Skip to main content

 

หมายเหตุ: ในห้วงที่ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้/ปาตานีเผชิญกับระลอกคลื่นความรุนแรงที่ทบทวีเพิ่มขึ้นในด้านหนึ่ง แต่ในอีกด้านก็พบว่าการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองเพื่อแข่งขันกันให้ความหมายต่อ ‘สันติภาพ’ ที่แต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มยึดถือก็ประชันขันต่อกันอย่างเข้มข้น การตั้งสติและหวนกลับมาใคร่ครวญทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘กระบวนการสันติภาพ’ และ ‘การสร้างสันติภาพ’ จึงน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนที่จะเราสามารถจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของความขัดแย้งในกรณีอื่นๆ ทั่วทั้งโลก ตลอดจนแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งจากการใช้ความรุนแรงไปสู่วิธีการต่อสู้/ต่อรองในแบบอื่นที่ลดความจำเป็นในการใช้กำลังเข้ากดบังคับของทุกฝ่ายด้วย
 
ถ้อยความเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ “พื้นที่กลางของคนใน” และบทเรียน 10 ประการ จากความขัดแย้งในที่อื่นซึ่งร้อยเรียงอยู่ด้านล่างนี้เป็นการถอดมาจากปาฐกถาของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิชาการและผู้ปฏิบัติการด้านสันติภาพชาวเยอรมัน ที่กล่าวเอาไว้ในเวทีสนทนานานาชาติ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน [Pa(t)tani Peace Process in the ASEAN Context] เมื่อกลางปีที่แล้ว (กรุณาคลิกดูกำหนดการ ที่นี่) ซึ่งเขาได้เพิ่มเติมแหล่งที่มาสำหรับการอ้างอิงและขยายคำอธิบายเพิ่มเติมในเชิงอรรถ ตลอดจนเพิ่มหมายเหตุเพื่อทำความเข้าใจคำศัพท์เฉพาะพื้นฐานด้านสันติภาพและแนวโน้มเกี่ยวกับองค์ความรู้ต่อกระบวนการสันติภาพในปัจจุบัน เนื้อหาของปาฐกถาและบทสนทนาทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการตีพิมพ์เป็นหนังสือในอีกเร็วๆ นี้
 
 
ปาฐกถา
ไอพีพีในบริบทของพีพีพี:
พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก 'คนใน'
ภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี
 
โดย
ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส
ผู้อำนวยการโครงการภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิเบิร์กฮอฟ (Berghof Foundation)
นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี
 
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีครับ ผมมีความรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้รับเชิญมาไม่เพียงเฉพาะในงานนี้ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผมได้พูดถึงการปรากฏตัวของกระบวนการสันติภาพปาตานีเท่านั้น หากแต่ยังได้กล่าวถึงพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform - IPP) ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาเพื่อนร่วมงานและเพื่อนๆ หลายคนได้ร่วมกันสร้างขึ้น ผมคงต้องกล่าวด้วยว่าการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็ถือเป็นการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านั้นทำมาจนถึงปัจจุบันและวิธีการที่เราจะก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกันด้วยความพยายามที่จะสนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้
 
สิ่งที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในที่นี้คือกลุ่มคนเหล่านี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราได้ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว รวมถึงแผนงานในอนาคต และอีกประการหนึ่งที่ผมต้องการจะเน้นเป็นการเฉพาะคือบทเรียนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสังเคราะห์ การทบทวน และการย่อยประสบการณ์ที่หลากหลายของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในทั่วโลก เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้นสามารถนำไปสู่ความพยายามในอนาคตของที่นี่และในที่อื่นๆ ได้อย่างไร ดังที่พวกท่านได้เห็นว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่สิบประเด็นซึ่งผมได้เลือกมากล่าวถึงเพื่อสนองต่อเป้าประสงค์ดังกล่าว ดังที่ได้ปรากฏในเอกสารประกอบในมือของทุกท่านแล้ว
 
สิ่งที่เราเรียกว่า “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” นั้นหมายถึง กลุ่มคนที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งตอนนี้ประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมทั้งชายและหญิงประมาณ 50 คน ที่เดินงานร่วมกันมาได้ราวหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเป็นการริเริ่มจากสถาบันทางวิชาการห้าหน่วยงานที่เชื่อมโยงกันผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ[1] ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลของสถาบันพระปกเกล้า (KPI) และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) แนวความคิดพื้นฐานในตอนเริ่มต้น คือ การเรียนรู้ร่วมกันถึงวิธีที่เราจะสามารถสร้างแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพขึ้นในพื้นที่ผ่านการทำงานร่วมกัน เรียนรู้ว่ามีอะไรที่สามารถทำได้และไม่สามารถทำได้ และยกระดับผลที่ได้รับจากผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการที่ว่านี้ไปพร้อมๆ กับก่อกำเนิดความคิดและข้อเสนอต่อพื้นที่ทางการเมือง (political sphere)
 
สิ่งที่เราทำมาจนถึงตอนนี้คือ การเริ่มต้นจากการพิจารณาตั้งแต่เริ่มแรกผ่านการวิเคราะห์ร่วมกันว่าความขัดแย้งครั้งนี้เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง? นั่นก็เพราะว่าบ่อยครั้งที่ผู้คนมักจะทำเป็นรู้ว่าสันติภาพนั้นคืออะไร จึงเรียกร้องว่าคุยกันเถอะ พวกเขาจึงเร่งรีบที่จะทำงานสันติภาพ ด้วยความตั้งใจดี แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ตระหนักว่ามันมีความเข้าใจที่หลากหลายต่อความหมายของสิ่งที่พวกเขาเรียกกันว่า “สันติภาพ” สิ่งที่เราริเริ่มคือ การร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการที่จริงจังรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับวิธีการอันหลากหลายในการวิเคราะห์ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาหนทางเท่าที่เป็นไปได้มีความเห็นในการวิเคราะห์ร่วมกันกับผู้อื่น
 
สำหรับการประเมินของผมแล้ว นี่เป็นกระบวนการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก นั่นก็เพราะว่า มันอาจไม่สำคัญมากนักว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร แต่ประสบการณ์ที่ได้ร่วมกระบวนการเช่นนั้นและต่อสู้กันในทางความคิดในสิ่งที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้นั่นคือสิ่งที่สำคัญพอๆ กับเนื้อหาในการวิเคราะห์ซึ่งเป็นผลที่ออกมา
 
ดังนั้น เราจึงทำการวิเคราะห์ความขัดแย้งตัวแสดงในความขัดแย้ง จุดยืน จุดสนใจ ความจำเป็นพื้นฐาน และความกลัวของพวกเขา เราเพ่งมองไปยังแรงขับเคลื่อนความรุนแรง และเรื่องเล่าของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยที่อยู่นอกบริบท อีกทั้งเราพยายามประเมินความพยายามเพื่อสันติภาพอีกด้วย ไม่ช้าก็เร็วผลที่ได้จากการวิเคราะห์ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จะมีการเผยแพร่ไปต่อสาธารณะ บางท่านที่อยู่ในห้องนี้อาจได้รับสำเนาร่างเอกสารที่ว่านี้จากคณะทำงานไปบ้างแล้ว[2]
 
