ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นรายงานชิ้นแรกจากชุดรายงานจำนวน 4 ตอนจบ ซึ่งเรียบเรียงมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานในภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และคณะ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) เนื้อหาในตอนต่อไปจะเป็นการทบทวนความรู้และบทเรียนที่เกี่ยวกับบทบาทขององค์กรประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ (ตอน 2) การสำรวจการทำงานขององค์กรและเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ในเบื้องต้น และจัดจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ (ตอน 3) และการประเมินบทบาทและศักยภาพของพวกเขาที่ชี้ช่องโอกาสและข้อจำกัดบางประการต่อการทำงานในฐานะตัวแสดงสำคัญในกระบวนการสันติภาพ (ตอน 4) ซึ่งจะทยอยเผยแพร่ในวาระต่อไป
เมื่อไม่นานมานี้ บทบาทขององค์กรประชาสังคม (Civil Society Organizations: CSOs) ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายมากขึ้นในแวดวงของผู้ที่ติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ (ซึ่งมีเค้าลางว่าจะยังคงดำเนินอยู่อย่างยืดเยื้อเรื้อรัง) ไม่ว่าจะเป็นภายในหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลภารกิจในชายแดนใต้ ในวงเสวนาและรายงานทางวิชาการจำนวนหนึ่ง ในโครงการสนับสนุนงบประมาณขององค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ในแถลงการณ์ของบางองค์กรที่เรียกร้องการปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราช รวมไปถึงภายในวงพูดคุยเพื่อสันติภาพที่พยายามทำกันอยู่อย่างลับๆ เองก็ไม่อาจละความสนใจจากตัวแสดงสำคัญเหล่านี้ไปได้
ว่ากันตามจริงแล้ว การรวมกลุ่มทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่จะสามารถชี้บ่งระดับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปใดๆ ไม่ พวกเขายังคงเดินหน้าทำงานตามวาระและเป้าหมายของแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย หากแต่ความเข้าใจใหม่ต่อบทบาทของตัวแสดงเหล่านี้ต่างหากที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สถานการณ์ความขัดแย้งจมปลักอยู่ภายใต้การชี้นำของนโยบายการทหารของทั้งคู่ขัดแย้งหลัก - ทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานี - กระทั่งว่าความรุนแรงได้ถมทับเป็นกับดักขัดขวางการแสวงหาทางออกใหม่ๆ ด้วยวิธีการทางการเมืองไปในที่สุด
ประชาสังคมในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองหนึ่งมีหน้าตาอย่างไร? จริงๆ แล้ว องค์กรประชาสังคมที่กล่าวกันอยู่นี้คืออะไร? และสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพ? เราจะสามารถเข้าใจและประเมินบทบาทของกลุ่มเหล่านี้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดจนศักยภาพที่จะแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร? ชุดรายงานขนาด 4 ตอนชิ้นนี้ พยายามตั้งข้อถกเถียงดังกล่าว
๐ พื้นที่ต่อรองนอกรัฐ
“ประชาสังคม (civil society)” เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะหาความลงตัวของความหมายที่ไม่ง่ายนัก เพราะการอภิปรายในทางทฤษฎีทั้งในแง่ของขอบเขต การก่อตัว และการดำรงอยู่ของประชาสังคมในสังคมการเมืองร่วมสมัยของแต่ละสำนักคิดก็แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการใช้กรอบคิดเกี่ยวกับประชาสังคมที่ก่อตัวขึ้นในสังคมตะวันตกมาอภิปรายถกเถียงกันในสังคมนอกตะวันตก (non-western societies) ยังประสบกับปัญหาไม่น้อยของการให้ความหมาย เนื่องจากมโนทัศน์ดังกล่าวนั้นมีแง่มุมในเชิงปทัสถาน (normative) และเต็มไปด้วยคุณค่าของตะวันตกแฝงฝังไว้อย่างหนาแน่น
