หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมชื่อ “บทบาทประชาสังคมและอนาคตประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” (Role of Civil Society and the Future of Islamic Civil Society in Solving the Southern Border Provinces) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเอเชียปริทัศน์ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับว่าด้วย “1 ทษวรรษ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2556, หน้า 93-137) กองบรรณาธิการเห็นว่าการสำรวจบทบาทขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของตัวแสดงสำคัญดังกล่าวในอนาคต จึงนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง โดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียนบทความและบรรณาธิการวารสารดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว |
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและบทบาทขององค์กรประชาสังคมและอนาคตประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการขององค์กรประชาสังคมเริ่มต้นจากประชาสังคมแบบขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แล้วพัฒนาสู่ประชาสังคมแบบชุมชนนิยม หลังการสิ้นสุดสงครามเย็นองค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้หลายๆ องค์กรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยับสู่ภาคประชาชนที่หลากหลายโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้การสนับสนุน หลังเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 องค์กรประชาสังคมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อเข้ามาดูแลสิทธิ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ต่อมาประชาสังคมหลายองค์กรได้รวมตัวกันก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและขับเคลื่อนหลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ อนึ่ง อนาคตประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้น่าจะเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงและขยายสู่ฐานรากของชุมชนได้ดีที่สุดเนื่องจากพบว่าบุคคลและองค์กรศาสนาเป็นเป็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากประชาชน
บทนำ
นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินติดต่อกันมาเกือบ 10 ปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แม้จะมีการเปิดการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐและตัวแทนของกลุ่ม BRN หลายครั้ง แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในระยะหลังได้ลดเป้าอ่อน เน้นเป้าแข็งแล้วก็ตาม แต่ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และทั่วประเทศยังคงต้องการให้ยุติการปฏิบัติการรุนแรงและหันหน้ามาเจรจาให้ได้ข้อตกลงและคืนความสงบและสันติภาพให้แก่ประชาชนและพื้นที่อย่างถาวร
เมื่อมองในภาคของประชาชนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในฐานะผู้อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งและมีประสบการณ์ตรงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อการเคลื่อนไหวและมีบทบาทผลักดันในการแก้ปัญหาอย่างไร ในขณะเดียวกันมีกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมองค์กรใดบ้างที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหา เพราะกลุ่มประชาสังคมเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ที่มีความรู้ ติดตามสถานการณ์และน่าจะรู้รากเหง้าของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ดีที่สุด นอกจากนั้นกลุ่มประชาสังคมยังเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดชุมชนและประชาชนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคม ฉะนั้นคำถามถึงพัฒนาการเกิดองค์กรและบทบาทของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ของตนจึงถูกตั้งขึ้นเพื่อหาความจริงที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเป็นไปได้ของประชาสังคมอิสลามในการเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในอนาคต
กลุ่มประชาสังคมคือใคร
ลาร์รี ไดอะมอนด์ (Larry Diamond )[1] ให้ความหมายของ Civil Society หรือประชาสังคม คือ เวทีแห่งชีวิตทางสังคมที่มีการจัดตั้งขึ้นเองเป็นเอกเทศจากภาครัฐและจากภาคการเมือง อันเป็นพื้นที่ซึ่งกลุ่มและผู้กระทำการทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่หลากหลายมารวมกันแสดงตนเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและความคิดสร้างเอกลักษณ์ความผูกพันและความเชื่อร่วม โดยมุ่งจุดมุ่งหมายและพิทักษ์หรือเพิ่มพูนผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของพวกเขา ส่วน โคเฮนและอาเรโต[2] (Jean I. Cohen and Andrew Arato) ให้ความหมายของ Civil Society ไว้ว่าประชาสังคมเป็นเรื่องการใช้สิทธิในการไม่เชื่อฟังรัฐของประชาชนทำให้เกิดข้อเรียกร้องสิทธิใหม่ขึ้น
จอห์น คีน (John Keane) ได้ให้คำจำกัดความที่มีความทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันของ คำว่า Civil Society ไว้ 4 แนวคิดจากนักทฤษฏีที่สำคัญซึ่งอยู่ในช่วง ค.ศ. 1750 – 1850 แนวคิดแรกมาจากผลงานของอดัม เฟอร์กูสัน (Adam Ferguson, ค.ศ. 1723 – 1816) เขาเห็นว่า รัฐและประชาสังคม Civil Society เป็นสิ่งเดียวกัน แนวคิดที่สองมาจากความคิดของโธมัส เพน (Thomas Paine , ค.ศ. 1737 – 1809) ผู้ซึ่งเรียกร้องให้จำกัดอำนาจของรัฐตามความต้องการของประชาสังคมและเป็นผู้ที่นิยามรัฐว่า รัฐนั้นเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นและประชาสังคมเป็นความดีที่บกพร่อง (Unqualified good) แนวคิดที่สามเป็นการอธิบายโดยงานของเฮเกล (Georg W. F. Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) ซึ่งได้ให้ความคิดที่เป็นตรงข้ามกับเพนที่ค่อนข้างถือมั่นในความคิดของตน โดยเฮเกลมองว่า Civil Society ประชาสังคมนั้นเป็นส่วนที่บกพร่องในตัวเองที่ดำรงอยู่ในความต้องการของผู้ปกครองรัฐ เขามองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองและครอบงำของชนชั้นนายทุน แนวคิดที่สี่จากการอธิบายของอเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville, ค.ศ. 1805 – 1859) ผู้ซึ่งออกมาตอบโต้แนวคิดแบบเฮเกล (Hegalion) และสนับสนุนความสำคัญของการปกป้องและฟื้นฟูพหุวัฒนธรรม การบริหารจัดการตัวเองของภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระจากรัฐ
ก่อนหมดศตวรรษที่ 19 ความสนใจในเรื่องของประชาสังคมได้หายไปจากความสนใจของนักวิชาการมากกว่าศตวรรษ ต่อมาแนวคิดประชาสังคมก็กลับมาอีกครั้งตามที่เออเนสต์ เกลเนอร์ (Ernest Gellner) กล่าวว่า สำหรับนิยามของประชาสังคม (Civil Society ) ตามความเห็นของจอห์น คีน ที่เห็นว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและรัฐเริ่มในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1960 และได้แสดงบทบาทนำในด้านทฤษฏีและการถกเถียงทางการเมืองในทั้ง 2 ฝั่งของยุโรปไปจนถึงลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ จนถึงโลกอิสลามและบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3]
การเริ่มต้นใหม่ของประชาสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะตรงข้ามกับรัฐเกิดขึ้นในใจกลางยุโรปตะวันออกด้วยการปรากฏขึ้นของพรรคฝ่ายตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1976 วาทกรรม “ประชาสังคม” ปรากฏขึ้นในฝรั่งเศส หลังจากนั้นไม่นานก็กลายเป็นประเด็นหลักของโครงการประชาธิปไตยในกลุ่มปัญญาชนที่โดดเด่น และหลายกลุ่มมีความเห็นอกเห็นใจต่อความพยายามต่อสู้เพื่อต่อต้านระบบเผด็จการในยุโรปตะวันออก นับจากนั้นมาแนวคิดประชาสังคมที่ต่อต้านรัฐได้กลายเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวันในสังคมทั่วไป[4]
นักวิชาการของไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ได้ให้ความหมายขององค์กรประชาสังคมโดยมองในแง่ของเป้าหมายในการวมตัวกันเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเป็นอุดมคติหรือความเชื่อร่วมกันมีการจัดการกลุ่ม มีการติดต่อสื่อสารกันและสร้างความเอื้ออาทร มิตรภาพและความรักต่อกัน ซึ่งผลของการจัดกลุ่มขึ้นมาจะทำติดต่อสื่อสารกันและสร้างความเอื้ออาทร มิตรภาพและความรักต่อกัน ซึ่งผลของการจัดกลุ่มขึ้นมาจะให้เกิดความสุขมีความอบอุ่นเกิดประสิทธิภาพและการเรียนรู้ร่วมกันอันจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร[5]
ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการที่สำคัญของไทยอีกท่านหนึ่งที่มองการเกิดขึ้นของ Civil Society หรือประชาสังคมในเชิงทฤษฎีการทำให้สังคมเข้มแข็งซึ่งให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อพลังที่สาม หากทุกส่วนไม่ว่าธุรกิจ วิชาชีพ ปัญญาชน นักศึกษา ชาวบ้าน นักการเมือง ร่วมแรงร่วมใจกันก็สามารถผลักดันให้กลุ่มอำนาจนิยมถอยไปได้ โดยมองว่าพลังที่สำคัญของภาคประชาสังคมเกิดจากการกระจายตัวของแหล่งที่มาของสมาชิกที่มีมาจากทุกภาคส่วนของสังคมทุกวิชาชีพ ทุกระดับรายได้ ทุกภูมิภาคและมีกลุ่มองค์กรที่หลากหลายเข้มแข็งในวิชาชีพของตนโดยไม่จำเป็นจะต้องมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเป้าหมายทางการเมืองเหมือนกัน [6]
นักรัฐศาสตร์ไทย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวนิช ได้ให้ความหมายของ Civil Society หรือประชาสังคมในบริบทของไทย ที่มีความแตกต่างจากนักวิชาการตะวันตกที่มองว่าประชาสังคมนั้นจะต้องแยกออกมาจากภาครัฐอย่างเด็ดขาด แต่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวนิช เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการเป็นหุ้นส่วนกันหรือ Partnership ที่จะต้องมีส่วนร่วมกันหรือ Participation (ในฐานะของสมาชิกของสังคม) ในฐานะของปัจเจกบุคคลไม่ใช่ตัวแทนขององค์กร Representation ดังนั้นเขาจึงมองว่า Civil Society นั้นควรรวมเอาทุก ๆ ส่วนของสังคมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าด้วยกัน ทุกฝ่ายนั้นเป็นหุ้นส่วนกันในทางสังคม
สอดคล้องกับสมพร เทพสิทธา ที่มองประชาสังคมในแง่ของบทบาทขององค์กรจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ซึ่งรวมทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมล้วนมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ทั้ง 3 ภาคส่วนต่างมีบทบาทที่สำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องร่วมมือและประสานงานกัน[7]