          ต่อจากนี้ ทุกท่านจะได้มองภาพร่วมกันถึงวิธีที่เราจะสามารถพัฒนาแผนที่เดินทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อบ่มเพาะสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างไร และด้วยวิธีที่ให้ทุกคนเห็นร่วมกันว่าแนวทางใดเป็นแนวทางที่ดีที่สุดต่อสิ่งนี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสำหรับการวิเคราะห์ความขัดแย้ง แต่สำหรับประสบการณ์ของเราที่ได้รับในช่วงเวลาระหว่างกระบวนการของการเรียนรู้ร่วมกันนั้น คือความสัมพันธ์อันมากมายจากผู้คนที่มีภูมิหลังอันหลากหลาย บางส่วนของพวกเขาสะท้อนความเป็นตัวแทนทั้งของจุดยืนที่ค่อนไปในทางสายเหยี่ยวในด้านหนึ่งและในจุดยืนที่เป็นด้านตรงข้าม ในขณะที่ก็มีอีกบางส่วนที่สะท้อนเสียงของจุดยืนที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจที่เราจะนำมาใช้ในอนาคต
 
          สิ่งที่ผมอยากจะทำให้ตอนนี้ ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของเวทีพูดคุยในช่วงบ่าย คือ การแลกเปลี่ยนกับพวกท่านที่อยู่ในที่นี้เกี่ยวกับบทเรียนของกระบวนการสันติภาพในทั่วโลก 10 ประการ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องสำหรับอนาคตในการทำงานด้านสันติภาพ และสำหรับกระบวนการสันติภาพปาตานีที่มาจากผู้สร้างสันติภาพจากภายในในอนาคต ผมอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านด้วยบทเรียนเหล่านี้ ซึ่งได้แก่
 
          บทเรียนประการแรก เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผมอยากจะใช้คำว่า “เรื่องของภาษา” ซึ่งหมายถึงวิธีที่ผู้คนได้พูดคุยกัน เกี่ยวกับความขัดแย้งที่มีอิทธิพลเหนือสิ่งที่พวกเขาคิด พวกเขาสามารถทำบางอย่างเพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งดังกล่าวได้ หากคุณพูดถึงเรื่องความขัดแย้งเฉพาะจากมุมมองในด้านความมั่นคงและการทหาร และหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและเราคิดว่าจะเพิ่มมาตรการด้านความมั่นคงได้อย่างไรนั้น ก็อาจเป็นการตอบสนองที่มีความชอบธรรมและพอจะเข้าใจได้ แต่ทว่าประสบการณ์จากพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ ก็คือ หากคุณติดอยู่กับภาษาของความมั่นคง คุณจะติดอยู่กับตรงนั้น
 
          แต่ประสบการณ์เหล่านี้มาจากเพื่อนร่วมงานของผมที่มาจากไอแลนด์เหนือ ผู้ที่วิเคราะห์ถึงวิธีการที่ภาษาซึ่งใช้พิจารณาเกี่ยวกับความขัดแย้งนั้นเปลี่ยนไปในห้วงเวลาสามสิบปีที่ผ่านมาได้อย่างไร (Hayward and O´Donnell 2011) เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจากการวิเคราะห์นั้นบ่งบอกว่าภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ซึ่งรวมทั้งคนที่ปรารถนาดี คนกลางที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย คนที่ทำหน้าที่อำนวยกระบวนการต่างๆ คนที่ผลักดันแนวทางสันติภาพ ต่างใช้ภาษาที่ก้าวพ้นไปจากการเน้นย้ำถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคง ปัญหาของการก่อการร้าย และอื่นๆ โดยพยายามสร้างภาษาถ้อยคำใหม่ที่แสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นไปที่การมองสาระหลักว่าเป็นปัญหาทางการเมือง[3]
 
ดังนั้น ข้อสรุปของเราคือการสร้างพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในนั้น นอกจากเราจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ภาษาแล้ว ตอนนี้เรายังต้องพิจารณาถึงภาษาของตัวเองที่จะขับเน้นว่าอะไรคือสิ่งที่เราสามารถจะทำได้ในอนาคต ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของความมั่นคง
 
          บทเรียนประการที่สอง เป็นที่ชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่ต้องตระหนักรู้ถึงรากเหง้าของความขัดแย้ง[4] ดังที่ทุกท่านพอจะทราบถึงตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ การเคลื่อนไหวเพื่อข้ามพ้นการเหยียดผิวในอัฟริกาใต้ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อผู้คนเริ่มที่จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาหลักของประเทศ พวกเขามองว่าไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของอัฟริกาใต้ได้หากเราไม่สามารถเอาชนะการเหยียดผิวได้
 
เช่นเดียวกันในห้องประชุมแห่งนี้ที่มีนักวิชาการคนสำคัญบางคนซึ่งเขียนงานที่ชี้ให้เห็นเค้าโครงว่าปัญหาแกนกลางของความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของการเมือง ดังนั้นแล้ว นี่จึงเป็นเรื่องของผู้สร้างสันติภาพจากภายในที่ทำงานอย่างจริงจัง และเป็นสิ่งที่เราใส่เข้าไปในเวทีกลางสำหรับการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่จริงจังของเรา
 
          บทเรียนประการที่สาม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความสำคัญในการจะเข้าใจว่าความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้หรือในกรณีของชายแดนใต้นั้น ไม่ได้ถูกควบคุม กำกับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เป็นเรื่องง่ายดายอย่างมากที่จะกล่าวถ้อยแถลงทำนองนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะว่าหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งจำนวนไม่น้อยก็คือ ฝ่ายต่างๆ คิดว่าตัวเองมีแนวทางที่มีเหตุมีผลมากกว่า เราทำในสิ่งที่จำเป็นที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ เราทำในสิ่งที่เป็นจุดสนใจของเรา ด้วยสถานการณ์ความรุนแรง เราจึงพยายามจะเพิ่มมาตรการความมั่นคงเพื่อที่จะกดดันหรือป้องกันความรุนแรง
 
แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในหลายๆ กรณี และโชคร้ายที่เกิดกับกรณีที่นี่ด้วย นั่นคือสิ่งเหล่านั้นเป็นการทำให้ความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อเรื้อรัง แทนที่จะเป็นสิ่งที่นักวิชาการบางคนมองว่า “เรามีความขัดแย้งอยู่ (we have a conflict)” แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้กลับได้รับการอธิบายว่า “ความขัดแย้งมีเราอยู่ (the conflict has us)” (Glasl 1999, 22) ในแง่นี้นี่เองที่เป็นสิ่งซึ่งผู้สร้างสันติภาพจากภายในได้ตระหนักว่ามีเพียงแนวทางเดียวเท่านั้นท่ามกลางแนวทางอันหลากหลาย นั่นคือคุณจะต้องทำงานกับทั้งสองฝ่าย อีกเรื่องที่สำคัญคือการสนทนากับทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเวทีกลาง
 
