Skip to main content

ซอลาหุดดีน กริยา

ระหว่างที่รอให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ตมาติดตั้งอินเตอร์เน็ตที่บ้าน ช่วงนี้บางครั้ง ผมก็ต้องไปใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต สำหรับรับส่งข้อมูลหนักๆ

ขณะที่เปิดไฟล์งานอยู่ เพื่อตรวจขั้นสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้ลูกค้า ก็มีคนเข้ามาทัก เมื่อเห็นผมเปิดไฟล์เอกสารที่เป็นภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ (ตัวเขียนที่ใช้ระบบอักขระแบบอาหรับ ซึ่งมีตัวอักขระเพิ่มเติมจากภาษาอาหรับเดิม) เมื่อผมส่งไฟล์เรียบร้อย ก็หันไปคุยกับคนนั้น จึงทราบว่าเป็นพนักงานในร้านออกแบบกราฟฟิกในตัวเมืองยะลา

จากนั้นเขาก็บอกว่า ในการงานที่เขาทำอยู่ ก็มีงานประเภทต้องใช้ภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์เยอะเหมือนกัน เมื่อเห็นผมทำงานเอกสารที่เกี่ยวกับภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ ก็เลยสนใจ ผมก็ถามว่าแล้วงานที่ทำนั้นมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เมื่อต้องใช้ภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์

เขาก็บอกว่า หากจะเทียบกับภาษาอื่นๆ นั้น ภาษามลายูนั้นมีข้อจำกัดมากเลย โดยเฉพาะเรื่องฟอนต์ การพิมพ์ ซึ่งไม่มีความเป็นมาตรฐาน เหมือนการพิมพ์ภาษาไทย เช่น หากเราจะพิมพ์ภาษาไทยในโปรแกรม microsoft word เมื่อเราเปิดไฟล์แล้ว เลือกภาษาไทย แล้วเลือกฟอนต์ไทยตามที่เราต้องการ มันก็จบ สามารถพิมพ์ได้เลย แต่การพิมพ์ญาวีย์นี่ มันไม่ใช่แค่นั้น บางครั้งก็ต้องใช้เทคนิคเพิ่มเติม แล้วแต่ละคนที่ใช้ภาษามลายู-ญาวีย์นั่น ต่างมีเทคนิคส่วนตัวกัน มันเลยไม่มีมาตรฐานเดียวสำหรับการพิมพ์ญาวีย์

เขาก็พูดถึงอีกหลายปัญหาที่พบในการใช้ภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ ผมเข้าใจความรู้สึกของเขา เพราะผมเองก็เคยอยู่จุดที่เขาอยู่ตอนนี้

สมัยผมทำงานที่โรงพิมพ์ในตัวเมืองปัตตานี แน่นอนในพื้นที่นี้ งานสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ย่อมเป็นตัวเขียนญาวีย์ ในเมื่อระบบการพิมพ์ญาวีย์ในพื้นที่ไม่ได้มีการพัฒนาเลย ทั้งที่มีผู้ใช้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหาที่มาพร้อมไฟล์งานเอกสารที่ลูกค้าส่งมา ซึ่งมีหลากหลายสไตล์ แล้วแต่ว่าผู้พิมพ์ตนทางนั้นจะเลือกสไตล์ไหน

สำหรับคนที่อยู่นอกวงการ อาจนึกภาพไม่ออก หากจะอธิบายง่ายๆ ด้วยการเทียบกับการพิมพ์ภาษาไทย คือ ไฟล์เอกสารภาษาไทยที่พิมพ์ด้วยโปรแกรม microsoft word เมื่อเราเอาไปเปิดกับเครื่องไหนๆ ปลายทางกับต้นทางจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้กระทั่งข้ามแพลตฟอร์ม เช่น เอาไปเปิดในระบบปฏิบัติการ mac หรือ ในแอนดรอยด์สำหรับสมาร์ทโฟน ก็ยังใช้ได้อยู่

แต่ไฟล์เอกสารภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ แค่ข้ามเครื่อง แม้ว่าจะเปิดด้วยโปรแกรม microsoft word ด้วยกัน ก็ยังเป็นปัญหา

ทั้งนี้เนื่องจากระบบการพิมพ์ญาวีย์ที่มีใช้อยู่กันมากในสามจังหวัดชายแดนใต้นั่น อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า "ได้แต่อาศัยเขา" หลักๆ แล้ว จะไปรอคอยการพัฒนาระบบการพิมพ์ญาวีย์จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้ตัวเขียนญาวีย์แล้ว เพราะทางนั้นใช้ภาษามลายูตัวเขียนโรมันเป็นหลัก ทำให้การพัฒนาระบบการพิมพ์ตัวเขียนญาวีย์ไม่ค่อยอัพเดตเท่าทีควร

ทั้งๆที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องใช้ภาษามลายู-ญาวีย์ และระบบตัวเขียนนี้ยังคงใช้เป็นภาษาทางการในการสื่อสาร ไม่ว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือองค์กรทางศาสนา แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐเอง ก็ยังต้องใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์สู่ประชาชน

จากปัญหาที่พบเจอในฐานะที่ผมเป็นผู้ใช้ จึงรู้สึกว่าภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ไม่รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้งๆที่ ภาษานี้ถือว่าเป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย ดังนั้น บรรดาผู้ใช้ภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงพยายามสื่อสารด้วยภาษาตัวเองในลักษณะตามมีตามเกิด เท่าที่เครื่องมือและเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยให้ และรอว่า จะมีใครเป็นผู้มาพัฒนาระบบการพิมพ์ให้พวกเขาได้ใช้อีก