Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

ปฏิกิริยาทางความคิดต่อ “รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี” ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนำเสนอในเวทีวิชาการ “การเมืองต้องนำการทหาร” เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :-

 

 

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

          ก่อนอื่นผมขอทำความชัดเจนคือ ผมเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ลงไปก็อยากจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ามี ก็จะเป็นเรื่องไอเดีย ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติงาน ผมคิดว่าคนที่เป็นนักวิชาการ นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วไปวิจารณ์คนที่ไปตายในสนามรบนั้น ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรม

          ผมมี 4 เรื่องที่อยากจะพูดสั้นๆ โดยพูดจากรายงานที่อ่าน ประเด็นที่ 1 คือปัญหาใจกลางของความไม่สงบ รายงานของนักศึกษาฉบับนี้กล่าวถึงปัญหาใจกลางว่าเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน การจัดการกับปัญหาใจกลางนี้ที่ผมว่าดีที่สุดคือตัวแบบของอิสราเอล สิ่งที่อิสราเอลทำในการต่อสู้กับขบวนการที่เขาสู้ด้วยไม่ว่าจะเป็นฮามาสหรือ PLO ก็ตามนั้น คือการกันไม่ให้นักกิจกรรม (Activists) เปลี่ยนเป็นนักรณรงค์ (Militants) และไม่ให้นักรณรงค์กลายเป็นผู้ก่อการร้าย จะเห็นว่ามันมี 3 ขั้น สำหรับนักรณรงค์ ฟังดูอาจดุเดือดหน่อยแต่ก็ยังไม่ใช้ความรุนแรง สุดท้ายจึงจะเป็นผู้ก่อการร้าย วิธีที่สร้างผู้ก่อการร้ายที่ดีที่สุด คือวิธีที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาทั้งหมด ตัวอย่างที่ดีคือเลบานอน พออิสราเอลบุกเสร็จ ผู้ก่อการร้ายก็เต็มเลย นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่าการเมืองกับการทหาร

          ประเด็นที่ 2 คือรากเหง้าของปัญหา รายงานนี้ชี้ว่ามี 3 เรื่องคือความไม่เข้าใจ ประวัติศาสตร์บาดแผล และโครงสร้าง เหล่านี้คือตัวแปร พูดอย่างนักวิชาการคือต้องตั้งคำถามว่าตัวแปรเหล่านี้ 1) น้ำหนักเท่ากันหรือไม่ 2) สัมพันธ์กันอย่างไร และ 3) อะไรลึกกว่า อะไรเบากว่า อะไรจัดการง่ายกว่า และอะไรจัดการยากกว่า เช่น การเปลี่ยนกฎหมายอาจจะง่ายกว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมของผู้คน โจทย์นี้จะน้ำหนักไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเวลาคิดตัวแปร คนที่ออกแบบยุทธศาสตร์จะต้องวางน้ำหนักให้ได้ อะไรหนักอะไรเบาเท่าไหร่ มิเช่นนั้นจะวางยุทธศาสตร์ไม่ได้

          ประเด็นที่ 3 คือโจทย์สำคัญที่รายงานนี้พูดมีสองคำ คือการมีส่วนร่วมและความหลากหลายทางวัฒนธรรม คำถามที่ผมรู้สึกคือปัญหาใหญ่ที่ตอนนี้พบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระยะยาวสี่ห้าปีนั้น ผลกระทบที่มันเกิดคือการทำลายสถาบันที่ตั้งอยู่ ทำให้สถาบันลดความชอบธรรมที่มีอยู่ลงไป เช่น ยกตัวอย่างกรณีตากใบที่ศาลตัดสินว่าคนตาย ตายเพราะขาดอากาศหายใจ จริงอยู่ที่ศาลท่านตัดสินไปแล้ว แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านนั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นความยุติธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ ทำอย่างไรจึงจะสถาปนาความยุติธรรมและเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นได้

          การยิงที่มัสยิดอัลฟุรกอนและฆ่าพระในสองวันถัดมา เหตุการณ์เหล่านี้ที่จะต้องจัดการให้ได้คือตกลงใครทำ เวลาเราอธิบายเรื่องเหล่านี้ เราไม่ได้สู้กับข้อมูล เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปบอกคนมุสลิม และให้คนมุสลิมเชื่อว่าคนที่บุกเข้าไปในมัสยิดและยิงเขาในขณะละหมาดเป็นมุสลิม ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอะไร ในทำนองเดียวกันเป็นการยากมากที่จะบอกว่าคนที่สังหารพระภิกษุนั้นเป็นคนพุทธ ไม่มีใครเชื่อครับ

          เรากำลังต่อสู้กับเรื่องเล่าซึ่งทรงพลังมหาศาลในความคิดของคน ไม่ใช่ข้อมูล ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีข้อมูลเท่าไหร่ ถ้าไปสู้กับเรื่องลักษณะนี้ก็จะแพ้ตลอด ถ้าความจริงไม่ปรากฏ แผลพวกนี้จะไม่หาย จะมียุทธศาสตร์อะไรแก้ปัญหาก็คงจะไม่ง่าย ซึ่งพันกับเรื่องของการมีส่วนร่วม คุณจะให้เขามีส่วนร่วมได้อย่างไรในความเป็นจริงที่เป็นเช่นนี้

