บทความ: จากโรงพยาบาลพระมงกุฏถึงแมนเชสเตอร์ บทสนทนาว่าด้วย การก่อการร้าย สภาวะสมัยใหม่ ความหวังและความสิ้นหวัง
จากเหตุการณ์ระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ และเหตุการณ์เดียวกันแต่ข้ามทวีปไปที่สนามกีฬา แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษหลังคอนเสิร์ตอาเรียนา แกรนเด ในวันเดียวกัน วันที่ 22 พฤษภาคม 2560
สองความรุนแรงนี้มูลเหตุอาจจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แต่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงภาวะ “การก่อการร้าย” ในโลกยุคสมัยใหม่ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร? แล้วความรุนแรงดังกล่าวจะมีทิศทางไปในทางไหน? ความหวังแห่งสันติมีอยู่จริงหรือไม่?”
บทความว่าด้วย “จากโรงพยาบาลพระมงกุฏถึงแมนเชสเตอร์ บทสนทนาว่าด้วย การก่อการร้าย สภาวะสมัยใหม่ ความหวังและความสิ้นหวัง” ของอาทิตย์ ทองอินทร์ แห่งวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เขียนหนังสือ “การก่อการร้ายข้ามชาติในประเทศไทย: จากอดีตถึงปัจจุบัน” จะทำให้เราเห็นอีกมิติหนึ่งของความรุนแรงนี้
...
จากโรงพยาบาลพระมงกุฏถึงแมนเชสเตอร์ บทสนทนาว่าด้วย การก่อการร้าย สภาวะสมัยใหม่ ความหวังและความสิ้นหวัง
อาทิตย์ ทองอินทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ทันทีที่ข่าวการระเบิดที่แมนเชสเตอร์ อารีน่า หลังคอนเสิร์ตอาเรียนา แกรนเด ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2560แพร่กระจาย กระแสที่ตามมาคือ การก่นประณาม และคลื่นสึนามิการวิเคราะห์แสดงความเห็นจากผู้คน เหตุระเบิดนี้มิใช่หนแรกในรอบไม่กี่ปีมานี้ กระแสลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังอย่างราโชมอน อุโมงค์ผาเมือง หรือ Devil’s Knot ที่แทบทุกคนพูดในสิ่งที่อยากพูด พูดตามพื้นเพความคิดที่มีอยู่เดิม หรือพูดเพื่อสนับสนุนวาระทางสังคมการเมืองของตนเอง ซึ่งความซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านั้นมันทำให้ผมอยากบอกพวกเขาให้ช่วยวางถุงกาวลงก่อนสักพัก
การเกิดเหตุรุนแรงอันสะเทือนขวัญ เช่น ระเบิดที่แมนเชสเตอร์ ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎ และอีกหลายกรณีที่เราได้ประจักษ์ตามหน้าข่าว มีจุดร่วมประการหนึ่งคือ ความไม่คาดคิด ทันทีทันใด อันก่อให้เกิดความหวาดวิตก ในสถานการณ์แบบนี้ สังคมต้องการข้อวิเคราะห์ที่เป็นประโยชน์ มิใช่ข้อวิเคราะห์ที่เร็ว แต่พาไปสู่บทสนทนาอันไขว้เขว และถ้าจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ การตระหนักว่าไม่รู้ เป็นความรู้ที่สำคัญยิ่ง
ใช่แล้วครับ ผมยังไม่รู้หรอกว่า ใครเป็นคนลงมือ และทำไปทำไม ทั้งในกรณีที่แมนเชสเตอร์ และโรงพยาบาลพระมงกุฎ
ในขณะที่การสำรวจตรวจสอบเหตุการณ์แต่ละกรณี จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงในระดับหนึ่งก่อนจะวิเคราะห์อะไรได้ ขณะเดียวกัน บทสนทนาที่พอเป็นไปได้ในจังหวะที่ข้อเท็จจริงยังจำกัด ผมเห็นว่าเราน่าจะอภิปรายประเด็นที่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่มุ่งสร้างความสะพรีงกลัว หรือที่นิยมเรียกกันว่า “การก่อการร้าย” อยู่หลายประเด็น ในเวลาและเนื้อที่จำกัด ขอตีกรอบการแลกเปลี่ยนในที่นี้อยู่กับคำสำคัญ 3 คำก่อนก็แล้วกันนะครับ คือ การก่อการร้าย สภาวะสมัยใหม่ ความหวัง/ความสิ้นหวัง
....