องค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคมทำงานกับภาคประชาชนโดยไม่แสวงหากำไรและผลประโยชน์ส่วนตน แต่ทำงานด้วยอุดมการณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม จึงต้องมีความเข้มเข็ง สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับภาครัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนได้และจะต้องสามารถกำกับดูแลการดำเนินงานของภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้เพราะบางครั้งรัฐบาลอาจจะทำงานเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมีการทุจริตคอรัปชั่น โดยประชาชนอาจจะได้รับความเสียหาย ส่วนภาคธุรกิจอาจทำงานเพื่อแสวงหากำไรเกินควร เอารัดเอาเปรียบประชาชน ทำให้ประชาชนต้องเสียเปรียบและเสียประโยชน์โดยส่วนรวมได้
ลักษณะองค์กรประชาสังคม
ในปัจจุบันองค์กรสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรได้พยายามที่จะให้มีองค์กรประชาสังคม Civil Society Organization หรือ CSO ที่เข้มแข็งให้แพร่หลาย เพื่อให้มีบทบาทในการทำงานคู่เคียงกับรัฐบาลองค์การเอกชนที่จะเป็นองค์การประชาสังคมจะต้องมีลักษณะดังนี้[8]
1) มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง (good objective)
2) มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ (efficient administration)
3) มีการจัดการที่มีประสิทธิผล (effective management)
4) มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (transparency and accountability)
5) เป็นที่เลื่อมใส ศรัทธาของประชาชน (acceptability)
องค์การประชาสังคม (CSO) จึงมีสถานภาพที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับมากกว่าองค์การเอกชน (NGO) ศูนย์ประสานงานภาคเอกชนแห่งชาติจึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนองค์การสมาชิกให้พัฒนาเป็นองค์การประชาสังคมโดยมีการบริหารจัดการที่ดีเป็นธรรมาธิบาล โปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของประชาชน
ประชาสังคมอิสลาม
มูฮัมมัด อับดุฮ (Muhammad Abduh, 1849 – 1905) นักปฏิรูปสังคมอียิปต์ยุคใหม่มองเห็นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมที่มี ต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอาหรับยุคใหม่ เขาได้เขียนไว้ว่า อันที่จริงปัจเจกบุคคลทุกคนเห็นความสำคัญของการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคมของชาติ แม้ว่ามุสลิมหลายๆ คนในปัจจุบันเชื่อว่าการเรียกร้องสู่การปกครองแบบอิสลาม (Caliphate) และการใช้กฎหมายอิสลามนั้นจะบั่นทอนผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งมูฮัมมัด อับดุฮ กล่าวอีกว่า ความคิดอย่างนั้นวางอยู่บนฐานความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเพราะนอกจากจะทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองแล้วยังเป็นการเปิดทางให้กับศัตรูของอิสลาม (จักรวรรดินิยมตะวันตก) เขาเห็นว่าบทบาทของประชาสังคมอิสลามนั้นมีมากกว่าบทบาทของรัฐบาล[9]
จอห์น โวล (Jonh Voll) เขียนไว้ว่า วิวัฒนาการของการจัดระเบียบสังคมแบบอิสลามเป็นการผสานเข้าด้วยกันระหว่างลักษณะปัจเจกบุคคลที่หลากหลายให้อยู่ในองค์กรเดียวกันไม่ว่าเขาจะร่ำรวยหรือยากจน เป็นผู้นำหรือผู้ตาม ชนชั้นนำหรือชนชั้นรากหญ้า กลุ่มทางสังคมจะไม่แบ่งแยกจากความเป็นตัวตน (เช่น เรื่องชนชั้น เรื่องศาสนาหรือรัฐ) ที่อยู่ระหว่างความเป็นปัจเจกและสังคมแห่งความศรัทธา ความสำนึกร่วมในความเป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติ (Ummah) กลายเป็นศูนย์กลางแห่งความสำนึก สำหรับมุสลิมซุนนีย์ส่วนใหญ่ ซึ่งความสำนึกนี้มีน้ำหนักและผูกพันมากกว่าการภักดีต่อรัฐใดรัฐเดียว วัฒนธรรมและกฎระเบียบทางสังคมช่วยทำให้โครงสร้างทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ในโลกอิสลามมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
อะหมัด มูสสัลลี (Ahmad Moussalli) ศาสตราจารย์ด้านการเมืองอิสลามจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงเบรุต กล่าวไว้ว่า แม้ว่าหลักคิดของประชาสังคม (Civil Society) จะเป็นตะวันตกที่ยัดเหยียดให้กับสังคมอื่นๆ เพื่อสังคมเหล่านั้นจะได้อยู่ภายใต้การควบคุมของตะวันตก ซึ่งนั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมดอย่างน้อยบทบาทการทำงานของประชาสังคมก็มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมากกว่าภาครัฐบาล[10]
ในประเด็นเดียวกันนี้ อะหมัด มูสสัลลี ได้ให้ข้อสังเกตอีกว่า หลักคิดของประชาสังคมซึ่งมีการพัฒนาเปลี่ยนผ่านจากสังคมตามธรรมชาติไปสู่สังคมพลเมืองหรืออยู่ในสถานภาพทางการเมือง จึงควรที่จะพิจารณาและอธิบายได้โดยทฤษฎีทางการเมืองโดยทั่วไป ในขณะที่ในเชิงปฏิบัติของหลักการศาสนานั้นยังมีข้อบังคับให้ทำหน้าที่ของประชาสังคมยังไม่เพียงพอ และไม่มีน้ำหนัก บทบาทและความพยายามของประชาสังคมในแนวคิดอิสลาม ยังมีปัญหาที่จะต้องให้ความหมาย และยังทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น การควบคุมและการเข้าใจผิดหยั่งรากลึกในบรรดานักการเมืองอิสลามและวัฒนธรรมการเมืองอิสลาม แม้ว่าสังคมอิสลามดั้งเดิมจะไม่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับองค์กรประชาสังคมอย่างที่เกิดในยุโรป แต่พวกเขาก็มีปัจจัยที่เอื้อและสถานภาพทีมีความจำเป็นในการพัฒนาประชาสังคมให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในการใช้ชีวิตในองค์กรประชาสังคมนั้น
รอชีด อัล-กันนูชี (Rachid al–Ghannouchi) จากพรรคอิสลามนะฮฎอ (Islamic al– Nahda Party) ประเทศตูนีเซีย ได้อธิบายลักษณะของประชาสังคม ไว้ว่า ประชาสังคมได้ถูกนำเสนอในลักษณะเหมือนกับเป็นการเผชิญหน้ากับรัฐตามธรรมชาติเป็นสำคัญ ซึ่งมนุษย์ในรัฐโดยธรรมชาติกล่าวกันว่าถูกครอบงำโดยภาวะอนาธิปไตย อำนาจการกดขี่และอิทธิพลมืด ฉะนั้นการเกิดขึ้นของประชาสังคมจึงเป็นการตกลงใจของปัจเจกบุคคล ซึ่งความคิดเช่นนี้ทำให้เกิดสมมุติฐานในทางทฤษฎีและการก่อร่างเป็นประเด็นทางการเมืองสำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการอิสลามยุคใหม่ในเรื่องของบทบาทของประชาสังคมและทิศทางที่ควรจะมุ่งไปภายใต้สภาพทางการเมืองที่ดีกว่า เช่น กรณีในปาเลสไตน์และอาณาบริเวณดังกล่าวทั้งหมดที่เกิดจากฐานพลังของความเป็นสมัยใหม่ ความมีเสถียรภาพและการพัฒนา
ตามแนวคิดของอะหมัด มูสสัลลี เขาคิดว่า สังคมอิสลามยุคแรกได้ถูกอ้างถึงในฐานะของประชาสังคมที่ภาษาอาหรับเรียกว่า al-Mujtama al-Madani พลเมืองหรือประชาสังคม Civil ในความหมายที่เป็นประชาคมที่มุสลิมได้สร้างความเป็นพันธมิตรกับเผ่าต่าง ๆ และตามเส้นเขตภูมิประเทศ เช่น ชาวยิว และชนชาติอื่นๆ ซึ่งทำให้มีโครงสร้างทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนาและแนวคิด[11] ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมถูกยอมรับไม่เพียงแต่ท่านศาสดาเท่านั้นแต่ยังปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญรัฐอิสลาม (ค.ศ. 622) โดยได้ระบุถึงสิทธิของประชากรที่ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยทุกๆ กลุ่มที่อาศัยอยู่ภายใต้ กฎหมายและบทบัญญัติของตนเอง โดยดำเนินกิจการของพวกเขาเอง ตราบใดที่ไม่เป็นอริต่อรัฐ แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งผลมาจากการสถาปนารัฐอิสลามครั้งแรก จึงถูกเขียนขึ้นมาเพื่อยุติการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิของมุสลิมยิวและสังคมอื่น ๆ ที่ยังไม่ศรัทธาในพระเจ้าที่อยู่ในนครมดีนะฮ์
ประชาสังคมอิสลาม สื่อกลางทางสังคม
บทบาทของสื่อกลางทางสังคม (Social Intermediary) ในประวัติศาสตร์อิสลาม ประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคมมากกว่าหนึ่งภาคส่วนและทุกภาคส่วนก็ยึดมั่นอยู่กับคำสอนของอัล-กุรอานและหลักคิดของ Hisba ที่ว่าด้วยเรื่องของหน้าที่ในการชักชวนกันในการดี และห้ามปรามกันในการชั่ว ซึ่งทั้งในด้านของคุณธรรมและทางการเมืองที่ให้ภาคประชาสังคมปฏิบัติได้ทั้งในทางสังคมและในทางการเมือง องค์กรอิสลามหลายๆ องค์กรในทางสังคมอย่าง al-Mujamma al Islami ในปาเลสไตน์ ก็ยึดแนวการกำหนดองค์กรในลักษณะเดียวกัน
ความสำคัญของบทบาทของสื่อกลางทางสังคม (Social intermediary) ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามที่มีความแตกต่างกันของตัวแสดงบทบาทสำคัญที่สามารถจะเลียนแบบโดยถูกต้องตามกฎหมายของรัฐในภาคของประชาสังคม และไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐในเรื่องของบทบาทในการพิจารณาคุณภาพของสังคมให้ดีขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้ภาครัฐมาแทรกแซงหรือโยงใยอยู่ข้างหลัง [12]
ความชอบธรรมในทางกฎหมายและความเป็นศูนย์กลางของภาคประชาสังคมในประวัติศาสตร์อิสลามได้ปรากฏบทบาทที่ชัดเจนโดยผ่านบทบาทของนักกฎหมายอิสลาม ที่มีบทบาทที่ทรงอิทธิพลในฐานะตัวกลาง (Intermediary Role) ที่สำคัญในการนำเสนอปัญหา ข้อข้องใจและความต้องการของประชาชนต่อหน้าผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าแบบอย่างของอิสลามที่นำมาโดยท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) นั้น ไม่มีสถานะของพระหรือสถาบันนักบวชในอิสลามและภายหลังจากการวาฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ)ไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งของท่านศาสดาหรือใช้อำนาจของศาสนาในทางสังคม ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ทำการศึกษา และเชี่ยวชาญ ในอัล-กุรอานและอัลฮาดิษโดยเฉพาะในขณะที่กฎหมายอิสลามได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอิสลามซึ่งทำให้รูปแบบของสถาบันทางศาสนาปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับบรรดานักวิชาการกฎหมายอิสลามและผู้พิพากษา (กอฎีย์) จนกระทั่งในท้ายที่สุดก็เกิดสถาบันและสำนักคิดต่างๆ ทางกฎหมายของบรรดานักปราชญ์อิสลาม (อุลามาอ์) ผู้พิพากษาและครูผู้สอนศาสตร์ของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแรกของราชวงศ์อับบาสียะฮฺ (ค.ศ. 749-1258) การที่กฎหมายอิสลามกลายเป็นศูนย์รวมความสนใจและมีบทบาทในเชิงประวัติศาสตร์ทำให้ผู้รู้ชั้นนำที่มีความโดดเด่นให้ความสำคัญในการพัฒนาการ การตีความ การบังคับใช้และการสอนกฎหมายอิสลาม อันเป็นกฎหมายที่รวบรวมไม่เพียงแต่ในคำจำกัดความของศาสนา (religious) แต่ครอบคลุมในทุกแง่มุมในวิถีชีวิตของผู้ศรัทธา[13] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยกระบวนการตามหน้าที่ของผู้ปกครอง แต่ทว่าโดยส่วนใหญ่เป็นขอบเขตหน้าที่ของภาคประชาสังคมซึ่งผ่านการวินิจฉัยโดยผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิในอิสลาม หรืออุลามาอ์ (Ulama)
