จรัญ มะลูลีม
ดังนั้น สังคมไทยจำเป็นจะต้องคงไว้และยอมรับโดยดุษฎีในความแตกต่างดังกล่าวและจะต้องไม่พยายามที่จะทำการใดๆเพื่อขจัดความแตกต่างเหล่านี้ มิฉะนั้น แล้วจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายโดยไม่จำเป็น
อันที่จริงในอดีตที่ผ่านมาเคยมีผู้นำประเทศหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยพยายามที่จะขจัดความแตกต่างในเรื่องศาสนาวัฒนธรรม โดยใช้นโยบายผสมกลมกลืน หรือการผสมผสานทางวัฒนธรรมโดยเข้าใจว่าเมื่อขจัดความแตกต่างออกไปแล้วปัญหาความขัดแย้งก็จะหมดไปหรือจะเบาบางลงแต่มันกลับมีผลในทางตรงกันข้าม คือ การต่อต้านจากประชาชน ดังนั้น จึงไม่มีที่ไหนกระทำได้สำเร็จ
ในที่สุดจะต้องมีการยึดถือโดยทั่วไปว่าในประเทศใดที่มีความแตกต่างทางศาสนาวัฒนธรรมนั้น จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว แนวทางดังกล่าวนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "พหุนิยม" ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ ยึดถือในขณะนี้ และเป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาทำนองนี้ได้สำเร็จ
สำหรับประเทศไทยนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพหุสังคมหรือสังคมซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่มศาสนาวัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นสังคมเดี่ยวประกอบด้วยชาวไทยพุทธล้วนๆ เหมือนกับในยุคต้นๆ และที่จะต้องตระหนักไว้เสมอก็คือคนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาวัฒนธรรมใดก็ล้วนเป็นคนไทย ตามนัยแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกประการ และคนในสังคมจะต้องยอมรับโดยดุษฎีในเรื่องความหลากหลายดังกล่าว
แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ความแตกต่างทางศาสนาวัฒนธรรมถูกนำไปใช้ในทางลบหรือในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งในระดับทัศนคติและระดับปฏิบัติ และแน่นอนที่สุด ถ้าสถานการณ์แบบนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ที่รุนแรงถือเป็นวิกฤตในขณะนี้ ก็ล้วนแต่วิวัฒนาการมาจากการใช้ความแตกต่างไปในทางลบทั้งสิ้น ต่อไปนี้จะได้อธิบายขยายความในเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดขึ้นอคติและการกีดกันทางสังคม
สังคมใดประกอบด้วยพลเมือง หลายกลุ่มศาสนาวัฒนธรรมดำรงอยู่ด้วยกัน สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกที่เป็นอคติและการแสดงออกซึ่งการกีดกันระหว่างกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอคติและการกีดกันทางสังคมที่ชนกลุ่มใหญ่กระทำต่อชนกลุ่มน้อย
อคติ คือ ความรู้สึกหรือการแสดงออกในทางดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือลบหลู่ดูหมิ่นเนื่องจากมีศาสนาวัฒนธรรมแตกต่างจากพวกตน ส่วนการกีดกันนั้นเป็นการปฏิบัติอย่างลำเอียง การลิดรอน การกลั่นแกล้งหรือแม้กระทั่งการมุ่งร้ายเนื่องจากอคติดังกล่าว
ความรู้สึกอคติและปฏิบัติการลำเอียงหรือกีดกัน เป็นธรรมชาติของการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งเรียกว่า "ชาติพันธ์นิยม" ดังนั้นในทุกสังคมจะมีเรื่องอคติและการกีดกันอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ในกรณีของสามจังหวัดภาคใต้ชาวมุสลิมจำนวนมากประสบกับอคติและการกีดกันในด้านต่างๆ เนื่องจากการนับถือศาสนาอิสลามหรือการปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาอิสลาม อคติและการกีดกันดังกล่าวจะพบมากที่สุดในภาคราชการ ส่วนในภาคเอกชนก็พบกับเหตุการณ์นั้นพอสมควร แต่ก็ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติเท่าไหร่นัก
อันที่จริงการมีอคติและการกีดกันเนื่องจากความแตกต่างในด้านศาสนาวัฒนธรรมอาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก และมิได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่การรับรู้หรือการเกิดความรู้สึกในหมู่ชาวมุสลิมได้เกิดขึ้นทั่วไป เนื่องจากการแพร่ข่าวในเรื่องนี้มักจะเป็นไปอย่างกว้างและติดค้างในความรู้สึกของผู้คนเป็นเวลานานปฏิบัติการรุนแรงจากรัฐ
ในประเทศที่มีปัญหาชาติพันธุ์ประชาชนมักจะประสบกับปฏิบัติการในทางลบจากใรัฐเสมอ การปฏิบัติการทางลบสูงสุดที่รัฐกระทำต่อชนกลุ่มน้อย คือ การปฏิบัติการด้วยความรุนแรงในระดับต่างๆ นับตั้งแต่การรังแก การกดขี่ข่มเหง การเข่นฆ่า ไปจนถึงการสังหารหมู่โดยการใช้กองกำลังติดอาวุธ ชนกลุ่มน้อยหลายประเทศในโลกนี้ได้ประสบกับชะตากรรมดังกล่าวนี้ ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว
โศกนาฏกรรมเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือไม่เกิดในวงกว้าง แต่ผลกระทบต่อสังคมจิตวิทยาในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาวัฒนธรรมนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ลึกซึ้งกว้างขวางยาวนาน ในบางครั้งปฏิบัติการบางอย่างได้กลายเป็นตำนานที่เร้าความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดไป สำหรับในประเทศไทยเราอาจจะหยิบยกกรณีของหะยีสุหลง ซึ่งถูกฆาตกรรมมาเป็นตัวอย่างโดยเรื่องนี้ยังอยู่ในความรู้สึกของประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้
