Skip to main content

 

"ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ค1 ต้องระบุประเด็นสำคัญที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องศึกษา ประเด็นเรื่องคลีนเทคโนโลยีซึ่งต้องไปศึกษา

ค2 ควรมีประเด็นที่ห่วงใยในเรื่องที่ศึกษา คือ ต้องมีข้อมูลว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น กลายเป็นการแจกยา แจกข้าวสาร น้ำยาล้างจาน ลองกอง

ส่วนเวที ค3 มีการออกคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดห้ามผู้คัดค้านเข้าร่วมซึ่งไม่เหมาะสมมาก

ถ้าดูภาพรวมตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่เวที ค1 ถึงเวที ค3 โดยส่วนตัวถ้าดูในแง่กระบวนการแล้ว ผมถือว่าสอบตก นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นว่าควรสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนะครับ"

บางช่วงบางตอนจากการนำเสนอทัศนะ “EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่สอบตกกับหนทางในการสอบซ่อม”

โดย รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

การพัฒนาที่ยั่งยื่นต้องไม่ทำให้คนเสียโอกาส

ภาครัฐและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ให้มากขึ้น ข้อเสนอคือ

1.โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแพ็กเกตใหญ่ ที่มีการตัดสินใจกันมาแล้ว ต้องให้โอกาสคนในพื้นที่รับฟังความเห็นต่างมากๆ

2.ควรมองความขัดแย้งด้านบวก คนต้องใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่ ต้องรับฟังความเห็นอย่างมากที่สุด

3.การรับฟังความคิดเห็นถ้าไม่ดีพอจะทำให้เกิดความอ่อนไหวในพื้นที่ได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

4.ข้าราชการในพื้นที่ต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ต้องฟังและเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นเชิงบวก

โจทย์สำคัญของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือ ต้องเปิดกว้างกับการรับฟังทุกภาคส่วน ต้องมีพื้นที่กลาง เราอยากให้รัฐบาลได้เกรด A และไม่สอบตก

จากบางช่วงบางตอนของบทวิพากษ์นำ “ทำไม EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจึงสอบตก” โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

"ทั้งประเทศไทย ทั้งโลกไม่ปฏิเสธพลังงานไฟฟ้า แต่วัตถุดิบในการผลิตก็เป็นอีกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือนโยบายและเรื่องผลประโยชน์และเรื่องของชุมชน ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบและคุยด้วยเหตุผล

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่มองว่าสิทธิของคนไม่เท่ากัน ต้องมองว่าคนเรามีชีวิตเท่ากัน ออสเตรเลียแค่ศึกษาว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง 10 ปี ศึกษาว่าจะสร้างที่ไหนอีก 10 ปี ส่วนอีก 20 ศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อย่าให้กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปเติมความรุนแรง ความขัดแย้งชุมชนในพื้นที่ ภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้นแบบนี้ 100 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น

อีไอเอเป็นเครื่องมืออัปลักษณ์สร้างความขัดแย้งกับชุมชน มันต้องเป็นพื้นที่ที่คนมาคุยกันได้ ไม่ใช่เอาเงินมาจ้าง ถ้าศึกษาไม่ผ่านทีมศึกษาก็จะไม่ได้รับเงินอีกครึ่งหนึ่งของการทำสัญญา TOR

แถมเจ้าของโครงการปล่อยให้สมุนของบริษัทแพ่นพ่านไปให้ข้อมูลผิดๆไปติดสินบท ทั้งที่นโยบายคือต้องให้ข้อมูลตรงๆทั้งสองด้าน

การศึกษาข้อมูลEIA /EHIA ไม่ลึกพอที่จะตอบโจทย์ปัญหาสังคมด้านความขัดแย้ง หลายฝ่ายมองแต่ละมุมของตัวเอง กระบวนนี้ยังจะเดินต่อขณะที่ฝ่ายนโยบายเห็นแล้วว่ามันมีปัญหาซึ่งเป็นเรื่องคุยยากเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ต้องโปร่งใสจริงๆก่อน กระบวนการEHIAจึงไม่เป็นมารร้ายเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา"

จากบางช่วงบางตอนในเวทีสัมมนาทางวิชาการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก

โดย ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

"วิถีชีวิตควรได้รับการปกป้อง หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง มันจะนำไปสู่เงื่อนไขการเพิ่มความรุนแรง