          บทเรียนประการที่สี่ เป็นบทเรียนที่แพร่หลายอย่างมากในแวดวงของนักการเมือง นั่นคือ พวกเขามีข้อถกเถียงว่าเราต้องการความสุกงอมก่อนที่จะเริ่มต้นแก้ไขความขัดแย้งอย่างจริงจัง[5]แต่เมื่อไหร่เล่าที่ความขัดแย้งดังกล่าวนั้นจะมีความสุกงอมเพียงพอที่จะหาทางออก? สำหรับที่นี่ ผู้คนจำนวนมากในพื้นที่และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักกิจกรรมในพื้นที่กลางสร้างสันติภาพต่างได้ตระหนักว่าเราสามารถที่จะบ่มเพาะความสุกงอมได้โดยไม่จำเป็นต้องรอมัน เราไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งผู้คนกำลังจะตายมากขึ้น หรือจนกระทั่งความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกมาก เราสามารถที่จะบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ผ่านการแพร่ขยายแนวความคิดว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร โดยการผลักดันในเรื่องสันติภาพเพื่อที่จะผลิตแนวความคิดที่เป็นรูปธรรมให้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง อย่างเช่น การพูดถึงการกระจายอำนาจ หรือการหนุนเสริมพลังให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทำบางอย่างร่วมกัน เป็นต้น[6]
 
          นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งหลายแห่งได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ทำงานได้อย่างไร และนั่นคือสิ่งที่กระบวนการของพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในพยายามจะเน้น สิ่งที่จำเป็นในที่นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่จริงใจของผู้สร้างสันติภาพซึ่งจำเป็นต่อการสร้างทางออกที่เป็นนวัตกรรม และการมีพื้นที่ซึ่งเอื้อให้ทางออกเหล่านี้สามารถจะก่อตัวขึ้นมาได้และได้รับการปรับประยุกต์มาใช้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 
          บทเรียนประการที่ห้า ผมอยากจะเรียกว่า “อำนาจของการริเริ่มกระทำการฝ่ายเดียว” บ่อยครั้งที่ฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้งมักอธิบายว่า เราไม่สามารถทำอะไรได้ก่อน การริเริ่มกระทำการบางอย่างจะต้องมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฝ่ายเราค่อนข้างจะมีเหตุมีผลมากกว่า ดังนั้น อีกฝ่ายได้โปรดหยุดการใช้ความรุนแรงของพวกเขาก่อนเถิด หรือไม่ก็อีกฝ่ายควรต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาดีที่เตรียมพร้อมที่จะปฏิรูปหรือหยิบยกให้เห็นถึงรากเหง้าหรือสาเหตุของความขัดแย้งก่อน
 
มีตัวอย่างบางกรณีที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกที่การริเริ่มกระทำการฝ่ายเดียวได้ตั้งต้นให้กับการทำงานในกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง[7]กรณีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการริเริ่มโดยกอร์บาชอฟ ผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ในปี 1988 ในการลดการแข่งขันสะสมอาวุธระหว่างสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตก
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์และศาสนาอีกไม่น้อยที่มีการริเริ่มฝ่ายเดียวในจังหวะก้าวที่เล็กกว่า ซึ่งตอนนี้มีกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งสนับสนุน ETA หรือขบวนการเคลื่อนไหวปลดปล่อยบาสก์ในประเทศสเปนโดยการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวก่อน แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการปูทางไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน แต่พอที่จะทำให้รับรู้ได้ว่าสิ่งนี้จะเป็นจังหวะก้าวที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการสันติภาพในความขัดแย้งดังกล่าว
 
          บทเรียนประการที่หก ผมอยากจะเรียกว่า “การผนวกรวมเอาผู้ที่ยังระแวงสงสัยภายในแต่ละฝ่ายให้มีส่วนร่วมต่อการสร้างความพยายามเพื่อสันติภาพจากทั้งสองฝ่าย” หากคุณลองมาวิเคราะห์กันว่าอะไรคือสิ่งที่นำมาสู่ความล้มเหลวของความพยายามเพื่อสันติภาพ? ในหลายกรณีนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องหลักที่ทั้งสองฝ่ายต่างขัดแย้งกันและต่างโต้แย้งถกเถียงกับอีกฝ่ายเป็นสำคัญ อีกทั้งยังไม่ได้เป็นเรื่องความสามารถในการแสวงหาหนทางในการก้าวไปข้างหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง เปล่าเลย!
 
ตัวอย่างที่สุดโต่งกรณีหนึ่งดังในศรีลังกาที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เรียกว่า “การเกทับทางชาติพันธุ์ (Ethnic outbidding)” กล่าวคือ พรรคการเมืองที่ได้ครองอำนาจซึ่งควบคุมดูแลประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพยายามจะทำงานในแนวทางสันติภาพ แต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกลับพยายามทำลายสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขากลับเข้ามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง การเกทับทางชาติพันธุ์ในลักษณะนี้ได้ทำลายกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก
 
ด้วยเหตุนี้ ผมได้ค้นพบแววของความหวังที่พิเศษประการหนึ่ง เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้กล่าวในช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า เขาปรารถนาที่จะสนับสนุนการริเริ่มเพื่อสันติภาพโดยรัฐบาลในปัจจุบันของประเทศนี้ สิ่งนี้มีความหมายอย่างเห็นได้ชัดว่าเราจะต้องไปให้เหนือกว่าหรือมองให้เหนือว่าการเมืองในภาพใหญ่ อีกทั้งยังต้องการการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งจากข้างล่างอีกด้วย และดังนั้นคนในที่ร่วมกันสร้างสันติภาพจะสามารถแสดงบทบาทที่มีความสำคัญโดยผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายสร้างความเชื่อมโยงต่อกันและมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการที่แต่ละฝ่ายจะสัมพันธ์กับอีกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร[8]
 
          บทเรียนประการที่เจ็ด ผมพัฒนาแนวคิดขึ้นมาจากรูปแบบการทำงานที่เพื่อนำไปสู่สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace) และสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) ควบคู่กันไป สิ่งนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญในกระบวนการสันติภาพต่างๆ เนื่องจากว่าบ่อยครั้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความขัดแย้งที่มีลักษณะอสมมาตรนั้น มุมมองในระดับระหว่างประเทศมีการยอมรับรัฐที่มีความชอบธรรมในตัวเอง โดยอ้างว่าปัญหาหลักของความขัดแย้งเกิดจากการใช้ความรุนแรงโดยขบวนการก่อความไม่สงบ เราต้องการสันติภาพเชิงลบ เพื่อที่จะหยุดความรุนแรงดังกล่าว และหลังจากที่เราได้บรรลุสันติภาพในเชิงลบแล้ว ต่อมาเราก็จะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้โดยการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสันติภาพในเชิงบวก หรือในแง่นี้คือสันติภาพที่มีการจัดการกับปัญหาทางการเมือง
 
บ่อยครั้งฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบจะกล่าวว่า สำหรับเราแล้วปัญหาสำคัญคือเราต้องการเห็นก้าวย่างที่แสดงให้เห็นสันติภาพในเชิงบวกก่อนเป็นเบื้องต้น แต่ข้อสรุปจากความพยายามเพื่อสันติภาพจากทั่วโลก คือ คุณจะต้องเชื่อมทั้งสองเข้าไว้ด้วยกัน หากว่าคุณไม่มีแผนที่เดินทางเพื่อสันติภาพที่โน้มน้าวใจเพียงพอ อีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงจังหวะก้าวที่นำไปสู่สันติภาพในเชิงบวกและจังหวะก้าวที่นำไปสู่สันติภาพในเชิงลบเข้าไว้ด้วยกันแล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างยิ่ง[9]
 
