ปักหมุดหมาย: การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย จำเป็นต้องฟังและดึงเสียงจากประชาชนรากหญ้าทุกกลุ่มขึ้นมาเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมของของตนเองในอนาคต ซึ่งวิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชนมากที่สุดและเป็นช่องทางสำคัญในการทำหน้าที่นั้น การค้นหา การทำให้ "สื่อสันติภาพในระดับชุมชน" ปรากฎตัว และทำให้เขาและองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเป็น 'เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้' (Deep South Community Radio Network - DSR) และทำงานร่วมกันในการฟัง เปิดพื้นที่กลางการพูดคุย และดึงเสียงของ "คนใน" ออกมา พลังเหล่านี้จะกลายเป็นจักรสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี |
วิทยุชุมชนคริสเตียนยะลา:
หวัง “พระเจ้าจะเปลี่ยนจิตใจของผู้ใช้ความรุนแรง”
ฮัสซัน โตะดง
"สถานีวิทยุชุมชนคริสเตียนยะลา" โครงการข่ายการสื่อสารสำคัญของคนชายขอบในคนกลุ่มน้อยพื้นที่ชายแดนใต้ นับเป็นสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมง อีกแห่งหนึ่งที่ก่อตั้งโดยสมาชิกคริสตจักรยะลา ขับเคลื่อนด้วยศรัทธาและจิตอาสาเพื่อที่จะเผยแพร่หลักคำสอนคริสต์ศาสนาในชีวิตประจำวัน กับคำถามคนคริสต์อยู่อย่างไรในพื้นที่ของการใช้ความรุนแรงเรื้อรังระหว่างนักต่อสู้มลายูปาตานีกับรัฐไทย
เหตุความไม่สงบ คือจุดเริ่มต้นเพื่อความสงบแห่งจิตใจ
นายเกษม กว้างสกุล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนคริสเตียนยะลา เล่าว่า การก่อตั้งสถานีวิทยุคริสเตียนยะลา FM 88.0 MHz เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 เนื่องจากมีสถานีวิทยุแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเชิญตนไปจัดรายการ และเห็นว่าสื่อวิทยุสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มาก ต่อมาปี 2552 ได้รับแนะนำจากเพื่อนที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันจากจังหวัดภูเก็ต ให้ไปจดทะเบียนสถานีวิทยุชุมชน เนื่องจากงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในยุคนั้น กำลังเปิดรับลงจดทะเบียนวิทยุชุมชน
หลังจากนั้น ทางสมาชิกคริสตจักรยะลามีการประชุมร่วมกันและมีมติให้ดำเนินการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนคริสเตียนยะลา และสามารถดำเนินการจดทะเบียนจนประสบความสำเร็จในปีเดียวกัน นับว่าเป็นสถานีวิทยุชุมชนยุคแรกๆ ของประเทศไทยที่สามารถดำเนินการจดทะเบียนจนสำเร็จ
ต่อมาช่วงปลายปี 2552 ทาง กทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้ให้ทางสถานีมีการปรับเปลี่ยนผังรายการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่สมาชิกคริสตจักรยะลาเท่านั้น ทางสถานีจึงได้ปรับปรุงผังรายการตามแนวทางของ กทช. ทำให้มีรายการที่หลากหลายอย่างเช่นทุกวันนี้
นายเกษม เล่าถึงที่มาการก่อตั้งสถานีวิทยุ 'ชุมชนคริสเตียน' ว่า หลังจากการเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงทำให้ไม่มีอาจารย์ที่จะมาเทศนาแก่สมาชิกคริสตจักรจังหวัดยะลา แม้ว่าสามารถรับฟังการเทศนาจากอินเตอร์เน็ตได้ก็ตาม แต่สมาชิกคริสตจักรยะลาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ไม่สะดวกรับฟังการเทศน์จากในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น เราคิดว่าวิทยุคือคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะวิทยุสามารถรับฟังพร้อมๆกับทำงาน และที่สำคัญวิทยุราคาถูกมากในปัจจุบันนี้
