Skip to main content

โดย : Abdulloh WanAhmad

 เพียงเธอไม่เข้าใจในภาษาของแม่ข้า

เพียงเธอไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของพ่อข้า

เพียงเท่านี้ข้าก็เป็นขบถในสายตาเธอเสียแล้ว

 

อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมระหว่างคนมลายูปาตานีกับสังคมส่วนกลาง ที่มักจะตกเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งมาโดยตลอด โดยที่ถูกเพ่งเล็งด้วยสายตาที่หวาดระแวง ถึงแม้ว่าประเด็นทางด้านความเชื่อ ภาษา และวัฒนธรรม จะไม่เคยก่อความเสียหายต่อสังคมโดยรวมเหมือนอย่างการใช้อาวุธต่อสู้ประหัตประหารกัน แต่ทว่านับจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เกือบทุกกรณีที่เรื่องวัฒนธรรมกลายเป็นสาเหตุจุดชนวนของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นเหมือนดั่งน้ำผึ้งหยดเดียว

ในทางประวัติศาสตร์สังคมปาตานีมักถูกลิดรอนสิทธิโดยเจ้าผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัยตามแต่บริบทและวิธีการ แต่โดยภาพรวมแล้ว นโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของภาครัฐที่เคยรณรงค์กันมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มันเป็นการครอบงำและกลืนกินวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยภายในประเทศมากกว่าที่จะส่งเสริมสนับสนุนในการค้ำจุณมรดกของชาติอย่างที่ควรจะเป็น

หลายต่อหลายครั้งที่เรื่องความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ได้กลายเป็นความรุนแรงที่สะสมขึ้นมาอย่างเงียบๆ ภายใต้สถานการณ์ความไม่เข้าใจของภาครัฐ ยิ่งถูกกดทับมากเท่าไหร่ความรู้สึกอึดอัดก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นมากเท่านั้น

ปฏิเสธมิได้เลยว่า ชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ในประเทศไทย ล้วนต้องการรักษาไว้ซึ่งตัวตนของตัวเอง ที่เป็นเสมือนสายเลือดและลมหายใจของบรรพบุรุษตนเอง หากกลุ่มชนไหนหรือชาติพันธุ์ใดไร้ซึ่งความห่วงแหนในอัตลักษณ์ของตนเองแล้ว แสดงว่ากลุ่มชนนั้นได้ลืมรากเหง้าของตนเองไปแล้ว

ไม่ว่าจะโดยเหตุใดก็ตามที่ทำให้รากเหง้าของพวกเขาต้องมลายสิ้น กลุ่มชนนั้นจะไร้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีในความเป็นตัวตนที่บรรพบุรุษเคยปกป้องรักษาไว้ในอดีต

สังคมมลายูปาตานีก็เช่นกัน ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานมาก เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อดินแดนแห่งนี้ ทั้งระบอบการปกครองตลอดจนความเป็นอยู่และวิถีชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยถากรรม แต่โดยนัยยะทางการเมืองแล้ว สังคมปาตานีมิปรารถนาที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินวิถีของตนไปในหนทางที่ไม่ควรจะเป็น แต่ด้วยแรงกดทับที่ไม่สามารถป่าวร้องเพื่อใช้สิทธิของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นในเชิงการเมือง ได้ทำให้สถานการณ์ความเงียบภายใต้ความกดดันแห่งจิตใต้สำนึกกลับกลายเป็นเชื้อที่คอยบ่มเพาะภายในความคิด อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการแห่งยุคสมัย Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;
mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:
minor-bidi">

ความแตกต่างระหว่างสังคมปาตานีกับส่วนกลาง ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจตลอดมา และสุดท้ายก็นำมาซึ่งความไม่ลงรอยกันในทางความคิด อันเป็นมโนทัศน์ที่ไม่สามารถแตะต้องได้ แต่กลับรู้สึกได้

สังคมมลายูปาตานีค่อนข้างมีความแตกต่างกับส่วนกลางกันอย่างชัดเจน บวกกับประวัติศาสตร์ที่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลา ยิ่งนับวันความจริงแห่งอดีตก็จะยิ่งปรากฏอย่างเด่นชัด ยิ่งความจริงเริมเด่นชัด ยิ่งทำให้ความแตกต่างที่มีอยู่เดิมกลับกลายเป็นเชื้อไฟที่สุกงอมที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อเมื่อมีโอกาสและจังหวะ