โดยภาคทฤษฎีแล้วผู้รู้หรืออุลามาอ์ คือ ผู้ที่ในท้ายที่สุดแล้วเป็นผู้บริหารจัดการและทำให้เกิดสำนักคิดทางกฎหมายต่างๆ ขึ้น อุลามาอ์เหล่านี้เป็นผู้ที่ดำเนินบทบาทที่สำคัญในกิจการของรัฐ โดยเป้าหมายหลักไม่ได้เพื่อการปกครองรัฐ แต่เพื่อการกำหนดกฎหมายขึ้นและบังคับใช้ (โดยการวินิจฉัยลงความเห็นหรือฟัตวาในประเด็นปัญหาต่างๆ) และในทางกลับกันจะให้ความสะดวกในการใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะฮฺ) เพราะว่าอุลามาอ์เหล่านั้นได้รับประเด็นที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยทางกฎหมายมาจากภาคประชาสังคมไม่ใช่มาจากภาครัฐหรือผู้ปกครอง ฉะนั้นบทบาทของพวกเขาไม่ใช่เพียงแต่ เรื่องกฎหมายแต่ยังมีเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและภายใต้การบรรลุถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยอำนาจอธิปไตยของรัฐ ซึ่งหากพิจารณาจากหลักการดั้งเดิมแล้วนักวิชาการศาสนาจะมีบทบาท 2 อย่างคือ ผลักดันการปกครองที่กฎหมายมีอำนาจ (ตราบใดที่ตัวแทนของพวกเขาให้ความเคารพต่อกฎหมายชารีอะฮฺในการทุก ๆ ด้านของสังคมและอนุญาตให้ผู้ทรงความรู้ถ่ายทอดถึงประชาชน) และในขณะเดียวกันก็ปกป้องประชาชนให้พ้นจากการกดทับและการใช้อำนาจอย่างเกินเลยโดยระบบการเมือง
มูนีร ซาฟิก (Munir Shafiq)[14] ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่านับตั้งแต่ยุคของราชวงศ์อุมัยยะฮฺ (ค.ศ.661-749) ได้เกิดช่องว่างระหว่างฝ่ายหนึ่งคืออุลามาอ์และศาสนา กับอีกด้านคือผู้ปกครองและรัฐ ในท้ายที่สุดทั้ง 2 ฝ่าย ก็แยกห่างจากกัน นับตั้งแต่นั้นมาจนกระทั้งถึงราชวงศ์อุษมานิยะฮฺ (อาณาจักรออตโตมัน) จวบจนสิ้นสุดอาณาจักรอิสลาม แม้จะมีบ้างบางยุคสมัยที่ช่วงห่างได้ถูกดึงเข้ามาชิดกันเช่นยุคสมัยของคอลีฟะฮฺ อุมัร บินอับดุลอาซีซ ในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮฺ แต่หลังจากนั้นก็กลับไปสู่สภาพเดิมอีกครั้ง ผู้ปกครองหลายคนถูกมองว่าเป็นผู้ระรานและยึดครองสำหรับอุลามาอ์ผู้ทรงความรู้นั้นกลับกลายเป็นผู้ที่ประชาชนหวังพึ่งพิงในทุกปัญหาและทุกวิกฤตของ ประชาชาติ เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขารู้สึกกดดันและหมดหวัง ซึ่งในบางรูปแบบของการยอมรับกันระหว่างอุลามาอ์และผู้ปกครอง เสมือนกับเป็นข้อตกลงระหว่างกันเป็นข้อสัญญาโดยพฤตินัยระหว่างอุลามาอ์และผู้ปกครอง อุลามาอ์ก็จะไม่เป็นปฏิปักษ์หรือกบฏต่อผู้ปกครอง แม้ว่าในบางครั้งพวกเขาจะไม่เห็นด้วยและไม่ลงรอยกันจนแยกออกจากกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ปกครองและอุลามาอ์ (ศาสนา)
ในขณะเดียวกันพวกก็จะไม่อภัยต่อพฤติกรรมละเมิดต่อหลักธรรมศาสนา ดังนั้น พวกเขาก็จะให้ความสำคัญต่อความพยายามแสดงบทบาทเป็นศูนย์กลางในสถานะของนักการศาสนาของสังคม โดยบทบาทดังกล่าวนี้เองที่อุลามาอ์กลายเป็นปราการสุดท้าย ที่คอยให้การปกป้องดูแลประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตต่างๆ และในยามที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สถานะของอุลามาอ์จึงเป็นสถานะที่ถูกยอมรับจากสังคมแต่อาจจะไม่ใช่จากรัฐบาล ผู้ปกครองหรือภาครัฐ พลังอำนาจของอุลามาอ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกป้องคุณธรรม และจริยธรรมสาธารณะ (โดยส่วนรวม) จึงขึ้นอยู่กับจำนวนของประชาชนผู้ที่ให้การสนับสนุนไม่ใช่ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งในทัศนะของบรรดาอุลามาอ์ไม่มีอิทธิพลใดๆ ที่มีอำนาจต่อความคิดเห็นของพวกเขา กฎหมาย โดยธรรมชาติแล้วก็คือ กฎเกณฑ์ของพลเมืองกันเองซึ่งเกิดขึ้นจากการมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างปัญญาชนผู้ทรงความรู้ที่รู้อย่างชัดแจ้งถึงคุณค่าและความสามารถที่แตกต่างกันของประชาสังคม แม้ว่าในบางครั้งจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เลวร้ายทางการเมืองก็ตาม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่หลายๆ ครั้งผู้ปกครองได้บังคับใช้นโยบาย โดยเจตจำนง (Will) ของพวกเขาต่อประชาชนที่ไม่พึงประสงค์ แต่ทว่าสิทธิในการออกกฎหมายทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติยังอยู่กับสังคม แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอุลามาอ์กับผู้ปกครองจะถูกวางในลักษณะเฉพาะช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งในตลอดช่วงเวลา 1,400 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในความเป็นจริงส่วนใหญ่ของลัทธิทางการเมืองและประเด็นทางศาสนาจะถูกบัญญัติขึ้นมาได้ จะต้องห่างไกลจากการเข้ามาแทรกของผู้ปกครอง เมื่อไหร่ที่ความคิดทางกฎหมายของบรรดานักวิชาการถูกยอมรับภายในสังคมในวงกว้างและกลับกลายเป็น ส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายของสังคมที่รัฐบาลจะต้องให้เกียรติและทำให้มีการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนั้น จากทัศนะของ อัล-กันนูซี, ชาฟิก และคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลามนั้น อัล-กุรอานและความประสงค์ของสังคมอยู่เหนือกว่าความต้องการของผู้ปกครอง รัฐจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม การกำหนดกฎหมายยังคงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบองบรรดาปัญญาชนนักนิติศาสตร์อิสลาม นอกจากนั้นอำนาจของผู้ปกครองได้ถูกจำกัดโดยกฎหมายชะรีอะฮฺ ผู้ทรงคุณวุฒิและการเห็นพ้องโดยสมบูรณ์ (Ijma) เป็นช่วงเวลาที่ความช่วยเหลือขององค์กรต่าง ๆ ในสังคม (เช่น สาธารณชน ตุลาการ การศึกษาและวัฒนธรรม) ควรได้รับช่วยเหลือจากองค์กรศาสนสมบัติ (Awqaf) จึงสามารถที่จะดำรงอยู่ได้อย่างค่อนข้างมีอิสรภาพจากครอบงำของฝ่ายรัฐ[15]
นี่เป็นช่วงเวลาหนึ่งของประสบการณ์ในแบบอิสลามเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมที่ทำให้สังคมมีขอบเขตของอำนาจ การจัดองค์กร และความพอใจส่วนบุคคล ซึ่งคอลิด ซิยาดา (Khalid Ziyada) นักสังคมวิทยาชาวเลบานอน เห็นว่าการแบ่งแยกระหว่างการเมืองและศาสนาออกจากกันจะนำไปสู่ความสอดคล้องกับรูปแบบการทำหน้าที่ทีมีความแตกต่าง ขณะที่ภาครัฐกำหนดให้รับผิดชอบสำหรับงานที่มีความเฉพาะ เช่น การเก็บรวบรวมภาษีและการรักษาระเบียบทางสังคม สำหรับภาคประชาสังคม (โดยผ่านสถาบันทางศาสนา) โดยเน้นการเตรียมการในการให้บริการและผลิตวัฒนธรรมของอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) ทั้งสองส่วนจะไม่ก้าวก่ายอีกฝ่ายแต่จะติดต่อกันโดยพึ่งพาอาศัยกัน แต่อย่างไรก็ตามพร้อมกับการเข้ามาของจักรวรรดินิยมยุโรปที่เข้ามายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกอาหรับและโลกอิสลาม (โดยผ่านการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นสมัยใหม่และการรณรงค์สู่การเป็นรัฐโลกวิสัย) และการปรากฏขึ้นของรัฐยึดครองสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 19 และทศวรรษที่ 20 สังคมของประชาชนในแบบจารีตอิสลามและสถาบันที่มีคุณลักษณะจารีตนิยม (พื้นที่ที่เป็นพื้นที่กลางในแบบจารีตซึ่ง อัล-กันนูซี ได้อ้างว่าเป็นพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นก่อนสังคมประชาธิปไตยในโลกอาหรับ) ได้ถูกทำลายพร้อมกับการขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดภายในของรัฐชาติ
การแบ่งแยกอำนาจระหว่างผู้ปกครองและผู้รู้หรืออุลามาอ์อิสลามได้ยุติไป ดังเช่นการปฏิบัติในการแสดงหน้าที่ที่แตกต่างระหว่างการเมืองและศาสนาในทางสังคม ตัวอย่าง เช่นภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมองค์กร ศาสนสมบัติ (Awqaf) และสถาบันการศึกษาอิสลามในประเทศอาหรับและประเทศอิสลามหลายๆ ประเทศจะอยู่ภายใต้รัฐบาลและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐซึ่งไม่ได้มีความเป็นอิสระของสถาบันเอง ชาฟิก กล่าวว่าการทำลายเกิดขึ้นอย่างมากเกิดขึ้นภายหลักการได้รับเอกราชและการขึ้นมามีอำนาจของผู้ปกครองมุสลิมที่มีแนวคิดเซคิวลาร์ที่จัดการให้องค์กรและสถาบันศาสนาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
แต่อย่างไรก็ตาม เมียร์ ฮาติน่า (Meir Hatina) เห็นว่า สถาบันต่างๆ เหล่านี้พยายามรักษาหลักวิถีแห่งเอกภาพระหว่างศาสนาและการเมืองเอาไว้ ซึ่งกลับกลายเป็นแนวคิดของการฟื้นฟู Raison d'être ของศตวรรษที่ 20 ในภาพของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม ซึ่งเปลี่ยนจากความศรัทธาสู่การประยุกต์สู่การใช้ในสังคมการเมือง โดยเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปและหากมีความจำเป็นก็อาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ดังที่ปรากฏในโลกตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิเซคิวลาร์ โบสถ์ ศาสนา และรัฐ มีความมั่นคงอยู่ตามข้อตกลงในหน้าประวัติศาสตร์ปล่อยให้โบสถ์และการช่วยการกุศล การศึกษาและสถาบันสื่อที่มีอิสระ สำหรับผู้นำเซคิวลาร์ ในโลกมุสลิมนั้นจะไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการก่อตั้งไม่ว่าสถาบันใดที่เกี่ยวกับอิสลาม นอกจากนั้นแล้ว พวกเขาจะหาทางขจัดผู้มีแนวคิดอิสลามหรืออย่างน้อยก็แช่แข็งพวกเขาไว้ไม่ให้มีโอกาสเติบโต ดังนั้น องค์กรศาสนาจึงกลับกลายเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ปกครองใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของพวกเขาเอง สำหรับอุลามาอ์นั้น อัล-กันนูซี กล่าวว่า สามารถที่จะเลือกได้ระหว่างการยอมรับอำนาจโครงสร้างการปกครองใหม่ซึ่งเต็มเปี่ยมเรื่องความปลอดภัยและอิสรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาหรือไม่ก็เลือกที่จะเดินในทางตรงข้ามกับผู้ปกครองเหมือนกับที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ได้ต่อสู้อยู่ในอียิปต์
จากความไร้ความสามารถในการรักษาความเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ ทำให้ความเป็นองค์กรประชาสังคม ซึ่งเดิมเป็นบทบาทของอุลามาอ์และประชาชน ก็ถูกแทนที่ด้วยกับระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยฝ่ายปกครองจนไม่สามารถกู้คืนกลับมาอีกเลย ประชาสังคมก็เลยถูกปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ดังคำกล่าวของนาวาฟ สลาม (Nawaf Salam) เอกอัครราชทูตของเลบานอนประจำสหประชาชาติที่ว่า อะไรที่ถูกเรียกร้องจากสังคมไม่มีสิ่งใด นอกเสียจากการปลดระวางตนเอง จากภาระทางสังคม โดยการให้สิทธิทางการเมืองในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อความยุติธรรมทางสังคมและเกียติยศแห่งชาติ ที่ถูกบังคับโดยระบบของรัฐบาล
อุปสรรคสำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกอาหรับให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่มีเพียงอิทธิพลของคนนอก (ต่างชาติ) เท่านั้น แต่ทว่าเกิดขึ้นกับนักคิดในวงการเคลื่อนไหวอิสลามเช่นกัน อัล-กันนูซี กล่าวว่า กลยุทธ์การใช้ปฏิบัติการรุนแรงที่ถูกใช้โดยกลุ่มอิสลามในช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 เป็นความล้มเหลวและพวกเขามีความขัดแย้งกันอย่างมากในเรื่องของหลักคิดที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปในแนวคิดอิสลามเหมือนๆ กับนักคิดในโลกเซคิวลาร์เช่นกัน อัล-กันนูซี กล่าวถึงการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อโครงสร้างทางสังคมยุคใหม่ตามรูปแบบทางศาสนาโดยสมบูรณ์นั้น เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองและสังคม อัล-กันนูซี ปฏิเสธต่อรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารซึ่งสนับสนุนโดย ซัยยิด กุฏบ เขามีทัศนะว่านั่นเป็นแนวทางที่ผ่านพ้นไปในอดีตและไม่เหมาะที่จะนำมาประยุกต์ในสภาพที่เป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม อัล-กันนูซี มองว่าการเกิดขึ้นของแนวคิดตกขอบทั้งหมดนั้นไม่ได้มีรากเหง้ามาจากอิสลามแต่ทว่าเป็นภาคผลของสภาพและสถานการณ์ทางการเมืองที่กดดันในช่วงเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ในสภาพที่เปิดมากขึ้นทางการเมือง แนวคิดอิสลามที่สุดโต่งจึงได้ลดความรุนแรงลง อัล-กันนูซี และนักคิดอิสลามหลายๆ คนอย่างเช่นประธานอุลามาอ์อิสลามและคณบดีของคณะชารีอะฮฺ มหาวิทยาลัยแห่งชาติกาตาร์ เชค ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ และนักเคลื่อนไหวชาวอียิปต์ กามาล ฮาบีบ ได้เรียกร้องให้ประเมินค่าและตีความใหม่ในเรื่องธรรมชาติของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ภายใต้กรอบของอิสลามที่สามารถเป็นหลักอ้างอิงและยึดถือได้ นั่นก็คือการเคลื่อนไปจากทศวรรษที่มีอิทธิพลครอบโดยการเมืองที่โน้มนำด้วยการฟื้นฟูสังคมและรัฐธรรมนูญของอิสลามเพื่อที่จะปูพื้นฐานของการปฏิรูปสู่อิสลาม ไม่ว่าจะในด้านศีลธรรม จริยธรรม การฟื้นฟูการศึกษาของปัจเจกบุคคลและโครงการเชื่อมต่อทางศีลธรรมจรรยาและอารยธรรม พวกเขามองว่าแนวทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีความเป็นไปได้เพียงแต่ในสังคมสื่อกลาง (Intermediary Social) และเขตพื้นที่กลางทางวัฒนธรรม (Cultural Spaces) ระหว่างผู้ปกครองรัฐ พนักงานการเมืองและส่วนบุคคลที่อนุญาตให้กลุ่มแนวคิดอิสลามเข้ามาร่วมอยู่ ในสังคม พหุวัฒนธรรมของประชาสังคมยุคใหม่เท่านั้น
นอกจากนั้น จอห์น เอสโปซิโต้ (John Esposito) ยังมีความเห็นว่า จากความล้มเหลวของรัฐเซคิวลาร์ในโลกมุสลิมยุคใหม่ในด้านของการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดแรงบวกที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูอิสลามกลับมา เพื่อเป็นแนวทางเลือกที่สามในการแก้ปัญหาของประชาชาติอิสลามท่ามกลางความล้มเหลวของแนวทางทุนนิยมและแนวทางคอมมิวนิสต์ที่เป็นกระแสหลักทั้งสองแนวทาง[16]
เอสโปซิโต้พูดถึงสถานภาพของการเคลื่อนไหวอิสลามในโลกอิสลาม กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้จะมีสมาชิกหลักส่วนใหญ่นั้นเป็นคุณรุนใหม่ที่มีการศึกษาและมีความเป็นมืออาชีพ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มของนักศึกษาจากชนชั้นกลางระดับล่าง กลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกกดดันจากการถูกตัดสิทธิในทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองโดยรัฐ พวกเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดอิสลามที่มีรากฐานการเกิดในสังคมสมัยใหม่ และมีความพยายามในทางสังคม และการเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนสังคมหรือระบบการปกครองให้มีความเป็นอิสลามมากขึ้น ในกลุ่มคนที่มีแนวคิดอิสลามเหล่านี้ มีกลุ่มเล็กๆ แต่ทรงอิทธิพล ที่มีแนวคิดการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงทำให้บางส่วนของพวกเขากลับกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธ หันกลับมาใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะล้มล้างรัฐบาลยึดอำนาจและจัดระเบียบสังคมอิสลามเข้าไปในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มแนวคิดอิสลามส่วนใหญ่นั้นยังมีแนวคิดในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในสังคมโดยสันติวิธีในรูปแบบขององค์กรภาคประชาสังคม
บรรดานักคิดร่วมสมัยคนสำคัญ [จากซ้ายมาขวา, บน: ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์, รอชีด อัล-กันนูชี และ จอห์น เอสโปซิโต้ (ท่านนี้เป็นนักวิชาการคาทอลิกที่เชี่ยวชาญอิสลามศึกษาคนสำคัญ) ล่าง: กามาล ฮาบีบ, มูนีร ซาฟิก และอะหมัด มูสสัลลี]
ในกลุ่มคนที่มีแนวคิดอิสลามส่วนใหญ่ที่รักสันติวิธี ได้นำเอายุทธศาสตร์ของการปรับเปลี่ยนสู่อิสลามไปใช้ในสังคมซึ่งเริ่มจากจุดที่ควบแน่นไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนในกิจกรรมทางสังคมและในท้ายที่สุดกลุ่มเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนหลักในสังคมและเป็นกลุ่มที่ดำเนินการหลักขององค์กรภาคประชาสังคมในลักษณะที่เป็นองค์กรมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พวกเขามีความสามารถจัดตั้งองค์กรและสถาบันภาคประชาสังคมของพวกเขาเอง ตัวอย่างเช่น องค์กรการกุศลในลักษณะเดียวกันที่จัดตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล คลินิก มัสยิด ศูนย์ให้คำปรึกษา (Day Care Center) ชุมนุมเยาวชน ชมรมช่วยเหลือทางกฎหมาย ชุมนุมเรียนภาษาต่างประเทศ โรงเรียน ธนาคาร โครงการยาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ และสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งองค์กรเครือข่ายเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นแก่นหลักของภาคประชาสังคมในประเทศมุสลิม
องค์กรความร่วมมือส่วนบุคคลอิสลามเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ในการเติมเต็มข้อบกพร่องของภาครัฐ พวกเขาจะทำการวิพากษ์ต่อการบริหารจัดการและการให้บริการที่ผิดพลาดและบกพร่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความไม่เอาใจใส่ของภาครัฐต่อประชาชนในฐานรากของสังคมและการเปลี่ยนแปลงสู่การยกระดับคุณภาพของสังคมให้มีความสะดวกสบายในทุกพื้นที่ของสังคม
นอกจากนี้แล้วประชาสังคมอิสลามเหล่านี้ยังเอาใจใส่ในการบริหารจัดการเรื่องความรู้สึกร่วมกันของสังคม เช่น ในเรื่องจิตสำนึกร่วมในเรื่องความเชื่อและศาสนา ให้อยู่ในระดับที่มีดุลยภาพและยุติธรรม ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ประชาสังคมอิสลามชนะใจของประชาชน และส่งผลต่อการให้การสนับสนุนและลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอิสลามที่อยู่ในระดับสูงในหลายๆ ประเทศมุสลิม ทำให้ประชาสังคมอิสลามกลายเป็นที่พึ่งและความหวังให้แก่ประชาชนที่ยากไร้และตกงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนชั้นกลางของสังคมในหลายๆ ประเทศ [17]
ประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้
การเกิดขึ้นของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้นั้น เกิดขึ้นจากบรรดาปัญญาชนจากพื้นที่ชายแดนใต้ที่ขึ้นไปศึกษาอยู่ในส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร ในช่วงการเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา (โดยช่วงสันติระหว่าง ปี 2516-2519) แม้ว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรโดยนักศึกษาและประชาชนในช่วงเวลานั้น จะไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับฐานะที่ถาวรของภาคประชาสังคมหรือผลักดันให้มีกระบวนการทางการเมือง ที่ยอมรับบทบาทการมีส่วนร่วมของฝ่ายประชาชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนั้นจึงออกมาในรูปแบบของการชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องๆ ควบคู่กับการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ประท้วงกับฝ่ายรัฐ[18] ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็มีเหตุการณ์การลุกขึ้นมาประท้วงที่ปัตตานี ในปี 2518 ที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยกลุ่มพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากกลุ่มนิสิตนักศึกษา ไทยมุสลิม (กรุงเทพฯ) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มสลาตัน เป็นแกนนำในการประท้วง กรณีฆาตกรรมที่สะพาน กอตอ อ.สายบุรี[19] นอกนั้นแล้วยังมีองค์กรภาคประชาชนที่ก่อตั้งในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่เน้นบทบาทเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชน ต่อมาก็พัฒนาความรับผิดชอบที่จริงจังและกว้างขวางขึ้น จนกระทั่งเป็นศูนย์ของเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งมีสาขาที่ดูแลเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามของสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา
จากความเห็นของ เสกสรร ประเสริฐกุลมองเห็นว่า การเติบโตของแนวคิดประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทยเพิ่งมาถึงจริง หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ระบบการเมืองไทยเริ่มเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย และขยายตัวมากขึ้นหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น พ.ศ. 2532[20] ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2526 ได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนเพิ่มขึ้น และเข้าสู่ชนบทมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนกลางก็มีการเชื่อมรวมเป็นเครือข่ายในพื้นที่ภูมิภาคและเครือข่ายตามประเด็นที่สนใจไปทั่วประเทศ
บทบาทของภาคประชาสังคมชายแดนใต้
