Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
 
ในการสอบวิชา “วารสารศาสตร์ออนไลน์” ประจำภาคการศึกษาที่ 2/2554 ของนักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ ที่คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เพิ่งจะสอบกันเสร็จไปหมาดๆ ครับ ในข้อสอบข้อหนึ่งถามว่า การเกิดขึ้นของระบบ web 2.0 ส่งผลกระทบต่อ “ภูมิทัศน์ทางการสื่อสาร” (Media Landscape) อย่างไรบ้าง จงอธิบายและให้เหตุผลประกอบ ตอนตั้งคำถามนี้ผมตั้งใจจะให้เป็นคำถามปลายเปิดครับ ซึ่งนักศึกษาจะตอบในมิติไหนก็ได้ ซึ่งหลายคนตอบได้ดีครับและก็มีนักศึกษาหลายคนเลือกที่จะตอบว่า กรณีดังกล่าวน่าจะส่งผลสะเทือนต่อมิติทางทฤษฎีการสื่อสารมวลชนพื้นฐานอย่างน้อย 2 ทฤษฎี ลองมาดูคำตอบของพวกเขาครับ
นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า เนื่องจาก ระบบ web 2.0 มีคุณลักษณะพื้นฐานที่กำหนดให้สามารถสื่อสารสองทาง (2 way Communication) ได้ตามเวลาจริง (Real time) ทำให้การมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีมากกว่าการสื่อสารแบบดั้งเดิมที่ “อำนาจ” ในการกำหนดเนื้อหาสาระนั้นถูก “ผูกขาด” อยู่ที่ “ผู้ส่งสาร” แต่เพียงฝ่ายเดียว การเกิดขึ้นของระบบดังกล่าว จึงมีลักษณะของการมีส่วนร่วมสูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนา “เนื้อหา” ของผู้ส่งสารที่จะ “แบ่งปันความหมาย” ในเนื้อความที่พูดคุยกันกับผู้ส่งสารมากยิ่งขึ้นเขายังแสดงความเห็นด้วยว่าลักษณะแบบนี้สอดคล้องกับการเมืองในระบอบ “ประชาธิปไตย” อย่างยิ่ง
นักศึกษาคนเดิมตอบต่ออีกว่า ด้วยคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ยังส่งผลกระเทือนต่อแนวคิดคลาสสิคของนักการสื่อสารมวลชนที่เคยเชื่อว่าตนเองเป็น “นายประตูข่าวสาร” (Gate Keeper) อันเป็นบทบาทของสื่อ “กระแสหลัก” ที่จะต้องมีโครงสร้างของกองบรรณาธิการที่อันชัดเจน มี “บรรณาธิการ” คอย “คัดกรอง” ข้อมูลก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะแต่ใน ระบบ web 2.0 ไม่ได้เป็นแบบนั้น มันถูกออกแบบมาให้เป็นระบบที่คนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต สามารถเผยแพร่ “เนื้อหา” ที่ต้องการจะสื่อสารได้ทันที ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือบล็อกต่างๆ มันจึงเป็นระบบที่ “กลับหัวกลับหาง” ต่างกับการสื่อสารโดยสื่อกระแสหลัก ซึ่งพบว่ามีลักษณะของการ “เผยแพร่ก่อนคัดกรอง” เขาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อำนาจของบรรณาธิการ ที่เคย “คัดกรอง” นั้นได้เปลี่ยนมือมาสู่ “คนธรรมดาสามัญ” ให้สามารถสื่อสารได้เองแล้ว
นักศึกษาสาวอีกคนหนึ่ง เธอตอบคำถามว่า ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดของ ระบบ web 2.0คือ ทฤษฎีการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) เธอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลข่าวสารในอดีตนั้นประชาชนไม่มีเคยมี “ส่วนร่วม” ในการที่จะกำหนด “วาระ” ของ ข่าวสารนั้น สิ่งที่ถูกนำเสนอลงในสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามขนบที่คนทำวิชาชีพสื่อถูก “บ่มเพาะ” มาว่าอะไรคือ “ข่าว” สื่อมวลชนจึงถูกกำหนดโดย “คุณค่า” บางประการที่ยึดถือเอาไว้ แน่นอนว่าคุณค่าบางอย่างนั้นทำให้มองข้ามเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยในสังคมหรือบางประเด็นที่ไม่สอดคล้องต่อ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ของสื่อมวลชนเอง ซึ่งทำให้ “ข้อมูล” บางอย่างจึงไม่ถูกทำให้กลายเป็น “ข่าว” เสียที
เธอบอกอีกว่า เรื่องราวของชาวบ้านตาดำๆ บางครั้งแม้จะน่าสนใจ แต่หากเนื้อของมันไม่ “เซ็กซี่” พอ ก็อาจจะไม่ถูกนำเสนอเลยก็ได้ เพราะ “อำนาจ” นั้นอยู่ที่ “นายประตูข่าวสาร” จะกำหนดว่า “วาระข่าวสาร” อะไรที่จะออกสู่สาธารณะ ดังนั้นกว่าเรื่องราวของชาวบ้านกว่าจะเป็น “ข่าว” สักทีจึงต้องทำอะไรให้ พิลึกพิลั่น เช่น จัดคาราวานเดินทางไกลเป็นร้อยกิโลเมตร เทผลผลิตทางการเกษตรทิ้งกลางถนนหรือแม้แต่ ปีนกำแพงรัฐสภาให้สุนัขตำรวจกัด ฯลฯ ด้วยหวังว่าประเด็นมันจะ “เซ็กซี่” มากพอในสายตาสื่อกระแสหลัก
            เธอเสนอว่าหากชาวบ้านสามารถสร้างสื่อได้เองสามารถสนับสนุนให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาทำสื่อได้เอง สร้าง “เนื้อหา” ได้เองผ่านช่องทางใหม่ๆและคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง พึ่งพา “สื่อกระแสหลัก” มากจนเกินไป เสียงที่ตะโกนเรียกร้อง “สันติภาพ” จากชายแดนใต้ที่เคยเบากว่าเสียงปืนและระเบิดในสื่อกระแสหลัก อาจจะดังขึ้นมากกว่ากว่าเดิมก็ได้
หากเราลองหลับตาเพื่อจินตนาการว่า คำตอบในข้อสอบที่นักศึกษาตอบคำถามกลายเป็นความจริงภายใต้เงื่อนไขการเกิดขึ้นของระบบเวบ 2.0 พอจะเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อกำหนด “วาระข่าวสารใหม่” ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รึเปล่า “ดุลยภาพ” ของข้อมูลข่าวสารใหม่ที่เราคาดหวังว่าจะสะสมกำลังจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้หรือไม่ นักสังเกตการณ์ทั้งหลายจึงโปรดเฝ้ามองด้วยใจระทึก
สำหรับนักสังเกตการณ์ผู้สนใจการสะสมพลังมวลของ “สื่อ” และ “เสียงเล็กๆ” จาก ชายแดนภาคใต้ กลุ่มสื่อทางเลือกและภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดงาน “วันสื่อทางเลือก” ขึ้นใน ในวันที่ 13 มีนาคม ศกนี้ ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี จึงบอกกล่าวมาเพื่อชวนมาดูงานและชมการ “เคลื่อนไหว” จากตัวจริงเสียงจริงครับ
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับวันที่ 3 – 9 มีนาคม 2555 กรุณาคลิกอ่าน ‘สื่อทางเลือกที่ชายแดนภาคใต้’ ตอน 1 ที่นี่