ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี |
‘แวหะมะ แวกือจิก’: เสียงที่ไม่หลั่งเลือด พื้นที่สันติภาพของ ‘Media Selatan’
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)สัมภาษณ์พิเศษ 'แวหะมะ แวกือจิก' ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน สื่อวิทยุชุมชนชื่อดังในชายแดนใต้ เจ้าของรายการโลกวันนี้ กับบทบาทการสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพที่ฟาฏอนีย์
ในความพยายามสร้างสันติภาพที่ฟาฏอนีย์ มีรายการวิทยุในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่กล้าเปิดข้อมูลเชิงลึกและให้คนแสดงความเห็นผ่านรายการได้ หนึ่งในนั่นคือรายการ “โลกวันนี้” (Dunia Hari Ini) ของ “สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน” หรือ “มีเดียสลาตัน” ที่ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของสงขลา ในเวลา 2 ทุ่มทุกวันจันทร์ถึงศุกร์
หากจัดรายการแบบนี้ก่อนหน้านี้ อาจถูกมองว่าจะกระทบกับความมั่นคงของชาติได้ แต่ตอนนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะอะไร นายแวหะมะ แวกือจิก ผู้อำนวยการมีเดียสลาตันจะอธิบายเรื่องนี้ ดังนี้
DSJ: รายการโลกวันนี้ เป็นรายการลักษณะไหนและสำคัญอย่างไร?
นายแวหามะ: ทุกรายการของสถานีมีความสำคัญทั้งหมด รวมทั้งเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่มีรายการเฉพาะในเรื่องนี้ คือรายการโลกวันนี้ โดยเรายึดแนวคิดที่ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม และสะท้อนความต้องการที่แท้จริง เราทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางให้ประชาชนมาพูดคุยเรื่องสันติภาพ
รายการ Dunia Hari Ini เริ่มออกอากาศวันที่ 1 มีนาคม 2556 หลังจากการลงนามการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556
เหตุที่จัดรายการนี้ขึ้นมา เนื่องจากการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว มีเพียงฝ่ายรัฐไทย (Party A) กับบีอาร์เอ็น (Party B) เท่านั้น แต่ที่จริงในกระบวนการการพูดคุยสันติภาพนั้น คนที่สำคัญมากที่สุดคือประชาชน (Party C)
ดังนั้นผมจึงทำรายการนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว ทำให้เป็นรายการที่ประชาชนสนใจมาก
ช่วงแรกๆ ผมดำเนินรายการคนเดียว ต่อมามีคุณอัสโตรา โต๊ะราแม อดีตนักข่าวและคอลัมนิสต์ในประเทศมาเลเซีย มีความสัมพันธ์กับคนมาเลเซียอย่างดี มาเป็นผู้ดำเนินรายการคู่กับผม บางครั้งมีการเชิญคนอื่นมาร่วมรายการด้วย
ในช่วงแรกๆ มีข้อผิดพลาดบ้าง เพราะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมที่นี่ เราจึงพยายามจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยพัฒนาความรู้ไปด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
เราพยายามให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยในรายการนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน รวมทั้งผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐ แม้กระทั่งฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น(ยูแว) เพราะเราเชื่อเสมอว่า การมีส่วนร่วมของทุกๆฝ่ายในการพูดคุย นำเสนอและรับฟัง สุดท้ายจะได้กระบวนการสันติภาพที่เป็นจริงมากที่สุด
DSJ: ช่วยเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจสัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ' – 'พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร' ออกอากาศในสถานีวิทยุชุมชน
นายแวหามะ: ที่ผ่านมา ทางรายการได้นำเสียงให้สัมภาษณ์ของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นมาออกอากาศด้วย เพราะก่อนหน้านั้นนายฮัสซัน ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทูปมา 3-4 ครั้ง ซึ่งเกิดคำถามมากมายแต่ไม่มีคำตอบ
ดังนั้นการที่มีเดียสลาตันนำเสียงสัมภาษณ์นายฮัสซันมาออกอากาศได้ ก็จะสามารถตอบข้อสงสัยต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ได้
หลังจากนั้นมีเดียสลาตันได้สัมภาษณ์สด พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยเพื่อการถ่วงดุลกันทั้ง 2 ฝ่าย
DSJ: ทำไมถึงกล้าจัดรายการลักษณะนี้ ?
นายแวหามะ: ผมคิดว่า วิทยุไม่แค่ใช้เผยแพร่ศาสนาหรือให้ความรู้อย่างเดียว เรื่องสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นเรื่องสำคัญที่สถานีวิทยุต้องนำเสนอ ซึ่งตอนนี้โอกาสเปิดกว้างมากขึ้น หลังการลงนามการพูดคุยสันติภาพ แต่หากจัดรายการลักษณะนี้ก่อนหน้านั้น ก็อาจเป็นอันตรายได้
ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ประชาชนรับรู้เรื่องสันติภาพมากขึ้น รู้ว่าอะไรคือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และรู้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อตกลงอะไรบ้าง โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะเพื่อให้การพูดคุยสันติภาพมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ถามว่ากลัวหรือไม่ ตอบได้เลยว่ากลัว เพราะในอดีตผมไม่เคยเห็นรัฐไทยใช้แนวทางสันติภาพในการแก้ปัญหา นอกจากใช้ความรุนแรง หากเราไม่เริ่มทำ แล้วใครจะมาทำ แม้จะมีความเสี่ยงก็เป็นเรื่องอัลลอฮ
สิ่งสำคัญคือเราต้องมีการถ่วงดุลกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้ถูกมองเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
DSJ: หลังจากออกอากาศไประยะหนึ่งถูกมองอย่างไร ?