          โจทย์ที่สองคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราพูดกันบ่อยให้ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ยอมรับแปลว่าอะไร นโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติปี 42 อธิบายว่ายอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในฐานะพลังของประเทศนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมองว่าความแตกต่างในสังคมไทย ความแตกต่าง กระทั่งความขัดแย้งเป็นพลังในสังคมนี้ ไม่เหมือนกันนะครับ การมองว่าความหลากหลายเป็นปัญหาก็อย่างหนึ่ง มองว่าเป็นพลังก็อย่างหนึ่ง ทำให้ยากกว่านั้นได้หรือไม่ คือมองว่าความหลากหลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลังของสังคมไทย มองได้หรือไม่

          และที่ยากกว่านั้นอีกคือมองได้ไหมว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นโครงการทางการเมืองอย่างหนึ่งของประเทศนี้ที่จำเป็นจะต้องมีในสภาพความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น (Cultural Diversity as Political Project) คิดได้ไหม ผมว่าเรื่องแบบนี้มันคือปัญหา ไม่ใช่แค่ท่องว่าความหลากหลายหรือการมีส่วนร่วมเท่านั้นคงไม่พอในสถานการณ์เช่นนี้

          ประเด็นที่ 4 คือกรอบคิดที่รายงานฉบับนี้ใช้ ซึ่งผมไม่ขอลงไปใน 7 ยุทธศาสตร์เพราะหลายท่านได้พูดไปแล้ว เรื่องการเมืองนำการทหาร ผมมีสมมติฐานคือชัยชนะทางทหารไม่ใช่จุดสุดท้ายที่หวัง ชัยชนะทางทหารไม่ใช่เป้าหมายของรัฐไทย ชัยชนะที่ปรารถนาของรัฐไทยคือชัยชนะทางการเมือง หากยอมรับตรงนี้ได้ ก็ต้องยอมรับต่อไปว่าการทหารเป็นเครื่องมือของเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ที่ผมจะตั้ง แต่อาจไม่มีคำตอบมี 5 ข้อ คือ

          ข้อแรก ฝ่ายทหารใช้การเมืองนำการทหารได้หรือไม่?

          ข้อที่สอง ขบวนการโจรก่อการร้ายใช้การเมืองนำการทหารได้หรือไม่? ถ้าคำตอบคือได้ คำถามที่น่าสนใจคือคุณจะสู้กับสงครามแบบนั้นอย่างไร ตัวอย่างเช่น IRA พูโล หรือกลุ่มคนบางกลุ่มที่บางคนไปคุยด้วยก็ใช้การเมืองนำการทหาร แต่อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนที่ใช้การทหารอยู่ในพื้นที่

          ข้อที่สาม เราเอาการเมืองวางคู่กับการทหารได้หรือไม่? ถ้าวางคู่ตามที่ท่านนายตำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่างกันนะครับ นำกับวางคู่ เพราะแต่ละอย่างมีตรรกะและวิธีการไม่เหมือนกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าพอทำอย่างหนึ่งเกิดผลอย่างหนึ่ง แล้วขัดกันเอง ทหารบางท่านเข้าใจว่าสันติวิธีส่วนหนึ่งคือปฏิบัติการจิตวิทยา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่สันติวิธีในความหมายนี้เลย ปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นการรบในอีกลักษณะหนึ่ง แต่สันติวิธีนั้นอยู่บนฐานคิดที่ว่าคนเหล่านี้เป็นพวกเรา เป็นเพื่อนเรา เป็นมิตรของเรา เป็นประชาชนในรัฐเดียวกัน ไม่ใช่เป็นฝ่ายอื่นที่จะถูกเปลี่ยน หากแต่เป็นฝ่ายเห็นต่างที่จะถูกเคารพมากกว่า แต่ทำอย่างไรที่จะไม่ตีกัน ทำอย่างไรจึงจะอยู่ด้วยกัน

          ข้อที่สี่ การเมืองชนะ – การทหารแพ้ เป็นไปได้หรือไม่? การทหารชนะ – การเมืองแพ้เป็นไปได้ไหม? วันที่ 28 เมษายน 2547 วันต่อมาหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าผู้ก่อการ 106 คนเสียชีวิต ตัวอย่างนี้สำหรับผม นี่คือการทหารชนะ แต่การเมืองไม่แน่ว่าจะชนะ สิ่งที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง

          ข้อที่ห้า สนามรบของการทหารกับสนามรบของการเมืองต่างกันอย่างไร? ผมคิดว่าสนามรบของทหารอยู่ที่ร่างกาย ตัวคน ภูมิศาสตร์ หรือสำหรับตำรวจ คือการสร้างความสงบสุข – สงบอย่างไร – ไม่ให้มีอาชญากรรม – จัดการกับอาชญากรรมอย่างไร – ไม่ให้มีอาชญากร มันเป็นตรรกะของมัน แต่สนามรบทางการเมืองไม่ใช่