การสร้างสภาวะแวดล้อมในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ประเด็นเรื่องการพัฒนาภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่ คือเรื่องปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และปัญหาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นหัวใจของปัญหาภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งเข้มข้นและเกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายต้องรู้ว่าทั้งสองประเด็นแยกออกจากกันไม่ได้ แนวทางพัฒนาต้องยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิต

การปฏิเสธการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตชุมชนไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการความก้าวหน้า แต่รัฐมีทางเลือกอื่นหรือเปล่า ต้องสร้างข้อเสนอทางเลือกการพัฒนาให้รักษาทรัพยากรภาคใต้ ซึ่งการท่องเที่ยวคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งอาศัยฐานทรัพยากร

เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกด้วยตนเอง นี่ไม่ใช่การขัดขวางการพัฒนา"

จากบางช่วงบางตอนในเวทีสัมมนาทางวิชาการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก

โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

"หลักฐานเป็นที่ประจักว่าไม่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถ้าสังคมไทยตั้งใจฟังและได้รับฟัง หลายๆอย่างก็จะถูกแก้ไข

ในภาคใต้เรามีปัญหาเรื่องความไม่สงบไฟใต้ เราสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน ความสุข สูญเสียบรรยากาศสันติภาพสันติสุขเป็นสิบๆปีแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะแก้ปัญหาไฟใต้ใครจะเชื่อบ้าง

ผมนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและบานาแระสร้างความสงบได้ก็น่าจะยอมนะ แต่ปัญหาคือวันนี้พี่น้องขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน มีเรื่องเต็มไปหมด ถ้าสร้างจริงๆจะดับได้มั๊ย ไม่มีใครเชื่อตรรกะนี้ เป็นตรรกะที่ไม่มีใครเชื่อ

จากบางช่วงบางตอนในเวทีสัมมนาทางวิชาการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก

โดย อาจารย์ดิเรก เหมนคร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

"หากโครงการนี้สอบตก คนอนุมัติก็ควรสอบตกด้วย พวกเรามาเพื่อปกป้องชีวิตที่มองไม่เห็นทางวิทยาศาสตร์ก็ดีทางนิเวศน์ก็ดี มนุษย์เป็นอาชญากรทำให้แผ่นดินวุ่นวาย เราต้องดูแลและปกป้องให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

แพกเกตการสร้างถ่านหินที่ไม่เปิดเผย แหล่งถ่านหินที่สะบ้าย้อยก็ต้องอยู่ที่นี่ด้วย เรื่องนี้ถ้าไม่ชะลอ งบประมาณก็จะต้องใช้อีกหลายแสนล้าน มันถูกยกระดับไปอีกแบบ

สามพื้นที่ภาคใต้ควรเป็นแหล่งผลิตอาหารระดับอาเชียน เราต้องการเป็นแหล่งผลิตให้อาเซียนด้วยซ้ำ เราต้องการให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สีเชียวให้มากที่สุด เพราะไม่เห็นพื้นที่อื่นอีกแล้วที่สะอาดเหมือนที่ภาคใต้

ปัจจุบันอาหารประเภทเคมีเยอะมาก คนปัจจุบันเป็นมะเร็งเพราะต้นตอจากอาหารที่มีเคมี ที่จะป้องกันไว้คือรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เราสู้เรื่องถ่านหินเพราะเราต้องการปกป้องฐานทรัพยากรทางอาหารของภาคใต้

การมีชีวิตที่ดีไม่ได้มีเงินเป็นล้าน แต่มีชีวิตที่ดีในวิถีวัฒนธรรมของตนและมีสุขภาพที่ดี รัฐจะมาทำลายสิ่งเหล่านี้ การที่เรามาปกป้องเพื่อลูกหลานของเรา เพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติ ใช้สติปัญญาเอาพลังงานทางเลือกมาใช้

สิ่งที่เรากำลังสู้เป็นภารกิจที่สำคัญ ขอให้การต่อสู้ของเรามีพลัง ขอดุอาร์ให้สิ่งเหล่านี้เป็นชัยชนะของผู้ถูกรังแก เพราะเรามีพลัง มีการรวมทีม ในมิติของสติปัญญา"

จากบางช่วงบางตอนในเวทีสัมมนาทางวิชาการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ EHIA และการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก

โดย อาจารย์มันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระ และปัญญาชนสาธารณะจังหวัดชายแดนใต้ (รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้)

 

ที่มา หน่วยประสานงานวิจัย เพื่อท้องถิ่นจังหวัดสงขลา