สาเหตุสำคัญที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ปฏิบัติในทางลบ มาจากอคติดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยมีการตั้งข้อกล่าวหา ข้อสงสัยนานาประการ เกี่ยวกับชีวิตและพฤติกรรมของชนกลุ่มน้อยและการแสดงออกและการปฏิบัติการในทางลบของรัฐ มีผลโดยตรงต่อการแสดงออกของชนกลุ่มน้อยคือความไม่พอใจ ความไม่พอใจดังกล่าวได้สั่งสมขึ้นมามากขึ้นทุกขณะจนกลายเป็นความโกรธแค้นซึ่งในที่สุดได้สำแดงออกมาเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบในระดับต่างๆ หรือถึงขั้นรุนแรงดังที่เป็นอยู่ขณะนี้
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้สาเหตุของการก่อความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ศาสนาไม่ใช่สาเหตุ
ก่อนอื่นควรจะได้กล่าวให้ชัดเจนว่าความแตกต่างในด้านเอกลักษณ์ทางศาสนาวัฒนธรรม เป็นพื้นฐานสำคัญซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมก็จริงอยู่ แต่เนื้อหาสาระและองค์กรต่างๆ ทางศาสนามิได้เป็นสาเหตุแต่ประการใด
เราจะไม่พบคำสอนใดๆ ในทางศาสนาหรือในวัตถุประสงค์ใดๆ ขององค์การทางศาสนาที่ชี้นำให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขและในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือในต่างประเทศไม่เคยปรากฏว่าคำสอนหรือองค์การทางศาสนาจะชี้นำให้มุสลิมไปปฏิบัติการรุนแรงใดๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้หมายความว่าจะไม่มีบุคคล กลุ่มหรือขบวนการแอบอ้าง ศาสนา หรืออาศัยองค์กรทางศาสนาเพื่อปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง
จริงอยู่ศาสนาอิสลามได้ยินยอมให้มุสลิมจับอาวุธขึ้นต่อสู้ แต่เป็นกรณีจำกัดและจำเป็นสุดขีด นั่นคือเพื่อป้องกันตัวเองและป้องกันศาสนาในกรณีที่ถูกเข่นฆ่าหรือทำลายล้างความไม่พอใจของชาวไทยมุสลิมต่อปฏิบัติการของรัฐการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐนับตั้งแต่การแสดงการมีอคติและการกีดกันในรูปต่างๆ จนในที่สุดการปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผลต่อชาวไทยมุสลิมนั้นทำให้ชาวไทยมุสลิมมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความยุติธรรม กลั่นแกล้งและกดขี่ข่มเหง ความไม่พอใจดังกล่าวนี้ถูกเก็บกดและสะสมมาเป็นเวลานาน ฝังอยู่อย่างล้ำลึกและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ
ความไม่พอใจดังกล่าวถึงแม้ในระยะแรกๆอาจจะเกิดขึ้นในวงจำกัดแต่ถูกขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับโดยกระบวนการต่างๆ เช่น โดยการเล่าปากต่อปาก หรือการนำเสนอของสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
ความไม่พอใจต่อรัฐนี้อาจจะเพิ่มทวีขึ้น ลดลงหรือหมดไปก็ได้ แล้วแต่เงื่อนไขหรือปัจจัยเสริมซึ่งเกิดขึ้นโดยตลอด ในที่สุดแล้วรัฐคือหน่วยงานสำคัญที่สุดในอันที่จะทำให้ความไม่พอใจดังกล่าวเป็นไปในทิศทางใดก็ได้
ที่กล่าวมานี้คือสาเหตุประการสำคัญที่สุดที่นำไปสู่การดิ้นรนต่อสู้ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะหามาได้ง่ายๆ นัก แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง สั่งสมมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ และเล่าขานกันมาจนกระทั่งฝังอยู่ในความเชื่อและความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ความต้องการของชาวไทยมุสลิม
ในการแก้ปัญหาของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ให้ได้ผลยั่งยืนถาวรนั้นในอกจากจะต้องแก้ไขที่สาเหตุแล้ว ควรที่จะต้องให้ตรงตามความต้องการในลักษณะของการดำรงชีวิตของชาวไทยมุสลิมอีกด้วยคำถามที่สำคัญคือ ชาวไทยมุสลิมต้องการดำรงชีวิตอยู่อย่างไรในฐานะที่เป็นคนไทย และนับถือศาสนาอิสลาม คำตอบในเรื่องนี้สามารถระบุได้ดังต่อไปนี้คือ
"ชาวไทยมุสลิมต้องการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะที่เป็นคนไทยโดยมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกับคนไทยโดยทั่วไปทุกประการ แต่ต้องการดำรงอยู่ในศาสนาอิสลามอย่างมีอิสระเสรีและครบถ้วนบริบูรณ์อย่างมีศักดิ์ศรีและเกียรติยศ ปราศจากอคติ การกีดกัน หรือการคุกคามข่มเหงอันเนื่องมาจากการนับถือศาสนาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลทั่วไป"
ว่ากันตามจริงแล้ว ความต้องการดังที่ระบุไว้ข้างต้นนั้นมิได้เป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรม แต่เป็นเรื่องสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญของประเทศทศพิธราชธรรมแห่งพระมหากษัตริย์ และหลักวิชาที่ยึดถือกันโดยทั่วไป
ความต้องการดังกล่าวนี้ ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องเหมาะสมจะทำให้ชาวมุสลิมมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความสนใจหรือเป็นประชาชนชั้นสอง
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 เม.ย. 2553