ดังที่เราจะเห็นได้ว่าในสังคมนอกตะวันตกอย่างภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือในสังคมมุสลิมหรือสังคมที่มีมุสลิมเป็นสมาชิกเป็นส่วนใหญ่นั้นก็พบว่าการให้ความหมายของสิ่งที่เกี่ยวโยงกับมโนทัศน์ประชาสังคมก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังจะได้พิจารณาต่อจากนี้
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว การพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคมนั้นมักเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในบริบทของความเป็นสมัยใหม่ กล่าวในอีกแง่ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยใหม่และพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากขอบเขตของรัฐ ซึ่งเป็นที่ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนก่อตัวขึ้น นอกจากนี้ ประชาสังคมยังมักถูกพิจารณาอย่างเชื่อมโยงกับการดำรงอยู่ของรัฐประชาธิปไตยและพัฒนาการของประชาธิปไตยภายในรัฐนั้นๆ ประชาสังคมจึงผูกพันกับกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากการให้ความหมายของ “ประชาสังคม” ขึ้นอยู่กับการเน้นหนักของผู้ศึกษาแต่ละคน ทั้งยังขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมของผู้ศึกษาเป็นสำคัญ สำหรับนักคิดในสังคมไทยคนสำคัญ งานเขียนของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2541) น่าจะโดดเด่นและเติมแต่งภูมิทัศน์ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาสังคมไทยได้มากขึ้น อย่างน้อยก็ในห้วงรอบกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
เอนกให้นิยาม “ประชาสังคม” ในมุมมองของเขาว่า หมายถึง เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชนที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐกับปัจเจกชน ประชาสังคมดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างของ 3 ส่วน คือ รัฐ-ประชาสังคม-ปัจเจกชน ที่เป็นอิสระต่อกัน หากแต่มีส่วนโยงใยเกี่ยวข้องกัน ในขณะที่มีความขัดแย้งคัดค้านกันและกันได้ แต่ก็มีด้านที่ปรองดองสามัคคีกันไปด้วย ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมของเขามีจุดเน้น 2 ประการ ได้แก่
1) ประชาสังคมไม่ชอบและไม่ยอมรับให้รัฐครอบงำหรือบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐ และมีความร่วมมือกับรัฐได้ แต่ก็สามารถชี้นำ กำกับ และคัดค้านรัฐได้พอสมควร
2) ประชาสังคมไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว ซึ่งส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งแข่งขันกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากแต่สนับสนุนให้ปัจเจกชนรวมกลุ่มรวมหมู่ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยไม่ปฏิเสธการแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะส่วนของกลุ่ม
เอนกเห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมของเขานั้นใกล้กับแนวคิดเสรีนิยมและค่อนไปทางนิยมประชาธิปไตย กล่าวคือ วางอยู่บนฐานคิดเกี่ยวกับการพิจารณา “การเมือง” ในฐานะที่เป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม หรือในที่นี้คือกิจการที่มีจริยธรรมเพื่อส่วนรวม ถึงจุดนี้เขาพยายามถกเถียงกับแนวคิดที่มองว่าการรวมกลุ่มไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะที่ถูกให้นิยามว่าเป็น “กลุ่มผลประโยชน์” หรือ “ชนชั้น” ที่เน้นไปยังการเมืองของการพิทักษ์ปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะส่วน แม้จะไม่ถึงกับปฏิเสธท่าทีของกลุ่มในลักษณะดังกล่าว แต่เขาก็ย้ำว่าประชาสังคมในมุมมองของเขานั้นเน้นไปยังผลประโยชน์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องทางปัญญา อันเป็นการย้ำให้กลุ่มต่างๆ มีจริยธรรมเพื่อส่วนรวมที่ใหญ่และแผ่กว้างไกลกว่าการคิดเพียงเฉพาะส่วน
