Skip to main content
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 
ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเข้มข้นยิ่งขึ้น
 
ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันได้ย่างก้าวเข้า 105 เดือน ถ้านับนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547จนถึงเดือนกันยายน2555 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 12,377 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันจำนวน 14,890 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิตรวม 5,377 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 9,513 ราย สถานการณ์ในปี2555ผ่านไปแล้ว 9 เดือน ในปัจจุบันสิ่งที่เป็นที่รับรู้กันก็คือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ความยืดเยื้อเรื้อรังและดูเหมือนภาพจะชัดเจนว่ามีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นจริงเชิงประจักษ์ของความรุนแรงเชิงคุณภาพมากขึ้น ลักษณะดังกล่าวก็คือความถี่และความเข้มข้นของความรุนแรงที่ยังอยู่ในระดับคงที่ ในขณะที่คุณภาพของความรุนแรง อันได้แก่ จำนวนการตายและการบาดเจ็บ รวมทั้งภาพลักษณ์ของความรุนแรงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเด่นชัดยิ่งขึ้น
 
การเปลี่ยนแปลงลักษณะของเหตุการณ์ในแบบดังกล่าวได้คลี่คลายมาตั้งแต่ปี 2550เป็นต้นมา จนถึงในระยะหลัง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา เป็นที่น่าสังเกตว่าแบบแผนของการใช้ความรุนแรงในภาคใต้จะเพิ่มความซับซ้อนและทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในรอบ9เดือนของปี2555นี้ จึงมีเหตุการณ์ที่สำคัญหลายเหตุการณ์อันเป็นข่าวที่สะเทือนขวัญ และจำนวนครั้งของเหตุการณ์ในบางเดือนก็ถูกกระตุกให้เห็นเป็นยอดคลื่นสูงโด่งขึ้นอย่างเด่นชัด ดังเช่นเหตุการณ์ในเดือนมีนาคมที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันภายในเดือนเดียวกันถึง 603คน และในเดือนสิงหาคมมีเหตุการณ์การก่อความไม่สงบสูงถึง 380เหตุการณ์ กล่าวได้ว่า เหตุการณ์ทั้ง สองเดือนดังกล่าวทำลายสถิติการก่อความรุนแรงรายเดือนในรอบ 9 ปี กับ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - กันยายน 2555 กล่าวคือ เดือนมีนาคม 2555สถิติการบาดเจ็บบวกกับการตายในรายเดือนสูงสุดตั้งแต่ปี 2547และเดือนสิงหาคม 2555 ก็มีสถิติความถี่ของการก่อความไม่สงบรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่มกราคม 2547เป็นต้นมา
 
ความเด่นชัดของสถิติการก่อเหตุความรุนแรงดังกล่าวในระยะหลัง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “ระดับความเข้มข้น” สูงขึ้น จนอาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นภาพการเพิ่มระดับความรุนแรงในทางคุณภาพและชี้ให้เห็นความต่อเนื่องของสภาพการณ์แห่งความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลีกหนีไม่พ้น
 
 
 
 
 
สถานการณ์ที่มีความเข้มข้น ซับซ้อน และยอกย้อน
 
กล่าวในแง่การวิเคราะห์ ปี 2555 เหตุการณ์ภาคใต้ไม่เพียงรุนแรงเข้มข้นเท่านั้น หากแต่ยังซับซ้อนและยอกย้อนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ มีเหตุผลในการวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่สองประการ คือ
 
ประการแรก ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ความไม่สงบใหญ่ๆ และมีผลกระทบอย่างมาก ในวงกว้างหลายครั้ง จุดเน้นในที่นี้ก็คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ หรือการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ มันไม่ใช่เพียงแค่การ “นับจำนวนตัวเลข” อย่างตื้นๆ อย่างธรรมดาๆ ดังที่มีการวิจารณ์กัน ตัวเลขมีชีวิตและความสูญเสียอย่างคณานับอยู่เบื้องหลัง และการกระทำการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดย “มีจุดมุ่งหมาย” และมีเหตุผลรองรับที่สามารถจะตีความได้ สามารถจะเข้าใจได้ และเป็นการกระทำเพื่อให้เกิด “การสื่อสารทางการเมือง” ดังจะเห็นได้จากการที่มีเหตุการณ์ใหญ่ในรอบปีนี้อย่างน้อยประมาณ 8 ครั้ง คือ
 