นับตั้งแต่เริ่มต้นของการเกิดขึ้นของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ แม้จะไม่เป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งโดยมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กลุ่มสลาตัน และกลุ่มต่อต้านการวางท่อก๊าซ แต่ก็มีความเด่นชัดในเรื่องของบทบาทในการเรียกร้องเรื่องของสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า บทบาทที่สำคัญของกลุ่มประชาสังคม ก็คือ 1) เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน 2) เพื่อเป็นปากเสียงแทนประชาชนในยามที่มีปัญหาและ 3) เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งจากบทบาทการเรียกร้องในบริบทของความขัดแย้งอาจเรียกว่า “ประชาสังคมแบบขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม”
อีกรูปแบบของบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมคือ บทบาทในการให้องค์ความรู้ในเรื่องของการดำเนินในวิถีของศาสนา อบรมจริยธรรม เช่น ค่ายอบรมเยาวชน เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในทางสังคมรวมกลุ่มประชุม สัมมนา พาดูงาน หัวใจสำคัญในการทำงาน ยุคบุกเบิกจึงมีลักษณะของการหนุนเสริมให้เกิดการจัดการชีวิตสาธารณะกันเองของประชาชน ไม่ให้ความสนใจในการร่วมมือกับรัฐ หรือระบบราชการ รวมทั้งภาคีอื่นๆ ดังที่มีคำกล่าวว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” การทำงานดังกล่าวนี้จึงมีลักษณะของการใช้พื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งค่อนข้างชัดเจน หรือมีลักษณะ “ประชาสังคมแบบชุมชนนิยม” เช่น สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยและเครือข่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์กรอื่นๆ อีกหลายๆ องค์กรที่เกิดขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ตาม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ก็มีการพัฒนาบทบาทขององค์กรในการแก้ปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกับองค์กรจากส่วนกลางหลายๆ องค์กร
ในช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2533 จนกระทั่งปี พ.ศ.2540 มีองค์กรในภาคประชาชนเป็นจำนวน 8,000 กว่าองค์กรในประเทศไทย โดยมีการเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านและเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ยากจนและประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนายทุน ซึ่งองค์กรลักษณะอย่างนี้มีปรากฏขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซียของชาวจะนะ จังหวัดสงขลา[21]
จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง ทำให้องค์กรต่างๆ ได้มีการปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กร บางส่วนก็มีการเพิ่มขยายพันธะกิจขององค์กรให้สอดคลองกับปัญหาของสังคมในขณะนั้น ซึ่งพบว่าองค์กรภาคประชาสังคมอย่างสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้มีการเพิ่มขอบข่ายงานไม่ว่าปัญหาเรื่องการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ การบำบัดผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ประสานงานสังคมสันติและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเน้นพื้นที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก[22]
ในปี พ.ศ. 2541 คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ได้มีโครงการส่งเสริมให้มีประชาคมจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยมูลนิธิพัฒนาไทยและสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ได้ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนงานภาคประชาชนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมร้อยกลุ่มคนจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ มาร่วมกันดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ร่วมกัน และเกิดการขยายผลสู่การดำเนินงานประชาคมจังหวัด ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พัฒนาการขององค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้มีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการสิ้นสุดสงครามเย็นหลายๆ องค์กรถูกจัดตั้งขึ้นมา มีการก่อร่างทั้งองค์กรทางวัฒนธรรม องค์กรด้านสาธารณสุข องค์กรด้านปกป้องสิ่งแวดล้อม ประมงชายฝั่ง บำบัดยาเสพติด และองค์กรด้านพิทักษ์สิทธิมนุษยชน อย่างเช่น มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “บ้านชีวิตใหม่” เครือข่ายชุมชนศรัทธา สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ เครือข่ายชุมชนศรัทธา และโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
บทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในฐานะของผู้ถ่ายทอดความรู้วิทยาการและความสำนึกรักชุมชนมีมากขึ้นจึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้าไปมีบทบาทในชุมชนทั้งในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตอิสลาม มัสยิดและบทบาทการพัฒนาชุมชน สหกรณ์อิสลามและกองทุนซากาต สตรีมุสลิมกับบทบาทการสร้างครอบครัวมุสลิม ซึ่งต่อมามีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ก่อตั้งมาที่หลังเข้ามาร่วมด้วยพร้อมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จากส่วนกลาง โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างชุมชนต่างๆกับองค์กรต่างๆ ในรั่วมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นเป็นเพราะองค์กรภาคประชาสังคมมีความใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจค่อนข้างสูงจากชุมชน
แต่อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ในปี พ.ศ. 2547 ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งใหม่มีความต่อเนื่องและทวีความรุนแรงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบไปง่ายๆ ผู้ประสบผลกระทบจากเหตุการณ์ขยายวงยิ่งกว้างออกไปทุกที่ แม้แต่ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับเหตุความขัดแย้งก็ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จึงเกิดองค์กรภาคประชาสังคมเป็นจำนวนมากที่จะเข้ามาดูแลและรักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะประชากรของรัฐของประชาชน นอกจากนั้นยังมีองค์กรเป็นจำนวนมากที่เข้ามาเพื่อดูแลเยียวยาผู้ประสบผลกระทบจากเหตุความรุนแรง และยังมีบางกลุ่มของภาคประชาสังคมที่มีบทบาทในการให้ความคิดและองค์ความรู้ในการจัดการความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและนำการแก้ปัญหาเชิงสันติวิธีเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพที่ถาวรต่อไปในอนาคต
องค์กรต่างๆ ที่เกิดในช่วงนี้ตัวอย่างเช่น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมชายแดนใต้ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิซีเมนต์ไทย ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล สถาบันอัสสลาม ศูนย์อัล-กุรอานและภาษา ภายใต้การสนับสนุนของโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปัตตานี ศูนย์ประชาสังคมจังหวัดยะลา เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ เครือข่ายวิทยุชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือการเกิดขึ้นขององค์กรเครือข่ายที่รวบรวมองค์กรเล็กๆ เข้าอยู่ด้วยกันอย่างเช่น องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ศูนย์สอนตาดีกา คณะกรรมการอิสลาม ซึ่งองค์กรเหล่านี้รวมตัวกันเพื่อที่จะพัฒนาองค์กรและโรงเรียนให้ไปในทิศทางเดียวกัน และมีเอกภาพ มีน้ำหนักในการนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางในการพัฒนาและแก้ปัญหาชายแดนใต้ต่อผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของประเทศ ในช่วงเวลาเหล่านี้กลุ่มประชาสังคมมีการเคลื่อนไหวและกระจายกันรับผิดชอบในบริบทขององค์กร เข้าสู่ชุมชน และเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่อย่างไรตามบทบาทในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ยังคงเป็นกลุ่มปัญญาชน นักศึกษาและชนชั้นกลางในเขตเมือง ในช่วงแรกของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบประชาชนจากพื้นที่รอบนอกน้อยมากที่จะร่วมในการผลักดันกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่
แต่ในช่วง 5 ปีหลัง จึงมีกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ที่ก่อตัวกันเป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานอาสาช่วยเหลือผู้ประสบผลกระทบจากความไม่สงบ โดยที่พวกเขาเหล่านั้นเองเคยเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ได้รับผลกระทบมาก่อนเช่น เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) กลุ่มยุติธรรมทางเลือก มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กลุ่มลูกเหลียง กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายครูตาดีกาชายแดนใต้ เครือข่ายโต๊ะอีหม่ามชายแดนใต้ และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉะนั้นบทบาทของประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น มีตัวแทนของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งที่กล้าที่จะออกมาร่วมและหาทางช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องของเขาเองในชุมชน จึงเป็นแนวโน้มที่ดีในการขยายไปสู่ชุมชนและประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป
สำหรับบทบาทขององค์กรจากนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตัวเองของชุมชนในพื้นที่และกำหนดประเด็นหลักในการขับเคลื่อนทั้งในระดับกลางและระดับรากหญ้าโดยการเชื่อมต่อกับองค์กรภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เชื่อมโยงกับชุมชนต่างๆในจังหวัดชายแดนใต้อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า มูลนิธิเฟรดริก มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติแห่งประเทศไทย (UNDP) โครงการฮารับปัน กำปง ภายใต้การสนับสนุนของ The Kenan Institute Asia โครงการสะพานภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ USAID สหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เป็นต้น
สภาประชาสังคมชายแดนใต้
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่มีชื่อเป็นภาษามลายู (รูมี) ว่า “Dewan Badan Masyarakat Madani Selatan Thailand” และชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Civil Society Council of the Southernmost Thailand” ก่อตั้งมาจากมติของที่ประชุมของนักพัฒนาอาวุโสและนักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในปี พ.ศ.2554 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการประสานและผนึกกำลังกันขององค์กรในภาคประชาสังคมที่มีภารกิจอันหลากหลายและมีฐานการทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จึงมีมติร่วมกันให้จัดตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขึ้นมาเป็นพื้นที่กลางและเป็นที่ประชุมพบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลระหว่างกันของเครือข่ายประชาสังคม[23]
