Skip to main content

 

ระบบที่ดีกับผู้นำที่ดี

 

โดย ติรมีซี ยามา

 

ดูเหมือนว่าโลกตะวันออกจะให้ความสำคัญกับคุณธรรมส่วนบุคคลของผู้ที่จะมาเป็นผู้นำมากกว่าอื่นใด ความเชื่อที่ว่าผู้นำที่มีคุณธรรมที่ดีจะนำพาองค์กร สังคม ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทว่าโลกตะวันตกไม่ได้เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากผ่านประวัติศาสตร์อันเน่าเฟะของการไว้ใจตัวบุคคลจนนำมาซึ่งการแยกตัวระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร รวมถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส เนื่องจากประสบการณ์ของการให้ความเชื่อกับตัวบุคคลจึงเป็นที่มาของการคอรัปชั่นและการปกครองอันฉ้อฉล

 

การคิดถึงเรื่องการสร้างระบบขึ้นมาเพื่อควบคุมความไม่แน่นอนของคุณธรรมส่วนตัวของบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากเราสังเกตระบบในโลกตะวันตกแล้วจะเห็นว่า เป็นระบบที่สามารถนำโดยผู้นำประเภทใดก็ได้ เพราะระบบเป็นตัวกำหนดเส้นทาง กติกา ข้อผูกมัดต่างๆให้ผู้ที่อยู่ในระบบนั้นปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะในองค์กรระดับบริษัท หรือแม้กระทั่งการบริหารประเทศ ที่เน้นตัวระบบที่ดี มากกว่าการสรรค์หาคนที่ดีมาเป็นผู้นำ

 

อริสโตเติ้ลได้พูดถึงคุณธรรมไว้ว่า “คุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนจนเป็นอุปนิสัยประจำตัว”

การเน้นตัวบุคคลโดยไม่สนใจการวางระบบนั้น แม้เราจะได้ผู้นำที่ดีแต่มันหมายความว่า ความหวังทุกอย่างถูกฝากไว้กับคนๆเดียว ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า การตัดสินใจในแต่ละครั้งนั้นเป็นไปด้วยสำนึกแห่งคุณธรรมในทุกครั้งหรือไม่ ทุกอย่างจึงวางอยู่บนความเสี่ยง และขึ้นอยู่กับผู้นำนั้นว่าจะควบคุมคุณธรรมส่วนตัวได้เสมอต้นเสมอปลายได้ดีขนาดไหน

 

มีทฤษฏีที่พูดถึงการวางระบบที่ดี นั่นคือ deontological ethics หรือทฤษฏีหน้าที่ เป็นทฤษฏีที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งแห่งที่ของบทบาทและความรับผิดชอบมากกว่าตัวบุคคลโดยทฤษฏีนี้มองว่า กฎเกณฑ์หรือหลักการจะหลอมตัวบุคคลให้เข้ากับหน้าที่ที่เขาได้รับ

 

กฎหรือหลักการที่ถูกต้องตามทฤษฎีดังกล่าวนี้ หมายถึงกฎที่เป็น “หลักการสากล” ที่มนุษยชาติสามารถยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ ไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ อุดมการณ์ ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ ผิว ฯลฯ กล่าวอย่างรวมๆก็คือหลักจริยธรรมสากล (universal ethic) ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์นั่นเอง (ประชาไท)

 

ระบบที่ดีจะสร้างกติกาให้ผู้อยู่ในระบบนั้น ปรับตัวเข้าหาโดยอัตโนมัติ ระบบที่มีการตรวจสอบ ความโปร่งใส ความชัดเจน จะทำให้การทำงานสามารถเข้าใกล้ความมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นกติกา กฎเกณฑ์ และฉันทามติร่วมกันของทุกคน การเคารพในกติกานั้นจึงเป็นการสำนึกทางคุณธรรมที่สำคัญ ผู้ล้ำเส้นจะต้องรับผิดชอบ ผู้สร้างประโยชน์จะได้รับรางวัลตอบแทน

 

ถือเป็นสิ่งที่ยากจะทำให้เราที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกเข้าใจถึงความสำคัญจุดนี้จนกระทั่งเราได้สูญเสียประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของผู้นำ การต่อต้านจึงเป็นไปด้วยอารมณ์เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจหลังจากที่ความไว้เนื้อเชื่อใจได้ถูกทำลาย ผู้นำเหล่านั้นก็มักต้องถูกลงโทษด้วยการปฏิบัตินอกกติกา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ การล็อบบี้เพื่อทำให้อำนาจนั้นเป็นง่อย นี่คือผลของการวางมาตรฐานของคนดีในระบบที่ไม่ได้ถูกออกแบบโดยคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ฉันทามติร่วมกัน หรือในอีกกรณี การวาง "คนดี" ในระบบที่ยังว่างเปล่าและนำมาซึ่งความล้มเหลวต่างๆ ผู้อยู่ในระบบนั้นอาจจะต้องอดทนต่อผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ เพราะลึกๆแล้วก็ยังมีความศรัทธาในตัวบุคคลนั้นและมีความหวังว่าสักวันทุกอย่างก็จะดีขึ้นหรืออาจจะไปถึงขั้นที่ว่าคนในสังคมเกิดความสิ้นหวังท้อแท้ เนื่องจากขาดคนดี และอาจต้องรอไปอีกสักระยะหนึ่งจึงจะได้คนที่มีคุณธรรมที่ดีหรือผู้นำที่ "ศอลิห" มาปกครอง