วันที่ 29 มกราคม เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. ยิงใส่ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพราน 4302 บ้านน้าดำ ม. 3 .ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 3 นัด แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หลังเกิดเหตุผู้บัญชาการกองร้อยทหารพรานที่ 4302 จัดกำลังออกสกัดกั้นตามแผนเผชิญเหตุของหน่วย โดยนำกำลังออกมาสกัดกั้นบริเวณบ้านกาหยี ม.1 .ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อได้พบกับรถต้องสงสัย ผู้บัญชาการกองร้อยฯได้สั่งคนภายในรถให้ลงจากรถ เมื่อคนในรถจำนวนหนึ่งได้รีบลงจากรถด้วยความตกใจ เป็นเหตุให้มีการยิงเกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ บุคคลต้องสงสัยภายในรถเสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข้อถกเถียงของคนในพื้นที่และบรรดาญาติของผู้เสียหาย เนื่องจากรถคันดังกล่าวบรรทุกราษฎร ซึ่งกำลังเดินทางไปทำพิธีละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิตต่างหมู่บ้าน ซึ่งจะมีเฉพาะเยาวชนและผู้สูงอายุเท่านั้น ทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องสั่งการให้หน่วยทหารพรานที่ 4302 ย้ายออกจากฐานปฏิบัติการในพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง และดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน รวมถึงเยียวยาครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบทันที เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเปิดฉากความต่อเนื่องของความรุนแรงต่อมาในปีนี้
 
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์หรือคาร์บอมบ์บริเวณสี่แยกหน้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ถ.สฤษดิ์ ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้ราษฎรเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 14 ราย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบคนร้ายนำวัตถุระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนไว้ในรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดรากอนอาย สีบรอนซ์ ที่นมาจอดไว้บริเวณริมถนนหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีตั้งแต่เวลา 07.16 . ก่อนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนที่มาจอดรอไว้หลบหนีไป ต่อมาเมื่อเวลา 08.05 น.คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดออกซิเจนน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม จุดชนวนระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว
 
วันที่ 31 มีนาคม เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ที่จังหวัดยะลา บริเวณสี่แยกถนนจงรักษ์ตัดกับถนนรวมมิตร (หน้าร้านข้าวต้มรุ่งเรือง) ส่งผลทำให้บ้านเรือนเสียหายหลายคูหา แรงระเบิดทำให้รถตู้ติดแก๊สเกิดระเบิดขึ้นอีกครั้งและระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ คนร้ายได้กดชนวนระเบิดคาร์บอมบ์ซึ่งจอดอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven บริเวณปากทางเข้าโรงแรมปาร์ควิว จากเหตุระเบิดดังกล่าวส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 127 ราย ภายในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 13.00 . ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวกำลังจับจ่ายซื้อสินค้าที่ห้างลีการ์เดนพลาซ่า เหตุระเบิดก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและมี ควันพุ่งออกมาจากบริเวณชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นลานจอดรถของห้าง ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหนีตายกันอลหม่านและมีจำนวนมากที่ติดอยู่ภายในห้าง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งดับเพลิงและช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ภายใน เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้และเดินทางเข้าไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุพบรถยนต์เก๋งถูกแรงระเบิดฉีกขาดออกเป็น 2 ท่อน แรงระเบิดทำให้พื้นชั้นจอดรถเป็นหลุมกว้างประมาณ 2 เมตร และทำให้รถที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายนับร้อยคัน เจ้าหน้าที่สรุปว่าเกิดจากคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ เนื่องจากมีลักษณะใกล้เคียงกับการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดยะลา เหตุรุนแรงดังกล่าวส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 354 ราย มีทั้งประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียรวมอยู่ด้วย
 
เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บรวมกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนมีนาคมทั้งเดือนสูงที่สุดนับตั้งแต่มีเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ที่เริ่มขึ้นในปี 2547 !!!
 