          ถ้าเป็นอย่างนี้ การเมืองกับการทหารไม่เหมือนกัน แล้วเวลาเอาอย่างหนึ่งมาวางคู่กับอีกอย่างหนึ่งโดยไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่เข้าใจว่าในที่สุดการเมืองจะนำไปสู่อะไร ผมคิดว่ารังแต่จะทำให้ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศนี้วุ่นวายและมีปัญหามาก สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องนั่งลงคิด ไม่ใช่สักแต่พูดว่าการเมืองนำการทหาร แค่นั้นไม่พอ ต้องมาดูว่าหมายความว่าอะไรในปฏิบัติการที่เป็นจริง

          งานวิจัยของดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) ที่เขียนหนังสือชื่อ Tearing Apart the Land - ฉีกแผ่นดินให้ขาด พิมพ์โดยสำนักพิมพ์คอร์แนล ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้บอกว่าการที่ภาครัฐจะอาศัยความร่วมมือจากผู้นำในท้องถิ่นนั้นหมดไปแล้ว เพราะผู้นำในท้องถิ่นถูกตัดขาดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งหมด ถ้าเขาถูก สิ่งที่เรากำลังคิดนี้ไปผิดทางเยอะเลย

          สำหรับ Peace Talks นั้น นอกจากจะต้องคุยกับอีกหลายฝ่ายแล้ว ที่สำคัญก็คือชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งเวลานี้ผมคิดว่าเขามีปัญหาและเดือดร้อน คนจำนวนหนึ่งก็จับให้คนอีกพวกหนึ่งติดอาวุธ พอเป็นอย่างนี้ก็เดือดร้อนเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการ จะทำอะไรก็อึดอัดไปหมด ตรงนี้จะทำอย่างไร โจทย์แบบนี้ ถ้าจะทำการเมืองนำการทหาร ต้องเผชิญกับมันอย่างที่เป็นจริงและหาทางออกด้วยกัน

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCC)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

          ความคิดรวบยอดของการเมืองนำการทหารมีที่มาที่ไปซึ่งถ่ายทอดมาจากแนวคิดการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือคำสั่ง 66/23 ที่เป็นบทเรียนที่ได้มาในช่วงนั้น และถูกส่งผ่านมาสู่การต่อสู้กับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน แต่ก็พบว่า ชุดความคิดที่จะมาต่อสู้กับปัญหาภาคใต้นี้ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรคือการเมืองนำการทหาร ทำให้เกิดความสับสนในวิธีปฏิบัติหลายอย่างตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุด แม้ขณะนี้เองภาครัฐก็พูดถึงประเด็นการเมืองนำการทหารโดยเน้นเรื่องของการพัฒนา คือมองว่าหากมีโครงการพัฒนา มีการทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้

          หากจะให้น้ำหนักประเด็นปัญหาอย่างที่อาจารย์ชัยวัฒน์กล่าวไว้ ผมคิดว่าในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ คือชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดกั้น เป็นปัญหาที่กระทบความรู้สึกและจิตใจคน ดังนั้น ถ้าเราจะต่อสู้ทางความคิด ก็น่าจะดึงออกมาจากปัญหาใจกลางที่เราพูดถึงกันคือประเด็นชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ อันนำมาสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน เพื่ออิสรภาพ เพื่อสิทธิต่างๆ ของคนในพื้นที่ โดยจุดเชื่อมโยงที่จะไปสู่การขยายตัวของการต่อสู้คือประเด็นเรื่องความยุติธรรม ซึ่งเกี่ยวพันกับความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากการจัดการของรัฐที่ไม่ถูกต้อง

          เราต้องสร้างชุดความคิดที่เป็นระบบว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์อันเป็นประเด็นใจกลาง โดยชุดความคิดนี้ต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หรือแผนงานของภาครัฐให้ชัดเจน หากตรงนี้ไม่ชัดเจน ปัญหาก็จะไม่จบ และเกิดเป็นเงื่อนไขใหม่เรื่อยไป

          ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ตั้งสำนักคิดของกองทัพ ประกอบไปด้วยฝ่ายความมั่นคงและนักวิชาการ นักคิดร่วมกันทำงาน เนื่องจากการทำงานด้านความคิดนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องตีประเด็นให้แตก และนำมาจัดระบบความคิดที่ดีขึ้น

          อีกประเด็นคือ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความไว้วางใจตำรวจและทหารในพื้นที่ต่ำมาก ซึ่งแม้จะทำการสำรวจหลายครั้ง ผลที่ได้ก็ยังคงต่ำอยู่เช่นเดิม จึงต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะเอาชนะใจประชาชนได้ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับงานความคิดงานการเมือง คือเป้าหมายสุดท้ายก็ต้องการให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยไม่ระแวง ก็มีเท่านี้ หากแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็คงจะแก้ประเด็นอื่นๆ ที่ตามมาไม่ได้