มข่าวพลเมืองภาคใต้ สัมภาษณ์ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส (Dr.Norbert Ropers) อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสันติภาพเบอร์ฮอพประเทศเยอรมัน (Berghof-Foundation) นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้าง 'พื้นที่กลาง' ในการพูดคุยเพื่อสร้าง 'Road Map' หรือแผนที่ในการเดินทางไปสู่สันติภาพ
สำรวจประเด็นความเหมือนและความต่างของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ของไทย (Patani Peace Process) กับการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วภาคพื้นสหภาพในประเทศเมียนมา (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) ก่อนที่ผลการเลือกตั้งเมียนมา 8 พ.ย. 2558 ที่จะมีออกมาในเร็ววันนี้
ที่มาภาพ: www.deepsouthwatch.org
เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพปาตานีของไทย กับ การลงนามหยุดยิงในเมียนมาก่อนผลการเลือกตั้ง
โดยพื้นฐานแล้วกระบวนการสันติภาพทั้ง 2 บริบทมีความแตกต่างกัน ในกรณีของเมียนมามีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหว และไม่ได้มีเพียงความขัดแย้งเดียว โดยขณะนี้มี 8 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลงนาม โดยที่พวกเขาได้เลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการคลี่คลายความขัดแย้งจากการใช้ความรุนแรงเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง การเข้ารับสมัครเป็นรัฐบาลก็มุ่งหวังที่จะดำเนินข้อตกลงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนหรือรัฐบาลที่ทำข้อตกลงกับพวกเขาเท่านั้น
สิ่งที่เป็นความท้าทายในเมียนมา คือ การที่พลเมืองทุกคนเฝ้ารอคอยที่จะเข้าคูหาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2558 ว่าใครจะเป็นตัวหลักของรัฐบาลที่จะมีบทบาทนำในกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้รัฐบาลกะเหรี่ยงเองก็คาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นหนทางที่นำไปสู่กระบวนการสันติภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นในการลงนามข้อตกลงในอดีต แม้ว่าจะมีบางกลุ่มไม่สามารถลงนาม หรือเลือกที่จะปฏิเสธการลงนามในครั้งล่าสุดที่ผ่านมาก็ตาม ขณะเดียวกันก็ได้ส่งสัญญาณกับรัฐบาลปัจจุบันว่า รัฐบาลกะเหรี่ยงคาดหวังกับพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยการนำของนางออง ซาน ซูจี ว่าจะเป็นตัวหลักสำคัญในรัฐบาลชุดใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ากระบวนการสันติภาพในเมียนมาจะสามารถดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นพัฒนาการที่ดีของเมียนมาที่มีความใกล้เคียงกับบริบทชายแดนใต้ของไทย คือ กระบวนการสันติภาพยังคงดำเนินอยู่ คณะทำงานตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินการไปข้างหน้าด้วยดี แม้ในกรณีชายแดนใต้ของไทยรัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดถึงความก้าวหน้าในการพูดคุยหลังจากที่ได้รับข้อเรียกร้องของกลุ่มเห็นต่างก็ตาม
ส่วนในกรณีของเมียนมามีประเด็นสำคัญที่ไม่ต่างกันนั่นคือ รัฐบาลจะยินดีที่จะยอมดำเนินการตามข้อเรียกร้องต่างๆ ทางการเมืองอย่างไร แต่จากรัฐบาลปัจจุบันยังดูห่างไกลมากที่จะเป็นไปตามความคาดหวังของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา
กระบวนการสันติภาพเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ในรัฐธรรมนูญเมียนมาไปแล้ว หรือยังมีความพยายามผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่คาดการณ์ได้ในเรื่องรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้คนในชาติ และในส่วนของกองกำลังทหารเองก็จะต้องเตรียมที่จะนำไปสู่การปฏิรูปในอนาคต เนื่องจากพวกเขามีอำนาจที่จะร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการประนีประนอมจากกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐบาลกะเหรี่ยงในเมียนมาพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับแผนกำหนดการดังกล่าวกับสถานการณ์นี้หรือไม่
ขณะที่ในประเทศไทยต้องถอยหลังจากการเข้ามายึดอำนาจของทหาร จึงยากที่จะคาดการณ์ ห่วงโซ่ทางการเมืองในขณะนี้ได้ทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีหลายข้อต่อที่ไม่สามารถปลดล็อคให้กฎหมายของไทยเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่อย่างน้อยก็มีผู้นำทางการเมืองเดียวในรัฐบาล นี่จึงเป็นอีกความต่างหนึ่งในอำนาจที่ไทยจะสามารถเดินหน้ากระบวนการสันติภาพต่อไปได้
ผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเมียน กับผลสะเทือนต่อการลงนามหยุดยิง
สถานการณ์ในบางส่วนของเมียนมาไม่ใช่เพียงแค่การลงนามในสัญญาหยุดยิงและการละเมิดสัญญาเท่านั้น หากยังมีความซับซ้อนมาก เพราะหลายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงยากที่จะเห็นอนาคตว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้คือจะมีรัฐบาลใหม่ในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งการที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลงนามในสัญญาหยุดยิงนั้นเท่ากับการค้นพบก้าวต่อไปในกระบวนการสันติภาพ อีกทั้งในอนาคตยังส่งผลต่อกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามด้วย
อย่างไรก็ดี ใครก็ตามที่จะรวมตัวกันเป็นรัฐบาลจะต้องหาหนทางนำกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย ตนคาดว่ากว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่สามารถลงนามในสัญญาการหยุดยิงได้โดยง่าย จึงต้องมีการกดดันพวกเขา แล้วเฝ้าติดตามว่าผลเป็นอย่างไร นั่นถือเป็นประสบการณ์ของกระบวนการสันติภาพในเมียนมา หากมีกลุ่มเฉพาะบางกลุ่มสนใจการพัฒนา หนุนเสริมด้วยการสนับสนุนจากประชาชนและกลุ่มผู้มีบทบาท การกดดันที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้รัฐบาลยอมอ่อนข้อและละเว้นได้ในที่สุด