วันที่ 25 กรกฎาคม คนร้ายไม่ทราบจนวนลอบวางระเบิดตำรวจชุดรักษาความปลอดภัยครู สถานีตำรวจภูธรท่าธง ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวน 5 นาย และได้รับบาดเจ็บจนวน 1 ราย ขณะที่ตำรวจจำนวน 6 นาย ทำการลาดตระเวนเส้นทางและ รปภ.ครูบนถนนสายสาเมาะ-อูเป๊าะ ด้วยรถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้า เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดขึ้นทำให้รถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียหลักตกลงข้างทาง จากนั้นกลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนที่ซุ่มอยู่ข้างทางได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
 
ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม คนร้ายประมาณ 15 คน ใช้รถยนต์กระบะจำนวน 3 คัน เป็นพาหนะใช้อาวุธปืนสงครามประกอบยิงชุดปฏิบัติการทหารที่ 2 ร้อย..15321 กองกำลังเฉพาะกิจ (ฉก.) ปัตตานี 25 ทำให้ทหารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 นาย และได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 นาย ขณะเกิดเหตุ ชุดลาดตระเวนได้จัดกำลังจำนวน 6 นาย ใช้รถจักรยานยนต์ 3 คัน เป็นพาหนะเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยบริเวณตลาดนัดบ้านมายอ ม.1 .มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี หลังเสร็จสิ้นภารกิจได้เดินทางกลับฐานปฏิบัติการเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุคนร้ายประมาณ 15 คนใช้รถยนต์กระบะจำนวน 3 คัน ขับตามประกบคันต่อคัน จากนั้นคนร้ายที่นั่งอยู่กระบะหลังประมาณ 4-6 คนต่อคันได้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ทำให้รถจักรยานยนต์ 2 คันแรกของเจ้าหน้าที่ล้มลง จากนั้นคนร้ายที่นั่งอยู่ในรถกระบะทั้งสองคันได้ลงจากรถเข้ามาจ่อยิงซ้ำ ทำให้ทหารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 นาย และได้แย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 4 จำนวน 4 กระบอก พร้อมอุปกรณ์เครื่องแบบสนามไปด้วย ส่วนรถคันที่ 3 ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งขับตามหลังมาถูกคนร้ายที่นั่งอยู่ในกระบะยิงใส่ ทำให้รถล้มลงข้างทาง ทหารทั้งสองจึงได้หลบเข้าที่กำบัง คนร้ายได้ลงจากรถจะเข้ามายิงซ้ำแต่ได้มีการยิงตอบโต้ ทำให้คนร้ายหลบขึ้นรถไปและได้ขับรถกลับโดยหลบหนีมุ่งหน้าเข้า อ.มายอ จ.ปัตตานี
 
เหตุการณ์ทั้งหมดถูกเปิดเผยในโทรทัศน์วงจรปิดของเจ้าหน้าที่ ทำให้กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศและยังเผยแพร่อย่างกว้างขวางในข่าวของต่างประเทศอีกด้วย
 
ในวันที่ 31 กรกฏาคม เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบวางระเบิดบริเวณหลังโรงแรมซีเอสปัตตานี แรงระเบิดทำให้ราษฎรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 5 ราย จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังแก๊สหุงต้มน้าหนัก 15 กก. จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสารซึ่งซุกซ่อนในรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุดีแมคตอนเดียวสีน้ำเงินสวมทะเบียนปลอม ซึ่งเป็นรถที่คนร้ายปล้นมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยคนร้ายนำมาจอดไว้บริเวณหลังโรงแรมซึ่งอยู่ติดกับหม้อแปลงไฟฟ้า แรงระเบิดทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าเสียหายและเกิดเพลิงไหม้เล็กน้อยบริเวณโรงครัวของโรงแรม แต่ก็เป็นข่าวใหญ่อีกข่าวหนึ่งเช่นกัน เพราะโรงแรมซีเอสปัตตานีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะที่เป็นพื้นที่กลางของการประชุมสัมมนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 31 สิงหาคม เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดภายในห้างซูเปอร์ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ จังหวัดยะลา ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นที่บริเวณห้องเก็บของด้านหลังของห้างและไฟได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนลามกินส่วนต่างๆ ของอาคารซึ่งติดกับบ้านเรือนของประชาชนในวันเดียวกันนั้นในเวลาประมาณ 05.00 . คนร้ายก่อเหตุก่อกวนสร้างสถานการณ์โดยนำธงชาติประเทศมาเลเซียและวัตถุต้องสงสัยวัตถุระเบิดป้ายข้อความต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐวางไว้ตามจุดต่างๆ ทั้ง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในจังหวัดนราธิวาส 96 จุด จังหวัดยะลา 40 จุดจังหวัดปัตตานี 142 จุด และจังหวัดสงขลา 18 จุด การก่อเหตุการณ์ก่อกวน พร้อมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสามจังหวัดและสี่อำเภอของสงขลา ถือเป็นปฏิบัติการร่วมในเวลาเดียวกันครั้งใหญ่ในขอบเขตที่กว้าง
 
แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่ก็ทำให้เดือนสิงหาคม 2555 มีเหตุการณ์ความไม่สงบมากกว่าสามร้อยจุด ซึ่งสร้างสถิติจำนวนครั้งของการก่อความไม่สงบรายเดือนสูงที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่มกราคม 2547 เป็นต้นมา
 
วันที่ 21 กันยายน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี คนร้ายประมาณ 3หรือ 4คนขับขี่รถยนต์กระบะวีโก้เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่ร้านทองกมลพรรณ แต่ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ ต่อมาในขณะที่ เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบที่เกิดเหตุได้เกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวน 44ราย ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ คนร้ายได้นำใบปลิวมาแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ข่มขู่ให้ปิดร้านในช่วงวันศุกร์ หากใครไม่ทำตามจะเกิดอันตราย
 
ผลกระทบของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันในช่วงเดียวกันนี้ทำให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา ปิดทำการส่วนใหญ่ในวันศุกร์ถัดมาตลอดเวลาทั้งสามหรือสี่สัปดาห์ของเดือนกันยายน/ตุลาคมจนถึงสุดสัปดาห์แห่งวันหยุดฮารีรายอ ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่าผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้สามารถใช้ทั้งงานการทหารและงานการเมืองส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้แล้วก็ยังทำให้สถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2555 มีความรุนแรงและเข้มข้นเป็นพิเศษโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมีที่ผ่านมาเช่น ปี 2554
 
 
ประการที่สอง แบบแผนความรุนแรงของเหตุการณ์ในปี 2555 มีลักษณะที่ซับซ้อนและยอกย้อนยิ่งขึ้นด้วย ในที่นี้ควรสังเกตด้วยว่า แม้เหตุการณ์จะเพิ่มขึ้นและจำนวนความถี่ของเหตุการณ์บางครั้ง บางเดือนก็กระตุกเป็นยอดคลื่นสูงโด่งขึ้น แต่ระดับของความรุนแรงโดยทั่วไปที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีลักษณะไต่บันไดพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องเหมือนการขยายตัวของความรุนแรงเป็นขั้นๆ จึงไม่เป็นความรุนแรงที่มีลักษณะที่สับสนอลหม่านจนควบคุมไม่ได้ อันสะท้อนให้เห็น “แรงดึง” หรือ “แรงถ่วง” บางอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ความรุนแรงมีลักษณะที่ต่อเนื่อง แต่ก็มีความแน่นอนและมีค่าคงที่ปรากฏให้เห็นด้วย
 
แรงถ่วงดุลของความรุนแรง ?
 
แรงถ่วงดังกล่าวนี้เกิดจากอะไร?แรงกดดันที่จำกัดการขยายตัวของความรุนแรงน่าจะมาจากสาเหตุสำคัญอย่างน้อยสามประการ คือ
 
