนโยบายเขตการปกครองพิเศษในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมานั่งมองดูถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่จะยังคงระบบการปกครองแบบเดิมโดยเน้นการจัดการผ่าน ศอ.บต. ส่วนพรรคการเมืองที่เหลือต่างชูนโยบายลักษณะการจัดการแบบเขตการปกครองพิเศษทั้งสิ้น ดูตามรูปการณ์นี้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกับเป็นการทำประชามติย่อมๆ ว่าคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษอย่างไร!
หากดูภาพแบบผิวเผินจากผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะ ดังนั้นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษอย่างนั้นหรือ? เช่นนี้แล้วต้องย้อนกลับไปมองตารางที่ 3 คะแนนเสียงที่ได้มวลรวมของกลุ่มวาดะห์ถือว่ามากกว่าประชาธิปัตย์ถึงแปดเขตการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ได้รวมคะแนนจากพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคความหวังใหม่เข้าไปด้วย
ดังนั้น หากมองดูแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในเขตพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับเขตการปกครองพิเศษ? การนำเสนอในที่นี้ไม่ได้หวังที่จะฟันธงถึงคำตอบอย่างชัดเจน แต่ประสงค์ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อโต้แย้งว่าคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิเสธเขตปกครองพิเศษนั้น ผิดจากข้อเท็จจริงหรือเป็นข้อโต้แย้งที่ผิด (falsified argument)
จริงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นผู้ชนะได้ที่นั่ง ส.ส.มาก ภายใต้ระบบ first past the post หรือระบบที่ผู้ได้คะแนนมากที่สุดเพียงคนเดียวในแต่ละเขตเลือกตั้งเท่านั้นเป็นผู้กำชัย แต่ถ้านับในแง่ของคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดที่กระจายไปแต่ละพรรคที่ตรงข้ามกับประชาธิปัตย์แล้ว นโยบายที่เสนอโดยพรรค ประชาธิปัตย์อาจนับเป็นพ่ายแพ้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดีประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตย พวกเราต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับกลุ่มวาดะห์และชนชาวมลายูมุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะชนกลุ่มน้อยแล้ว หากจะต่อรองกับรัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง พวกเขาอาจต้องรวมตัวกัน ผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่แตกแยกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้!
ชนมลายูในเขตพื้นที่สามจังหวัดต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย การที่จะรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวจะโทษเพียงแค่ฝ่ายการเมืองไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคฝ่ายอย่างภาคประชาสังคม รวมถึงการสื่อสารในท้องถิ่น ที่เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนไล่ระดับขึ้นไปสู่ระดับการแข่งขันทางการเมืองระดับชาติ
เมื่อเกิดการแตกแยก เกิดความขัดแย้ง พลังเสียงในการที่จะนำไปใช้เป็นอำนาจต่อรองก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าตัวแทนของคนมลายูจะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา แต่ก็เป็นแบบกระจัดกระจาย เมื่อไม่มีพลังอำนาจในการต่อรอง จึงไม่น่าส่งผลให้เกิดการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับปัญหาในพื้นที่ได้
การที่กลุ่มวาดะห์แพ้ในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผลการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฏาคมดูเหมือนจะกลายเป็นความพ่ายแพ้ทั้งหมดของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะพรรคประชาธิปัตย์แม้จะชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็แพ้ในระดับชาติกลายเป็นฝ่ายค้าน วาระนโยบายภาคใต้ของพรรคก็ไม่มีผลอะไรต่อนโยบายของชาติ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ประกาศวาระนโยบายสนับสนุนเขตปกครองพิเศษภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. ของตนก็กลับไม่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้แต่ที่เดียว ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะความซับซ้อนของระบบการเลือกตั้งและปัญหาดังที่กล่าวไปข้างต้น
ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคนำในการตั้งรัฐบาล แต่สำหรับคนมลายูมุสลิมโดยรวมนั้นกลับกลายเป็นเสมือนว่า วาระนโยบายปฏิรูปการปกครองของตนก็เสมือนว่าไปแพ้ระดับชาติ เพราะพรรคเพื่อไทยก็อาจจะอ้างว่าวาระนโยบายของตนไม่ได้รับการสนับสนุนยอมรับจากคนในท้องถิ่น แรงผลักดันในการขับเคลื่อนเรื่องการเมืองนำการทหารก็อาจจะลดลงด้วย หากเป็นการคิดสั้นทางการเมือง
การมองผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงต้องพิจารณาให้ลึกและรอบด้าน ดังนั้น พลังของประชาสังคมทุกฝ่าย การสร้างพื้นที่การสื่อสารอย่างเป็นเอกภาพของท้องถิ่นและการใช้ความรู้เป็นพลังในการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสันติภาพ การดูแลแก้ไขปัญหาของตนเองและการสร้างยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Bangkokpost , Election 2011 Regional level, July 6, 2011 (http://www.bangkokpost.com/news/election/map-south)
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จังหวัดนราธิวาส ( http://www2.ect.go.th/about.php?Province=narathiwat&SiteMenuID=1609 )
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (6 กุมภาพันธ์ 2548) http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms07/download/2517-7629-0.pdf