ในขณะที่ อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2542: 34-36) เห็นว่า ประชาสังคมนั้นมีลักษณะเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันโดยสมัครใจของประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาประโยชน์เฉพาะกลุ่ม การส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่ม และการผลักดันเป้าหมายบางประการ การรวมตัวเป็นประชาสังคมที่ว่านี้อาจจะมีได้หลายรูปแบบ แต่ในสังคมสมัยใหม่ เครือข่ายความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวมักสำแดงตนเองออกมาเป็นสมาคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น องค์กรอาสาสมัคร สหภาพแรงงาน กลุ่มผลประโยชน์ และขบวนการทางสังคม โดยที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ การตรวจสอบและจำกัดการใช้อำนาจรัฐเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน นอกจากประชาสังคมในสังคมสมัยใหม่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับสังคมภายในแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างสังคมของตนเองกับสังคมอื่นๆ อีกด้วย
อาเนาด์ เซลส์ (Arnaud Sales) อธิบายลักษณะสำคัญของประชาสังคมสมัยใหม่ (1991: 309) ดังต่อไปนี้ คือ
1) ประชาสังคมเป็นที่สำหรับการรวมกลุ่มในรูปของสมาคมและการรวมตัวของสังคม ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคลกับกลุ่มคน กลุ่มคนกับสถาบันทางสังคม สถาบันทางสังคมกับสถาบันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
2) ประชาสังคมเป็นที่สำหรับสร้างสรรค์อัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของสังคม (social identities) และรูปแบบการดำเนินชีวิต (life styles) แบบใหม่
3) ประชาสังคมอาจมีความหลากหลาย แต่ไม่แตกแยก และเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
4) ประชาสังคมเป็นที่สำหรับการก่อตัวของมติมหาชน (public opinion) และการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อเป็นผู้นำมติหาชนระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เป็นผลตามมา
5) ประชาสังคมยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงกับรัฐ เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจข้ามชาติ และเชื่อมโยงกันระหว่างกิจกรรมในครอบครัวหรือกิจกรรมภายในของชีวิตประจำวันของผู้คน
6) ประชาสังคมมีความผูกพันลึกซึ้งกับระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่ระบอบการเมืองดังกล่าวเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ทำให้ประชาสังคมสามารถดำรงอยู่ต่อได้และพัฒนาต่อไปได้
๐ รากฐาน: ความขัดแย้งและทุนทางสังคม
ลี ฮอค กวน (Lee Hock Guan, 2004) ชี้ให้เห็นว่า แม้รากเหง้าของมโนทัศน์ที่ว่าด้วยประชาสังคมอาจสามารถย้อนกลับไปค้นหาได้จากมรดกของยุคคลาสสิคและในยุครู้แจ้ง (ซึ่งแน่นอนว่ามียุโรปเป็นศูนย์กลาง) แต่เมื่ออยู่ในบริบทของสังคมสมัยใหม่ ประชาสังคมถูกถกเถียงจากนักคิดในยุคต่อมาอย่างแพร่หลาย พร้อมๆ กับบริบทใหม่ของการพัฒนาทุนนิยมและผลกระทบต่อการเมืองและสังคมอย่างกว้างขวาง
กระทั่งแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมได้ฟื้นขึ้นมาโดดเด่นอีกครั้งในห้วงทศวรรษที่ 1970 ท่ามกลางบริบททางการเมืองของความตึงเครียดระหว่างกลุ่มประชาชนใต้การปกครองกับรัฐบาลเผด็จการในยุโรปตะวันออก สำหรับลีแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมที่มีสถานะเป็นวาทกรรมครอบงำร่วมสมัยในปัจจุบันนั้นสามารถถูกพิจารณาได้เป็น 2 มิติ กล่าวคือ มิติแรก เป็นแง่มุมจากการพิจารณา “ความขัดแย้ง (conflict view)” เป็นด้านหลัก ที่มีประสบการณ์ของยุโรปตะวันออกเป็นบริบทล้อมรอบ ขณะที่อีกมิติ คือ แง่มุมที่มุ่งพิจารณา “ทุนทางสังคม (social capital)” โดยมีบริบทของสังคมอเมริกันรองรับ