          บทเรียนประการที่แปด คือ กระบวนการสันติภาพส่วนใหญ่ต้องประสบกับความล้มเหลวเนื่องมาจากในท้ายที่สุดแล้วไม่มีแรงสนับสนุนจากสาธารณะที่เพียงพอ อีกทั้งไม่ได้มีการสร้างผลลัพธ์หรือ “ผลกำไรของสันติภาพ” ที่น่าดึงดูดใจมากพอต่อทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพิจารณาของเราในการช่วยให้ก่อเกิดกระบวนการสันติภาพปาตานีที่ยั่งยืน ดังนั้น เราจำเป็นต้องคิดว่าเราจะสร้างการสนับสนุนจากสาธารณะที่มาจากทุกฝ่ายได้อย่างไร เราจะสามารถสร้างผลลัพธ์ในทางบวกได้อย่างไร?[10]
 
ในที่นี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมองไปที่บทบาทของสื่อ ดูเหมือนว่าประเด็นสันติภาพยังไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่เข้ามาพิจารณาในแง่มุมทางการเมืองของสื่อกระแสหลักในประเทศไทย ดังนั้น เราจะต้องทำสิ่งต่างๆ อีกมากต่อจากนี้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ที่จะอนุญาตให้สาธารณชนได้เข้ามาหนุนหลังสันติภาพ ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือในแง่ลบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับโดยคนส่วนใหญ่
 
          บทเรียนประการที่เก้า คือ การใช้ “อำนาจแบบอ่อน (soft power)” ของคนนอกอย่างชาญฉลาด ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว ดังที่ทุกท่านได้ฟังในตอนเช้าแล้ว กล่าวคือ ในแง่หนึ่ง แม้ว่าการยอมรับให้คนนอกเข้ามามีบทบาทนั้นจะเป็นที่ตอบรับอยู่บ้าง อีกทั้งยังเป็นสิ่งอาเซียนกำลังปรับตัวอยู่ในขณะนี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ กลับประสบกับการสงวนท่าทีและการต่อต้านอย่างมาก
 
ผมคิดว่าหากทุกท่านพิจารณาไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งได้สร้างแรงสนับสนุนเป็นอย่างดีถึงความเป็นไปได้ที่แม้แต่รัฐบาลพม่าเอง ตลอดจนพรรคการฝ่ายค้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าต่างขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ยังได้มีการเชื้อเชิญการสนับสนุนจากภายนอกเข้ามาด้วย ผมพบว่านั่นเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพื้นที่แห่งนี้ในการใช้อำนาจแบบอ่อนจากภายนอกอย่างกระตือรือร้น เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพของที่นี่ โดยให้ปลอดพ้นไปจากความภัยอันตรายที่จะเกิดจากการที่คนนอกรับเหมาทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยคนสำคัญ
 
          บทเรียนประการที่สิบ คือ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เรากำลังทำงานกันในการสร้างพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน นั่นคือเรามองเห็นความจำเป็นของการเชื่อมโยงทุกฝ่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไว้ด้วยกันภายในสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่กลาง (common space)” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งในแบบที่ต้องมีผู้แพ้-ชนะ มาสู่การสร้างความพยายามร่วมกันที่จะแก้ปัญหา[11]สิ่งนี้เป็นแนวความคิดคลาสสิกของผู้สร้างสันติภาพทุกคน ซึ่งเป็นรูปแบบของแนวทางพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในสำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน[12]
 
          มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน ท่านสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีครับ ผมหวังว่าบทเรียนในการหาทางออกจากความขัดแย้งทั่วโลกทั้งสิบประการนี้ คุณสามารถที่จะหยิบเอาแรงบันดาลใจบางส่วน แน่นอนว่ารวมไปถึงเพื่อนร่วมงานทั้ง 50 คน ที่ได้เข้าร่วมกระบวนการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนในในขณะนี้ หลายคนรู้สึกว่าตัวเองได้รับแรงบันดาลใจ และแผนของเราในอนาคตคือการพิจารณาลงไปในรายละเอียดมากขึ้นและแสวงหาเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับที่นี่ เพื่อจะตอบให้ได้ว่าเราจะสามารถประยุกต์ใช้สิ่งเหล่านี้ในความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างไร
 
          ถึงจุดนี้ ผมขอสิ้นสุดการกล่าวนำและมอบเวทีให้กับผู้อำนวยกระบวนการ และหวังว่าทุกท่านจะได้รับแรงบันดาลใจจากการพูดคุยต่อจากนี้ หรือมีการเพิ่มเติมในมุมมองจากที่ผมได้พูดไปแล้ว ขอบคุณครับ
 
 
หมายเหตุองค์ปาฐก
 
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อศัพท์เฉพาะด้านสันติภาพ
และสถานะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยกระบวนการสันติภาพ
 
โดย นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม (CSCD)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
แปลโดย เมธัส อนุวัตรอุดม
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
 
 
คำว่า “กระบวนการสันติภาพ (peace process)” เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างใหม่ที่ใช้อธิบายถึงความพยายามและกรอบเวลาที่จำเป็นต่อการยุติสงครามหรือความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงในระดับที่ใกล้เคียงกับสงครามภายในรัฐ (Ramcharan 2009) คำๆ นี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทของความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล อันเนื่องมาจากลักษณะของความขัดแย้งดังกล่าวที่ยืดเยื้อ และได้มีความพยายามทางการทูตจากหลายฝ่ายที่จะหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นลำดับขั้นตอน ก่อนหน้านี้ เวลาพูดถึงความพยายามในการแก้ไขความขัดแย้งรุนแรงที่ต้องใช้เวลานาน ผู้เกี่ยวข้องมักจะใช้คำว่า “การเจรจาสันติภาพ (peace negotiations)” แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างรัฐเป็นหลัก[13]
 
ในปัจจุบัน คำว่า “การสร้างสันติภาพ (peacebuilding / peacemaking)” “การแก้ไขความขัดแย้ง (conflict resolution)” และ “การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation)” บางครั้งก็ถูกใช้สลับกันไปกับคำว่ากระบวนการสันติภาพในกรณีที่ต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขที่ต้องใช้เวลานาน[14] อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทที่มีการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันเช่นนี้ การนำเสนอนิยามที่ชัดเจน น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้นต่อการทำความเข้าใจความหมายที่ครบถ้วนรอบด้านของกระบวนการสันติภาพ
 
กระบวนการสันติภาพ คือ ลำดับของช่วงเวลา ขั้นตอน และกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในหลายระดับ (ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเส้นทางหรือแทร็คที่ 1, 2 และ 3)[15]  ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติความรุนแรงทางการเมือง (สันติภาพเชิงลบ) และเพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน (สันติภาพเชิงบวก) 
 
สำหรับสถานะล่าสุดขององค์ความรู้ของงานวิจัยด้านกระบวนการสันติภาพนั้น ในด้านหนึ่งจะเน้นกรณีศึกษาเป็นหลัก ซึ่งจะศึกษากระบวนการสันติภาพที่ใดที่หนึ่งในภาพรวมซึ่งครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ อาจจะเขียนโดยนักวิชาการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในกระบวนการนั้นๆ ก็ได้ (เช่น Quandt 2005, Kingsbury 2006, Fischer 2007, von Einsiedel/Malone/Pradhan 2012) ในบางครั้งอาจจะเป็นการรวบรวมกรณีศึกษาต่างๆ ให้อยู่ในชุดเดียวกัน เพื่อให้เห็นมุมมองเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งชุดกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจเป็นพิเศษในแง่นี้ก็คือ Accord – an international review of peace initiatives (แอคคอร์ด – การสำรวจทบทวนการริเริ่มสร้างสันติภาพในประเทศต่างๆ)” ตีพิมพ์โดย คอนซีลีเอชัน รีซอร์สเซส (Conciliation Resources) องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน โดยโครงการศึกษานี้จะเชิญทั้งคนในและคนนอกพื้นที่มาวิเคราะห์และสะท้อนมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งสิ้น 20 แห่ง ตั้งแต่ปี 1996 – 2012  (กรุณาดูใน www.c-r.org)
 