พูดแบบสรุปๆ คือ โลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะตะวันตก ดำเนินชีวิตอยู่บนสำนึกความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ความหมายอย่างเร็วๆ ของมัน คือ โลกซึ่งมนุษย์มีวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงและควบคุมความเป็นไปของโลก สำนึกของมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ คือ เชื่อในการกุมชะตาอนาคตของตนเอง และเชื่อมั่นว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ จำเป็นต้องถูกจัดการผ่านการสามารถคำนวณได้ คาดการณ์ได้ ทนแทนได้ และควบคุมได้ บนฐานคติแบบนี้ รัฐที่มีพิมพ์เขียวคัดลอกกันมาจากยุโรปจนแทบเหมือนกันหมดทั่วโลกอย่างที่เราเป็นอยู่นี้ ถูกสร้างขึ้นอย่างคาดหวังว่าจะเป็นสถาบันสำคัญในการทำหน้าที่ดังกล่าว รัฐสมัยใหม่จึงมิได้รับประกันชีวิตที่ดีของพลเมืองเท่านั้น แต่ในแง่ความคาดหวัง รัฐสมัยใหม่รับประกัน “ความแน่นอน” บางประการของอนาคตให้กับชีวิตพลเมือง
ตรงนี้เองเป็นรอยต่อที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ใช่ทุกเหตุก่อการร้ายที่มุ่งโจมตีโดยตรงต่อสภาวะสมัยใหม่ เพื่อรื้อฟื้นสำนึกยุคก่อนสมัยใหม่ที่ชะตากรรมของมนุษย์ผูกอยู่กับการกำหนดของพระเจ้า เพราะเราจะเห็นว่า เหตุที่เรียกกันว่าการก่อการร้ายหลายครั้งถูกขับดับด้วยความปรารถนาอื่น อาทิ การเรียกร้องเอกราช หรือพูดอีกแบบ คือ การสร้าง “รัฐสมัยใหม่” ของตนเองขึ้นมา เช่น กลุ่ม IRA ของไอร์แลนด์เหนือ หรือใกล้ตัวหน่อยคือ กลุ่ม BRN ในปาตานี/ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ถึงแม้ว่ากลุ่มหลังจะแสดงให้เห็นภาษาทางศาสนาอยู่ไม่น้อย แต่เท่าที่มีข้อมูลอยู่ในปัจจุบัน ปลายทางของพวกเขาคือ รัฐสมัยใหม่ อันเป็นลักษณะของรัฐชาติ/รัฐประชาชาติ มิใช่รัฐศาสนา
พูดอย่างกระชับคือ เหตุการณ์การก่อการร้ายหลายครั้งมิได้มุ่งทำลายความแน่นอนตามฐานคติแบบสมัยใหม่ แล้วพาไปสู่ฐานคติชะตาฟ้ากำหนด แต่มุ่งสั่นคลอนสถาบันที่กำลังทำหน้าที่รับประกันความแน่นอนดังกล่าว แล้วเปิดทางไปสู่ความแน่นอนแบบใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่าตนจะมีที่ยืนในทางสังคมการเมือง อันเป็นความแน่นอนในโลกนี้ มิใช่โลกหน้า
สำหรับกลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนด้วยแรงขับของศาสนาเป็นหลัก แม้จะเห็นภาพอย่างเร็วๆ ว่ามุ่งรื้อพื้นยืนทางความคิดแบบสมัยใหม่ แล้วปูพื้นความคิดใหม่อันผูกชะตามนุษย์ไว้กับโองการของพระเจ้าในการตีความของตนเอง อย่างกองกำลังรัฐอิสลาม (ISIL) ที่นำเสนออยู่บ่อยครั้งว่า ความเฮงซวยในโลกวันนี้เกิดจากการใช้รัฐแบบ “Man-made” และทางแก้คือต้องไปอยู่ในรัฐที่ “God-made” ตามการตีความพระคัมภีร์ของพวกเขา
