เดิม”มืองาแบ”เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลปะเสยะวอ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวเมืองสายบุรีประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลอ่าวไทย มีหาดทรายขาวสะอาด ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทะเล คลอง และแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ต่อมาหมู่บ้านแห่งนี้แยกตัวออกมาตั้งเป็นตำบล เนื่องจากมีประชากรเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่าตำบล “มืองาแบ” และได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบล “บางเก่า” ในภายหลัง
“มืองาแบ” เป็นชื่อเรียกแอ่งน้ำขนาดใหญ่ในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่บรรจบของแหล่งน้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำสายบุรีและทะเลอ่าวไทย ในอดีตแอ่งน้ำแห่งนี้มีน้ำและมีปลาชุกชุมตลอดปี ชาวบ้านนิยมมาหาปลาเพื่อการบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ในครัวเรือน เป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่สำคัญ การคมนาคมสะดวกสบาย มีทั้งเรือแจวและเรือยนตร์ นอกจากคนในพื้นที่แล้ว ยังมีพ่อค้าที่มาจากชุมชนใกล้เคียงรวมถึงพื้นที่ห่างไกล เช่น พ่อค้าจากเมืองจีนก็ได้เข้ามาทำการค้าขายยังหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย ปัจจุบันแอ่งน้ำ “มืองาแบ” ยังคงมีร่องรอยปรากฏให้เห็นอยู่ บางส่วนยังคงสภาพสมบูรณ์ ในขณะที่บางส่วนได้เหือดแห้งไปแล้ว
ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้าน “มืองาแบ” เป็นพ่อค้าเรือสำเภาชาวมลายูจากรัฐกลันตันและตรังกานู (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) เริ่มแรกพวกเขาเข้ามาเพื่อนำเรือสำเภาหลบคลื่นมรสุมและซ่อมแซมเรือ ครั้นเมื่อได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้ เขาเหล่านั้นจึงกลับไปรับสมาชิกในครอบครัวมาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้เป็นการถาวร นอกจากนี้ยังมีการอพยพของชาวจีน โดยชาวจีนเหล่านี้ ได้แนะนำวิธีการถนอมอาหารให้แก่ชาว “มืองาแบ” เช่น วิธีการทำปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลาหมึกแห้ง มะพร้าวแห้ง เป็นต้น จนทำให้ชาวบ้านสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพได้
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ทำให้ชาวบ้านสามารถนำวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นมาสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว นับเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ได้แก่ การผลิตกระเบื้องมุงหลังคา เชือกกาบมะพร้าว เสื่อกระจูด การต่อเรือ ศิลปะการเขียนลวดลายบนเรือ การทำน้ำบูดู กะปิ และช่างฝีมือต่างๆ เป็นต้น
การเปลี่ยนชื่อจาก “มืองาแบ” เป็น “บางเก่า” เกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างโรงเรียนหลังแรกของตำบล โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่ในหมู่บ้านปะเสตอแงะ ครูใหญ่ในขณะนั้นคือ นายวิเชียร จินดารัตน์ เป็นผู้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนบางเก่า” ชื่อ “บางเก่า” มีที่มาจากสภาพของบ้านเรือนที่เก่าแก่ริมชายหาด
อย่างไรก็ตามชื่อ “บางเก่า” ได้สร้างความสับสนให้กับชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ เนื่องจากชื่อใหม่ที่ทางราชการตั้งให้เป็นภาษาไทย ไม่ได้มีความสอดคล้องหรือใกล้เคียงกับชื่อดั้งเดิมในภาษามลายูท้องถิ่นเลยไม่ว่าด้านความหมายหรือการออกเสียง
ปัจจุบันชาวบ้านได้นำชื่อ “มืองาแบ” มาเรียกชื่อหมู่บ้าน 3 แห่งในตำบลบางเก่า ได้แก่
หมู่ 1 บ้านบางเก่าเหนือ (ชาวบ้านเรียกว่า บ้านมืองาแบ ฮีเล)
หมู่ 2 บ้านบางเก่าใต้ (ชาวบ้านเรียกว่า มืองาแบ)
หมู่ 3 บ้านบางเก่าทะเล (ชาวบ้านเรียกว่า มืองาแบ ปาตา)
อาณาเขต บ้านบางเก่าเหนฤือ “มืองาแบ ฮีเล”
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลน้ำบ่อ
ทิศใต้ ติดกับ บ้านมืองาแบ หมู่ 2
ทิศตะวันออก ติดกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแป้น
อาณาเขต บ้านบางเก่าใต้ “มืองาแบ”
ทิศเหนือ ติดกับ บ้านมืองาแบ ฮีเล หมู่ 1
ทิศใต้ ติดกับ บ้านมืองาแบ ปาตา หมู่ 3
ทิศตะวันออก ติดกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแป้น
อาณาเขต บ้านบางเก่าทะเล “มืองาแบ ปาตา”
ทิศเหนือ ติดกับ บ้านมืองาแบ หมู่ 2
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลปะเสยะวอ
ทิศตะวันออก ติดกับ อ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแป้น
ภาพบน: ป้ายชื่อที่ทำการสภาวัฒนธรรมของหมู่บ้าน /ภาพล่าง: ผู้นำชุมชนนำคณะวิจัยสำรวจแอ่งน้ำ “มืองาแบ”
กิจกรรม “อาซูรอ” จัดขึ้นบริเวณริมชายหาดในหมู่บ้าน
อ่านประวัติหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ผ่านมา
- จาก “ลัดดา” เป็น “ลาดอ”
- เปลี่ยนบ้าน“ปิดอ” สู่บ้าน “บลีดอ”
- บ้าน “มะหุด” เพี้ยนจาก "มาโงะห์“ ภาษามลายูมีความหมายว่ามังคุด
- ประวัติบ้าน“บูเกะแว” บ้านเขาวัง
- ประวัติที่มาของชื่อบ้าน “ฮูตันฮางุส” หรือบ้าน “ป่าไหม้”