Skip to main content

 

อัลกุรอ่านบทที่ 20 "ฏอฮา" กับการเปิดหัวใจให้เข้าใจอิสลาม

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

อิสลามนั้นอ่อนโยนและนุ่มนวล อัลกุรอ่านทำให้คนที่เคยกระด้างอย่างยิ่ง เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลามอย่างยิ่งเช่นท่านอุมัร อิบนุคอฏฏอบ (ร.ฎ.) ยอมสยบต่อความอ่อนโยนของอิสลามมาแล้ว ท่านอุมัรอายุอ่อนกว่าท่านนบี 13 ปี เป็นคนจากชนเผ่าบนูอะดีซึ่งเป็นสาขาของชนเผ่ากุเรซ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวใคร มีบารมีของการเป็นผู้นำสูง เป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยที่อ่านออกเขียนได้ ทำการค้าคาราวานเช่นเดียวกับท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าท่านนบี

หลัง ค.ศ.610 เมื่อท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ทำการเผยแผ่อิสลามในเมืองมักกะฮ์ หลายครั้งที่ท่านอุมัรเข้ามาประคารมเนื่องจากไม่พอใจที่เห็นท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ละหมาดหรือแม้กระทั่งอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านในเขตหะรอมบริเวณวิหารกะอ์บะฮ์ การเผชิญหน้าเกิดขึ้นหลายครั้งจนกระทั่งวันหนึ่งใน ค.ศ.616 ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้ทรงเปิดหัวใจท่านอุมัรลดความก้าวร้าวต่ออิสลามลง ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับท่านอุมัรเกิดความคิดที่จะสังหารท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เพื่อยุติปัญหาทั้งหมดอยู่พอดิบพอดี

ประวัติศาสตร์อิสลามบันทึกไว้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งใน ค.ศ.616 ท่านอุมัรถือดาบพร้อมผู้ติดตามมุ่งไปยังบ้านของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ระหว่างทางได้พบกับหนึ่งในเพื่อนที่สนิทมากที่สุดคือนุอีม อิบนุ อับดุลลอฮ์ (نعيم بن عبد الله Nua'im bin Abdullah) เพื่อนผู้นี้เข้ารับอิสลามแล้วทว่าปกปิดไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ เมื่อได้ฟังความมุ่งมั่นของท่านอุมัรเรื่องการสังหารท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ท่านนุอีมเตือนสติไปว่าหากท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ถูกทำร้ายชนเผ่าบนูอับดุลมานัฟของท่านนบีคงไม่อยู่เฉยจึงขอให้ท่านอุมัรไตร่ตรองในเรื่องนี้ให้ดีและควรกลับไปดูแลครอบครัวของตนเองบ้างหากอยากรู้เรื่องอิสลามให้ลองถามน้องสาวของตัวท่านเองดู น้องสาวของท่านอุมัรในที่นี้คือฟาติมะฮ์ บินติ คอฏฏอบ (الخطاب فاطمة بينتي Fatimah binti AlKhattab)

เมื่อได้ฟังคำจากปากท่านนุอีม ท่านอุมัรออกอาการประหลาดใจถือดาบย้อนกลับไปที่บ้านน้องเขยคือซาอิด อิบนุชัยด์ (سعيد بن زيد Saeed ibn Zaid) ในทันทีเพื่อพบน้องสาว และที่บ้านนั้นเองท่านอุมัรได้ยินน้องสาวอ่านอัลกุรอ่านซูเราะฮ์ "ฏอฮา" หลังจากยืนฟังอยู่พักหนึ่งท่านอุมัรบุกเข้าไปในบ้านและทำร้ายทั้งน้องสาวและน้องเขย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เห็นเลือดของน้องสาว ท่านอุมัรเกิดความสงสารจึงคลายความโกรธลงโดยขอให้น้องสาวนำบันทึกอัลกุรอ่านมาให้ดู รายงานในประวัติศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่าท่านอุมัรต้องทำความสะอาดมือและแขนก่อนรับบันทึกอัลกุรอ่านเพื่อนำมาอ่านและในเวลานั้นเองหัวใจของท่านอุมัรได้เปิดออก

จากถ้อยคำในบันทึกที่ได้อ่าน ท่านอุมัรอุทานว่าถ้อยคำเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาจากคนอย่างมูฮำมัดผู้ที่อ่านเขียนไม่ได้ ทั้งไม่ใช่คนเจ้าบทเจ้ากลอน ถ้อยคำสวยงามเช่นนี้ต้องมาจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น สิ่งนี้คือความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่าน บทที่ท่านอุมัรอ่านคือฏอฮาซึ่งเป็นถ้อยคำในส่วนที่กล่าวถึงอัลกุรอ่านเอง จากบ้านน้องเขยท่านอุมัรและพรรคพวกมุ่งตรงไปยังบ้านท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นท่านนบีรับรู้ถึงการมาของท่านอุมัรแล้วจึงขอให้ลุงคนหนึ่งของท่านคือท่านฮัมซะฮ์ (ร.ฎ.) ที่ประสงค์จะปกป้องท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) หลบออกไปก่อน