แต่หากเราพิจารณารายละเอียดของผู้สมาทานแนวคิดแบบ ISIL ในพื้นที่นอกซีเรียและอิรัก ซึ่งมีงานศึกษาออกมาไม่น้อยในวันนี้แล้ว ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้เป็นพลเมืองแต่กำเนิดของรัฐที่เขาลงมือก่อเหตุ แต่การยักย้ายความภักดีจากรัฐที่ตนอยู่ไปสู่จินตนาการของรัฐอิสลามตามโฆษณาชวนเชื่อของ ISIL นั้นเป็นผลจากการเห็นว่า รัฐที่เขาสังกัดไม่สามารถรับประกันความแน่นอนของชีวิตที่ดีให้กับพวกเขาได้อย่างที่มอบให้กับพลเมืองกลุ่มอื่น พวกเขา “สิ้นหวัง” กับชุมชนทางสังคมการเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ เชื่อมโยงกับการนำเสนอของ ISIL ที่ประยุกต์ภาษาของอิสลามมาใช้อย่างยืดขยายออกไปว่า
“โลกนี้กำลังเสื่อมถอย แต่มันเป็นเพียงโลกดุนยา (ภาวะชั่วคราว) และความจีรังยั่งยืนรออยู่ในโลกหน้า หรือโลกอาคีเราะฮฺ ที่จะไปถึงตรงนั้นได้ เฉพาะการเป็นพลเมืองของรัฐที่ถูกต้องตามหลักศาสนา คือ รัฐอิสลามในแบบที่ ISIL ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น”
ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างหนึ่งเพื่อสะท้อนว่า เมื่อเกิดเหตุระเบิดในห้วงเวลาปัจจุบัน แม้รูปแบบเหตุการณ์จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เสมอไปที่ผู้ลงมือจะเป็นกลุ่มที่มีแรงขับทางศาสนาเสียทุกครั้ง และไม่เสมอไปว่าจะเป็นกองกำลังรัฐอิสลาม (ISIL) แม้กระทั่งกรณีที่กลุ่ม ISIL ออกมา “เคลม” ก็ตาม เราไม่สามารถ “อธิบาย” การลงมือก่อการร้าย แม้กระทั่งจากบุคคลที่สมาทานในแบบ ISIL ได้อย่างง่ายเพียงแค่ว่า เป็นความพยายามของกลุ่มความเชื่อแบบก่อนสมัยใหม่ที่จำนนต่อศาสนาและพระเจ้า เพื่อโจมตีสภาวะสมัยใหม่ที่เชื่อในตัวมนุษย์เอง เท่านั้น เพราะหลายกรณี การ “กลายเป็น” ผู้ก่อการร้าย เป็นอาการปลายเหตุอันสะท้อนความเลิกเชื่อมั่นในตนเองของผู้คน ตลอดจนความหมดหวังต่อความเป็นไปของโลกที่พวกเขาอยู่
“ทางหนีไฟ” จึงขมวดอยู่ตรงนี้ การเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้อันมากมาย และสืบค้น ครุ่นคิด พยายามทำความเข้าใจแต่ละกรณีอย่างละเอียดละออ เป็นเรื่องสำคัญเอามากๆ ในขั้นตอนแรก เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับมนุษย์ แม้กระทั่งผู้กระทำความรุนแรงก็ตาม
ด้วยกรอบเลนส์แบบนี้ เราจึงจะสามารถเห็นว่า มนุษย์ อันรวมถึง “ผู้ก่อการร้าย” ต่างใช้วิถีทางอันแตกต่างกันในการดิ้นรนที่จะมีชีวิต หรือกระทั่งมีหวังในชีวิต คำถามอยู่ตรงนี้ ชุมชนทางการเมืองแบบใดที่จะหนุนเสริมความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพความเป็นมนุษย์ให้กับสมาชิกแต่ละคน
เรื่องนี้เป็นคนละอย่างกับบทสนทนาว่าด้วยการเมืองแบบสมัยใหม่/ก่อนสมัยใหม่ หากแต่เป็นบทสนทนาที่พันอยู่กับการเมืองของความหวัง/สิ้นหวัง อันพูดถึงชุมชน กติกา และการปฏิบัติทางการเมืองแบบใดที่จะมอบและรับประกันความหวังให้กับมนุษย์
เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ GM Live