อาจจะกล่าวได้ว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เกิดขึ้นจากความประสงค์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการผนึกกำลัง ร่วมกำหนดทิศทางและมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บนฐานของแนวทางสันติ ด้วยพลังความรู้สติปัญญา และพลังแห่งคุณธรรม นอกจากนั้นยังอาสาเป็นพื้นที่กลางให้ทุกกลุ่มประชาสังคมเข้ามารวมตัวกันทำงานอย่างหลวมๆ โดยมีทิศทางร่วมกัน ในขณะที่ภารกิจประจำของกลุ่มและองค์กรก็สามารถดำเนินไปตามวัตถุประสงค์เดิมโดยอิสระ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังเป็นพื้นที่ในการผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ในระดับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่ง ในบางประเด็นอาจจะมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวผลักดันอยู่แล้ว แต่ยังไม่เกิดผลมากเพียงพอ สภาประชาสังคมแห่งนี้ จะมีบทบาทในการกำหนดประเด็นร่วมและขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดการขยายผลออกไปในวงกว้างต่อไป ในการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจต้องต่อรองกับอำนาจรัฐและต่อรองกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในขณะเดียวกัน สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จะผลักดันให้แต่ละกลุ่มยกระดับประเด็นปัญหาเฉพาะที่แต่ละองค์กรทำงานอยู่ และมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ไปสู่การนำแนวทางของกลุ่มให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพอีกด้วย
นโยบายในปีแรกๆ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้มีการดำเนินการในนโยบาย 10 ประการอันได้แก่ สนับสนุนให้องค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายมีความเข้มแข็ง สนับสนุนให้มีเครือข่ายกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งมูลนิธิกองทุนชุมชน จัดทำฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับชายแดนใต้ให้เป็นปัจจุบัน สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดช่องทางการสื่อสารทั้งในระดับพื้นที่ นอกพื้นที่ และระดับสากล จัดให้มีสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการเมืองของจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการรับใช้ประชาชนและสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักการเมืองทั่วประเทศ ส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบงานยุติธรรม สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลักชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นฐาน และเป็นแกนขับเคลื่อน ส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนตามอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรม และสุดท้าย ร่วมกันดำเนินการผลักดันให้มีระบบการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบริหารจัดการตนเองได้จริง[24]
การทำงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นการร่วมใจกันทำงานจากหลายๆ ฝ่าย คณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 14 คนซึ่งเป็นส่วนมากเป็นมุสลิม ในขณะที่อีก 6 คน เป็นพุทธศาสนิกชน มีผู้หญิง 5 คน และมี 20 องค์กรสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลายได้เป็นอย่างดี กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ก็คือ สิ่งที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จะขับเคลื่อนในอนาคตจึงน่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยหากผ่านกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างถึงที่สุดภายในพื้นที่ชายแดนใต้
สำหรับองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมจัดตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้มี 20 องค์กรประกอบด้วย 1) สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร 3) สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย 4) มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ 5) มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ 6) ศูนย์อัลกุรอานและภาษา โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ 7) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล 8) สถาบันอัสสลามมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา 9) ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา 10) กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงาน เพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิซีเมนต์ไทย 11)ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 12) เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม เพื่อสันติภาพชายแดนใต้ 13) โครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี 14) ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “บ้านชีวิตใหม่” 15) ศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพ จังหวัดปัตตานี 16) เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ 17) เครือข่ายชุมชนศรัทธา 18) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (ปัตตานี) 19) ศูนย์ประชาสังคม จังหวัดยะลา และ 20) เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้มีกิจกรรมที่หลากหลายในทศวรรษที่ผ่านมา
บทบาทของสภาประชาสังคมชายแดนใต้การแก้ปัญหาชายแดนใต้
บทบาทในการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้
บทบาทภาคประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ จากบทสัมภาษณ์นายมันโซร์ สาและ คณะกรรมการของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการการขับเคลื่อนที่เริ่มมีการกล่าวถึงกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นผลจากการสัมมนาในหัวข้อ "ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งจัดโดย ศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า และ มูลนิธิเฟรดริก ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดย มีตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุม จากองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ พร้อมทั้งได้สรุปผลของการสัมมนาในประเด็นสำคัญ เช่น การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพ ลักษณะและประเภทของงานที่สภาประชาสังคมจะทำได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ ตัวอย่างงานที่ภาคประชาสังคมทำได้ในกระบวนการสันติภาพ ปัญหาบางอย่างที่ภาคประชาสังคมอาจต้องเผชิญในกระบวนการสสร้างสันติภาพ
การจุดประเด็นเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพและบทบาทภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพในการประชุมครั้งนั้นมันโซร์ สาและ เห็นว่ายังไม่มีกลุ่มประชาสังคมใดสามารถขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติได้ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก สภาพการณ์ที่แท้จริงของกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่ไม่มีการพูดคุยทิศทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต่างกลุ่มต่างก็ทำงานตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือองค์กรของตนเองเป็นหลัก นอกจากนั้น การจุดประเด็นบางประเด็นดังกล่าวเกิดจากกลุ่มหรือองค์กรภายนอก โดยไม่มีกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่สืบสานเจตนารมณ์อย่างจริงจัง[25]
นอกจากนั้นต่อมาได้มีการริเริ่มกระบวนการสันติภาพปาตานีภายใต้วาทกรรมและนวัตกรรมใหม่ “กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” (Pa[t]tani Peace Process in Asean context – PPP) ที่จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้และพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ถือเป็นการริเริ่มโดยประชาชนในพื้นที่จริงๆ และยิ่งได้รับการหนุนเสริมด้านวิชาการจากนักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติวิธีทั้งในและต่างประเทศตลอดจนการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากองค์กรภาคี ก็ยิ่งทำให้ บทบาทภาคประชาสังคมในพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพมีความชัดเจน
มากขึ้น
บทบาทของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการผลักดันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากจะเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพต่อสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี BRN-Coordinate ในช่วงปี 2556 ที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ร่วมกันของสังคมไทยแล้วสภายังแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการหนุนนำกระบวนการพูดคุยให้มีภาคผลที่ดีต่อการพัฒนากระบวนการไปสู่การเจรจาในลำดับต่อไปโดยปรากฏแถลงการณ์หลายฉบับที่ส่อนัยยะที่เป็นกลางและมีสติในนามของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่สื่อสารถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้[26]
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือบทบาทในการเป็นเวทีในการแบ่งปันข้อมูลของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธหรือมลายูมุสลิมในพื้นที่ โจทย์เรื่องการมีสื่อที่จะสามารถกระจายข่าวของคนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงโดยปราศจากมายาคติ กำลังจะเป็นบทบาทที่สำคัญในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ ซึ่งแน่นอนหากปราศจากช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ต่อให้ภาคประชาสังคมทำงานกันอย่างหนักก็ไม่อาจกระจายข่าวและรวบรวมความเห็นเชื่อมโยงระหว่างคนในเวทีเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ และสังคมไทยทั้งหมดได้