แง่มุมแรก (ความขัดแย้ง) เป็นข้อถกเถียงที่มีรากฐานจากงานของเฮเกล (Georg W.F. Hegel ) ที่ชี้ว่าประชาสังคมนั้นเป็นอาณาเขตที่วางอยู่ระหว่างครอบครัวและรัฐ และเป็นที่ๆ ปัจเจกบุคคลมีเสรีที่จะแสวงหาความต้องการและประโยชน์ของตนเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีแตกต่างกัน ประชาสังคมในแง่มุมนี้จึงเน้นหนักไปที่การเสริมสร้างอำนาจให้กับบรรดาปัจเจกชนและกลุ่มที่เสียประโยชน์ โดยการเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มีการรวมกลุ่ม ปกป้อง และสะท้อนเสียงเพื่อผลประโยชน์และชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา
ด้วยจุดเน้นดังกล่าว แนวคิดประชาสังคมในที่นี้จึงใกล้กับแนวคิดประชาธิปไตยทั้งในมิติที่ลึกและกว้าง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาสังคมจึงเป็นไปในทำนองที่การดำรงอยู่และตอบโต้ของฝ่ายหลังนั้นเป็นความจำเป็นของรัฐประชาธิปไตย
ส่วนประชาสังคมในแง่มุมของ “ทุนทางสังคม” นั้น เป็นกระแสธารความคิดที่ก่อตัวขึ้นจากแนวคิดของเดอ ต๊อกเกอวิลล์ (Alexis de Tocqueville) จากงานศึกษาสังคมการเมืองอเมริกันอันเลื่องชื่อ (1969) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีสายสัมพันธ์โดยตรงอันหลีกเลี่ยงได้ยากระหว่างการรวมกลุ่มโดยความสมัครใจของบรรดาพลเมืองกับระบอบประชาธิปไตย
พื้นที่การต่อรองของกลุ่มพลเมืองเหล่านี้อยู่ในอาณาบริเวณที่เดอ ต๊อกเกอวิลล์เรียกขานว่า สังคมการเมือง (political society) ในมุมของเขา ศิลปะในการรวมกลุ่มนี่เองที่เป็นที่ๆ ที่ปัจเจกชนแต่ละคนจะเรียนรู้ที่จะกระทำการร่วมกันเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่พวกเขาปรารถนาร่วมกัน องค์กรของพลเมืองเหล่านี้จะเปิดช่องให้กับการก่อรากฐานสำคัญขององค์กรทางการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับเป้าประสงค์ของพลเมือง
แนวคิด “ทุนทางสังคม” ในแง่มุมที่ใช้อธิบายประชาสังคมถูกพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่นในต้นทศวรรษที่ 1990 โดยโรเบิร์ต พุทนัม (Robert Putnam) ในงานศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมในอิตาลี (1993) โดยแนววิเคราะห์ประชาสังคมของเขานั้นเน้นไปยังองค์กรของพลเมือง เนื่องจากว่าองค์กรเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าทุนทางสังคมทำงานและมีพัฒนาการ
ข้อเสนอของพุทนัมก็คือทุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือการกระจายตัวและหนาแน่นขององค์กรประชาสังคมมีส่วนอย่างสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย การรวมตัวของพลเมืองมีผลทำให้เกิดประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเงื่อนไขภายในดังกล่าวส่งผลอย่างสำคัญต่อสมาชิกในระดับปัจเจกบุคคล กล่าวคือ การรวมตัวเป็นองค์กรจะค่อยๆ ทำให้สมาชิกมีสำนึกที่มีจิตใจสาธารณะ ความร่วมไม้ร่วมมือ และการสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
นอกจากทักษะที่ปัจเจกบุคคลจะเรียนรู้ผ่านกระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมเหล่านี้แล้ว ยังย้ำเน้นให้สมาชิกสัมผัสกับความรู้สึกร่วมรับผิดชอบของสมาชิกอีกด้วย ชีวิตของสมาชิกในการรวมตัวกันเป็นองค์กรเหล่านี้ถูกเน้นย้ำในฐานะที่เป็นบ่อเกิดของทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นศรัทธา ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเครือข่าย
ลักษณะที่แตกต่างอย่างสำคัญระหว่างมุมมองต่อประชาสังคมทั้งสองมิติ ได้แก่ ในขณะที่มุมมองของทุนทางสังคมนั้นมองประชาสังคมว่าเป็นส่วนขยายที่เติมแต่งบทบาทหน้าที่ของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในมิติของความขัดแย้งกลับมองว่าของสองสิ่งนั้นอยู่ในฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
กระนั้นก็ตาม แง่มุมทั้งสองก็ยังคงยึดติดอยู่ในกรอบการพิจารณาอาณาบริเวณนอกรัฐที่อยู่ในบริบทของสังคมตะวันตก แต่ถึงเป็นเช่นนั้น ก็ใช่ว่าสังคมนอกตะวันตกจะไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่าประชาสังคม เพราะอาณาบริเวณนอกรัฐอันเป็นที่ๆ ผู้คนในแต่ละสังคมรวมกลุ่มกันร่วมมือและต่อต้านรัฐนั้นก็มีอยู่ในหลากหลายรูปแบบ หากแต่จำต้องอาศัยความเข้าใจบริบทของแต่ละสังคมไม่น้อยด้วยเช่นกัน