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง จะเน้นศึกษาในเชิงประเด็นเป็นหลัก โดยงานบางชิ้นอาจจะผสมผสานทั้งสองแนวทาง กล่าวคือ เป็นการพิจารณาประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นการเฉพาะโดยอธิบายจากกรณีศึกษาต่างๆ ซึ่งมีประเด็นที่ศึกษากันอย่างโดดเด่น ดังต่อไปนี้
 
·       บทบาทของฝ่ายที่สามในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ (เช่น Crocker/Hampson/Aall 1999);
·       บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (เช่น Doyle/Sambanis 2006) และบทบาทของภาคประชาสังคม (เช่น Paffenholz 2010);
·       ข้อดีของการมีหลากกลุ่มหลายช่องทาง (multi-track) ในการสร้างสันติภาพ (เช่น Zelizer/Rubinstein 2009, Mitchell/Hancock 2012);
·       บทบาทของสื่อมวลชนและความเห็นสาธารณะ (เช่น Irwin 2002, Spencer 2008);
·       บทบาทและการทำงานของ/กับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ (เช่น Dudouet 2009,  Zartman/Faure 2011, Dudouet/Giessmann/Planta 2012);
·       ความสำคัญของปัจจัยและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (เช่น Wennmann 2011);
·       อรรถประโยชน์ของตัวแบบ (models) การแบ่งปันอำนาจในฐานะโครงสร้างที่เอื้อต่อการเกิดสันติภาพ (เช่น Ganguly 2012, Miller 2012) และ
·       การนำข้อตกลงสันติภาพไปสู่การปฏิบัติ (เช่น Stedman/Rothchild/Cousens 2002)
 
คำถามสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาในเชิงประเด็นต้องหาคำตอบคือ ถึงที่สุดแล้ว แนวทางการสร้างสันติภาพในช่วงหลังสงครามกับการก่อร่างสร้างรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น ถือเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่อย่างไร หรือเป็นคนละประเด็นที่แยกจากกันและต้องทำควบคู่กันไป ข้อถกเถียงดังกล่าว ซึ่งในแง่หนึ่งนับเป็นวาทกรรมสันติภาพแบบเสรีนิยมนี้ ได้ส่งผลต่อทิศทางการกำหนดประเด็นหัวข้อวิจัยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก (Richmond 2007, Jarstad/Sisk 2008, Ginty 2008, Paris/Sisk 2009, Richmond 2010).
 
สุดท้ายนี้ จะกล่าวถึงงานศึกษา หนังสือรวบรวมบทความ โครงการวิจัยและทฤษฎีบางส่วนที่มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพอย่างรอบด้าน ตลอดจนแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ หนึ่งในนั้นคืองานขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ไอดีอีเอ (International IDEA) (เช่น Harris/Reilly 1998) ซึ่งได้ตีพิมพ์คู่มือจำนวนหนึ่งที่พยายามอธิบายสาระสำคัญของแนวทางการสร้างสันติภาพที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีรายงานจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ รวมถึงรายงานจากโออีซีดี (OECD) เกี่ยวกับการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในที่ต่างๆ จากนานาชาติ (OECD 2012) ในส่วนของวรรณกรรมทางวิชาการที่สำคัญช่วงแรกๆ ก็จะเป็นของ Galtung 1996 และ Lederach 1997 และแนวทางการศึกษาในเชิงปริมาณโดย Walter 2002 สำหรับงานในช่วงหลังนี้ก็มีของ Dudouet 2006, Darby/Ginty 2008, Bell 2008, Toft 2010, Brewer 2010, และ Philpott/Powers 2010.
 
ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในปัจจุบันจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นคำถามที่ว่า ความพยายามในการสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ นั้นจะเสริมเติมเต็มกันได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพ ที่ประกอบไปด้วยการทำงานในหลายระดับนี้ เกิดเป็นภาพที่มองเห็นได้ชัดเจน และสามารถผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยที่ศึกษาความพยายามสร้างสันติภาพที่ครอบคลุมทุกระดับ เพื่อถอดบทเรียนร่วมจากประสบการณ์ในระดับต่างๆ เหล่านั้น จะถือเป็นงานที่มีคุณูปการอย่างยิ่ง (Anderson/Olson 2003) นอกจากนี้ นักปฏิบัติที่ใช้หลักวิชาการในการทำงานบางคนได้เน้นย้ำว่า การนำกระบวนการคิดและกำหนดยุทธศาสตร์เชิงระบบมาใช้ (Systemic thinking and strategizing) อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน (Körppen/Ropers/Giessmann 2011, Coleman 2011, Ricigliano 2012)
 
ในแง่ของการวิจัยเชิงปริมาณ จุดเน้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่การติดตามและเฝ้าระวังวิกฤตการณ์และปรากฏการณ์ความรุนแรงต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เริ่มมีแนวโน้มใหม่ที่จะติดตามและวัดผลการทำงานด้านสันติภาพและกระบวนการสันติภาพด้วยเช่นเดียวกัน งานศึกษาที่น่าประทับใจชิ้นหนึ่งคือดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) ที่จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพของกรุงซิดนีย์ (www.economicsandpeace.org) อีกงานศึกษาหนึ่ง จะเป็นการติดตามสถานะของกระบวนการสันติภาพทั่วโลกที่จัดทำโดยสำนักสันติวัฒนธรรมในกรุงบาร์เซโลนา (Escola de Cultura de Pau– ECP) ซึ่งจะตีพิมพ์รายงานกระบวนการสันติภาพประจำปี โดยริเริ่มมาตั้งแต่ปี2005รวมทั้งรายงานประจำปีเกี่ยวกับความขัดแย้ง สิทธิมนุษยชน และการสร้างสันติภาพที่มีชื่อว่า Alert 2012!”ด้วย(Escola de Cultura de Pau 2010, Yearbook on Peace Processes 2005ff, Alert 2012!, www.escolapau.uab.cat)
 
ผลการศึกษาข้อหนึ่งของทีมวิจัย ECP จากรายงาน “Alert 2012!” ปรากฏว่า ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “ความขัดแย้งที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ” จำนวน 40 แห่งของโลกในปี 2011 (โดยที่อีก 90 แห่งถูกจัดเป็นประเภทวิกฤตการณ์ทางสังคมการเมือง)[16] ความพยายามในการสร้างสันติภาพของทั้ง 40 กรณีเหล่านี้ ถูกจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่มด้วยกัน (ตัวเลขในวงเล็บหมายถึงจำนวนกรณีในแต่ละกลุ่ม)
 
1.   การเจรจาอยู่ในระดับ “ดี” (3)
2.   การเจรจาอยู่ในระดับ “มีอุปสรรคและข้อจำกัด” (16)
3.   การเจรจาอยู่ในระดับ “แย่” (7)
4.   อยู่ในช่วงสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างสันติภาพ (8)
5.   ได้รับการแก้ไขแล้ว (พิจารณาเมื่อสิ้นสุดปี) (5)
 
ในส่วนของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเภท “ช่วงสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างสันติภาพ” (Escola de Cultura de Pau 2012, 153, 163).
 
