สมัชชา นิลปัทม์
นักสังคมศาสตร์ร่วมสมัยต่างทราบกันดีว่า ‘เจอร์เกน ฮาร์เบอร์มาส’ (Jürgen Habermas) นักปรัชญาวิพากษ์ชาวเยอรมันแห่ง ‘สำนักแฟรงค์เฟิร์ต’ (Frankfurt School) ผู้โด่งดังนั้นเป็น ‘นักอุดมคติ’ อย่างยิ่ง
คอนเซปเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” นั้นยืนยันถึง อุดมคติอันนั้นเป็นพื้นที่ของชีวิตสังคมที่เปิดกว้างให้แก่ทุกคน เพื่อเข้ามาร่วมกันสร้าง “ความคิดเห็นสาธารณะ”ทั้งยังเป็นเครื่องมืออันสำคัญมนุษย์จะต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมนุษย์ที่ไร้เหตุผลไปสู่มนุษย์ที่มีวุฒิภาวะและเปี่ยมเหตุผล
‘พื้นที่สาธารณะ’ ยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยง‘สังคม’ กับ‘รัฐ’ เป็นพื้นที่ๆ ผู้คนในสังคมมาร่วมกันทำหน้าที่วิพากษ์ วิจารณ์และควบคุมการทำงานของอำนาจรัฐซึ่งลักษณะเด่นของพื้นที่แบบนี้คือการสนทนา/อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้นโดยไม่มีการบังคับข่มขู่ ชักจูง คุกคาม หรือออกคำสั่ง แต่อย่างใด
ฮาเบอร์มาส ได้เสนอว่าในยุคของเสรีนิยม (ศตวรรษที่ 18-19) สังคมเสรีที่กล้าวิพากษ์ด้วยเหตุและผลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แต่มาถึงวันนี้พื้นที่เพื่อการปลดปล่อยความคิดเหล่านั้นได้ล่มสลายไปแล้ว ในยุคหลังเสรีนิยม เมื่อรัฐเสรีนิยมแปรสภาพเป็นรัฐสวัสดิการไปแล้ว พื้นที่สาธารณะทางการเมืองแบบอุดมคติ (ที่มีวาทกรรมสาธารณะเชิงวิพากษ์) จะยังเป็นความจริงขึ้นมาได้หรือไม่
ฮาร์เบอร์มาส อธิบายถึงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในสังคมยุคใหม่สิ่งหนึ่งคือ การสร้างบรรยากาศของการ ‘สานเสวนาสาธารณะ’ (Public Dialogue) ซึ่งเขาได้อธิบายไว้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่สาธารณะเหมือนในอดีตที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างสม่ำเสมอ โดยยอมรับในความแตกต่างทางความคิดกันได้และมีบรรยากาศการสื่อสารแบบเผชิญหน้าต่อกัน (face to face communication)
แต่ในสังคมยุคใหม่ “พื้นที่สาธารณะ” ในอุดมคติแบบรอยต่อช่วงศตวรรษที่ 17 – 18 คงเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก เขาจึงเสนอแนวคิดในการสร้าง ‘พื้นที่สาธารณะ’ โดยการประสานรูปแบบในการสื่อสารทุกชนิด รวมถึงการสื่อสารมวลชนด้วย ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะใช้รูปแบบการสื่อสาร ‘แบบไหน’ และ สื่อสาร ‘แบบใด’ แต่ขอให้เป็นการพลิกแพลงรูปแบบของการสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการ ‘สานเสวนาสาธารณะ’ ให้ได้
ฮาร์เบอร์มาส กล่าวถึง ‘สานเสวนาสาธารณะ’ ว่า เป็นดั่งหลักประกันว่าจะมีเวทีสำหรับคนทุกหมู่เหล่าสามารถแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางอันหลากหลายเพื่อมีส่วนร่วมในการถกเถียงเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ ของสังคมร่วมกัน
มีกรณีศึกษาที่ เกรแฮม เมอร์ด๊อก (Graham Murdock) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองด้านสื่อชาวอังกฤษ ได้ลองนำแนวคิดของ ฮาร์เบอร์มาสมาศึกษา ‘สานเสวนาสาธารณะ’ ต่อบทบาทของสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะของอังกฤษ (BBC) ในช่วงปี 1992 พบว่า
· บีบีซี ได้เป็นเวทีสำหรับการสร้าง ‘วงอภิปรายสาธารณะ’ (public forum) ที่ให้กลุ่มผลประโยชน์มีความชอบธรรมที่จะเข้ามาใช้เวทีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีที่มีความขัดแย้งหรือข้อพิพาทต่างๆ ต้องตรวจสอบว่า กลุ่มที่จะมีโอกาสได้เข้ามาใช้พื้นที่สื่อนั้นต้องเป็น “ทุกกลุ่ม” ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย
· เวทีสาธารณะ ต้องทำหน้าที่เป็นช่องทางให้กลุ่มต่างๆ สามารถติดตามตรวจสอบประเด็นสาธารณะ โดยเฉพาะติดตามผลงานของกลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งพลังการตรวจสอบเดิมมักไม่มีประสิทธิภาพ
· ต้องเสริมสร้างแนวคิด ‘พลเมือง’ เข้มแข็งขึ้นให้ได้
· สื่อมวลชนต้องติดตั้งกลไกตรวจสอบตนเองตลอดเวลาว่าในพื้นที่สื่อของตนได้แบ่งสัดส่วนเรื่อง “ส่วนตัว” (private)และ “สาธารณะ” (public) เอาไว้อย่างเหมาะสม
กรณีศึกษาชี้ให้เห็นโดยนัยว่า ‘สื่อ’ นั้นเป็น ‘พื้นที่’ ประเภทหนึ่ง เป็นพื้นที่ๆ ‘เสมือน’ แม้มองไม่เห็นในทางกายภาพ แต่กลับเป็นปัจจัยที่สำคัญ ‘สานเสวนาสาธารณะ’ ด้วยการเชื่อมโยงเหตุผลของมนุษย์เข้าไว้ผ่านปฏิบัติการทางการสื่อสาร ซึ่งการที่สื่อจะสร้าง‘พื้นที่กลาง’ เช่นนี้ได้คาดหวังได้ยากจากสื่อเชิงพาณิชย์ (Commercial Press) เพราะจะพะวักพะวนอยู่กับการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของทุนเสียมากกว่าการดำเนินกิจการสาธารณะตามอุดมคติอย่างแท้จริง
ซึ่งหากสังคมไม่มีพื้นที่และสื่อ‘สาธารณะ’ อันเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ของทุกความเห็นที่แตกต่าง เพื่อสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมในสังคมที่มีความขัดแย้งแล้วล่ะก็ จึงไม่ง่ายนักที่เราจะประคับประคองสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นนัก
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ฉบับ 753 ประจำวันที่ 26 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2555