ประการแรก บทบาทของกองกำลังของฝ่ายรัฐในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบกล่าวคือ รัฐมีกลไกในด้านหลักก็คือกองกำลังทหารและตำรวจประจำการร่วมกับกองกำลังกึ่งทหารเช่นทหารพรานและอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) รวมแล้วประมาณ 60,000 กว่าคน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายตอบโต้และใช้มาตรการทางกฎหมายต่อกลุ่มกองกำลังฝ่ายก่อความไม่สงบ เช่น บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และพูโล โดยผ่านอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในเงื่อนไขปกติและใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษคือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรการทางการทหารที่ใช้ก็คือ การประกอบกำลังในพื้นที่โดยเฉพาะในระดับของการบัญชาการสนาม (field command) มีหน่วยปฏิบัติการในหมู่บ้าน หน่วยตอบโต้เคลื่อนที่เร็ว หน่วยลาดตระเวน เข้าปะทะการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมและทำลายขบวนการที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ นอกจากนี้ กองกำลังของรัฐยังรวมไปถึงกองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือนหรืออาสาสมัครที่มีอยู่ประมาณกว่า 80,000 คน ประกอบด้วย ชรบ. และ อรบ. ในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งหมดประมาณ 3,000 กว่าหมู่บ้านทั่วทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองกำลังติดอาวุธของรัฐเป็นกองกำลังในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (อักษรย่อ ปปส.) ประกอบด้วยกำลังรบหลัก กำลังกึ่งทหาร และกำลังประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมทั้งทหารตำรวจทหารพรานอส. ชรบ. และ อรบ. รวมกำลังทั้งหมดจะมีอยู่ประมาณ 150,000 นาย
 
จากการวิเคราะห์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่มากมายประมาณ 150,000 คนนี้ ดำรงอยู่เพื่อต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐหรือขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล และฝ่ายต่างๆ ที่เรียกว่า “ญูแว” ซึ่งแหล่งข่าวทางการทหารเองระบุว่ามี อยู่ประมาณ 9,616 คน แม้จะมีการควบคุมสถานการณ์ได้ในบางระดับ แต่ก็ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นลักษณะที่เรียกว่า ความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังอาวุธ (Armed Conflict) อย่างชัดเจน
 
 
ปัจจัยที่เป็นแรงถ่วงการขยายตัวของความรุนแรงประการที่สอง คือ การปรับตัวของนโยบายสันติภาพของรัฐ ทั้งจากรัฐบาล (ฝ่ายการเมือง) และฝ่ายความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในการกำหนดนโยบายระดับสูงในตอนต้นปี 2555 เมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประกาศ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ฉบับใหม่ในชื่อ นโยบายการบริหารและการพัฒนาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีพ.. 2555-2557” ซึ่งประกาศในเดือนมีนาคม 2555 มีการกำหนดว่าจะมีการ
 
“.... สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในกระบวน การเสริมสร้างสันติภาพ...”
 
นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะสร้างการจัดการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นกระบวนการโดยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบอย่างบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้ความรู้ในการจัดการปัญหาอย่างถูกต้อง ในส่วนของกองทัพภาคที่ 4 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็ได้ประกาศนโยบาย “สานใจสู่สันติ” ซึ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ส่วนยุทธศาสตร์ที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้านำมาใช้ได้แก่ 6 ยุทธศาสตร์ หรือ ยุทธศาสตร์ 6 แท่ง ที่มีการเรียงลำดับไว้ดังนี้ คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การแก้ปัญหาภัยทับซ้อนความยุติธรรมและสิทธิมนุษย์ชนและการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่ ศอ.บต. ก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 9 ข้อ ให้สอดคล้องกับนโยบาย สมช. ดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ “.... การสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ….”
 
          พัฒนาการของนโยบายความมั่นคงและสันติภาพโดยฝ่ายรัฐเป็นความต่อเนื่องของวิวัฒนาการในนโยบายการจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 เริ่มตั้งแต่การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติกฏอัยการศึกในปี พ.ศ.2547 จนกระทั่งมีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในปี พ..2548 การรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณและใช้มาตรการทางการทหารอย่างหนักในการปิดล้อมตรวจค้นและเพิ่มกำลังทหารในปี พ..2550การออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ..2551 การออกกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ..2553 และในที่สุดก็มีการออกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในเดือนมีนาคม พ.. 2555 นโยบายและมาตรการดังกล่าวตอบสนองปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละห้วงเวลา แต่ทว่าสถานการณ์ความไม่สงบก็คลี่คลายพัฒนาการมาถึงจุดที่ยังยึดเยื้อเรื้อรังมากขึ้นในระยะหลัง
 
