ผมเห็นว่าในเวลานี้ยังมีความสับสนเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเริ่มต้นอยู่ไม่น้อย และยังมีคำถามมากมาย ฉะนั้น ในที่นี่ผมขอนำเสนอความคิดเห็นตามข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือครับ
๑. การเจรจา (negotiation) ซึ่งทั้งสองฝ่ายพิจารณาเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ยังไม่เริ่มต้น นั่นคือขั้นตอนที่จะมาหลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะทำการเจรจา ตอนนี้กระบวนการสันติภาพยังอยู่ในระดับการพูดคุย (dialogue) และเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของการพูดคุยนั้นคือการสร้างความไว้วางใจระหว่างสองฝ่าย สำหรับตอนนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดที่ยื่นเงื่อนไขใดๆ “ข้อเรียกร้อง 9 ข้อ” ที่สื่อบางสื่อ (รวมถึงสื่อมาเลเซีย) อ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของฝ่าย บี.อาร์.เอ็น นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรดังกล่าว (ท่านลองสังเกตข่าวที่รายงานเรื่องนี้บ้างครับ ไม่มีฝ่ายใดที่ระบุที่มาเลยครับ)
๒. ยังมีหลายฝ่ายที่ตั้งคำถามที่ว่า คนที่เข้ามาในการพูดคุยนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ ในปัจจุบันนี้ ฝ่ายที่ถามคำถามนี้คือฝ่ายที่ไม่อยากจะให้กระบวนการสันติภาพมีความคืบหน้า (โดยเฉพาะสื่อที่มีฝ่ายค้านเป็นเจ้าของ) ผมขอยืินยันว่า คนที่เข้ามาเป็นตัวจริง
๓. บางคนอ้างว่า คนที่เข้าร่วมการพูดคุยนั้นไม่มีอิทธิพลในองค์กร และไม่สามารถควบคุมนักรบในพื้นที่ ข้อคิดเห็นแบบนี้ ผมคิดว่าคงจะมาจากคนที่ไม่เข้าใจกระบวนการพูดคุย กลุ่มตัวแทนที่นำโดย อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ เป็นฝ่ายที่ได้รับมอบหน้าที่จากองค์กรเป็นตัวแทน เช่นเดียวกันกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หรือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แล้วทำไมเราไม่ถามว่า นายภราดรหรือนายทวี สามารถควบคุมนายทหารในกองทัพได้หรือเปล่า แน่นอนว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของทั้งสองคนนี้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลจะออกคำสั่งแก่กองทัพ โครงสร้างของ บี.อาร์.เอ็น. ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการตกลง อุสตาซฮัสซัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำสูงสุดในองค์กร จะนำเรื่องนี้ไปสู่ Dewan Pimpinan Partai (สภาแกนนำแห่งพรรค, DPP) และคำสั่งต่อนักต่อสู้ในพื้นที่จะออกจากสภาแห่งนี้ ไม่ใช่ออกจากตัวอุสตาซฮัสซัน การที่อุสตาซฮัสซันไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาทหารนั้น เหมือนกับการที่นายภราดรหรือนายทวีก็ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาทหาร
๔. เนื่องจากยังมีองค์กรหลายองค์กรที่ไม่เข้าร่วมการพูดคุยที่ผ่านมา จึงมีข้อสงสัยว่า ฝ่าย บี (ตัวแทนของคนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากรัฐ) ขาดเอกภาพ และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ นี่คือความคิดเห็นจากฝ่ายที่ไม่มีข้อมูล (ไม่สามารถหาข้อมูลจากฝ่าย บี) การที่หลายองค์กรไม่เข้าร่วมนั้นไม่ได้หมายความว่าองค์กรเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ แต่ยังไม่ถึงเวลา ตามแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือหรือนักข่าวที่ขยันหาข้อมูล องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว
๕. การที่มีข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือหรือเป็นเท็จนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายๆ อย่าง ขอระบุสาเหตุบางสาเหตุ
- คนเขียนข่าวไม่สามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องได้ ซึ่งเป็นปัญหาของสำนักข่าวจากไทยหรือตะวัอออกส่วนใหญ่
- มีบางฝ่ายที่ไม่อยากให้กระบวนการสันติภาพมีความคืบหน้า (peace spoiler) จึงตั้งข้อสงสัยตลอด และไม่ยอมรับความเป็นจริง หรือแม้แต่กระจายข่าวที่ไม่มีแหล่งข่าวใดๆ (เป็นข่าวลือมากกว่า)
- ขาดความเป็นมืออาชีพ