รายงานการประเมินผลประจำปี 2011 นี้ ค่อนข้างเป็นการพิจารณาในระดับปรากฏการณ์เป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการศึกษาที่ครอบคลุมระยะเวลาที่ยาวมากขึ้นอีกชิ้นหนึ่งนั้น ทางคณะทำงานของ ECP ได้ระบุว่ามีความขัดแย้งที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธจำนวน 82 กรณี ในช่วงเวลา 50 ปีระหว่างปี 1960 ถึง 2010
 
·       28 กรณี ยุติลงได้ด้วยข้อตกลงสันติภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
·       7 กรณี ยุติลงได้ด้วยชัยชนะทางทหารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
·       10 กรณี อยู่ในภาวะชะงักงัน
·       7 กรณี กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไข และ
·       30 กรณีที่เหลือ ยังไม่ได้รับการแก้ไข (Escola de Cultura de Pau 2010, 24)
 
 
บรรณานุกรม
 
พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน. 2555, 12 ธันวาคม. สนทนาชายแดนใต้/ปาตานี: บทสังเคราะห์จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ครั้งที่ 1-5). เข้าถึงเมื่อ 1 มกราคม 2556, http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/ipp_conflict_analysis_final2.pdf.
 
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. 2012.นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557.สำนักนายกรัฐมนตรี.[http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/nsc_deepsouthpolicy12-14.pdf]
 
Anderson, Mary B. and Olson, Lara. 2003. Confronting War: Critical Lessons for Peace Practitioners. Cambridge, MA: CDA Collaborative Learning Projects. [http://www.cdainc.com/cdawww/pdf/book/confrontingwar_Pdf1.pdf]
 
Azar, Edward E. 1990. The Management of Protracted Social Conflict: Theory and Cases. Hampshire: Dartmouth Publishing Company Limited.
 
Bell, Christine. 2008. On the Law of Peace: Peace Agreements and the Lex Pacificatoria. Oxford: Oxford University Press. [http://fds.oup.com/www.oup.co.uk/pdf/0-19-922684-9.pdf]
 
Berghof Foundation. 2012. Berghof Glossary on Conflict Transformation: 20 notions for theory and practice. Berlin: Berghof Foundation Operations GmbH. [http://www.berghof-foundation.org/images/uploads/glossary_2012_complete.pdf]
 
Bernshausen, Sirin and Bonacker, Thorsten. “A Constructivist Perspective on Systematic Conflict Transformation.” in Körppen, Daniela, Ropers, Norbert, and Geissmann, Hans J. (eds). 2011. The Non-Linearity of Peace Processes: Theory and Practice of Systemic Conflict Transformation. Opladen & Farmington Hills: Barbara Budrich Publishers, pp.23-38. [http://www.berghof-peacesupport.org/books/sct_book_2011_Bernshausen.pdf]
 
Brewer, John D. 2010. Peace Processes: A Sociological Approach. Cambridge: Polity Press.
 
Chaisukkosol, Chanchai. 2011. A New Social Contract: The Way out of Thailand’s  Political Trnasformation Crisis. Bangkok: Friedrich Ebert Stiftung. [http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/09280.pdf]
 
Chetail, Vincent (ed). 2009. Post-Conflict Peacebuilding: A Lexicon. Oxford: Oxford University Press.
 
Coleman, Peter T. 2011. The Five Percent: Finding Solutions to Seemingly Impossible Conflicts. New York: Public Affairs.
 
Crocker, Chester A., Hampson, Fen Osler, and Aall, Pamela. (eds). 1999. Herding Cats: Multiparty Mediation in a Complex World. Washington, D.C.: United States Institute of Peace Press.
 
Darby, John and Ginty, Roger Mac (eds). 2008. Contemporary Peacemaking: Conflict, Peace Processes and Post-war Reconstruction. Hampshire: Palgrave Macmillan.
 
Doyle, Michael W. and Sambanis, Nicolas. 2006.Making War and Building Peace: United Nations Peace Operations. Princeton and Oxford: Princeton University Press.
 
Dudouet, Veronique. 2006. Transitions from Violence to Peace: Revisiting Analysis and Intervention in Conflict Transformation. Berlin: Berghof Research Center. [http://www.berghof-conflictresearch.org/documents/publications/br15e.pdf]
 
Dudouet, Veronique. 2009. From War to Politics: Resistance/Liberation Movements in Transition. Berlin: Berghof Research Center. [http://www.berghof-peacesupport.org/publications/RLM_From_War_To_Politics_-_Resistance_-Liberation_Movements.pdf]
 
Dudouet, Veronique, Geissmann, Hans J., and Planta, Katrin. 2012. Post-War Security Transitions: Participatory Peacebuilding after Asymmetric Conflicts. London and New York: Routledge.
 
Einsiedel, Sebastian von, Malone, David M., and Pradhan, Suman (eds). 2012. Nepal in Transition: From People’s War to Fragile Peace. New York: Cambridge University Press.
 
Fairclough, Isabela and Fairclough, Norman. 2012. Political Discourse Analysis: A Method for Advanced Students. London and New York: Routledge.
 
Escola de Cultura de Pau. 2010. Ceasefire! Handbook of Peace Processes.Barcelona: Icaria. [http://escolapau.uab.cat/img/programas/procesos/manual_procesos_pazi.pdf]
 
Escola de Cultura de Pau. 2011. Yearbook on Peace Processes 2011. Barcelona:  Icaria. [http://escolapau.uab.cat/img/programas/procesos/11anuarii.pdf]
 
Escola de Cultura de Pau. et al. 2012. Alert 2012! Report on Conflicts, Human Rights and Peacebuilding. Barcelona: Icaria.
 
Fischer, Martina (ed). 2007. Peacebuilding and Civil Society in Bosnia-Herzagovina: Ten Years after Dayton. Second edition. New Brunswick and London: Transaction Publishers. [First edition, http://www.berghof-conflictresearch.org/en/dayton/]
 
Galtung, Johan. 1996. Peace by Peaceful Means: Peace and Conflicts, Development and Civilization. London, Thousand Oaks and New Delhi: Sage Publications.
 
Ganguly, Rajat (ed). 2012. Autonomy and Ethnic Conflict in South and South-East Asia. London and New York: Routledge.
 
Ginty, Roger Mac. 2008. No War, No Peace: The Rejuvenation of Stalled Peace Processes and Peace Accords. Hampshire: Palgrave Macmillan.
 
Gittings, John. 2012. The Glorious Art of Peace: From the Iliad to Iraq. Oxford: Oxford UP.
 
Glasl, Friedrich. 1999. Confronting Conflict: A First-aid Kit for Handling Conflict. Gloucestershire: Hawthorn Press.
 
Goetschel, Laurent (ed). 2011. The Politics of Peace: From Ideology to Pragmatism?Münster: LIT Publisher.
 
Harris, Peter and Reilly, Ben (ed). 1998. Democracy and Deep-Rooted Conflict: Options for Negotiators. Stockholm: Institute for Democracy and Electoral Assistance. [http://www.idea.int/publications/democracy_and_deep_rooted_conflict/upload/ddrc_full_en.pdf]
 
Hayward, Katy and O’Donnell, Catherine (eds). 2011. Political Discourse and Conflict Resolution: Debating Peace in Northern Ireland. London and New York: Routledge.
 