นอกจากนั้นสภาประชาสังคมยังมีบทบาทในการสร้างพื้นที่กลางในการพูดคุยเกี่ยวกับสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้โดยเป็นพื้นที่ในการนำเสนอองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ และบทเรียนจากทั่วโลกเพื่อให้ความรู้แก่ประชาคมและประคับประคอง ผลักดันให้กระบวนการสันติภาพสามารถดำเนินต่อไปได้ และยังเปิดพื้นที่เพื่อระดมความเห็นของประชาชนให้ถกกันในประเด็นเดียวกันกับเวทีเจรจาพูดคุยกันอยู่ “เป็นเวทีให้คนที่เห็นต่างกันในเรื่องเดียวกันได้คุยกัน มองหาความคิดใหม่ๆ จากเวทีนี้แทนที่จะรอแต่เวทีใหญ่ บางครั้งอาจจะนำเสนอบางเรื่องที่เวทีเจรจาใหญ่ไม่ได้คิดหรือสนใจด้วยซ้ำ”
จากพื้นที่กลางสภาประชาสังคมและประชาคมโดยรวมก็ได้รับรู้ถึงความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสันติภาพ และความต้องการของพวกเขาอยากได้และอยากเห็นอะไรจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพนั้นมานำเสนอหรือสะท้อนออกไป ทำให้กระบวนการเจรจานั้นมีความลุ่มลึกและ ขยายกว้างมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะคู่เจรจา สองฝ่ายเท่านั้น สภาประชาสังคมมีความคาดหวังว่าพื้นที่กลางในการพูดคุยจะต้องทำให้เป็น “ขบวนการ” และขยายไปในสังคมให้มากฝ่ายที่สุด “ในบางครั้งเมื่อการเจรจาสองฝ่ายสะดุดทำท่าจะล้ม เวทีข้างนอกคือเสียงที่จะกดดันให้คู่เจรจาหาทางเดินหน้าต่อไปให้ได้”
บทบาทในการขับเคลื่อนหลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สภาประชาสังคมชายแดนใต้มีบทบาทส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการจัดการตนเองของประชาชนและจัดให้มีการพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่สันติให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเห็นต่างได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมั่นใจแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์รับข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ถึงแม้นว่าการหาข้อยุติในรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับท้องถิ่นชายแดนใต้ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงใหญ่ แต่การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเช่นนี้ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
สำหรับภาคประชาสังคมชายแดนใต้ก็มองเห็นคล้ายๆ กันว่า แนวทางการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษน่าจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ "สภาประชาสังคมชายแดนใต้" จึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึง 200 เวทีในหัวข้อเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ โดยประมวลข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการการปกครองที่สอดคล้องกับพื้นที่และผู้คนในชายแดนใต้ที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้เป็น 6 แนวทาง และใช้เป็นเครื่องมือในการอภิปรายในเวทีดังกล่าว นอกจากนั้นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังจัดทำสรุปประเด็นสำคัญความต้องการของภาคประชาชนด้านการกระจายอำนาจที่ได้จากการจัด 200 เวที เพื่อเสนอต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนกิจกรรมการเสนอกฎหมายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้สามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามขั้นตอนและกติกาของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ทั้ง 6 รูปแบบหรือ 6 ทางเลือกมีดังนี้
ทางเลือกที่ 1 “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.” เป็นรูปแบบการปกครองพื้นที่ในปัจจุบัน คือ การบริหารการปกครองรูปแบบพิเศษในระดับภูมิภาค ครอบคุลมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล
ทางเลือกที่ 2 “ทบวง” มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง มีรัฐมนตรีทำหน้าที่ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองปลัดทบวง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนเดิม
ทางเลือกที่ 3 “สามนครสองชั้น” ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คงเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไว้
ทางเลือกที่ 4 “สามนครหนึ่งชั้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิก อบจ. เทศบาล และ อบต.
ทางเลือกที่ 5 “มหานครสองชั้น” รวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งเดียวและให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงยังคง อบจ. เทศบาล และ อบต.ไว้ดังเดิม
ทางเลือกที่ 6 “มหานครหนึ่งชั้น” รวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ยกเลิกองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด[27]
รายงานสังเคราะห์ผลการจัดเวทีนโยบายสาธารณะดังกล่าว
ประชาสังคมอิสลามและอนาคตชายแดนภาคใต้
ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าองค์กรภาคประชาสังคมในชายแดนใต้จะเกิดขึ้นมาหลายๆ องค์กรที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตนและยังมีสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางให้หลายๆ องค์กรได้ใช้ในการพบปะร่วมมือแต่ถ้าหากจะมองกันโดยภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าเป็นผู้คนกลุ่มน้อยมากในสังคมที่มีประชากรเกือบ 2 ล้านคนแต่มีผู้ที่เข้าร่วม กับสภาประชาสังคมเพียงไม่กี่ร้อยคนสำหรับผู้ที่เป็นคณะทำงาน และอีกไม่กี่พันตนที่เป็นสมาชิกขององค์กร ทั้งๆ ที่ยังมีองค์กรอื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้ประกาศตนและเคลื่อนไหวอยู่อย่างโดดเดี่ยวและบางส่วนก็เคลื่อนไหวอยู่ในวงแคบๆ และจำกัดกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาโดยเฉพาะมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ น่าจะเป็นกลุ่มที่จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสังคมใหม่ร่วมกันมากที่สุด
ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมไม่สามารถที่จะครอบคลุมองค์กรทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในข่ายคำจำกัดความขององค์กรภาคประชาสังคมนั้นก็คือเรื่องของความไว้วางใจต่อกลุ่มที่เข้ามาทำการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งองค์กรต่างๆ ในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นองค์กรต่างชาติที่มาจากตะวันตก แม้จะมาในนามขององค์กรภาคเอกชน (NGO) ก็ตามยิ่งเป็นประเทศที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อโลกมุสลิมหรือเกี่ยวพันกับองค์กรที่เป็นศัตรูกับโลกมุสลิมเช่น ขบวนการไซออนิสต์สากลเป็นต้น ก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการอธิบายและพิสูจน์ว่าไม่ได้เข้ามาโดยมีนัยยะซ้อนเร้นที่จะทำลายสังคมและศาสนาของพวกเขา
ปัญหาต่อมาก็คือเรื่องของจิตสำนึกและความเข้าใจในบริบทของการพัฒนาสังคมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่เห็นบทบาทความสำคัญของภาคประชาชนเองในกระบวนการการพัฒนาแต่ยังคงยึดมั่นอยู่ในการปล่อยทิ้งให้เป็นหน้าที่และภาระของรัฐบาลและฝ่ายปกครองในบางพื้นที่ไม่มีแม้แต่การตรวจสอบในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปของฝ่ายปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง การกระตุ้นให้บุคลากรเพิ่มขีดความสามารถและมีการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและกำหนดบทบาทของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการก่อเกิดชุมชนที่มีความเข้มแข็งต่อไป
แนวทางในการที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายวงกว้างและถึงฐานรากของสังคม (ชุมชน)ให้กับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปในอนาคต จึงควรที่จะเกิดขึ้นจากความใกล้ชิดและไว้วางใจที่สุดของประชาชนในพื้นที่นั้นก็คือศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบของอาจารย์ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี[28] ในปี พ.ศ.2553 และ 2554 ในเรื่องความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อบุคคลและองค์กรที่เข้ามามีกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งพบว่าบุคคลและองค์กรศาสนาเป็นเป็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดดังปรากฏในตารางสิ่งน่าจะตั้งข้อสังเกตก็คือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ซึ่งได้รับความไว้วางใจที่ค่อนข้างต่ำจะมากกว่าก็แต่พียงเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่านั้น
สอดคล้องกับความเห็นของ รอชีด อัล กันนูชี, มูนีร ซาฟิก, ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ และ กามาล ฮาบีบ ทีเห็นว่า นักวิชาการอิสลามกับประชาชนเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเหนียวแน่นมาตลอดประวัติศาสตร์อิสลาม อุลามาอ์ผู้ทรงความรู้นั้นเป็นผู้ที่ประชาชนหวังพึ่งพิงในทุกปัญหาและทุกวิกฤตของประชาชาติ เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขารู้สึกกดดันและหมดหวัง เพราะฉะนั้นบรรดาผู้รู้เหล่านี้จึงเป็นผู้นำในภาคของประชาสังคมที่สามารถที่จะชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติและแนวทางในการพัฒนาสังคมของพวกเขาให้ไปในทิศทางใด สำหรับประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าหากว่าเปิดพื้นที่ให้ประชาสังคมอิสลามเข้ามาเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายวงกว้างและถึงฐานรากของสังคม (ชุมชน)ให้กับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปในอนาคต
สอดคล้องกับจอห์น เอสโปซิโต้ ที่ว่า กลุ่มแนวคิดอิสลามส่วนใหญ่นั้นยังมีแนวคิดในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในสังคมโดยสันติวิธีในรูปแบบขององค์กรภาคประชาสังคม ในกลุ่มคนที่มีแนวคิดอิสลามส่วนใหญ่ที่รักสันติวิธี ได้นำเอายุทธศาสตร์ของการปรับเปลี่ยนสู่อิสลามไปใช้ในภาคประชาสังคมในลักษณะที่เป็นองค์กรมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่โดยให้องค์กรต่างๆ ที่มีแนวทางในแบบอิสลามได้นำเสนอรูปแบบและเป้าหมายขององค์กรของตนเองภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายไทยที่อนุมัติให้ทำได้ อัล-กันนูซี ให้ความเห็นที่สอดคล้องด้วยสภาพที่เปิดมากขึ้นทางการเมือง แนวคิดอิสลามที่สุดโต่งจึงจะลดความรุนแรงลง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นองค์กรของเยาวชนหรือสตรีมุสลิมก็ไม่ควรยึดกรอบวิถีในแบบตะวันตก หัวใจหลักก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและการเข้ามามีส่วนร่วมในภาคสังคมด้วยกัน องค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรมัสยิด องค์กรครูสอนศาสนาอิสลาม องค์กรครูสอนตาดีกา องค์กรเครือข่ายโรงเรียนอนุบาลอิสลาม และองค์กรอื่นๆ ที่มีความเฉพาะด้านที่อาจจะมีอยู่แล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะได้มีบทบาทขยายแนวรวมออกไปสู่วงกว้างเปิดพื้นที่ให้มีการจัดกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม สาธารณสุข กิจกรรมบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของวิถีชีวิตชาวบ้าน และการเมืองภาคประชาชนที่ประชาชนขาร่วมด้วยความเข้าใจและเต็มใจ
