Skip to main content

การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลาม (Orginaisation of Islamic Cooperation – OIC) คนใหม่ นาย Iyad Ameen Madani มีหลายประเด็นชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับบทบาทของ OIC กับการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและ “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” เกี่ยวกับความขัดแย้งในภาคใต้

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงบทสนทนาและคำสัมภาษณ์ของตัวละครหลายฝ่ายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา  ผู้เขียนอยากจะชี้ชวนให้มองถึงบทบาทของ OIC กับปัญหาในภาคใต้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  OIC นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2512 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่  นับได้ว่า OIC เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหประชาชาติ  เป้าหมายหลักของ OIC ก็คือการเป็นเสียงให้กับโลกมุสลิมและการปกป้องดูแลชาวมุสลิมทั่วโลกบนพื้นฐานของการส่งเสริมสันติภาพในโลก 

OIC นั้นเคยมีบทบาทในการเป็น “facilitator” (ผู้อำนวยความสะดวก) ในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อนหน้านี้  แม้จะเรียกว่าเป็น facilitator ไม่ใช่ mediator (คนกลาง) แต่ว่าบทบาทนั้นมากกว่าแค่การจัดห้องประชุมและเสิร์ฟน้ำชากาแฟ รัฐบาลไทยมองสองคำนี้เป็นการเมืองอย่างมากและปฏิเสธการใช้คำว่า mediator มาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แม้จะเรียกว่า facilitator แต่ในหลายกรณีก็พบว่า facilitator มีบทบาทบนโต๊ะเจรจาอย่างมีนัยสำคัญ 

ในช่วงปี 2518 – 2539 OIC ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (MNLF) โดย OIC ได้ให้สถานะผู้สังเกตการณ์ (observer) กับกลุ่ม MNLF ในปี 1977 ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถนำเอาประเด็นการต่อสู้ของตนเองเข้าไปอธิบายและรณรงค์ในเวที OIC ได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีเองก็ได้พยายามขอสถานะผู้สังเกตการณ์จาก OIC เช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับสถานะนั้น   ในขณะเดียวกันประเทศไทยในฐานะที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อยได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในปี 2541  

อาจกล่าวได้ว่า OIC เป็นเวทีหลักของการต่อสู้สำหรับแนวรบด้านการเมืองระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการต่อสู้ปาตานีในทศวรรษที่ผ่านมา  สงครามที่สำคัญคือ “ความชอบธรรม”  ฝ่ายขบวนการได้พยายามล๊อบบี้ให้ OIC ออกแถลงการณ์แยกเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้  ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยเองก็พยายามขัดขวางและทำให้ OIC ยอมรับว่าปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นเรื่องภายในประเทศและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา  ในปี 2550 ศาสตราจารย์ Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการ OIC  ในขณะนั้นได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาล

ต่อมาในปี 2553  OIC พยายามทดลองกระแสในเรื่องการเปิดเวทีเจรจาสันติภาพ โดยได้จัดพูดคุยวงปิดกับขบวนการต่อสู้ปาตานีพร้อมๆ กันที่ประเทศมาเลเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปทางการไทยได้ประท้วงอย่างหนัก  ในช่วงปี 2555 ตัวแทนของ OIC นำโดยนาย Sayed Kasim El-Masry ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเลขาธิการได้มาเยือนไทยอีกครั้ง   หลังจากผู้แทน OIC เยือนไทยไม่กี่เดือนก็มีมติของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศประจำปีของ OIC ออกมาซึ่งระบุว่า “ความก้าวหน้าในเรื่องภาคใต้ของไทยนั้นมีเพียงเล็กน้อย” (meagre progress) และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “เปิดการพูดคุยกับผู้นำชาวมุสลิมเพื่อหาทางออกซึ่งเป็นการยอมรับถึงสิทธิอันชอบธรรมของชาวมุสลิมในภาคใต้”  

อาจกล่าวได้ว่าการเยือนของเลขาธิการคนใหม่เมื่อไม่กี่วันมานี้เป็นภาคต่อของหนังที่ดำเนินมาหลายปี

