Skip to main content

 

โรคหัวใจบำบัดได้ด้วยการให้อภัย

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

ในการศึกษาวิจัยจากหลายแหล่งเมื่อเร็วๆนี้มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้ว่าคนที่สามารถให้อภัยจะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีกว่าคนที่เคียดแค้นและโมโหง่าย

ดร.เฟรดริค ลัสกิน ผู้ได้ปริญญาเอกด้านการให้คำปรึกษาและจิตวิทยาสุขภาพจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและคณะของเขาได้ทำการทดลองโดยการเชิญคนจำนวน 259 คนมาเข้าร่วมรับการอบรมครั้งละ 1 ชั่วโมงครึ่งเป็นจำนวน 6 ครั้งโดยในแต่ละครั้งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับคำสอนให้รู้จักการให้อภัย

ผู้เข้ารับการทดลองกล่าวเหมือนกันหมดว่าพวกเขารู้สึกเป็นทุกข์น้อยลงหลังจากที่ให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเขา การศึกษาวิจัยพบว่าคนที่รู้จักให้อภัยจะรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิมมากทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย ตัวอย่างเช่น เป็นที่ยืนยันได้ว่าหลังจากการทดลอง อาการทางจิตและอาการทางร่างกายบางอย่างเช่น อาการปวดหลังอันเนื่องมาจากความเครียด โรคนอนไม่หลับและอาการปวดท้องได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในบุคคลเหล่านี้

ในหนังสือเรื่อง Forgive for Good (ให้อภัยเพื่อผลดี)ของเขา ดร.เฟรดริค ลัสกินได้อธิบายว่าการให้อภัยเป็นตำรับยาเพื่อสุขภาพและความสุข หนังสือของเขาได้อธิบายว่าการให้อภัยจะช่วยทำให้เกิดสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก เช่น มีความหวัง มีความอดทนและมีความเชื่อมั่นในตัวเองโดยการลดความโกรธ ความทุกข์ทรมาน ความหดหู่และความเครียด

ดร.ลัสกินกล่าวว่า “เมื่อร่างกายปล่อยเอนไซม์บางอย่างออกมาในระหว่างมีความโกรธและความเครียด ระดับคลอเรสเตอรอลและความดันเลือดจะสูงขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับร่างกาย”

บทความชิ้นหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Forgiveness (การให้อภัย)ของนิตยสาร Healing Currents ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ค.ศ.1996 กล่าวว่าความโกรธทำให้อารมณ์เสียซึ่งเป็นอันตรายต่อความสมดุลทางอารมณ์และสุขภาพร่างกายของคนผู้นั้น บทความชิ้นนี้ยังได้กล่าวว่าบางคนตระหนักว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองไม่สบายใจและคิดที่จะซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์กับคนอื่น คนผู้นั้นก็ใช้วิธีการให้อภัย

บทความยังได้กล่าวอีกว่าแม้คนจะทนได้ แต่ผู้คนก็ไม่ต้องการเสียเวลาอันมีค่าในชีวิตไปกับความโกรธและความกระวนกระวาย แต่พวกเขาจะเลือกการให้อภัยแก่ตัวเองและคนอื่น

ในงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่อาศัยผู้เข้าทดลองจำนวน 1,500 คน ได้มีการพบว่าความเครียด ความกดดันและอาการป่วยทางจิตมีน้อยมากในคนที่มีศาสนา ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสันผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจซึ่งทำการศึกษาวิจัยกล่าวว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะศาสนาส่งเสริมการให้อภัยและได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ร่างกายมีการทำงานเมื่อมีการให้อภัย เมื่อคุณไม่ให้อภัย มันก็จะทำลายคุณ”

ในบทความเรื่อง Anger is Hostile to Your Heart (ความโกรธเป็นศัตรูต่อหัวใจของคุณ)ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Gazette กล่าวว่าความโกรธเป็นอันตรายต่อหัวใจอย่างมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อิชิโร คาวาชิและคณะทำงานของเขาได้แสดงให้เห็นถึงความจริงในเรื่องนี้ด้วยวิธีการต่างๆซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเขาพบว่าคนแก่ที่หงุดหงิดโกรธง่ายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีอารมณ์ดีถึงสามเท่า คาวาชิกล่าวว่า “ความเสี่ยงเป็นสามเท่านี้รวมถึงระดับความโกรธสูง การระเบิดอารมณ์โกรธด้วยการทำลายสิ่งของและต้องการที่จะทำร้ายคนในการต่อสู้ด้วย”

นักศึกษาวิจัยเชื่อว่าการปล่อยฮอร์โมนความเครียด ความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและการที่ลิ่มเลือดติดกันจนเป็นก้อนเลือดเพิ่มมากขึ้นเป็นตัวบอกให้รู้ว่าความโกรธทำให้คนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่โกรธ ชีพจรจะสูงขึ้นเหนือระดับปกติและนำไปสู่ความดันเลือดที่สูงขึ้นซึ่งทำให้มีโอกาสหัวใจวายมากยิ่งขึ้นด้วย นักศึกษาวิจัยกล่าวว่าความโกรธและความเป็นศัตรูทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เส้นเลือดแข็งอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจและโรควูบ

รองศาสตราจารย์ เอดเวิร์ด ซูอาเรซ แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุคในนอร์ธ แคโรไลนากล่าวว่าโปรตีนอินเตอร์ลูคิน 6 จะสูงมากในคนที่โกรธและจิตใจห่อเหี่ยว ระดับเลือดที่สูงของโปรตีนอินเตอร์ ลูคิน 6 จะทำให้มีการสร้างไขมันไปติดที่ผนังเลือด

ในบทความเรื่อง Anger Raises Risk of Heart Attack (ความโกรธเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว)ตีพิมพ์ในนิตยสาร Times กล่าวว่าการโมโหง่ายอาจเป็นเส้นทางลัดไปสู่โรคหัวใจล้มเหลวและคนหนุ่มที่ชอบโกรธง่ายนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควรถึงสามเท่าและมีความเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลวเร็วขึ้นถึงห้าเท่า

นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกาก็พบว่าคนที่อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายมักมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจล้มเหลวถึงแม้ว่าครอบครัวจะไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเลยก็ตาม

การศึกษาวิจัยอีกมากมายหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าความโกรธเป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์โดยเฉพาะต่อหัวใจซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากรักษา แต่การให้อภัยอันเป็นคุณสมบัติของพระเจ้าซึ่งพระองค์ให้เป็นคุณสมบัติติดตัวมนุษย์มาโดยไม่ต้องซื้อหานั้น หากมนุษย์รู้จักนำมาใช้ก็ย่อมมีผลดีต่อตัวของมนุษย์เอง