๐ ประชาสังคมในต่างบริบท: เมืองไทยและชายแดนใต้
กล่าวจำเพาะในสังคมการเมืองไทยนั้น การอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของประชาสังคมในการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยนั้นได้ถูกเน้นย้ำหนาแน่นขึ้นในห้วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ไม่นานหลังจากนั้น การอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของประชาสังคมภายในรูปแบบของรัฐประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นก็อยู่ในกระแสธารของการปฏิรูปการเมือง
แต่ “ประชาสังคม” ในแวดวงนักคิดของสังคมไทยก็ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่ลงรอยกันมากนัก งานศึกษาบางชิ้นพยายามสำรวจพลวัตทางความคิดเกี่ยวกับประชาสังคมของบรรดานักคิดและนักวิชาการร่วมสมัยและพบว่า แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็มีเนื้อหาสาระที่พอจะจัดหมวดหมู่ได้ 4 สำนักคิด ได้แก่ สำนักคิดศาสนวิถี สำนักชุมชนวิถี สำนักสากลวิถี และสำนักประสบการณ์วิถี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการจัดหมวดหมู่บนพื้นฐานของการพิจารณาฐานความคิดและบริบทที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยเป็นสำคัญ (เชษฐา, 2547)
ในขณะที่เมื่อพิจารณาถึงบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือ “ปาตานี” ในอีกนัยหนึ่ง) สายความสัมพันธ์ข้ามเครือข่ายระหว่างองค์กรประชาสังคมภายในพื้นที่และในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศก็มีอยู่ในบางลักษณะ ที่สำคัญยังเผชิญหน้ากับปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจของรัฐในการผูกขาดการตัดสินใจ สิ่งนี้ทำให้การต่อต้านจากกลุ่มองค์กรประชาสังคมจากพื้นที่ชายขอบต่างๆ จึงมีบางส่วนที่มีร่วมกันกับองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมลายูมุสลิมจากชายแดนภาคใต้ (ทว่าในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาเองก็กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในสัดส่วนระดับประเทศ)
แต่ดูเหมือนว่าแบบแผนความสัมพันธ์ที่ผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายใต้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันนั้นไม่ได้ยึดอยู่ตามเขตแดนของรัฐสมัยใหม่เท่านั้น หากยังอาจหมายรวมถึงความเป็นประชากรในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในฐานะที่เป็นชาวมลายูที่อยู่ภายใต้เครือข่ายทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่อย่าง “โลกมาเลย์ (Malay World)” โดยเฉพาะในประเทศย่านหมู่เกาะ และยังผูกโยงกับการเป็นสมาชิกของชุมชนทางศาสนาข้ามชาติขนาดใหญ่อย่าง “อุมมะฮ์ (Ummah)” และในฐานะกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ขับเคลื่อนอยู่ในสังคมการเมืองภายในประเทศ แต่กระนั้น ประชาสังคมในสองบริบทดังกล่าวก็มีข้อถกเถียงที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน
๐ โลกมาเลย์และโลกมุสลิม: ประชาสังคมนอกบริบทไทย/ตะวันตก
ประชาสังคมในเอเชียอาคเนย์ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอีกครั้งนับตั้งแต่ในห้วงทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2413-2522) เป็นต้นมา ดังได้กล่าวไปแล้วว่าในบริบทของประเทศไทยนั้น เงื่อนไขทางการเมืองได้เปิดให้มีการถกเถียงถึงบทบาทของกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ขบวนการเคลื่อนไหว 14 ตุลา กระทั่งถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในขณะเดียวกันบางประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็มีปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศบางประการและปัจจัยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก่อตัวชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ที่ทำให้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประชาสังคมก่อรูปขึ้นมา