ก่อนจะมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  นาย  Madani ก็ได้พบกับตัวแทน 9 คนจากกลุ่มมาราปาตานีในวันที่ 10 มกราคมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์  มาราปาตานีเป็นองค์กรร่มของฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานีที่เข้าร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่ในขณะนี้ (มีสมาชิกระดับกลางจากกลุ่มบีอาร์เอ็นนั่งอยู่ในมาราปาตานีด้วย แม้ว่านักวิเคราะห์บางคนยังตั้งคำถามว่าบีอาร์เอ็นในระดับองค์กรจะมีส่วนร่วมจริงหรือไม่และเพียงใด) โดยมาเลเซียทำหน้าที่เป็น facilitator ในการพูดคุย นอกจากนี้ OIC ก็ยังได้พบผู้แทนจากภาคประชาสังคมในภาคใต้อีก 5 คนเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องการพูดคุยสันติภาพ

ในระหว่างการเยือนประเทศไทยในวันที่  11 – 12 มกราคม นาย Madani ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าผู้แทนของ OIC “รู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าในเชิงบวกภายใต้รัฐบาลชุดนี้และเรารู้สึกได้ถึงทัศนคติที่จริงใจในการแก้ปัญหาในภาคใต้” เขายังบอกอีกว่า “เราได้เสนอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทางการเมือง”  เขาเน้นว่า OIC ไม่ได้ต้องการผลักดันให้ตนเองเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้แต่อย่างใด  แต่ว่าต้องการที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกระบวนการนี้  โดยเลขาธิการ OIC ได้พูดถึงการพบกับกลุ่มมาราปาตานีและภาคประชาสังคมว่าเป็นเพียงเป็น “การพบปะกันเชิงสังคม” (social gathering) และ OIC “ไม่ได้เรียกร้องรณรงค์ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ”  นาย Madani ยังได้สรุปถึงประเด็นหัวใจ 3 ข้อ คือ  1) OIC เคารพเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย 2) สิทธิของพลเมืองทุกคนต้องเท่าเทียมกัน 3) รากของปัญหาภาคใต้ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา (Bangkok Post, 14 January 2016)

ในส่วนของฝ่ายไทย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชากล่าวว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ OIC ในทุกๆ ด้าน ยกเว้นเรื่องปัญหาภาคใต้และบอกว่า “ยังไม่รับข้อเสนอใดๆ (ของมาราปาตานี) ทุกอย่างมีความละเอียดอ่อน” (เดลินิวส์, 12 มกราคม 2559)  โดยก่อนหน้านี้ ทางมาราปาตานีได้ยื่นข้อเรียกร้องก่อนการพูดคุย 3 ข้อ คือ การกำหนดให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ  การรับรองสถานะมาราปาตานีให้เป็นตัวแทนในการพูดคุยสันติภาพและการให้การคุ้มครองกับตัวแทนของมาราปาตานีว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (immunity)

แม้ว่าทาง OIC ได้แสดงความชื่นชมการแก้ปัญหาของฝ่ายไทยซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ท่าทีต่อสาธารณะของฝ่ายไทยกลับแสดงถึงความลักลั่น  กล้าๆ กลัวๆ นอกจากที่นายกฯ จะแสดงความกริ่งเกรงที่จะรับข้อเรียกร้องของมาราปาตานีแล้ว  ยังปฏิเสธไม่ร่วมมือใดๆ กับ OIC ในเรื่องภาคใต้อีก นายกฯ พลาดโอกาสที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์กับประชาคมโลกว่าไทยพร้อมที่จะใช้กระบวนการทางการเมืองและการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการที่กระทรวงต่างประเทศของไทยพยายามระงับการพูดคุยระหว่าง OIC กับมาราปาตานีและการให้ความเห็นในสื่อของพล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ผู้ซึ่งเคยมีบทบาทในการพูดคุยแบบปิดลับกับขบวนการในอดีตว่าการพบกันเท่ากับว่า OIC “ยกระดับ” ให้มาราปาตานีมีสถานะเทียบเท่ารัฐบาลไทย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการไม่สามารถหลุดออกจากกรอบคิดเดิมๆ ที่หวาดกลัวการยอมรับถึงการดำรงอยู่ของขบวนการติดอาวุธและการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาคมโลก

การพบกับระหว่าง OIC กับมาราปาตานีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างแนวร่วมในเวทีระหว่างประเทศของมาราปาตานี  แต่พวกเขาก็ขยับอย่างระมัดระวัง  ทาง OIC ได้เสนอตัวว่ายินดีจะเป็น facilitator ในกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น  แต่หนึ่งในคณะผู้แทนของมาราปาตานีบอกกับผู้เขียนว่า “พวกเราไม่ได้ต้องการให้ OIC เข้ามามีบทบาทโดยตรงในกระบวนการ ไม่ว่าจะในฐานะของคนกลางหรือผู้สังเกตการณ์  พวกเราต้องการให้ OIC สนับสนุนกระบวนการด้วยการทำงานร่วมกับมาเลเซียอย่างใกล้ชิดด้วยความสร้างสรรค์เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่อง (ในการพูดคุย)”   น่าสังเกตว่าทางมาราปาตานีไม่ได้เรียกร้องข้อเสนอเดิมที่บีอาร์เอ็นเคยประกาศไว้ในปี 2556  ซึ่งขอให้ OIC เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทย โดยทางผู้แทนของมาราปาตานีบอกกับผู้เขียนว่าข้อเรียกร้องนี้ยังไม่เหมาะสมในตอนนี้ แต่อาจจะมีการพิจารณาในช่วงเวลาต่อไป

บทเรียนของกระบวนการสันติภาพในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทยในหลายๆ ด้านแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องของประเทศที่สามหรือองค์กรระหว่างประเทศไม่ได้เป็นการเปิดทางให้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด ทั้ง OIC และมาเลเซียเองก็เข้าไปมีบทบาทเป็น facilitator ในความขัดแย้งทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  ข้อตกลงสันติภาพหลายครั้งกับหลายกลุ่มติดอาวุธและหลายรัฐบาลล้วนนำไปสู่การตั้งเขตปกครองพิเศษที่ให้อำนาจกับคนท้องถิ่นในการปกครองตนเองมากขึ้น  โดยหลักการแล้ว รัฐและองค์กรระหว่างประเทศมักมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนการแยกดินแดนของคนกลุ่มน้อยเพราะอาจจะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา  หลายครั้งที่ประเทศเกิดขึ้นใหม่นั้นอาจไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้ในทางเศรษฐกิจ  ประเด็นหลักที่ทำให้การแยกตัวฟังดูมีน้ำหนักกลับคือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  ซึ่งทำให้การอยู่ร่วมกันต่อไปเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ข้อพึงระวังของรัฐไทยคือการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายรัฐมากกว่า

การเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการนี้เริ่มต้นขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2556 ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งฝ่ายทหารกลับคัดค้านอย่างเต็มที่ การที่รัฐบาลทหารยอมรับให้มีการสานต่อในเรื่องนี้  ในแง่หนึ่งก็เป็นการยอมรับว่าไม่สามารถที่จะใช้การทหารกดปราบและทำลายคู่ต่อสู้ได้สำเร็จ  โดยหวังว่าการพูดคุยจะเป็นหนทางในการลดหรือยุติความรุนแรง  โดยดูเหมือนไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะเจรจาในประเด็นที่เป็นหัวใจของการต่อสู้ของชาวปาตานี เช่น เรื่องการปกครองตนเอง แต่อย่างใด 

เวลาเผชิญหน้ากับ OIC ก็เลยออกอาการกล้าๆ กลัวๆ เพราะจริงๆ แล้วก็อาจจะยังวนอยู่ในกรอบคิดเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ความหวั่นเกรงนี้ได้ส่งผลให้การพูดคุยในช่วงกว่าปีที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและทำให้เกิดข้อกังขาว่ากระบวนการสันติภาพภายใต้อุ้งมือทหารนั้นจะเป็นจริงได้แค่ไหน

 

**************************************************

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัชเป็นนักวิจัยอิสระซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เธอเขียนหนังสือเรื่องถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานีและเส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี