Skip to main content

เมธัส อนุวัตรอุดม

นักวิชาการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

 

            หลังเกิดเหตุการณ์ยิงมัสยิดอัลฟุรกอนที่อ.เจาะไอร้อง มีผู้เสียชีวิต 10 คน บาดเจ็บ 12 คนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาภาคใต้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง มีการวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์และความเหี้ยมโหดของผู้กระทำกันอย่างหลากหลาย ผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาของภาครัฐต่างออกมาพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อีกสี่วันถัดมาก็เกิดเหตุคนร้ายยิงพระของวัดวาลุการาม จ.ยะลา มรณภาพขณะบิณฑบาตเมื่อเช้าวันที่ 12 มิถุนายน ตามมาด้วยการขว้างระเบิดใส่รถโดยสารสายบ้านนิคมกือลอง-นครยะลาบนเส้นทางสายมาลายูบางกอก-พงยือไร จ.ยะลาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 14 คนในวันต่อมา

            ท่ามกลางความรุนแรงรายวันและความสับสนในพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้กล่าวเน้นย้ำต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องว่าที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ รัฐบาลได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชัดเจน คือใช้การพัฒนาเป็นตัวนำให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ โดยล่าสุดเตรียมทุ่มงบประมาณไปยัง 5 โครงการคือฮาลาล ประมง ยางพารา ปาล์ม และการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าแนวทางการใช้การพัฒนาเป็นตัวนำที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะเป็นคำตอบให้กับการแก้ไขปัญหาได้[1]

            แนวคิดความเชื่อดังกล่าวน่าจะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าปัญหาความไม่สงบในภาคใต้เกิดจากการกระทำของคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่อาจจะมีแนวร่วมอยู่บ้างเนื่องจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม จากการที่ไม่มีคุณภาพชีวิตและระบบการศึกษาที่ดี อยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา และจากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ออกนอกกรอบของกฎหมาย โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลใช้นโยบายการเมืองนำการทหารด้วยการซื้อใจประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม มวลชนก็จะตีตัวออกห่างจากผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้แนวร่วมลดจำนวนลง ชาวบ้านในพื้นที่คอยแจ้งข่าวและเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะทำให้งานการข่าวถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้ และเมื่อกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบนี้หมดไปไม่ว่าจะสาเหตุจากการขาดแนวร่วมหรือจากการจับกุมปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม สันติสุขก็จะกลับคืนสู่ชายแดนใต้ได้ในที่สุด

            กล่าวคือ สมมติว่าประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 100 คน มีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบประมาณ 10 คน เป็นแนวร่วมประมาณ 20 คน ส่วนอีก 70 คนเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง[2] จากแนวทางของรัฐบาลขณะนี้ อาจตีความได้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะดึงมวลชนทั้งหมด 90 คนมาอยู่ข้างรัฐจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านโครงการต่างๆ โดยที่กลุ่มขบวนการอีก 10 คนจะ “ฝ่อ” ไปเอง หรือหากไม่สลายไป ก็จะสามารถจับกุมปราบปรามกลุ่มขบวนการที่เหลือให้หมดสิ้นไปได้

            แน่นอนที่สุด คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามาตรการในการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นต้องทำส่วนหนึ่งคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ากินดีอยู่ดี สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นแนวทางถูกต้องเหมาะสมแล้วและควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่างานการเมืองที่เน้นการพัฒนาเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ในการยุติความรุนแรงโดยที่ไม่ต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถจับกุม ปรับความคิด หรือปราบปรามกลุ่มขบวนการนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามสมมติฐานข้างต้น เมื่อดูจากความรุนแรงรายวันที่ยังคงเกิดขึ้นยืดเยื้อมากว่า 5 ปีแล้วท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนและการทุ่มเทงบประมาณซึ่งเป็นภาษีประชาชนไปกว่าแสนล้านบาท โดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการสูญเสียลงได้ ความไม่แน่ใจดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะต้องคุยกับกลุ่มขบวนการด้วยการมอบหมายหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลเฉพาะเพื่อดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

            การพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace Talks) นี้ถือเป็นงานการเมืองเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่ง ความขัดแย้งในหลายกรณีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่แคว้นบาสก์ อาเจะห์ ไอร์แลนด์เหนือ หรือมินดาเนา ก็เริ่มต้นคลี่คลายลงด้วยแนวทางนี้ทั้งสิ้น การพูดคุยนี้เป็นการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อนำมาวิเคราะห์และพิจารณาหาทางออกร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในพื้นที่และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดในการลดความรุนแรงผ่านการสื่อสารกับผู้กระทำโดยตรง เพื่อยุติการสูญเสียชีวิตของทุกๆฝ่ายให้ได้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การพูดคุยดังกล่าวนี้ไม่ใช่การหาข่าวอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา และที่สำคัญคือไม่ใช่การเจรจาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการทำความเข้าใจกับคนไทยด้วยกันที่มีความเห็นต่างจากรัฐ[3]      

            หากนโยบายการเมืองนำการทหารของรัฐบาลมีการดำเนินงานสองขาคู่ขนานกันไปคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มขบวนการในการทำความเข้าใจว่าทำไมจึงต้องใช้ความรุนแรง ก็น่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เข้าเป้ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด ซึ่งต้องดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมและพยานหลักฐานอยู่แล้ว หรือไม่ได้หมายความว่าจะงดใช้การทหาร เพียงแต่ต้องเป็นการใช้การทหารเพื่อสนับสนุนงานการเมืองเท่านั้น

            ในเมื่อเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลคือสันติสุขในพื้นที่ หากทางเลือกใดที่อาจจะนำมาซึ่งเป้าหมายนี้ได้ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่าต่อรัฐบาลที่จะลองหันมาพิจารณา



[1]ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 หน้า 15.

[2] ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการสมมติเพื่อประโยชน์ในการอธิบาย ไม่ได้ต้องการสะท้อนสัดส่วนที่แท้จริงในพื้นที่

[3] รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้: บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี โดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ 1 สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, หน้า 43