สำรวจความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ
2 กันยายน 2559
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์วิทยาเขตปัตตานี
ก่อนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข อย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ MARA Patani ในวันที่ 2 กันยายน 2559 ณ กรุงกังลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย องค์กรกรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ที่หลากหลาย ทั้งไทยพุทธและมุสลิม จาก ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวมทั้ง เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้พร้อมใจกัน แสดงข้อคิดเห็น จุดยืน และผลักดันข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมอย่างมีพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่สะท้อนจากผู้คนรากหญ้าที่สะท้อน เสียงของกลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้ เสียงของเครือข่ายผู้หญิง เสียงของเครือข่ายสิทธิเด็ก เสียงของเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ปรากฏการณ์ของการแสดงพลังในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแต่ถือเป็นพลังที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องมากว่า 12 ปี
แม้เวทีการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ จะจัดขึ้นโดยหลากหลายภาคส่วนและกระจัดกระจายไม่ว่าจะจากหน่วยงานรัฐ จากองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่ภาคส่วนต่างๆ ยังคงมีพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งไปจุดยืนเดียวกัน คือ สันติภาพ และแม้คำว่าสันติภาพของแต่ละกลุ่มจะมีความหลากหลาย แต่ทุกความหมายของ “สันติภาพ” คือ สิ่งที่ทุกคนสามารถมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดได้ แสดงออกได้อย่างปลอดภัย ภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/ 2557 [1]อย่างไรก็ตามความรุนแรงที่คงเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ก่อนและหลังจากการพูดคุย ในวันที่ 2 กันยายน 2559 ซึ่งได้สร้างความสูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และความหวังของผู้คนในพื้นที่ที่ต้องสันติภาพอย่างหนักหน่วง แต่ผู้คนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะหลบซ่อนภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัวได้อีกต่อไปดังที่เกิดขึ้นมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
คำถามที่ว่า ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนในการพูดคุยและแสแสดงออกถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวพวกเขาเองมากขึ้น การศึกษาของ สถาบันการศึกษาและสถาบันวิชาการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รวม15 สถาบันได้ทำการวิจัยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 1 ได้ระบุถึง การให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยประชาชนให้ความสำคัญต่อ กลุ่มต่างๆ ที่ควรมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพดังนี้ อันดับหนึ่ง นักการเมืองระดับชาติ อันดับสอง ผู้นำศาสนาอิสลามและอุสตาส อันดับสาม องค์กรภาคประชาสังคม อันดับสี่ นักวิชาการมหาวิทยาลัย อันดับห้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.)[2] จะเห็นได้ว่าจากความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดภาคประชามากที่สุดสามอันดับแรก คือ นักการเมือง ผู้นำศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างสันติภาพในลำดับต้นๆ ซึ่งในบทความนี้ขอหยิบยกประเด็นตัวอย่างของกลุ่มองค์กรที่กำลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในห้วงเวลานี้ (ท่านสามารถติดตามข้อเสนอความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆทั้งหมดได้ใน รวมลิงค์ ข้อเสนอต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ที่มา: http://deepsouthwatch.org/node/9401)
เมื่อการส่งเสียงของภาคประชาชนเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น พลังที่อยู่ข้างล่างเริ่มที่จะมีบทสนทนาต่อการพูดคุยสันติภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งการสงสัย ตั้งคำถาม การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งการเสนอทางออก อย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีสีสัน ทั้งหมดคือ การแสดงให้เห็นถึงความต้องการของภาคประชาชนในการเป็นส่วนสำคัญในการพูดคุยสันติภาพที่จะต้อง "รวมทุกฝ่าย" เข้ามาสู่เวทีของการพูดคุยสันติภาพอย่างแท้จริง คำตอบที่ได้จากคำถามหลักๆ เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีสามประเด็น คือ หนึ่งความกังวล สองความคาดหวัง และสาม จะทำอย่างไรที่จะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ
งานศึกษาหนึ่งของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้ทำการศึกษาความคิดเห็นขององค์กรภาคประชาสังคมกว่า 57 หน่วยงานในพื้นที่ โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระหว่างเดือน ธันวาคม 2558 - พฤษภาคม 2559[3] ในประเด็นความคาดหวัง ความกังวล และการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อการกระบวนการสันติภาพ เพราะพื้นที่ทางการเมืองเป็นอิสระมากขึ้น ภาคประชาสังคมสามารถพูดคุยในเรื่องต่างๆ ที่เป็นเรื่องต้องห้ามในอดีต มีสื่อท้องถิ่นต่างๆ ที่สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงผู้คน และมีสัญญาณในเชิงบวกที่นำไปสู่การพูดคุยสันติภาพ เช่น การพักโทษของนักโทษคดีความมั่นคง ทำให้ภาคประชาสังคมมีความหวังต่อการพูดคุยสันติภาพในแทร็กหนึ่ง ( การพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้ง) และหวังว่าภาคประชาสังคมและภาคประชาชนจะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมยังคงมีความกังวลอยู่มากต่อกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในหลายประการด้วยกัน ข้อกังวลประการสำคัญ คือความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพ และความจริงใจของทุกฝ่ายในการร่วมมือกันผลักดันสันติภาพ อีกทั้งยังกังวลถึงการทำงานของภาคประชาสังคมด้วยกันเองว่าจะขาดความต่อเนื่อง ยังคงแยกกันทำงาน กังวลต่อการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้จริงและกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ[4]
อย่างไรก็ตามสิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมต้องการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพมากขึ้น การสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ครอบคลุมทุกกลุ่มเป็นอิสระ และต้องการให้เสียงและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านได้สะท้อนความต้องการออกมา แม้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไป ท่ามกลางเสียงของความคาดหวังของภาคประชาสังคม แต่พวกเขาก็ยังมีความไม่มั่นใจว่า กระบวนการดังกล่าวจะมีความยั่งยืนมากแค่ไหน อีกทั้งยังกังวลต่อบทบาทของภาคประชาสังคมเองว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับการทำงานของภาคประชาสังคมด้วยกันเองอย่างไร[5]
นอกจากนี้ การศึกษาถึงความกังวล ความคาดหวัง และ และการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ยังขยายไปถึงกลุ่มของครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งเป็นงานศึกษาของสำนักงานการศึกษาเอกชนและสภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 12 เวที โดยมีผู้เข้าร่วม กว่า 1,100 คน ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2559 โดยกระบวนการของการจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการได้แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ การหนุนเสริมองค์ความรู้ด้านกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้และการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอความต้องการจากบุคคลากรภาคการศึกษาที่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ สำหรับประเด็นที่มีความเด่นชัดต่อการพุดคุยสันติภาพ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องตรงกัน คือ การต้องการความจริงใจและความต่อเนื่องในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อที่จะยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ส่วนการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่พวกเขาอยากผลักดันให้เดินหน้าต่อ คือ การสร้างเครือข่ายครู/อุซตาส เพื่อเดินหน้าสร้างสันติภาพ การผลักดันให้สมาคมโรงเรียนเอกชนประชุมหารือร่วมกันในการสร้างสันติภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง มีความต้องการให้คณะกรรมการอิสลามซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มีบทบาทในการพูดคุยสันติภาพมากขึ้น[6]
ภาพจากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 12 “ความหวัง ความกังวล และการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” สำหรับครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี ถ่ายโดย อิมรอน ซาเหาะ
นอกจากเสียงขององค์กรภาคประชาสังคมและครูโรงเรียนเอกชนแล้ว เสียงของผู้นำศาสนาก็มีความสำคัญลำดับต้นเช่นกัน โครงการเสวนาผู้นำศาสนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 - 28 สิงหาคม 2559 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส จัดโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในเวทีนี้มีผู้นำศาสนาอิสลาม ทั้งโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นจากมัสยิดต่างใน จ.นราธิวาส เข้าร่วมจำนวน 100 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น ความคาดหวัง ความกังวลและความต้องการในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ สำหรับความกังวลของกลุ่มผู้นำศาสนา คือ การพูดคุยไม่ต่อเนื่องและขาดความร่วมมือ แต่พวกเขาก็ยังมีคาดหวังประชาชนได้ดูแลพื้นที่เอง อยากเห็นสังคมมีความปรองดอง ปลอดภัยและยุติธรรม นอกจากนี้ผู้นำศาสนามีความต้องการในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยยินดีส่งตัวแทนเข้าในการพูดคุยสันติภาพ ภายใต้เงื่อนไขของการมีกระบวนการที่เปิดเผยและต้องได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการพูดคุย[7]
ภาพจากโครงการเสวนาผู้นำศาสนาเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 1