 
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของวาทกรรมทางนโยบายรัฐที่เน้นการเมืองนำการทหาร และแนวทาง สันติก็มีจุดอับในตัวเองอย่างรุนแรง ในด้านหนึ่ง เกิดปัญหาการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่มากมายและชัดเจนมากขึ้น แต่การนำไปสู่การปฏิบัติยังมีปัญหามาโดยตลอด ความสับสนในการจัดการทางนโยบายจึงเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาว่าใครจะเป็นฝ่ายนำในการดำเนินนโยบายความมั่นคงภาคใต้ ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต.ต่างก็มีกฎหมายรองรับสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ..2551 และกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ..2553 ในเดือนพฤษภาคม พ.. 2555 รัฐบาลจึงต้องอาศัย “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534” แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เพื่อแก้ปัญหานโยบายและยุทธศาสตร์ภาคใต้ให้เกิด เอกภาพและบูรณาการในการปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลตั้งใจให้เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติเพื่อสั่งการอำนวยการกำกับติดตามบูรณาการและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และยุทธศาสตร์อย่างมีเอกภาพจากนั้นก็สั่งให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำแผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่แปลงเป็นแผนปฏิบัติการ 29 วัตถุประสงค์ไปทบทวน เพราะความเชื่อที่ว่าแผนดังกล่าวจะเป็นแผนประจำวันให้แต่ละกระทรวงพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงของตนเองให้เป็นแผนยุทธศาสตร์และให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน จากนั้นให้รีบส่งกลับไปที่เลขาธิการ สมช.
 
ตัวเลขรหัสแผนยุทธการดับไฟใต้ 9-5-29 ที่ตั้งเป้าหมายให้เกิดบูรณาการและการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ก็ยังไม่มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายการเมืองกลับมีปัญหากับการจัดการภายในรัฐบาลเอง โดยยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ที่มีศักยภาพและความรู้ประสบการณ์เพียงพอในการแก้ปัญหาภาคใต้ได้ ประเด็นที่สำคัญก็คือแม้ จะกำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ กรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายทาง ยุทธศาสตร์ร่วม มากมายถึง 29 ข้อ แต่เมื่อขาดเจตนาทางการเมืองที่ชัดเจนและเข้มแข็ง (strong political will) ตัวเลขที่ตั้งไว้ 9-5-29 ก็กลายเป็นเลขศูนย์เมื่อไม่สามารถขับเคลื่อนจริงได้ และเมื่อถูกรุกทางการทหารและการเมืองด้วยคลื่นการโจมตีพร้อมกันอย่างเป็นระบบจากขบวนการก่อความไม่สงบในช่วงเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน นับตั้งแต่ช่วงเดือนรอมฏอนเป็นต้นมา รัฐจึงดูเหมือนตกเป็นฝ่ายรับอีกครั้ง สถานการณ์จึงกลายเป็นมีความรุนแรงเข้มข้นยิ่งขึ้นพร้อมกับความยอกย้อนของสถานการณ์ที่ซับซ้อนยุ่งยากยิ่งขึ้น
 
ประการสุดท้าย คือ ปัญหาสำคัญของการใช้ภาษาวาทกรรมทางนโยบายและชุดความคิดที่ก้าวหน้าของรัฐที่ยังมีขีดจำกัดซึ่งไม่มองการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นภาคประชาสังคมและองค์กรระดับรากหญ้าที่เป็น “คนใน” พื้นที่และเข้าใจปัญหาจริงๆ นี่คือปัญหาของการมองกระบวนการสันติภาพที่ไม่ชัดเจน สันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนต้องอาศัยกระบวนการที่เกิดจากคนในเท่านั้น การปรับระบบการบริหารรัฐกิจให้มีประสิทธิภาพนอกจากจะทำได้ยากแล้ว ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา ความขัดแย้งจริงๆ อีกด้วย
 
ตัวแปรที่สำคัญในการแก้ปัญหาความรุนแรงเพื่อสร้างสันติในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือกระบวนการที่เกิดจากภายใน พลังของภาคประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งควรจะได้รับการ ส่งเสริมให้มีบทบาท เป็นตัวกลาง และ “พื้นที่กลาง” ในกระบวนการสันติภาพ
 