 
Irwin, Colin. 2002. The People’s Peace Process in Northern Ireland. California: CreateSpace.
 
Jarstad, Anna K. and Sisk, Timothy D. (eds). 2008. From War to Democracy: Dilemmas of Peacebuilding. Cambridge: Cambridge University Press.
 
Kingsbury, Damien. 2006. Peace in Aceh: A Personal Account of the Helsinki Peace Process. Jakarta, Singapore: Equinox Publishing.
 
Körppen, Daniela, Ropers, Norbert, and Geissmann, Hans J. (eds). 2011. The Non-Linearity of Peace Processes: Theory and Practice of Systemic Conflict Transformation.Opladen & Farmington Hills: Barbara Budrich Publishers. [http://www.berghof-peacesupport.org/resources/books/]
 
Kumar, Radha (ed). 2009. Negotiation Peace in Deeply Divided Societies: A Set of Simulations. New Delhi: Sage Publications India. [http://strategietcetera.files.wordpress.com/2011/09/kumar-negotiating-peace-in-deeply-divided-societies-simulations-1.pdf]
 
Lederach, John Paul. 1997. Building Peace: Sustainable Reconciliation in Divided Societies. Washington, D.C.: United States Institute of Peace Press.
 
Lederach, John Paul. “Cultivating Peace: A Practitioner’s View of Deadly Conflict and Negotiation.” Darby, John and Ginty, Roger Mac (eds). 2008. Contemporary Peacemaking: Conflict, Peace Processes and Post-war Reconstruction. Hampshire: Palgrave Macmillan, pp.36-44.
 
Miller, Michelle Ann (ed). 2012. Autonomy and Armed Separatism in South and Southeast Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
 
Mitchell, Christopher R., and Hancock, Landon E. (eds). 2012. Local Peacebuilding and National Peace: Interaction between Grassroots and Elite Processes. New York and London: Continuum International Publishing Group.
 
OECD. 2012. Improving International Support to Peace Processes: The Missing Piece, Conflict and Fragility. OECD Publishing.
 
Osgood, Charles E. 1962. An Alternative to War Or Surrender. Urbana: University of Illinois Press. [http://www.oecd.org/dac/incaf/The%20Missing%20Piece%202012.pdf]
 
Paffenholz, Thania (ed). 2010. Civil Society and Peacebuilding: A Critical Assessment. London: Lynne Rienner Publishers.
 
Paris, Roland and Sisk, Timothy D. (eds). 2009. The Dilemmas of Statebuilding: Confronting the Contradictions of Postwar Peace Operations. London and New York: Routledge.
 
Patani Forum. 2012. Negotiating a Peaceful Coexistence between the Malays of Patani and the Thai State. www.pataniforum.com. [เวอร์ชั่นภาษาไทย, http://pataniforum.com/admin/jquery/ckfinder/userfiles/files/special%20report2_4web.pdf]
 
Picard, Elizabeth and Ramsbotham, Alexander (eds). 2012. Reconciliation, Reform and Resilience: Positive Peace for Lebanon. Accord Issue 24. London: Conciliation Resources. [http://www.c-r.org/sites/c-r.org/files/Accord24_Lebanon_ENG.pdf]
 
Philpott, Daniel and Powers, Gerard F. (eds). 2010. Strategies of Peace: Transforming Conflict in a Violent World. Oxford: Oxford University Press.
 
Quandt, William. 2005. Peace Process: American Diplomacy and the Arab-Israeli Conflict since 1967. Washington, D.C.: Brooking Institution and University of California Press.
 
Ramcharan, Bertard G. “Peace Process.” in Chetail, Vincent (ed). 2009. Post-Conflict Peacebuilding: A Lexicon. Oxford: Oxford University Press, pp.228-244.
 
Ramsbotham, Oliver, Woodhouse, Tom and Miall, Hugh. 2011. Contemporary Conflict Resolution (Third Edition). Cambridge: Polity Press.
 
Richmond, Oliver P. 2007. The Transformation of Peace.Hampshire: Palgrave Macmillan.
 
Richmond, Oliver P (ed). 2010. Palgrave Advances in Peacebuilding: Critical Developments and Approaches. London: Palgrave Macmillan.
 
Ricigliano, Robert. 2012. Making Peace Last: A Toolbox for Sustainable Peacebuilding. Boulder and London: Paradigm Publishers.
 
Saxer, Marc. 2012. How can Thailand overcome its transformation crisis?: A Strategy for Democratic Change. Bangkok: Friedrich Ebert Stiftung. [http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/09496-20121217.pdf]
 
Spencer, Graham. 2008. The Media and Peace: From Vietnam to the ‘War on Terror’.Houndsmills: Palgrave Macmillan.
 
Stedman, Stephan John, Rothchild, Donald, and Cousens, Elizabeth M. 2002. Ending Civil Wars: The Implementation of Peace Agreements. London: Lynne Rienner Publishers.
 
Toft, Monica Duffy. 2010. Securing the Peace: the Durable Settlement of Civil Wars. Princeton and Oxford: Princeton University Press.
 
Walter, Barbara F. 2002. Committing to Peace: The Successful Settlement of Civil Wars. Princeton and Oxford: Princeton University Press.
 
Wennmann, Achim. 2011. The Political Economy of Peacemaking. London and New York: Routledge.
 
Wolff, Stefan. 2006. Ethnic Conflict: A Global Perspective. Oxford: Oxford University Press.
 
Zartman, William I. “The Timing of Peace Initiatives: Hurting Stalemates and Ripe Moments.” Darby, John and Ginty, Roger Mac (eds). 2008. Contemporary Peacemaking: Conflict, Peace Processes and Post-war Reconstruction. Hampshire: Palgrave Macmillan, pp.22-35.
 
Zartman, William I. and Faure, Guy Olivier (eds). 2011. Engaging Extremists: Trade-offs, Timing, and Diplomacy. Washington, D.C.: United States Institute of Peace.
 
Zelizer, Craig and Rubinstein, Robert A. (eds). 2009. Building Peace: Practical Reflections from the Field. Virginia: Kumarian Press.


[1] ได้แก่ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) แห่ง ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ม.ธรรมศาสตร์, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
[2] กรุณาดูรายละเอียดของรายงานการวิเคราะห์ความขัดแย้งผ่านกระบวนการดังกล่าว (ร่างที่สอง) ที่ พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (2555) หรือกรุณาดูที่ http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/ipp_conflict_analysis_final2.pdf.
 
[3] ประเด็นนี้ได้รับการกล่าวถึงโดยทั่วไปในแนวทางศึกษาการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งในกรอบทฤษฎีที่สร้างความรู้จากการปฏิบัติหรือคอนสตรัคติวิสต์ (Bernshausen and Bonacker 2011) และในการวิเคราะห์วาทกรรมทางการเมือง (Fairclough/Fairclough 2012) ในขณะที่จากมุมมองในทางประวัติศาสตร์และปรัชญา เราสามารถจะพิจารณาได้ว่าวิธีที่ความรุนแรง สงคราม หรือสันติภาพ ถูกกำหนดกรอบการมองให้เห็นเป็นเรื่อง “ปกติ” นั้น ส่งผลอย่างถึงรากต่อวิธีที่ผู้คนจะคิดถึงสิ่งเหล่านี้ในสังคมการเมืองหรือรัฐนั้นๆ (Gittings 2012).
 
[4] เมื่อความขัดแย้งยิ่งมีอยู่นานวันเข้า ดูเหมือนว่าฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าจะเป็นผู้นิยามความรุนแรงของฝ่ายตรงกันข้าม (บ่อยครั้งจะหมายถึงกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ) ว่าเป็นปัญหาหลัก ในขณะที่รากเหง้าของความขัดแย้งที่อยู่ลึกลงไปกว่านั้นกลับถูกทำให้เป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ว่าจะเป็นการไร้ซึ่งความเสมอภาค การยอมรับ ศักดิ์ศรี ความยุติธรรมหรือความชอบธรรม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยถูกกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ในวาทกรรมที่ว่าด้วยความขัดแย้งทางสังคมที่ยืดเยื้อเรื้อรัง (Azar 1990, Wolff 2006, Ramsbotham/Woodhouse/Miall 2011).
 
[5] พิจารณาจากมุมมองของสำนักคิดสัจนิยมทางการเมือง กระบวนการสันติภาพนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหลังจากความขัดแย้งได้บรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะจนมุมที่เป็นผลจากต่างฝ่ายต่างห้ำหั่นต่อกัน” แล้วเท่านั้น (Zartman 2008)
 
[6] ในกรณีชายแดนใต้ของประเทศไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสภาวะจนมุมที่เป็นผลจากต่างฝ่ายต่างห้ำหั่นต่อกัน ทว่าระดับของความไม่สงบและความรุนแรงในภาคใต้กำลังสร้างความอึดอัดลำบากใจให้กับทั้งประเทศ โดยเฉพาะการที่กำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่เงื่อนไขนี้ก็สร้างพื้นที่สำหรับนักการเมืองผู้มีวิสัยทัศน์ ข้าราชการ นักวิชาการ ผู้นำทางธุรกิจ และนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในการล็อบบี้เพื่อก่อให้เกิดทางออกสู่สันติภาพอย่างสร้างสรรค์ แนวคิดดังกล่าวนี้ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับล่าสุดที่เกี่ยวกับวิกฤตชายแดนใต้ของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ICG 2012, ii)
 
[7] แนวทางดังกล่าวนี้มาจากนักจิตวิทยาคนสำคัญนามว่า ชาร์ลส์ ออสกู๊ด ซึ่งได้พัฒนาแนวคิดเป็น “การต่างตอบสนองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการลดความตึงเครียด (Graduated Reciprocation in Tension-reduction)” (GRIT, Osgood 1962) ซึ่งมีส่วนช่วยให้สงครามเย็นในภาวะที่มีความตึงเครียดสูงไม่ขยายตัวบานปลาย
 
[8] หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการทำให้แน่ใจได้ว่าความพยายามเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้นั้นจะไม่หยุดชะงักง่ายๆ อันเนื่องมาจากว่าถูกรับรู้ว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในเมืองหลวง หนึ่งในความเป็นได้ที่ว่านี้คือการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ข้อตกลงร่วมกันในระดับชาติ” ระหว่างพวกเขา ทั้งนี้ เพื่อให้ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ไม่ได้กลายเป็นเรื่องของการแข่งขัน แง่มุมดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในข้อเสนอหลักซึ่งได้รับการกล่าวถึงในรายงานของ ICG ด้วยเช่นกัน (2012, ii)
 
[9] เครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมโยงทั้งสันติภาพเชิงลบและเชิงบวกเข้าไว้ด้วยกันคือการพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า “แผนที่เดินทางเพื่อสันติภาพ” ในแง่นี้ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (2555) จึงเป็นเอกสารที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเน้นไปการเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพเชิงลบและเชิงบวกอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุนี้ นโยบายดังกล่าวจึงควรได้รับการแปรไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่
 
[10] แม้ว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะสะท้อนเสียงของตนเองออกมา แต่ทว่าปัญหาคือพวกเขามักจะแตกแยกกัน ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและยึดอยู่กับวิธีคิดด้านความมั่นคงได้สร้าง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ขึ้นมา ดังนั้น กระบวนการสันติภาพจึงต้องการผลกำไรที่แบ่งปันให้กับทุกฝ่าย และยังต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้นำและมวลชนของพวกเขา (Irwin 2002, Spencer 2008)
 
[11] แนวทางดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นวิธีการที่แพร่หลายในฐานะที่เป็นกลไกที่หนุนเสริม “การสนทนาระดับชาติ” เช่น ในโลกอาหรับ ดังในกรณีเลบานอนกับแนวทางสร้าง “พื้นที่กลาง” (www.commonspaceinitiative.org) นอกจากนี้ ยังถูกถกเถียงเพิ่มมากขึ้นในฐานะเครื่องมือที่จะสร้างข้อตกลงร่วมกันในระดับชาติสำหรับสังคมที่มีความแตกแยกร้าวลึกจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังในกรณีของความขัดแย้งเหลือง-แดงในประเทศไทย (Chaisukkosol 2011, Saxer 2012)
 
[12] เพื่อที่จะหนุนเสริมให้กระบวนการสันติภาพปาตานี (pa[t]tani) มีประสิทธิภาพ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Center) ที่มีสำนักงานทั้งที่ชายแดนภาคใต้และในกรุงเทพ นอกจากจะเป็นฐานในการแสวงหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพที่มีประสิทธิภาพและการประเมินความก้าวหน้าของสันติภาพในพื้นที่แล้ว ศูนย์ดังกล่าวควรต้องมีพื้นที่กลางสำหรับให้พลเมืองที่สนใจจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย เพื่อทำให้เกิดบทสนทนาซึ่งเกี่ยวข้องกับชายแดนใต้/ปาตานีที่สงบสุขและมีพลัง
 
[13] กำเนิดของการเจรจาสันติภาพชนิดนี้ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดมาจากสิ่งที่เรียกขานกันว่า “สันติภาพแห่งเวสฟาเลีย” ในปี ค.ศ.1648 หลังสงครามสามสิบปีในยุโรปกลาง ซึ่งได้สถาปนาระบบรัฐประชาชาติที่มีองค์อธิปัตย์สมัยใหม่ การเจรจาดังกล่าวบรรลุข้อตกลงโดยใช้เวลาถึงสามปี
 
[14] คำศัพท์สำคัญเกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้งบางส่วนนั้นได้รับการอธิบายขยายความไว้ใน Chetail (2009) และ Berghof Foundation (2012)
 
[15] กรอบการมองกระบวนการสันติภาพที่แบ่งออกเป็น 3 แทร็ค พัฒนามาจากแนวคิดของ Lederach (1997) โดยแทร็ค 1 คือ เส้นทางที่เน้นบทบาทของผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางของฝ่ายที่ขัดแย้งหลัก แทร็ค 2 คือเน้นบทบาทของกลุ่มหรือองค์กรประชาสังคม ส่วนแทร็ค 3 คือกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการในระดับชุมชนรากหญ้า
 
[16] นิยามที่ใช้อธิบายความขัดแย้งที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธในรายงานฉบับนี้ คือ การเผชิญหน้าทางการเมืองที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันอย่างน้อย 100 คนขึ้นไป ดูรายละเอียดการอธิบายความหมายเพิ่มเติมได้ที่ Escola de Cultura de Pau 2012, 29 ในส่วนการให้ความหมายของวิกฤตการณ์ทางสังคมการเมือง โปรดดู Escola de Cultura de Pau 2012, 81