ดังเช่น บทบาทของการเคลื่อนไหวของ “พลังประชาชน (people power)” ในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการมากอสในฟิลิปปินส์ หรือการล่มสลายของระบอบซูฮาโตร์ในอินโดนีเซียที่ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางการเมืองเปิดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่ขับเคี่ยวกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ (Lee, 2004: 12-13) ดังจะเห็นได้จากคำว่า “Masyarakat Madani (มะชะระกัต มาดานี)” ที่หมายถึง “ประชาสังคม” ในภาษาอินโดนีเซียนั้นได้กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองสำคัญในห้วงเวลาสำคัญของขบวนการปฏิรูป (Reformasi) หลังยุคซูฮาร์โต (Mitsuo, 2001: 9)
รูปแบบของประชาสังคมในเอเชียอาคเนย์ในยุคหลังการได้เอกราชมีลักษณะร่วมสำคัญบางอย่าง คือ เป็นผลมาจากกระบวนการล่าเมืองขึ้นของประเทศแม่จากยุโรปที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง การสร้างสถาบันและกระบวนการบริหารของเจ้าอาณานิคมมีส่วนในการบ่อนทำลายโครงสร้างและรูปแบบทางการเมืองของชาวพื้นเมืองอย่างชนิดที่ถอนรากถอนโคน อีกทั้งยังบ่อนเซาะสิทธิอำนาจของชนชั้นนำเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจเอื้อให้เจ้าอาณานิคมต้องวางขยายบทบาทของกลไกของอำนาจรัฐ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ ความพยายามแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมๆ กับรูปแบบของโครงสร้างรัฐที่อิงอยู่บนประสบการณ์ของประเทศในยุโรป และมีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองดังที่เคยเป็นมา
แม้ว่าเจ้าอาณานิคมจะจำกัดบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนพื้นเมือง แต่ก็อนุญาตให้จัดตั้งองค์กรทางสังคมที่อยู่บนฐานของความสมัครใจได้เช่นกัน เมืองจึงกลายเป็นพื้นที่ๆ กลุ่มประชาสังคมทำกิจกรรมของตนเองอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกตามลักษณะทางชาติพันธุ์และศาสนาด้วยเช่นกัน (Lee, 2004: 10-11)
ในกรณีประเทศไทย แม้ว่าจะมีข้อที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมโดยวิธีการโดยตรง แต่บริบทของการรุกคืบเข้ามาของเจ้าอาณานิคมยุโรปก็มีผลทำให้รัฐสยามจำต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองหลายประการ ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่ามีผลต่อพื้นที่ชายขอบอย่างปาตานีที่ต่อมากลายเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันอย่างสำคัญ
การปฏิรูปทางการเมืองของรัชกาลที่ 5 มีผลทำให้สิทธิอำนาจของชนชั้นนำมลายูปัตตานีต้องเปลี่ยนแปลงไป กล่าวในแง่นี้แล้ว สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในอดีตที่เคยเป็นนครรัฐปาตานีนั้นก็ตกอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์ จะแตกต่างอย่างสำคัญก็ตรงที่ไม่สามารถจะปลดปล่อยตนเองออกจากรัฐสยามได้
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในระนาบของการเป็นชุมชนทางการเมืองที่มีประชากรเป็นมุสลิมส่วนใหญ่แล้ว ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอิสลามกับมโนทัศน์ประชาสังคมก็เป็นประเด็นที่น่าพิจารณาไม่น้อย โดยเฉพาะในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้
๐ อิสลามกับประชาสังคม
งานศึกษาของ ชลิต ถาวรนุกิจกุล (2551) ได้ตั้งคำถามว่า ในบริบทของความรุนแรงนั้น เหตุใดองค์กรในภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่มีศักยภาพในการทำงานเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่อื่นของประเทศไทย?