นายแวหามะ: ช่วงแรกๆ ฝ่ายบีอาร์เอ็นมองว่าเป็นสถานีวิทยุของรัฐหรือเปล่า ส่วนฝ่ายรัฐก็มองว่าเป็นรายการของบีอาร์เอ็นหรือเปล่า ผมถูกสงสัยจากทั้ง 2 ฝ่าย
ผมเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐเชิญไปถามว่า ทำไมถึงรายการโลกวันนี้ ผมอธิบายว่า ถ้าเปรียบประชาชนในพื้นที่เหมือนน้ำเต็มแก้ว ถ้าไม่เทออกสิ่งใหม่ๆก็จะเข้าไปไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าประชาชนที่นี่ต้องการเอกราชอย่างเดียว พวกเขาก็ไม่เอาอย่างอื่นเลย ผมจึงจัดรายการนี้ เพื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ต่างๆ ให้คนมีที่แสดงความคิดเห็นได้ ก็จะเป็นการเทน้ำในแก้วออกมานิดหนึ่ง เพื่อให้สามารถนำน้ำใหม่ใส่เข้าไปได้บ้าง
ไม่อย่างนั้นจะเหมือนกับน้ำในบึง ถ้าไม่มีน้ำใหม่มาเปลี่ยนมันก็จะเน่าเสียไป ความคิดของคนก็เช่นกัน ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของเขาได้ มันก็อันตรายมาก
ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็น ผมก็ตอบไปว่า หากการพูดคุยสันติภาพมีแต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยเท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ ผมคิดว่า บีอาร์เอ็นเองนั่นแหละที่กดขี่ประชาชนปาตานี เพราะไม่เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนมีส่วนร่วมเลย ทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าใจผมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับอัลลอฮ
DSJ: ผู้ฟังส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นอย่างไรในรายการ?
นายแวหามะ: ผมเรียกรายการนี้ว่า Revolution Radio เพราะไม่มีสถานีวิทยุใดในพื้นที่จัดรายการลักษณะนี้มาก่อน ประชาชนจึงให้การตอบรับที่ดี ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น
ในช่วงแรกๆ บางคนพูดแรงมาก ต้องการเอกราชอย่างเดียว ผมจึงบอกไปว่า เราต้องมีความฉลาดในการสื่อสารผ่านรายการวิทยุ ทำให้ช่วงหลังๆ ประชาชนเข้าใจมากขึ้น คนพูดแรงๆ ลดลง มีมารยาทมากขึ้น ที่สำคัญมีหลายข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยสันติภาพอย่างมาก
อยากให้สถานีวิทยุอื่นๆ จัดรายการลักษณะนี้มากขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาในหนทางสันติภาพ เพราะสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมกับการพูดคุยสันติภาพ
DSJ: มีคนที่พูดผ่านรายการแล้วได้รับอันตรายหรือไม่?
นายแวหามะ: ไม่มี เพราะทางสถานีจะปกปิดชื่อและหมายเลขโทรศัพท์
อยากให้คนที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ ได้โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการบ้าง เพราะมีเดียสลาตันไม่มีธงว่า การแก้ปัญหาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คำตอบอยู่ที่ประชาชน
หลายคำถามที่มีคนถามในรายการ มีการโต้ตอบกันไปมาระหว่างผู้ฟังด้วยกันเอง สิ่งนี้เป็นตัวดึงดูดให้คนสนใจรายการโลกวันนี้ ซึ่งต่างกับรายการอื่นที่ผู้ดำเนินการพูดเองหรือให้คนนอกพูดแทนคนปาตานี
DSJ: ขอย้อนไป.....กว่าจะมาเป็น “Media Selatan”
นายแวหามะ: ก่อนจะมาเป็นสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2546 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น (INN) ได้เข้าร่วมทุนกับสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี เพื่อเปิดรายการร่วมด้วยช่วยกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเช่าเวลาของสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ออกอากาศวันละ 2 ชั่วโมง
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2547 หลังเกิดเหตุไม่สงบแล้ว สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเห็นว่าสื่อจะนำเสนอข่าวสารที่ประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ได้ จึงขยายให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จึงย้ายไปเช่าเวลาของสถานีวิทยุทหาร 3 สถานี โดยมีสถานีวิทยุ กวส7.ยะลาเป็นแม่ข่าย เชื่อมสัญญาณไปยังสถานีวิทยุ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ที่จังหวัดปัตตานีและ กวส.6 ที่จังหวัดนราธิวาส
ภารกิจหลักๆ ของรายการ คือ 1.ลดความหวาดระแวงของคนในพื้นที่ 2.ขจัดความยากจน 3.ลดช่องว่างทางความรู้ที่จะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนา
ตอนนั้นได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีและเป็นรายการวิทยุแห่งแรกในพื้นที่ที่มีการสื่อสาร 2 ทาง คือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถโทรศัพท์แสดงความคิดเห็นผ่านรายการได้ แทนที่จะให้ผู้ดำเนินรายการพูดอยู่คนเดียว ขณะนั้นมีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกของรายการ ประมาณ 4,000 คน
จุดเด่นของวิทยุร่วมช่วยกันในตอนนั้น คือการทำหน้าที่ประสานระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งถึงประสานภาคธุรกิจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย
แต่น่าเสียดาย เมื่อปี 2552 อุดมการณ์ของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเปลี่ยนไปเน้นหากำไรมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ในพื้นที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รายการนี้จึงถูกยุบไป
จากนั้น จึงเรียกแกนนำสมาชิกประมาณ 350 คน มาประชุมกันที่จังหวัดยะลา เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการยุบรายการ แต่ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ต้องการให้มีรายการวิทยุร่วมด้วยกันต่อไป จึงก็กลายเป็นภาระหนัก ประกอบวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมาพอดี ทำให้เรามีทางออก จึงตั้งสถานีวิทยุชุมชนเป็นสถานีวิทยุร่วมช่วยกันและเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน” โดยตั้งสถานีวิทยุชุมชนครั้งแรกที่จังหวัดยะลา
แต่วิทยุชุมชนไม่คลอบคลุมพื้นที่ ทำให้คนในจังหวัดปัตตานีบางส่วนไม่สามารถรับฟังได้ จึงแก้ปัญหาโดยเชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ที่ปัตตานี แต่ไม่สามารถเชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุ กวส.6 นราธิวาสได้ จึงเช่าสัญญาณของสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส ทำให้สามารถดำเนินการได้ระดับหนึ่ง
ต่อมา ปี 2553 ได้ย้ายสถานีแม่ข่ายมาตั้งที่ปัตตานี แล้วเชื่อมสัญญาณไปที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยยกเลิกสัญญากับสถานีวิทยุกอ.รมน.ภาค 4 สน.
การทำงานของมีเดียสลาตันต้องประคับประคองมาตลอด เนื่องจากมีงบประมาณไม่มาก แต่ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ทำให้สามารถอยู่ได้
ต่อมาปี 2555 ด้วยความประสงค์ของพระเจ้า มีทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนมีเดียสลาตัน ในภารกิจ 2 หลัก คือ 1.ธรรมาธิบาล 2.ประชาธิปไตยและมีการส่วนร่วมของประชาชน ทำให้มีเดียสลาตันมีสีสันมากขึ้น กลายเป็นสื่อวิทยุที่สำคัญในพื้นที่
DSJ: เป้าหมายของมีเดียสลาตัน
นายแวหามะ: เป้าหมายหลัก คือการเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม เพื่อนำสันติภาพที่ยั่งยืนและถาวรมาสู่พื้นที่ และเป็นสันติภาพที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนด้วย
สิ่งที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลา คือ มีเดียสลาตันภาวนาตัวเองเสมอว่า เป็นสื่อของคนในพื้นที่ อะไรที่สามารถตอบโจทย์แก่พื้นที่ได้ สิ่งนั้นคือภารกิจของเรา เพราะเราตระหนักเสมอว่า คนที่แก้ปัญหาได้ที่สุดคือประชาชนในพื้นที่ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธคนนอก
เราต้องการให้คนในพื้นที่สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ด้วยความรู้ที่เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ทุกๆ เรื่องที่คิดว่าสังคมต้องช่วยกันเติมเต็ม
ปัจจุบันคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันเกือบคลอบคลุมทุกพื้นทีแล้ว ยกเว้นบางพื้นที่ของอ.บันนังสตา อ.เบตง จ.ยะลา ส่วนที่จ.นราธิวาส มี 4 อำเภอที่ยังไม่สามารถรับฟังได้ คือ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.สุไหงปาดี อ.สุคิริน อ.เจาะไอร้อง ซึ่งสถานีกำลังระหว่างติดตั้ง ส่วน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาสามารถรับฟังได้
000000000000000000000000
สามารถฟังรายการวิทยุมีเดียสลาตันได้ ที่จังหวัดปัตตานีทางคลื่น 91.50 MHz จังหวัดยะลา 96.25 MHz และจังหวัดนราธิวาส 101.MHz หรือเว็บไซต์ www.rdselatan.com
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้
- 'วิทยุม.อ.ปัตตานี': การทำงานบนเส้นทางสันติภาพ
- "We Voice ตามหาสันติภาพ”: วิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมบนเส้นทางสื่อเพื่อสันติภาพ
- “จูลี แห่งวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ” สถานีความรู้คู่ชุมชน
- 'มันโซร์ สาและ': ผู้เปิด "หน้าต่างสังคม" ผ่านสื่อวิทยุภาษามลายู