ขับเคลื่อนด้วยจิตอาสา
นายเกษม ได้เล่าถึงการหล่อเลี้ยงสถานีวิทยุนี้ว่า งบประมาณในการดำเนินได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรยะลา สถานีตั้งอยู่ที่ ร้าน เอส อี พี ไมโครเทค (ตัวแทนจำหน่ายประจำจังหวัดยะลา ) 57/2 ถ.ผังเมือง2 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นร้านขายคอมพิวเตอร์ของตัวเอง การที่สถานีตั้งอยู่ที่ร้านของตนเนื่องจากที่ประชุมสมาชิกคริสตจักรยะลาได้มีมติให้ตนเองเป็นผู้ดูแลสถานี เนื่องจากมีอาชีพใกล้เคียงกับงานวิทยุมากที่สุด เพราะเป็นโปรแกรมเมอร์ และเปิดร้านขายคอมพิวเตอร์และเครื่องอิเลคทรอนิกส์
ขณะนี้ สถานีวิทยุคริสเตียนยะลามีผู้ดำเนินรายการ จำนวน 12 คน ซึ่งทุกคนทำงานด้วยจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน ส่วนแฟนรายการมีประมาณ 500 คนในส่วนที่เป็นสมาชิกคริสตจักรยะลาอย่างเดียว แต่คาดว่าน่าจะมีมากกว่านั้น เนื่องจากยังมีผู้ฟังที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อีกจำนวนหนึ่งที่ฟังรายการของสถานีนี้ ด้วย
ปัจจุบันสถานีวิทยุคริสเตียนยะลาออกอากาศด้วยคลื่นความถี่ 20 วัตต์ ตามระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สามารถส่งสัญญาณในรัศมี 15 กิโลเมตร สถานีวิทยุสามารถส่งสัญญาณถึงที่อำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี
“รายการส่วนใหญ่จะเป็นรายการที่เกี่ยวคำเทศนาที่ผมดาวน์โหลดคำเทศนาขององค์กรคริสต์เตียนต่างๆ ในประเทศไทย มาเปิดฟังทุกวัน เช่น องค์กรสื่อมวลชนเสียงสันติ จ.เชียงใหม่ และจากองค์กรอื่นๆ เป็นต้น เพื่อนำไปเปิดในสถานี” นายเกษมเล่าให้ฟังถึงเนื้อหารายการส่วนใหญ่ในสถานีวิทยุแห่งนี้
นโยบายหลักคือ เพื่อประชาชน
สถานีวิทยุคริสเตียนยะลาเป็นองค์กรไม่หาแสวงกำไรใดๆ และไม่เป็นกระบอกเสียงให้แก่องค์กรใดๆ ทั้งสิ้น “เพราะเป็นสถานีวิทยุที่บริการให้กับประชาชนเท่านั้น ดังนั้น สถานีไม่มีรับการโฆษณาเลย หรือแม้แต่องค์กรของรัฐขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์ เช่น จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) หรือแม้แต่จดหมายข่าวของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) สถานีต้องขออภัยเพราะไม่สามารถที่จะออกอากาศได้ เพราะไม่ตรงนโยบายสถานวิทยุ อย่างก็ไรตาม ทางคณะกรรมการสถานีจะมีการหารือในเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่จะนำสิ่งเหล่านี้ออกอากาศ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายหรือบทบาทของสถานีวิทยุแต่อย่างใด” นายเกษม บอกเล่าจุดยืนของการคัดเลือกเนื้อหาออกอากาศ และให้เหตุผลมากขึ้น
“การที่สถานีไม่ออกอากาศตามที่หน่วยงานรัฐขอความร่วมมือนั้น มีคำถามว่าสถานีไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่หรือเปล่า ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เราถือว่าการให้ความร่วมของเราคือการออกอากาศคำเทศนาในแต่ละวันว่ามีการพูดคุยถึงเรื่องการการดำรงชีวิตในฐานะพลเมืองที่ดีเป็นอย่างไร ดังนั้น ในคำเทศนาที่ออกอากาศบอกอย่างชัดเจนคุณลักษณะพลเมืองที่ดีเป็นอย่างไรแก่ชุมชนของเรา และพระเจ้าสอนอะไรบ้าง” นายเกษมกล่าว
สถานีวิทยุคริสเตียนยะลา ผู้สร้างสันติสุขในพื้นที่