สันติภาพที่เกิดจากกระบวนการภายใน: จากเล็กไปสู่ใหญ่
 
กระบวนการสันติภาพที่เกิดจากคนในคืออะไร? สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ร่วม สิ่งที่สำคัญก็คือ แนวคิดใหม่ที่มองว่าความขัดแย้ง “ไม่ใช่” สิ่งที่ต้องขจัดออกไป แต่อาจจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นสิ่งที่จำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนา ในอีกด้านหนึ่งแนวคิดนี้ก็มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็น “สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้”ในความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน สิ่งที่สำคัญก็คือการทำให้เกิด ความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ระหว่างตัวแสดงของความขัดแย้งและการทำให้เกิดโครงสร้างหรือกลไกต่างๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
 
มีคำถามอย่างมากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงเข้มข้นขึ้นเป็นช่วงๆในระยะหลังนั้น อาจจะทำให้กระบวนการสันติภาพปาตานีที่เสนอโดยภาคประชาสังคมและนักวิชาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูเป็นเรื่องที่ยากเย็น ไม่เชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับการเกิดเหตุความรุนแรงรายวันและการก่อเหตุรุกด้วยการเมืองผสมการทหารโดยฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ ความจริงแผนผังสันติภาพในภาคใต้ หรือ Road Map for Deep South Peace กำลังถูกสร้างขึ้นแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน กระบวนการสันติภาพมีฐานะเป็นกระบวนการที่เดินก้าวหน้าไปเป็นขั้นๆ จากเล็กไปสู่ใหญ่ สิ่งที่ถูกเรียกว่า กระบวนการสันติภาพปาตานี หรือ Pa(t)tani Peace Processes (PPP)[1] นั้น จึงเป็นการสร้างพื้นที่ในทางการเมืองที่ซับซ้อนและหักเหไม่เป็นเส้นตรง อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งด้วยโครงสร้างการสนับสนุนสันติภาพที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ซึ่งจะก่อให้เกิดวาทกรรมทางการเมืองหรือชุดความคิดเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติภาพอย่างมีพลังและยั่งยืน
 
การเกิดกระบวนการสันติภาพมีหนทางที่จะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าที่เรียกว่าแผนที่เดินทางหรือ Road Map ในที่นี้ การสร้างแผนที่เดินทางไปสู่สันติภาพดังกล่าวจะมีอยู่สองแนวทาง คือ
 
แนวทางแรก เน้นที่ผลสุดท้ายของสันติภาพที่เป็นเป้าหมายใหญ่ (peace-writ-large) ในกระบวนการนี้มีคนหลายๆ ฝ่ายและหลายๆ พวก ซึ่งต่างก็มีเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งแตกต่างกัน เช่น ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานีหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการแยกดินแดนเป็นรัฐเอกราชใหม่ ด้านรัฐไทยก็ต้องการรักษาสิทธิธรรม การรักษาความสงบและปกป้องอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ ในขณะที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็ต้องการการกระจายอำนาจการปกครองและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ส่วนชาวบ้านในระดับรากหญ้าก็เรียกร้องต้องการความยุติธรรม และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เป็นต้น ดังนั้น คำว่า “สันติภาพใหญ่” ก็คือทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐกับขบวนการฯ มาพูดคุยกันหรือหาทางเจรจาตกลงกันเพื่อให้มีข้อตกลง “ยุติความรุนแรง” การพูดคุยเจรจาสันติภาพหรือไม่ก็รบกันจนแพ้ชนะกันไปข้างหนึ่งแล้วก็เกิดสันติภาพในเชิงลบ (negative peace) ดังนั้น ภาพใหญ่ของกระบวนการสันติภาพจะถูกสร้างด้วยการต่อสู้ การพูดคุยและต่อรองระหว่างกัน ตัวอย่างเช่นในกรณีของมินดาเนาในปัจจุบัน สองฝ่ายผ่านการรบ การพูดคุย เจรจา และการต่อรองเป็นเวลายาวนาน จนในที่สุดก็เกิดการตกลงกัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมรับฐานะชนชาติบังซาโมโรและเกิดข้อตกลงกรอบการเจรจาสันติภาพในที่สุด
 