สิ่งที่ชลิตพบไม่เพียงแต่จะเน้นไปยังผลของความรุนแรงที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ต้องปรับภารกิจให้สอดคล้องต่อสถานการณ์เท่านั้น หากแต่ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้และถูกกำกับโดย “จักรวาลวิทยาของศาสนาอิสลาม” ที่แม้ว่าหลักการของอิสลามบางประการที่สอดแทรกและเสริมสร้างการทำงานทางสังคมให้ไม่แยกส่วน แต่ก็พบว่ากรอบดังกล่าวนั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมขาดศักยภาพในการทำงานในที่สุด หรือกล่าวได้อีกอย่างก็คือทำให้การพัฒนาประชาสังคมให้เข้มแข็งนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากนั่นเอง
ข้อสังเกตที่ชลิตสะท้อนให้เห็นกรอบการวิเคราะห์ประชาสังคมที่ยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ระหว่างประชาสังคมและประชาธิปไตยที่มีสังคมตะวันตกเป็นตัวแบบ ที่ซึ่งสาระทางศาสนามักเป็นปัญหากับพื้นฐานของความสมัครใจ ดังกรอบการมองของเออเนสต์ เกลเนอร์ (Ernest Gellner) ที่บ่งว่าประชาสังคมจะเติบโตได้ยากยิ่งในบริบทของสังคมมุสลิมที่ยึดเอากรอบความคิดทางศาสนาเป็นศูนย์กลางและลดทอนความเป็นปัจเจกลงเพื่อความศรัทธาทางศาสนา เนื่องจากขาดสถาบันที่หลากหลายเพียงพอสำหรับการถ่วงดุลอำนาจและขาดความหลากหลายทางความคิดและการกระทำซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นการไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในที่สุด (ชลิต, 2551: 13) สำหรับเกลเนอร์แล้ว การดำรงอยู่ของประชาสังคมนั้นเป็นคนละเรื่องกับจากการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
แต่กระนั้น ข้อถกเถียงจากอีกด้านหนึ่งก็พุ่งตรงไปยังการอ่านกรอบการมองของเกลเนอร์ในฐานะนักบูรพาคดีที่โดยส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าลักษณะของสังคมมุสลิมนั้นไร้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคม เนื่องจากความอ่อนแอของความเป็นเมือง ความไม่เป็นอิสระของชนชั้นกลาง และความเปราะบางของเครือข่ายสถาบันต่างๆ ซึ่ง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2001: 92–94) พิจารณาว่า กรอบการมองดังกล่าวยึดโยงอยู่กับความคิดเกี่ยวกับประชาสังคม 3 ประการ อันได้แก่ ความคิดเกี่ยวกับการแยกสังคมจากการเมือง ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ และความเป็นพลเมือง แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นดั่งที่ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดการกับความรู้โดยการจำแนกแยกแยะในทำนองนั้นก็เป็นเพียงวาทกรรมของนักบูรพาคดีที่กำหนดมโนทัศน์ การจำแนกแยกแยะ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้เพื่อกำหนดความหมายของของการดำรงอยู่การไร้ตัวตนของสิ่งที่เรียกว่า “ประชาสังคม”
ทว่าสิ่งที่เป็นอยู่จริงใน “บูรพา” หรือในสังคมอื่นๆ นอกตะวันตกนั้นก็ไม่สามารถแยกขาดไปจากบริบทที่ล้อมรอบไปได้ กล่าวในแง่นี้แล้ว ข้อขัดแย้งระหว่าง “อิสลาม” กับ “ประชาสังคม” จึงดูจะขาดการพิจารณาถึงบริบทไปอย่างสำคัญ เนื่องจากกลุ่มทางสังคมต่างๆ ในสังคมมุสลิมก็หาได้ถูกควบคุมปกครองโดยคำสั่งในทางศาสนาเสียทีเดียวทั้งหมด ความหลากหลายที่ว่านี้ต่างหากที่เข้าใกล้ความหลากหลายในความหมายของเกลเนอร์เอง
นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ ยังพบว่าในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม (non-Muslim Society) อย่างสังคมไทย มุสลิมในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวทางการเมืองและเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อขัดแย้งสาธารณะอย่างกรณีชาวบ้านบ้านครัวกลางกรุงเทพมหานครที่ต่อต้านโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับบนฐานของประวัติศาสตร์ชุมชนและแรงบันดาลใจทางศาสนา ซึ่งกลับมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาสังคมของประเทศนี้
นอกจากนี้ นักวิชาการตะวันตกอีกหลายคนด้วยกันที่พยามยามทำความเข้าใจสังคมมุสลิม (ในฐานะที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่) โดยมองว่าสังคมมุสลิมไม่สามารถจะมองผ่านภาพตัวแทนของกลุ่มส่วนน้อยที่สุดโต่ง (extremist minorities) และเหมารวมความเป็นไปของทั้งสังคมได้ เนื่องจากภายในพวกเขาเองก็มีความหลากหลายทางความคิดอยู่ไม่น้อย