นอกจากนั้น ยังมีเวทีของคณะกรรมการเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการต่อตัวแทนรัฐบาลในวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาใน 5 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอด้านกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดยเน้นไปที่ความต้องการผลักดันให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ พื้นที่ปลอดภัย ยกเลิกกฎหมายพิเศษ พร้อมข้อเสนอด้านศาสนา ภาษามลายู การศึกษา เพิ่มอำนาจจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าฯ อัตลักษณ์วัฒนธรรม หนุนเศรษฐกิจ ปกป้องเด็ก สตรี จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ได้เน้นข้อเสนอที่ครอบคลุมในทุกมิติ ที่จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและศาสนาของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้[8]
สำหรับเสียงของนักการเมืองที่เป็นเสียงที่มีความสำคัญอันดับแรกสะท้อนจากโครงการการเสวนานักการเมืองในช่วงเวลา 2 ปี กว่า 32 ครั้ง จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในห้วงเวลานี้เป็นการนำเสนอผลของการหารือที่เกิดขึ้นเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อเสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และมาราปาตานี ใน วันที่ 2 กันยายน 2559 เนื้อหาของข้อเสนอ เน้นไปที่การต้องการให้คู่ขัดแย้งสร้างกรอบคิดเพื่อเดินไปสู่อนาคตร่วมกัน โดยเสนอให้มีตัวแทนที่มาจากภาคประชาชนเป็นผู้สะท้อนความต้องการของภาคประชาชนอย่างเต็มที่ เร่งสร้างความไว้วางใจในฝ่ายความมั่นคงเพื่อเดินหน้าสู่การเจรจาจาสันติภาพ/สันติสุข อีกทั้งยังหยิบยกเรื่องทางออกทางการเมืองในเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งไม่ควรจำกัดแต่เฉพาะกระบวนการพูดคุยที่เป็นทางการแต่ต้องรวมภาคส่วนอื่นๆ รวมกับกับภาครัฐ[9]
ภาพจากเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 29
เวทีที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกเวทีคือ การส่งเสียงของคนไทยพุทธในพื้นที่ จากเวทีเสวนาคนไทยพุทธเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2559 ที่มาผ่านเวทีดังกล่าวเป็นความร่วมมือของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาดังกล่าวมีมติร่วมกันในการเดินหน้าผลักดันเรียกให้คู่ขัดแย้ง เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง เรียกร้องต่อทุกภาคส่วนให้สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยสันติภาพ และที่สำคัญพวกเขาต้องการการอยู่ร่วมกันภายใต้การเคารพ ให้เกียรติ ในวิถีการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของแต่ละศาสนา โดยปราศจากความรุนแรง และแสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่ต้องการให้ทุกฝ่ายวางอาวุธ ยุติความรุนแรง เพื่อร่วมกันปกป้องชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่บริสุทธิ์ ทุกๆ ศาสนา และรักษาไว้ซึ่งพหุสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้[10]
ภาพจากจากเวทีเสวนาคนไทยพุทธเพื่อส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กันยายน 2559
นอกจากนี้ยังมี ข้อเสนอเชิงนโยบายของ คณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กร ซึ่งได้เสนอวาระ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” โดยคณะทำงานได้ศึกษาและรวบรวมความเห็นคิดเห็นของผู้เห็นจากภาคประชาชนและภาคชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ประมาณ 500 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 จนถึง เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญของข้อเสนอนโยบาย คือ ต้องการให้ทุกฝ่ายยุติการก่อเหตุรุนแรงแรงในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านค้า ถนน โรงเรียน มัสยิด วัด พื้นที่จัดงานประเพณี ทุ่งนา สวนยาง ร้านน้ำชา โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และรวมถึงบ้านพักหรือที่พักอาศัย ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดจะต้องถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย อีกทั้งให้ฝ่ายที่ขัดแย้งพยายามแสดงออกด้วยวิธีทางทางการเมืองในการหยิบยกข้อเสนอของผู้หญิง เป็นวาระการพูดคุย[11] และในเวลาต่อมาเป็นที่น่ายินดีที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและ MARA Patani ยินดีรับข้อเสนอพื้นที่ปลอดภัยเป็นวาระร่วมกันในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้[12]
ภาพจากกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ ประเด็น "พื้นที่สาธารณปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย" วันที่ 1 กันยายน 2559 บริเวณหน้ามัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี ถ่ายโดย มัทนี จือนารา
อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์ความรุนแรงหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและ MARA Patani ในวันที่ 2 กันยายน 2559 เหตุการณ์หนึ่งที่สั่นสะเทือนกำลังใจของคนพื้นที่ในการเดินหน้าแสวงหาสันติสุขร่วมกัน คือ เหตุการณ์ระเบิดหน้าโรงเรียนตาบา อำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาสในตอนเช้าของวันที่ 6 กันยายน 2559 เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเพียงเด็กนักเรียนหญิงอายุเพียง 4 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กรทั้งในพื้นที่และองค์กรระหว่างประเทศ[13] ต่างออกแถลงการณ์ประณามการกระทำความรุนแรงที่กระทำต่อเยาวชนและพื้นที่สาธารณะที่เป็นโรงเรียน มี 4 แถลงการณ์ทั้งจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ได้ระบุถึงเวทีพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและMARA Patani โดยเรียกร้องให้ทั้งคู่ขัดแย้งสองฝ่ายจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะในสถานศึกษาซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเด็กและเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้หลายองค์กรยังมุ่งเน้นไปที่การปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์อื่นๆ จากการใช้ความรุนแรงในทุกพื้นที่รวมทั้งพื้นที่ปลอดภัย การป้องกันละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ[14]
ทั้งหมดนี้ คือ ปรากฏการณ์แห่งเสียงของภาคประชาชนต่อการพูดคุยสันติภาพท่ามกลางความรุนแรงที่ยังคงดำรงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนัยยะของการปรากฏขึ้นดังกล่าวมีความหมายมากกว่าสิ่งที่คู่ขัดแย้งต้องการ ในห้วงเวลานี้เสียงของสันติภาพ ความต้องการของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ประชาชน “ร้องขอ” จากคู่ขัดแย้งแต่เป็นที่สิ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ ยึดมั่น และปฏิบัติตาม ไม่ว่าเนื้อหาหรือการต่อรองทางการเมืองจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าการพูดคุยจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวแต่เสียงของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย เปรียบเสมือนตาข่ายนิรภัยในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพให้ดำเนินต่อไปและเพื่อดำรงพื้นที่ทางการเมือง การต่อสู้ของภาคประชาชน โดยไม่ใช้ความรุนแรงภายใต้สถานการณ์ที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างใช้ช่องทางความรุนแรงเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองและกดเสียงของประชาชนให้เงียบลงภายใต้ความหวาดกลัว
[1] ดูเนื้อหาคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 230/ 2557 ใน “เปิดคำสั่ง 230 ทำความเข้าใจกลไกและกระบวนการ ก่อนการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 4” ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7754
[2] สรุปจากผลการศึกษา “บทสรุปผู้บริหารการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่ 1 (Peace Survey)” เมื่อ พฤษภาคม 2559 การวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือทางวิชาการกว่า 15 องค์กรได้แก่ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์,คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล,คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี,ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้,สภาประชาสังคมชายแดนใต้,มูลนิธิเอเชีย,สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
[3] ผลการศึกษาจากร่างรายงานวิจัย โครงการวิจัย “ถอดบทเรียน 12 ปีพัฒนาการและบทบาทของประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้และการจัดทำ Roadmap สภาประชาสังคมชายแดนใต้” โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและสภาประชาสังคมชายแดนใต้ (อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์)
[4] เรื่องเดียวกัน
[5] เรื่องเดียวกัน
[6] ผลการศึกษาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความหวัง ความกังวล และการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” สำหรับครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 12 เวที ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2559 - 9 กันยายน 2559 โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินงานสภาประชาสังคมชายแดนใต้และสำนักงานการศึกษาเอกชน (อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์)
[7] อ่านบทความฉบับเต็ม “หวังสังคมปลอดภัย ยุติธรรม คนในดูแลเอง เสียงผู้นำศาสนานราธิวาสต่อวงถกสันติภาพ/สันติสุข” ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/9370
[8] ดูบทความฉบับเต็ม “คณะทำงานพลเมือง ยื่นกุญแจเปิดประตูสันติภาพ คือวาระชาติและพื้นที่ปลอดภัย” ที่มา: คณะทำงานพลเมือง ยื่นกุญแจเปิดประตูสันติภาพ คือวาระชาติและพื้นที่ปลอดภัย
[9] อ่าน บทความฉบับเต็ม “ข้อเสนอของนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ต่อการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข” ที่มา: http://deepsouthwatch.org/node/9372
[10] อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม “คนไทยพุทธยังคงหนุนการพูดคุยสันติสุข” ที่มา http://deepsouthwatch.org/node/9398
[11] อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม “ข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/9378
[12] "มาราปาตานี-ไทย" ตกลงสร้างพื้นที่ปลอดภัยจังหวัดชายแดนใต้ ที่มา: http://news.thaipbs.or.th/content/255435
[13] 10 องค์กร แถลงประณาม เหตุระเบิดหน้า รร.ตาบา จ.นราธิวาส ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/9423
[14] เรื่องเดียวกัน