หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านจำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งชื่อผิดเพี้ยนจากเดิม “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติ การที่ดำเนินการมาเพื่อความภาคภูมิใจใน อัตลักษณ์ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการศึกษาชื่อ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งระดับท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการที่แท้ จริงของคนในชุมชน โดยมี 10 หมู่บ้านรวมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นอกจากนี้มีการประสานงานกับภาครัฐ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัด แขวงการ ทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระบวนการ เปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นการคลี่คลายความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม และนับว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ส่งเสริมสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม |
บ้านฮูตันฮางุส ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลดอนทราย อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ก่อนที่จะมีผู้คนมาบุกเบิกและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าดงดิบ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีเพียงสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ต่อมาบริเวณนี้เกิดไฟไหม้ป่าเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เริ่มตั้งแต่หมู่บ้าน “ฮูตันฮางุส” จนถึงหมู่บ้านฮูแตทูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส (เนื้อที่โดยประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร) เมื่อไฟป่าดับลง มีผู้คนจากพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ เข้ามาสร้างหลักปักฐาน ณ ที่แห่งนี้ โดยเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า“ฮูตันฮางุส” (Hutan Hangus) ซึ่งหมายถึง ป่าที่ถูกเผาไหม้เกรียม ชื่อดังกล่าวมีที่มาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในครั้งนั้นนั่นเอง
กลุ่มคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ คือ ผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ โต๊ะดะฮฺ เปาะวาเจ๊ะ เจ๊ะเงาะฮฺ แชโซ๊ะ โต๊ะวาเจ๊ะ เจ๊ะเนาะฮฺ โต๊ะวาแต โต๊ะแชเงาะฮฺ โต๊ะฆาเระ ปะเงาะฮฺลี อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย คือ ฮัจญีซาแม โต๊ะดือรามะ โต๊ะแชเลาะฮฺ โต๊ะฆือละ โตะบีรู โต๊ะฆาลี โต๊ะแช โต๊ะวายคง โต๊ะจิ ฮัจญีมะลี โต๊ะฮิ มะอีลา ปะดอฮาแว จากบูเกะอาบา (Bukit Aba) บูเกะแมเราะฮฺ (Bukit Merah) ตือลาฆอฮารอ (Telaga Hara) และบลีเม็ง (Belimbing) ในรัฐกลันตัน (Kelantan) โดยกลุ่มคนที่เข้ามาในยุคแรกๆ เหล่านี้ ทำนาและทำสวนมะพร้าวเป็นอาชีพหลัก และเล่ากันว่าในช่วงแรกๆ ที่เข้ามานั้นยังคงได้กลิ่นเหม็นไหม้จากซากสัตว์ที่ถูกไฟไหม้และมีควันไฟจากขอนไม้ที่ยังไหม้ไม่หมด
ในช่วงเริ่มตั้งหมู่บ้าน “ฮูตันฮางุส” ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้าน หน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านเป็นของผู้ใหญ่บ้านจากบ้านรังมดแดงหรือปูลากรืองอ (Pulau Kerenga) ต่อมาชาวบ้านต้องการมีผู้ใหญ่บ้านเป็นของตนเอง จึงได้มีการคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นครั้งแรกและผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้คือ นายมะสาและ
เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านมีความยากลำบากมาก ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านได้ปรึกษาหารือกันเพื่อตัดถนนจากบ้าน “ฮูตันฮางุส” ไปยังบ้านกูวิง จากการร่วมมือกันของชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านมะสาและในครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าให้ชาวบ้านช่วยกันลงขันและออกแรงสร้างถนนโดยไม่มีค่าจ้าง ชาวบ้านทุกคนจะออกมาสร้างถนนร่วมกันหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ โดยการใช้จอบขุดดินข้างๆ มาถมเป็นถนน มีการเลี้ยงอาหารในช่วงเช้าและขนมหวานในช่วงบ่าย การสร้างถนนในสมัยนั้นมีความยากลำบากมากเพราะไม่มีเครื่องจักรที่ใช้ในการทุ่นแรง นอกจากนี้ยังมีตอไม้ขนาดใหญ่ขวางเส้นทางการสร้างถนนเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงต้องขุดเอาตอไม้เหล่านั้นออกเสียก่อนจึงเริ่มสร้างถนนได้ ต่อมาทางหน่วยงานรัฐได้เข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยกำหนดค่าจ้างเป็นเงิน 50 บาทต่อ 1 ตารางวา ทำให้งานคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมระยะเวลาการสร้างถนนประมาณ 7 – 8 ปี เมื่อการสร้างถนนสายนี้เสร็จสมบูรณ์ ชาวบ้าน “ฮูตันฮางุส” ได้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่
แม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในชื่อ “ฮูตันฮางุส” แต่ชาวไทยพุทธในละแวกใกล้เคียงจะเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ป่าไหม้” ตามคำแปลของชื่อ “ฮูตันฮางุส” ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2505 ทางการได้มาเปิดโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกในหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านป่าไหม้” สาเหตุที่ใช้ชื่อ “ป่าไหม้” เป็นชื่อโรงเรียนนั้น เนื่องจากครูใหญ่คนแรก คือ นายเพียร มีสุข ซึ่งมีพื้นเพเดิมจากจังหวัดสงขลา ได้ยินชาวไทยพุทธเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ป่าไหม้” จึงได้ตั้งชื่อโรงเรียนตามชื่อเรียกภาษาไทยนั่นเอง ภายหลังภาครัฐจึงตั้งชื่อทางการของหมู่บ้านแห่งนี้ตามชื่อโรงเรียนแทนชื่อ “ฮูตันฮางุส” อย่างไรก็ตามชาวบ้านโดยทั่วไปก็ยังนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “ฮูตันฮางุส” หรือ “ฮูแตฮางุฮ” (สำเนียงภาษามลายูถิ่น)โดยสังเกตได้อย่างชัดเจนจากป้ายชื่อสถานที่สำคัญต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น มัสยิด และโรงเรียนตาดีกา รวมทั้งการตั้งชื่อกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มเยาวชนฮูตันฮางุส ฮูตันฮางุสเกมส์ กลุ่มสตรีฮูตันฮางุส และกลุ่มประมงพื้นบ้านฮูตันฮางุส เป็นต้น
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับ บ้านรังมดแดง/บ้านดอนทราย
ทิศใต้ ติดกับ บ้านทรายขาว
ทิศตะวันออก ติดกับ ทะเล
ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านกูวิง
ป้ายชื่อโรงเรียนในหมู่บ้าน
ใช้ชื่อภาษไทยว่า “โรงเรียนบ้านป่าไหม้”
และเขียนชื่อเป็นภาษามลายูอักษรยาวีว่า “ฮูตันฮางุส
ทางเดินบริเวณที่เคยเกิดไฟไหม้ป่าในอดีต
และชื่อโรงเรียนตาดีกา “ฮูตันฮางุส”
- จาก “ลัดดา” เป็น “ลาดอ”
- เปลี่ยนบ้าน“ปิดอ” สู่บ้าน “บลีดอ”
- บ้าน “มะหุด” เพี้ยนจาก "มาโงะห์“ ภาษามลายูมีความหมายว่ามังคุด
- ประวัติบ้าน“บูเกะแว” บ้านเขาวัง