ในอีกทางหนึ่ง อารยธรรมของอิสลามเองก็ใช้เวลานานหลายศตวรรษในการบ่มเพาะก่อตัวความเป็นอารยะและประชาสังคมในแบบแผนของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมแตกต่างไปจากแบบแผนที่พัฒนาขึ้นในสังคมตะวันตก อาจกล่าวได้ว่าการเติบโตของกลุ่มองค์กรอาสาสมัครในโลกมุสลิมที่เป็นอิสระจากรัฐสมัยใหม่นี่เองที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันของอิสลามภิวัตน์ (Islamization) และกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง (Mitsuo, 2001: 5)
ในการเพ่งพิจารณาไปยังความหลากหลายภายในสังคมมุสลิมขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย ทำให้โรเบิร์ต เฮฟเนอร์ (Robert Hefner) พัฒนามโนทัศน์ที่เขาเรียกว่า “อิสลามประชา (Civil Islam)” ขึ้นมา (2000: 13) เพื่ออธิบายการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งสมาคมที่อยู่บนฐานของความสมัครใจขึ้นในสังคมมุสลิม และไม่ได้เป็นรูปแบบที่คัดลอกมาจากตะวันตกที่มักเน้นหนักไปยังแนวคิดปัจเจกชนนิยม ในขณะที่ในสังคมมุสลิม โดยเฉพาะในอินโดนีเซียนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะของวัฒนธรรมที่ไม่ได้ใช้การบังคับขู่เข็ญ หากกลับสนับสนุนพลเมืองให้เคารพต่อสิทธิของผู้อื่นเท่าๆ กับการที่ต้องการให้คนอื่นเคารพต่อตนเอง
วัฒนธรรมสาธารณะเช่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การดำรงอยู่ของสถาบันที่เป็นตัวกลาง ซึ่งพลเมืองสามารถพัฒนาอุปนิสัยที่คุ้นเคยกับเสรีภาพในการพูด การมีส่วนร่วม ตลอดจนการอดทนอดกลั้น อิสลามประชาของเฮฟเนอร์นั้นก่อตัวขึ้นท่ามกลางการรักษาสมดุลระหว่างความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการคงไว้ซึ่งแนวคิดพื้นฐานที่ผู้คนผูกพันอยู่อย่างแนวคิดทางศาสนา อิสลามประชาจึงเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางกระแสการปฏิรูป (Reformasi) นั่นเอง
บรรณานุกรมตอนที่ 1
ชลิต ถาวรนุกิจกุล. (2551). “ประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทของความรุนแรง”. บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ห่งชาติ ครั้งที่ 9 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เชษฐา ทรัพย์เย็น.(2547). พัฒนาการความคิดประชาสังคมไทย. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อนุสรณ์ ลิ่มมณี. (2542). รัฐ สังคม และการเปลี่ยนแปลง: การพิจารณาในเชิงอำนาจ นโยบาย และเครือข่ายความสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: เดือนตุลา.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. (2541). “ส่วนรวมที่มิใช่รัฐ: ความหมายของประชาสังคม”. วารสารธรรมศาสตร์ 24:2 (พฤษภาคม – สิงหาคม): 124-151.
Chaiwat Satha-Anand. (2001). “Defending Community, Strengthening Civil Society: A Muslim Minority’s Contribution to Thai Civil Society”. in Nakamura Mitsuo, Sharon Siddique and Omar Farouk Bajunid (eds.).Islam and Civil Society in Southeast Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
de Tocqueville, Alexis. (1969). Democracy in America, trans. George Lawrence. New York: Anchor Books.
Hefner, Robert W. (2000). Civil Islam: Muslims and Democratization in Indonesia. Princeton and Oxford: Prnceton University Press.
Lee Hock Guan. (2004). “Introduction: Civil Society in Southeast Asia”. in Lee Hock Guan (ed.). Civil Society in Southeast Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Study.
Mitsuo, Nakamura. (2001). “Introduction”. in Nakamura Mitsuo, Sharon Siddique and Omar Farouk Bajunid (eds.).Islam and Civil Society in Southeast Asia. Singaore: Institute of Southeast Asian Studies.
Putnam, Robert, (1993). Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy. Princeton: Princeton University Press.
Sales, Arnaud. (1991). “The Private, the Public and Civil Society: Social Realm and Power Structure”. International Political Science Review 12:4 (October): 295-312.