 
แนวทางที่สอง เป็นการสร้างสันติภาพโดยเน้นที่กระบวนการสันติภาพขนาดย่อย (peace-writ-little) อันเป็นการสร้างพื้นที่สันติขนาดเล็ก เป็นขั้นๆ แบบสะสมเพิ่มพูน (incremental approach) โดยที่กระบวนการดังกล่าวจะรวมเอาทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันอยู่ใน “พื้นที่ของความสัมพันธ์” แบบนี้ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการดังกล่าวอาจจะรวมไปถึงขบวนการต่อต้านรัฐ สถาบันเก่า ทหาร ตำรวจ พลเรือน กลุ่มประชาสังคม ชาวบ้านทั้งชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิม และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ
 
แนวทางแบบที่สองจะทำให้เกิดข้อตกลงที่อาศัยกระบวนการและมีหลักการร่วมกันอันเป็นที่รับกันได้ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย กระบวนการสันติภาพแบบนี้อาศัย “คนใน” ที่สร้างพื้นที่กลางหรือพื้นที่ร่วม (common space) เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนร่วมกัน พร้อมทั้งส่งเสริมสันติภาพในแง่มุมต่างๆ เช่น เรื่องวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา การศึกษา การทำมาหากินร่วมกันอย่างสงบสุข ความยุติธรรมในชีวิตประจำวันและการเยียวยาความสูญเสียต่างๆ จากเหตุความไม่สงบ เป็นต้น
 
ดังที่กล่าวในตอนต้น กระบวนการสันติภาพขนาดย่อยไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการที่เป็นเส้นทางเดียวซึ่งก้าวไปสู่สันติภาพ แต่มุ่งจะสร้าง “พื้นที่ทางการเมือง” ที่ซับซ้อนและหักเหไม่เป็นเส้นตรง อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งด้วยโครงสร้างที่สนับสนุนสันติภาพที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดการสร้างวาทกรรมทางการเมือง หรือชุดความคิดเพื่อสนับสนุนสันติภาพอย่างมีพลังและยั่งยืน
 
 
จุดที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสันติภาพขนาดย่อยและขนาดใหญ่ก็คือ ในท้ายที่สุดสันติภาพขนาดย่อยจะไปทาบทับกับสันติภาพขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะนำไปสู่การพูดคุยเจรจาเรื่องใหญ่ๆ ดังที่ปรากฏในแผนที่เดินทางแบบที่หนึ่งได้ในที่สุด นี่คือสิ่งที่ภาคประชาสังคมและองค์กรเครือข่ายในระดับรากหญ้าในพื้นที่กำลังพัฒนาตัวเอง ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอในกระบวนการสันติภาพ เช่นข้อเสนอเรื่องการปกครองพิเศษ การพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มที่มีความเป็นแตกต่าง การสร้างความยุติธรรม การเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ การแก้ปัญหายาเสพติดและการปฏิรูปงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ที่รุนแรงที่ยืดเยื้อและยอกย้อน สะท้อนให้เห็นว่าลักษณะพิเศษของ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี “ระดับความเข้มข้น” สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการสันติภาพของคนในก็กำลังเดินหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย เป็นภาพการเพิ่มระดับความรุนแรงในทางคุณภาพและชี้ให้เห็นความต่อเนื่องของสภาพการณ์แห่งความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนภาพการถ่วงดุลความรุนแรงที่เกิดจากกระบวนการสันติภาพที่ยังมีศักยภาพ พลังแห่งสงครามและสันติภาพจะยังคงถ่วงดุลเป็นเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามกันต่อไป จนกว่าพลังของสันติจะเหนือกว่าและนำไปสู่การเปลี่ยนความขัดแย้งในที่สุด
 
 
 
หมายเหตุ: ดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ในรูปแบบไฟล์ PDF ที่นี่
 



 


[1]คำว่า “Pa(t)tani” ในที่นี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่ระหว่างวาทกรรม “(อาณาจักร) ปาตานี” และ “(จังหวัด) ปัตตานี” ในฐานะที่คำแรกสะท้อนให้เห็นความปรารถนาทางการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่อันยาวนาน และคำหลังที่เป็นหนึ่งในชื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐไทยที่สะท้อนการธำรงไว้ซึ่งสถานภาพเดิม Pa(t)tani ยังหมายรวมไปถึงกระบวนการที่จำเป็นต้องต่อรองระหว่างสองวาทกรรมดังกล่าวในสนามความขัดแย้ง
File attachment
Attachment Size
dsw_analysis_-_9_months_of_9_years_0.pdf (1.97 MB) 1.97 MB