ผอ.สถานวิทยุวิทยุชมชนคริสเตียนยะลา ได้ขยายความว่า สันติภาพคือสิ่งที่เราทำได้ใช้วจนะของพระเจ้าในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ เราคาดหวังว่าคำสอนที่สถานีออกอากาศทุกวันนั้นจะติดอยู่กับตัวสมาชิกคริสตจักรยะลา และเขาสามารถนำคำสอนเหล่านี้ ไปเล่าให้คนที่อยู่รอบๆ หรือบุคคลที่ใกล้ชิดได้ฟังในคำสอนรวมถึงทัศนะหรือมุมมองการตอบโต้กับปัญหาที่เกิดขึ้นและความพึ่งพอใจในแนวทางของพระเจ้าหรืออะไร เพราะในคัมภีร์ได้บอกว่า “จงรักศัตรู หรือจงอธิฐานให้แก่คนที่ข่มเหงต่อเรา” คำสอนนี้มันตรงกันข้ามความรู้สึกของมนุษย์ หากสังคมมีทัศนะอย่างนี้ ไม่ว่าใครทำร้ายเรา เราไม่มีหน้าที่ที่จะแก้แค้น พระเจ้าเท่านั้นจะจัดการให้ สิ่งที่เราทำได้คือหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ที่ดี
“ในแต่ละสัปดาห์สมาชิกคริสตจักรยะลามีกิจกรรมการตั้งอธิฐานต่อสิ่งต่างๆ ที่ทางสมาชิกคริสตจักรมีความปรารถนา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สมาชิกคริสตจักรยะลาอธิฐานคือ ขอให้พระเจ้าเปลี่ยนจิตใจของบุคคลที่อยู่ในความรุนแรง เพราะเรามองว่าสิ่งที่เขากระทำมีผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ สร้างความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งถามว่าพระเจ้าพอใจหรือไม่ คำตอบคือ พระเจ้าไม่พอใจ”
“แต่อย่างไรก็ตาม เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเขาทำน่าจะเรียกว่าก่อการร้าย แต่ในมุมมองเขา เขาอาจจะมองว่า ไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย แต่เขากระทำไปด้วยเหตุผลอะไรบ้างอย่างของเขา”
โดยส่วนตัว นายเกษมมองว่าปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่มนุษย์แก้ได้ เชื่อว่าพระเจ้าเท่านั้นที่เปลี่ยนใจคนเหล่านี้ได้ “ผมเคยร่วมประชุมที่ กสทช. ได้ฟังผู้ที่เคยผ่านความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาจากประเทศต่างๆทั่วโลก มาแบ่งปังทัศนะและค้นหาทางออกจากความขัดแย้ง ได้ฟังกรณีความขัดแย้งในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หลายคนพูดว่าพระเจ้ายื่นมือมาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในอาเจะห์ ซึ่งภายหลังจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอาเจะห์ลดลงอย่างมาก”
“ผมไม่อยากที่จะให้สิ่งเหล่านี้เกิดในพื้นที่ของเลยเรา แต่ในเมื่อไม่ยอมหยุด จะรอให้พระเจ้ายื่นมือมาจัดการหรือ ฉะนั้น ต้องคิดเสียใหม่ ก่อนที่พระเจ้าจะยื่นมือมาสั่งสอนเหมือนกับอาเจะห์ ผมจึงมีความหวังว่า พระเจ้าจะใช้วิธีการของพระองค์ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ด้วยการกระทำที่เกิดจากจิตใจที่มีความถูกต้อง หรือการเปลี่ยนจิตใจของผู้ที่อยู่ในความรุนแรง” นี่คือศรัทธาของนายเกษม ผู้พยุงสันติภาพอย่างเงียบๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.
00000000000000000
บทสัมภาษณ์พิเศษนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ติดตามอ่านสัมภาษณ์พิเศษ "เสียงสันติภาพ" เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ได้ ดังนี้
- 'วิทยุม.อ.ปัตตานี': การทำงานบนเส้นทางสันติภาพ
- "We Voice ตามหาสันติภาพ”: วิทยุเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมบนเส้นทางสื่อเพื่อสันติภาพ
- “จูลี แห่งวิทยุอิฮฺยาอฺ เรดิโอ” สถานีความรู้คู่ชุมชน
- 'มันโซร์ สาและ': ผู้เปิด "หน้าต่างสังคม" ผ่านสื่อวิทยุภาษามลายู
- ‘แวหะมะ แวกือจิก’: เสียงที่ไม่หลั่งเลือด พื้นที่สันติภาพของ ‘Media Selatan’
- วิทยุพระพุทธศาสนากลางไฟใต้
- "ซาฮารี เจ๊ะหลง": วิทยุ ‘Bicara Patani’ คุยทุกเรื่องที่คนปาตานีต้องการ