การเผชิญหน้ากันระหว่างท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กับท่านอุมัรเกิดขึ้นอีกครั้งในบ้านของท่านนบีเองโดยท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นั่งอยู่กับพื้นท่าทีสงบนิ่งขณะที่ท่านอุมัรยืนกำดาบแน่นในมือก่อนคลายลงและค่อยๆวางดาบลงกับพื้น คุกเข่าใช้สองมือจับมือขวาของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) บรรจงจุมพิศเบาๆลงบนหลังมือพร้อมเอ่ยถ้อยคำต่อท่านนบีว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมูฮำมัดคือศาสนทูตของพระองค์ เพียงเท่านั้นเสียงตะโกนอัลลอฮุอักบัร อัลลอฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ดังกึกก้องจากมุสลิมทุกคนที่เริ่มเข้ามารวมกันในที่นั้นซึ่งรวมถึงท่านฮัมซะฮ์ (ร.ฎ.) ที่ก้าวออกมาจากที่ซ่อน นับจากวันนั้นการต่อต้านอิสลามแม้ยังดำเนินอยู่ทว่าความรุนแรงลดลงไปมาก ก่อนจะเริ่มรุนแรงอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านไปหกปี

อัลกุรอ่านบทที่ 20 ซูเราะฮ์ฏอฮา วรรคที่ 1-5 ที่ท่านอุมัรอ่านแสดงถ้อยคำอันนุ่มนวล เปี่ยมไปด้วยไมตรี โดยสิ่งที่แสดงไปพร้อมกันคือการนำเสนอความเกรียงไกรของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) อัลกุรอ่านบทนี้คือตัวอย่างที่ดีสำหรับการใช้บารมีของอัลกุรอ่านสยบความก้าวร้าวรุนแรงของบุคคลที่คิดร้ายต่ออิสลามให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอิสลามคือศาสนาแห่งสันติ อัลกุรอ่านบทที่ 20 นี้เองที่คณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ.1438 บรรจงเลือกและนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการจัดงาน โดยขอพรต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ว่าความไม่เข้าใจในอิสลามของชนต่างศาสนิกที่ทวีมากยิ่งขึ้นในศตวรรษที่ 21 จะเบาบางลงจากความเข้าใจในความหมายของอัลกุรอ่าน

ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนแรงในโลก พ.ศ.2560 ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดประธานาธิบดีคนใหม่ที่แสดงท่าทีก้าวร้าวต่ออิสลาม หลายพื้นที่ในโลกตะวันตกรวมถึงพื้นที่อื่นแสดงอารมณ์เกลียดกลัวอิสลาม บรรยากาศก้าวร้าวที่แสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลามเช่นนี้ อัลกุรอ่านที่นำเสนอสัจจะในโองการของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ย้อนหลังไป 1,401 ปีเคยแสดงบทบาทอย่างดียิ่งในการลดความรุนแรงก้าวร้าวของชนต่างศาสนิกต่ออิสลามมาแล้ว มาถึงวันนี้ขอพรให้ซูเราะฮ์ฏอฮาดังกล่าวได้แสดงบทบาทสำคัญของตนเองอีกครั้ง อามีน

طه (١) مَآ أَنزَلۡنَا عَلَيۡكَ ٱلۡقُرۡءَانَ

لِتَشۡقَىٰٓ (٢) إِلَّا تَذۡڪِرَةً۬ لِّمَن يَخۡشَىٰ (٣)

تَنزِيلاً۬ مِّمَّنۡ خَلَقَ ٱلۡأَرۡضَ وَٱلسَّمَـٰوَٲتِ ٱلۡعُلَى (٤) ٱلرَّحۡمَـٰنُ عَلَى ٱلۡعَرۡشِ ٱسۡتَوَىٰ (٥)

ฏอฮา (1) มา อันซัลนา อะลัยกัล กุรอานะลิตัชกอ (2) อิลลา ตัซกิเราะตัล ลิมัยยัคชา (3) ตันซีลัม มิมมัน เคาะละก็อล อัรเฏาะ วัสสะมาวาติลอุลา (4) อัรเราะฮฺมานุอะลัล อัรซิสตะวา (5)

“ฏอฮา (1) เรา (อัลลอฮ์) มิได้ให้อัลกุรอ่านลงมาแก่เจ้า (มูฮำมัด) เพื่อให้เจ้าลำบาก (2) เว้นแต่เป็นการตักเตือนแก่ผู้ที่ยำเกรง (3) เป็นการประทานลงมาจากพระผู้สร้างแผ่นดินและชั้นฟ้าทั้งหลายอันสูงส่ง (4) ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงสถิตอยู่บนบัลลังค์ (5)” อัลกุรอ่าน (ฏอฮา) 20:1-5