อสนียาพร นนทิพากร
จากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 กรณีเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16, อาก้า และปืนพกขนาด 9 มม. กราดกระสุนใส่สมาชิกครอบครัวมะมัน ส่งผลให้เด็กชายสามพี่น้องเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ เหตุเกิดขึ้น ณ บ้านเลขที่ 143/4 หมู่ 7 บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยนายเจ๊ะมุ มะมัน บิดา บาดเจ็บเล็กน้อย น.ส.พาดีละห์ แมยู มารดาได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนบุตรชายทั้งสามคือ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ปี, ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ปี และ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ 11 ปี ต้องสังเวยชีวิตให้กับคมกระสุน
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ตำรวจได้ติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ จำนวน 2 ราย กล่าวคือ อส.ทพ.มะมิง บินมามะ อายุ 22 ปี และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ อายุ 25 ปี บุคคลทั้งสองสังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับที่ จ.77 และ 78/2557 ลงวันที่ 1 มี.ค.57 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และผู้ต้องหาได้ให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือกระทำเพื่อเป็นการล้างแค้นจากเรื่องส่วนตัว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐที่ตนเองสังกัดเป็นทหารพรานอยู่
อย่างไรก็ดีหลังจากเกิดเหตุได้มีกลุ่มองค์กรทำการเคลื่อนไหวมีความพยายามชี้นำให้เห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการนำตัวนายเจ๊ะมุ มะมันขึ้นเวทีต่างๆ อีกทั้งยังมีการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติ แต่นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวว่าคดีนี้ฝ่ายรัฐไม่ถือว่าเป็นคดีความมั่นคง เป็นคดีที่มีมูลเหตุมาจากความโกธรแค้นส่วนตัวของผู้ลงมือทำการก่อเหตุ
มูลเหตุในการพยายามฆ่าล้างครัวมะมัน แต่โชคดีนายเจ๊ะมุ มะมัน และน.ส.พาดีละห์ แมยู รอดชีวิต ทั้งนี้เมื่อมีการสอบปากคำ อส.ทพ.มะมิงฯ หนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่าสาเหตุที่ตนเองร่วมกับพวกลงมือก่อเหตุในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่านายเจ๊ะมุฯ เป็นคนยิง นายอับดุลเลาะ บินมามะ พี่ชายของตนเอง และ นางรอกีเยาะ สระราวอ พี่สะใภ้เสียชีวิตทั้งคู่ในพื้นที่ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 โดยขณะถูกยิงพี่สะใภ้กำลังตั้งท้องได้ 4 เดือนด้วย โดย อส.ทพ.มะมิงฯ เชื่อว่าพี่ชายของเขาถูกนายเจ๊ะมุฯ สังหารเพราะไปเป็นพยานในคดีที่นายเจ๊ะมุฯ ตกเป็นผู้ต้องหายิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใน ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เสียชีวิตก่อนหน้านั้น แต่เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษายกฟ้อง
ภายหลังถูกจับกุมทหารพรานทั้งสองถูกปลดออกจากราชการ จึงกลายเป็น“อดีตทหารพราน” และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสตลอดมา จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.58 หรือราว 11 เดือนหลังถูกจับกุม ศาลจึงมีคำพิพากษา“ยกฟ้อง”
เหตุผลที่ศาลยกฟ้อง คือ “ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าบุคคลทั้งสองเป็นคนฆ่า มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น ส่วนภรรยาของผู้เสียหาย คือ น.ส.พาดีละ แมยู ก็ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้”
ทันทีที่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เว็บเพจ Wartani ได้เผยแพร่บทความในลักษณะลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับประเด็นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในทันที
สื่อสังคมออนไลน์ของภาคประชาสังคมและนักศึกษาต่างแชร์และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาสที่ยกฟ้องอดีตทหารพรานทั้ง 2 นาย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมในไทยว่า ไม่มีความยุติธรรมต่อคนมลายูปาตานี หากไม่มีความยุติธรรม สันติภาพย่อมไม่เกิด นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และเมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อสู้จึงเป็นหน้าที่
ขณะที่ท่าทีขององค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกรณีศาลพิพากษายกฟ้องคดีคนร้ายยิงบุตรชาย 3 คน ของนายเจ๊มุ มะมัน เสียชีวิต อาทิ นายฮารา ชินทาโร่ อาจารย์สอนภาษามลายู มอ.ปัตตานี ระบุว่าหากศาลพิจารณาคดีตามหลักกระบวนการยุติธรรมก็ควรกระทำ ขณะที่เด็ก 3 คน ถูกยิงเสียชีวิต 1 ปีแล้ว แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า ทำให้คนในพื้นที่ สิ้นหวังกับการรักษาความปลอดภัย เพราะดูเหมือนเด็กต้อง“ตายฟรี”
เมื่อผลการพิจารณาของศาลชั้นต้นออกมาแบบนี้แน่นอน กลุ่มองค์กรนักศึกษา นักวิชาการได้ดำเนินการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง นำไปเชื่อมโยงประเด็นการพูดคุยสันติสุข เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ กล่าวหารัฐไม่มีความยุติธรรม คดีไม่มีความคืบหน้า ชี้ให้เห็นว่าเด็กจะต้องมาตายฟรี ประชาชนสิ้นหวังกับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นานาทัศนะต่างกล่าวกันไปและแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายในเชิงลบ ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศในการเดินหน้าสู่กระบวนการสร้างสันติสุขแต่ประการใด
ซึ่งมิได้ผิดจากความคาดหมายของหลายฝ่ายที่คาดการณ์ไว้ คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ และยังมีกลุ่มองค์กรนักศึกษา นักวิชาการได้ดำเนินการเคลื่อนไหว พยายามเติมเชื้อไฟ ชี้นำกระชากลากถูยัดเยียดให้คดีดังกล่าวเป็นคดีความมั่นคงให้ได้ โดยมีการตั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รังแกประชาชน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หากเราไม่ใจแคบจนเกินไปเปิดใจให้กว้าง ไม่เอนเอียง อคติ นี่เป็นเพียงด่านแรกที่ศาลชั้นต้น ผลคดีความยังไม่สิ้นสุดจะต้องมีการต่อสู้กันในชั้นศาลถึงสองศาลด้วยกัน ผู้กระทำความผิดย่อมได้รับผลกรรมจากการกระทำซึ่งผู้เขียนเชื่ออย่างเหลือเกินว่าความยุติธรรมยังมีอยู่ หากเรามาฟังความคิดเห็นต่อคดีดังกล่าว พล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า“คดีนี้ยังไม่จบ เป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทางอัยการได้ยื่นอุทธรณ์และคัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งสองไว้แล้ว”