ทางด้านสถานการณ์ชายแดนใต้ของไทยนั้นกลับมีความต่างออกไป เพราะกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นมีความก้าวหน้ามากกว่าการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายที่จะหยุดการใช้ความรุนแรง เพื่อให้กระบวนการเคลื่อนไหวนำไปสู่ความยั่งยืน และในระยะยาวน่าจะเป็นการยกระดับไปถึงการพูดคุยเป็นประเด็นด้านการเมืองต่อไป
กระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อการลงนามหยุดยิงเกิดขึ้นเพียง 8 กลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ยังมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของเมียนมา
กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของเมียนมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ เพราะกระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากยังไม่มีการยอมรับสถานะความเป็นพลเมืองของเมียนมา ตนเองคิดว่าหลังจากนี้รัฐบาลเมียนมาต้องหาทางหยุดกระบวนการที่เกิดขึ้น โดยการให้มีตัวแทนของโรฮิงญาด้วย นั่นจะเป็นกระบวนการสันติภาพในระยะยาวตามที่พวกเขาหวังไว้
จากข้อสังเกตที่พบจากหลายกรณีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นหลังจากเลือกตั้งมีมากกว่าก่อนเลือกตั้ง ตนจึงเชื่อว่ารัฐบาลต้องได้รับผลกระทบ เพราะนักการเมืองหลายคนที่เข้าไปอยู่ในสภาจะต้องร่างข้อตกลงในประเด็นนี้ ด้วยเหตุว่าเป็นอำนาจเชิงประเด็นที่ชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศ พวกเขาจึงต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง และรัฐบาลจะต้องยอมอ่อนข้อให้ในท้ายที่สุด
ภาคประชาสังคมและกลุ่ม NGOs กับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ
กระบวนการสันติภาพทั่วทั้งโลกต่างมีความจำเพาะเจาะจงในการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากองค์ประกอบของกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จ จะเป็นการดีกว่าหากกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ในประเทศสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
การสร้างสันติภาพในเมียนมาจะเกิดขึ้นเพียงเฉพาะชนชั้นนำในกลุ่มต่างๆ เพียงทางเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมาจากหลากหลายกลุ่มหลายกระบวนการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้จะเข้าไปเกี่ยวข้องและจะแยกออกจากกันไม่ได้ อย่างในกรณีภาคใต้ของประเทศไทยสามารถมองเห็นอนาคตของกลุ่มทางสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี เพราะขณะที่คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาอยู่บนโต๊ะต่างก็ต้องการสัญญาณตอบรับจากสังคม และน่าสนใจที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนท้องถิ่น โดยส่วนหนึ่งก็เกิดจากการขับเคลื่อนงานของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ที่ทำงานหนุนเสริมขนานกันไป
หนทางที่เห็นได้ในตอนนี้คือ ทางคณะความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้สัญญากับสังคมว่าจะผลักดันให้มีการลงนามสันติภาพ ขณะเดียวกันก็มีการส่งสัญญาณจากกลุ่มมารา ปาตานี ถือเป็นก้าวที่ดีจากทั้งสองฝ่ายที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การสร้างสันติภาพเชิงบวกจะต้องมาจากการสนับสนุนของสังคม และทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับว่าภาคประชาสังคมที่แม้จะมีแนวคิดของตนเอง แต่การพัฒนาควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มในการเจรจา นั่นเป็นหนทางของความสำเร็จที่ยั่งยืน
กระบวนการสันติภาพในเมียนมา ความซับซ้อนจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์
กระบวนการสันติภาพในแต่ละกรณีต่างมีความจำเพาะเจาะจง ไม่มีกรณีไหนที่เหมือนกันอย่างสมบูรณ์ จะมีก็เพียงความคล้ายกันในความเป็นไปได้ที่จะเกิดซ้ำ สันติภาพในเมียนมามีอัตลักษณ์ตรงที่มีหลากหลายกลุ่มคนมากที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง สันติภาพของกลุ่มเดียวไม่ซับซ้อนเท่าการมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้ามาเจรจาต่อรองกับอีกฝ่าย
อีกประการหนึ่งที่ยังไม่สามารถรับประกันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาได้ เพราะการที่มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์นี่แหละ เนื่องจากมีอำนาจชี้ชัดในกลุ่มของตัวเอง จึงไม่สามารถออกแบบกระบวนการสันติภาพให้สำเร็จได้หากไม่มีการยอมรับและสนับสนุนจากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ
ทั้งนี้อาจมีความใกล้เคียงกันกับกรณีของศรีลังกาที่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งพยามยามที่จะเป็นรัฐบาลศรีลังกาโดยมีอำนาจมากจากความจงรักภักดีของผู้สนับสนุน แต่ก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลให้ยอมรับในบทบาทของผู้นำหญิงได้ ส่วนสถานการณ์ในเมียนมาค่อนข้างแตกต่าง ตนคาดว่ากระบวนการสันติภาพจะดีไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมจากหลากหลายกลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในการเป็นรัฐบาล
ส่วนกรณีสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยค่อนข้างแตกต่างออกไปด้วยบริบทของพื้นที่ เพราะมีสถานการณ์ที่มีผลกระทบมากแต่เฉพาะในพื้นที่จำกัดชายแดนใต้ของประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งประเทศเหมือนเมียนมา