สมัชชา นิลปัทม์
ผมมีโอกาสได้ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพักใหญ่ๆจึงพอจะเห็นการขับเคลื่อนและขยายตัวในพื้นที่ความขัดแย้งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาว่ามีเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มสื่อทางเลือก (Alternative Media) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงมากขึ้นด้วย ซึ่งดูจะแปรผันไปตามความยืดเยื้อของสถานการณ์ครั้งนี้
ถ้าจะถามว่าเจ้า “สื่อทางเลือก” ที่ผมว่านี้คืออะไร หากตอบแบบกำปั้นทุบดินว่ากันไปแบบ “บ้านๆ” ก็คือ มันเป็นสื่อที่ไม่ใช่สื่อ “กระแสหลัก” ครับ ซึ่งอาจจะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง วิทยุชุมชน-ท้องถิ่น โทรทัศน์เคเบิล สื่อพื้นบ้าน สิ่งพิมพ์ท้องถิ่น รวมไปถึง “สื่ออินเตอร์เน็ต” ซึ่งสื่อประเภทหลังนี้ผมคิดว่ามี “พลวัตร” บางอย่างที่น่าสนใจมากเลยที่เดียว
ทำไมถึงน่าสนใจ ส่วนหนึ่งต้องไม่ลืมว่าหลังเหตุการณ์ “ไฟใต้” ตั้งแต่ มกราคม ’47 จำเลยสังคมส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับความรุนแรงคือ“สื่อกระแสหลัก” ว่ามีส่วนในการช่วยโหมกระพือให้ความรุนแรงนั้นขยายออกไปด้วย ไม่รวมถึงคำถามต่อ หลักปฏิบัติทางจริยธรรม ที่ถามทวนไปถึง ความถูกต้องแม่นยำ ความสมดุลและความเป็นธรรม อันเป็นหลักวิชาชีพของสื่อมวลชน สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนความน่าเชื่อถือของผู้ทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” อาจจะถึงขั้นเรียกว่าเกิด “วิกฤติศรัทธา” ก็ยังได้ เพราะในหลายเหตุการณ์ สื่อยักษ์ใหญ่ระดับชาติก็เคยถูกชาวบ้านห้ามเข้าไปรายงานข่าวมาแล้ว อนุญาตแต่เพียงสื่อ “หัวนอก” ให้เข้าไปทำข่าวเท่านั้น นัยยะของพฤติกรรมเหล่านี้คือ “ความไม่เชื่อมั่น” ต่อสื่อบ้านเรานั่นเอง
คำอธิบายนี้เราอาจมองในทาง “สมดุล” ของข่าวสารก็ได้โดย สถานการณ์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลานั้น น้ำหนักของคำอธิบายส่วนใหญ่ล้วนมาจากมุมมองของคน “ส่วนกลาง” แทบทั้งสิ้น ด้วยเงื่อนไขนี้กระมังอาจเป็นแรงขับดันให้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่ง ลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาเอง กอรปกับเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตที่ถูกพัฒนาให้ลดความซับซ้อนลง จนทำให้คนธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ง่าย นี่จึงเป็นโอกาสของกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานเพื่อสันติภาพในภาคใต้ ขยับตัวมาทำงานด้านการสื่อสารมาเป็นทิวแถวเพื่อบอกกล่าวเรื่องราวของตัวเอง
เราจึงจะพบว่ามีหลายเวบไซต์จากชายแดนใต้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแถมยังทำงานในปีกภาคประชาสังคมอีกด้วย เช่น กลุ่มบุหงารายา, เซาท์เทิร์นพีซมีเดีย, อินเซาท์, สันกาลาคีรี, เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้, อามานนิวส์, ชาวใต้, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้,เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์เยาวชน, เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้, ศูนย์ทนายความมุสลิม,เครือข่ายเยียวยา เป็นต้น
แน่นอนครับว่าเรื่องราวจากพวกเขาอาจจะไม่ได้ส่งผลสะเทือนเปรี้ยงปร้าง สร้างความเปลี่ยนในทันทีทันใด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการ “เสียงจากพื้นที่” เหล่านี้ได้เข้าไปถ่วงดุลมุมมองจาก “กรุงเทพฯ” ลองจินตนาการดูถึงตาชั่งที่เคยเอียงข้างหนึ่งด้วยข่าวสารจากคนที่อื่น แต่วันนี้เมื่อเสียงจาก “คนใน”ได้ทำหน้าที่อธิบายให้คนจากพื้นที่อื่นๆ ได้รับรู้บ้างแม้วันนี้ข่าวสายังไม่ได้ “ดุล” เต็มร้อย แต่ก็พอที่จะทำให้ข่าวสารไม่ถูกเน้นหนักไปข้างใดมากจนเกินไป ในฐานะของผู้สังเกตการณ์ก็อดแอบเชียร์การเกิดขึ้นของ “เสียง” เหล่านี้ ว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมพลังแห่งเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ได้ในอนาคต
ลองคิดเล่นๆ สิครับว่า หากสื่อเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง แล้วส่งเสียงเพื่อ “ต่อรอง” กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย ให้ยุติการใช้ความรุนแรง รวมถึงผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เกิดเป็น “วาระข่าวสารใหม่” ใช้สื่อของตัวเองที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมทั้งศักยภาพทางภาษาและวัฒนธรรมที่จะเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียนและโลกก็มีไม่ใช่น้อย ในขณะที่ “สื่อกระแสหลัก” ยังงุ่มง่ามและปรับตัวเรื่องเนื้อหาของชายแดนใต้ช้ากว่า ในนาทีนี้ผมคิดว่า กลุ่ม “สื่อทางเลือก” เขาไปไกลกว่าแล้วล่ะครับ
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับวันที่ 4 – 10 กุมภาพันธ์ 2555