สรุป
องค์กรประชาสังคมชายแดนใต้มีพัฒนาการของการเกิดองค์กรโดยเริ่มจากประชาสังคมแบบขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบทบาทการเรียกร้องในบริบทของความขัดแย้ง และเรียกร้องเรื่องของสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และพัฒนาสู่ประชาสังคมแบบชุมชนนิยม ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกจึงมีลักษณะของการหนุนเสริมให้เกิดการจัดการชีวิตสาธารณะกันเองของประชาชน ไม่ให้ความสนใจในการร่วมมือกับรัฐ หรือระบบราชการ รวมทั้งภาคีอื่นๆ ดังที่มีคำกล่าวว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” การทำงานดังกล่าวนี้จึงมีลักษณะของการใช้พื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งค่อนข้างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวนี้องค์กรภาคประชาสังคมยังอยู่ในแวดวงแคบๆ ภาครัฐเองก็ไม่ไว้วางใจต่อคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในชุมชนเหล่านี้เท่าไหร่นัก จนกระทั้งหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น องค์กรประชาสังคมโดยทั่วๆ ไปและองค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นใหม่หลายๆ องค์กรและขยายตัวอย่างรวดเร็วขยับ สู่ภาคประชาชนที่หลากหลายโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชนเข้าสู่หมู่บ้าน โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่มีบทบาทให้การสนับสนุนถ่ายทอดความรู้วิทยาการและความสำนึกรักชุมชนให้มีมากขึ้น หลังเหตุการณ์ปล้นปืน ปี พ.ศ. 2547 เกิดองค์กรภาคประชาสังคมเป็นจำนวนมากที่จะเข้ามาดูแลและรักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้ และดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง ประชาสังคมชายแดนใต้หลายองค์กรร่วมก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ขึ้นมาเพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการผนึกกำลัง ร่วมกำหนดทิศทางและมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยแนวทางสันติ ด้วยความรู้ เหตุผล และพลังแห่งคุณธรรม
สำหรับบทบาทของประชาสังคมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้โดยสรุป ดังนี้
- บทบาทในการจัดการองค์ความรู้ เช่น องค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ องค์ความรู้ในการจัดการความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและนำสันติวิธีเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพที่ถาวร องค์ความรู้ในเรื่องของการดำเนินชีวิตในวิถีของศาสนา อบรมจริยธรรม เช่น ค่ายอบรมเยาวชน เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในทางสังคม
- บทบาทในการสร้างพื้นที่กลาง เช่น สร้างพื้นที่กลางในการพูดคุยเกี่ยวกับสันติภาพ เป็นเวทีในการแบ่งปันข้อมูลของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธหรือมลายูมุสลิม โดยมีสื่อกลางที่สามารถกระจายข่าวของคนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงโดยปราศจากมายาคติ และเป็นพื้นที่กลางให้ทุกกลุ่มประชาสังคมเข้ามารวมตัวกันทำงานอย่างหลวมๆ โดยมีทิศทางร่วมกัน ในขณะที่ภารกิจประจำของกลุ่มก็สามารถดำเนินไปตามวัตถุประสงค์เดิมโดยอิสระ
- บทบาทในการผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ในระดับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เช่น กำหนดประเด็นร่วมและขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดการขยายผลออกไปในวงกว้างต่อไป เช่น เรื่องยาเสพติด
- บทบาททำงานอาสาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ เช่น การช่วยเหลือในการต่อสู้ในทางกฎหมาย ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง
- บทบาทในการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ ทั้งใน 3 ระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกลางและล่าง
- บทบาทขับเคลื่อนหลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาความไม่สงบ
นักวิชาการอิสลามกับประชาชนมุสลิมมีความสัมพันธ์ที่มีความเหนียวแน่นมาตลอดประวัติศาสตร์อิสลาม อุลามาอ์ผู้ทรงความรู้นั้นเป็นผู้ที่ประชาชนหวังพึ่งพิงในทุกปัญหาและทุกวิกฤตของประชาชาติ นอกจากนั้นจากผลการสำรวจของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้พบว่าบุคคลและองค์กรศาสนาเป็นเป็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้นองค์กรประชาสังคมอิสลามน่าจะเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงและขยายสู่ฐานรากของชุมชนไดดีที่สุดในอนาคตของจังหวัดชายแดนใต้
วารสารเอเชียปริทัศน์ ฉบับ “1 ทษวรรษ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
[1] ปราณี ทิพย์รัตน์, "การสัมมนา: ประชาสังคมกับประชาธิปไตย นำสัมมนาโดย Larry Diamond" วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 (2537) น. 5.
[2] Jean I. Cohen and Andrew Arato, Civil Society and Political Theory (Massachuse: Mit Press, 1992)
[3] Azzam S. Tamimi, Rachid Ghannouchi: Democrat Within Islamism (New York: Oxford University Press, 2001) p. 129.
[4] Ibid, p. 130.
[5] ชูชัย ศุภวงศ์, “พัฒนาการของประชาสังคมไทยร่วมสมัย” ใน สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ (บก.), ประชาสังคมกับการพัฒนาสุขภาพ บทวิเคราะห์ทางวิชาการ (กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2540) น. 122.
[6] เพิ่งอ้าง, น. 123.
[7] สมพร เทพสิทธา, บทบาทขององค์การเอกชนในยุคโลกาภิวัตน์ (กรุงเทพมหานคร: สภาศูนย์ประสานงานภาคเอกชนแห่งชาติ, 2547) น. 6.
[8] เพิ่งอ้าง, น. 1-2.
[9] Muhammad Abduh, “Quranic Exegesis” (Tafsir al-Quran al-Hakim), Al-Manar 8, 24 (1906) p. 921. in Moaddel and Talattof (2000).
[10] Ahmad Moussalli, “Modern Islamic Fundamentalist Discourses on Civil Society, Pluralism and Democracy,” in Augustus Richard Norton (ed.), Civil Society in the Middle East, Vol. 1, (Leiden and New York: E, J. Bill, 1995) p. 80.
[11] Ibid, p. 81.
[12] Sara Roy, Hamas and Civil Society in Gaza Engaging the Islamist Social Sector (New Jersey : Princeton University Press, 2011) p. 55.
[13] Ibid, p.56.
[14] Ibid.
[15] Azzam S. Tamimi, p. 129.
[16] Egbert Harmsen, Islam, Civil Society and Social Work Muslim Voluntary Welfare Associations in Jordan between Patronage and Empowerment (Leiden: Amsterdam University Press, 2008)
[17] Ibid, pp.53-54.
[18] เสกสรร ประเสริฐกุล , การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2553) น. 154.
[19] อารีฟีน บินจิ และคณะ, ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู (สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมภาคใต้, 2550) น. 381.
[20] เสกสรร ประเสริฐกุล, น. 155.
[21] เรื่องเดียวกัน, น. 157.
[22] สุทธิศักดิ์ ดือเระ และคณะ, การเสริมสร้างการตระหนักรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชน ท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี: วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ ปัตตานี, 2554) น. 53.
[23] ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, เปิดตัว “สภาประชาสังคมชายแดนใต้”: สร้างดุลอำนาจต่อรองจากพื้นที่, (2554) http://www.deepsouthwatch.org/node/2228
[24]สำนักข่าวอิศรา, 20 องค์กรผนึกตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ด้านนโยบายปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ, (2554) http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/3293.
[25] อับดุลสุโก ดินอะ, สภาประชาสังคมชายแดนใต้กับบทบาทสร้างสันติภาพปาตานี ตามทัศนะมันโซร์ สาและ, (2556) http://thaingo.org/thaingo/node/1656
[26] สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์, ข้อเสนอภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้หลังการ peace dialogue รัฐบาลไทย-BRN, (2556), http://news.muslimthaipost.com/content.php?page=sub&category=78&id=13126
[27] นอกจากนั้นยังมีแนวคิดของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เอง ที่เคยเสนอว่า ให้เลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต.โดยตรงจากประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วนำคนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คนแรกส่งให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาเป็นผู้ลงคะแนนคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง "นครปัตตานี" ของพรรคเพื่อไทย มีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี กำหนดให้ผู้ว่าการนครปัตตานีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนบริหารพื้นที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะรัฐมนตรีและต่อรัฐสภาทุกปี ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับความมั่นคงยังคงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นยังกำหนดให้การปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าการนครปัตตานี หากกระทรวง ทบวงกรมใดเห็นสมควรส่งข้าราชการไปประจำที่นครปัตตานี ต้องทำความตกลงกับนครปัตตานีด้วย
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า เห็นควรให้ลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ. ซึ่งมากจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชนอยู่แล้วแทน http://www.pataninews.net/ReadPolitics.asp?ID=3056 สืบค้น 30/8/56
[28] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เมื่อก้าวข้ามหนึ่งร้อยเดือนของสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้: เรากำลังจะไปทางไหน?, (2555) http://www.deepsouthwatch.org/node/3354