Skip to main content

 

สามปีรัฐนาวาประยุทธ์ “ขาลง” จริงหรือ ?

 

สมบูรณ์ คำแหง

นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่

 

 

การวิเคราะห์สถานะทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ว่ากำลังอยู่ในห้วง "ขาลง" นั้น เป็นชุดวิเคราะห์ที่ผมอาจจะไม่เห็นด้วยนัก เพราะการยืนหยัดอยู่ในรัฐนาวาลำนี้ได้นานถึงสามปีของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอน เพราะนั่นหมายถึงการมีแรงสนับสนุนที่สำคัญเท่านั้น ถึงจะยืนอยู่ได้ และผมยังมีความเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังต้องการให้สภาวะทางการเมืองดำเนินไปเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง และคนกลุ่มนี้ที่หมายถึงก็คือ "พลังมวลชน” ผู้เบื่อหน่ายความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การดำรงอยู่ได้ของอำนาจขุมนี้เป็นสิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและที่มาที่ไปในหลายมิติ และรวมถึงมิติที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนนั้นด้วย ซึ่งบางเรื่องไม่สามารถนำมาร่วมวิเคราะห์อย่างเปิดเผยได้ มุมคิด หรือกลุ่มคนที่เรามักจะนำมาวิเคราะห์ร่วม หรือพูดถึงกันอยู่เนืองนิตย์สำหรับเรื่องนี้ คือกลุ่มคนเพียงสองกลุ่มเท่านั้น นั่นคือกลุ่มเสื้อสีเหลือง และสีแดง ที่ปัจจุบันก็อาจจะยังมีการคัดง้างกันอยู่บ้างประปราย โดยเฉพาะระดับปลายแถวของความคิด (เพราะหัวแถวกำลังอยู่ระหว่างผนวกผลประโยชน์) และนับวันก็จะยิ่งโรยแรงด้วยกระแสของมวลชนสนับสนุนรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าติดตาม ในที่นี้จึงขอยกกลุ่มคนดังกล่าวนั้น และอาจจะเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งหรือสองกลุ่มมาร่วมวิเคราะห์ปรากฏการณ์ย้อนหลัง และแนวโน้มในอนาคตเพื่อสนับสนุนเหตุผลจากข้อคิดเห็นเบื้องต้นดังนี้

• กลุ่มที่ต้องการล้มระบอบทักษิณ ที่ก่อตัวมาจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นสัญลักษณ์ จนเปลี่ยนผ่านมาเป็น กปปส. ที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหอกสำคัญ และมวลชนส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้คือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ จนนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. จนคนกลุ่มนี้ถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็น “พวกเป่านกหวีด เรียกทหาร” อีกกลุ่มการเคลื่อนไหวหนึ่งที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกันนี้ คือ คปท. ที่มีทนายนกเขา เป็นแกนนำหลัก แต่มวลชนของกลุ่มนี้ถือว่ามีความแตกต่างจากมวลชนของ กปปส. ด้วยมีการรวมตัวของกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เป็นการรวมของกลุ่มที่ไม่เอาระบอบทักษิณ และไม่เอานักการเมืองแบบประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน และส่วนหนึ่งมีแกนนำนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอรวมอยู่ด้วย ดังนั้นในการชุมนุมของฝ่าย คปท. จึงเลือกนำเสนอเนื้อหาบนเวทีที่เป็นเรื่องความทุกข์ร้อนของประชาชนรวมอยู่ด้วย และมีเป้าหมายใหญ่ไปเพื่อเป็นเวทีให้การศึกษากับสังคมไปด้วย แต่ถึงแม่ คปท.จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวเฉพาะตัว แต่ที่แตกต่างจาก กปปส. ซึ่งยังคงอิงแอบอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่สุดแล้วทั้งสองกลุ่มนี้ก็ถูกเหมารวมอยู่ในแข่งเดียวกัน

• กลุ่มรักทักษิณ ปกป้องประชาธิปไตย หรือเรียกกันว่าเสื้อแดง กลุ่มนี้หลวมรวมเจตนาเป็นหนึ่งเดียว ด้วยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องรัฐบาลในเวลานั้นทุกรัฐบาลด้วยเหตุผลว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตย แต่นัยหนึ่งคือการปกป้องรัฐบาลในตระกูลชินวัตรทุกคน และในการเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นก็มีภาพของอดีตนายกฯทักษิณเป็นผู้บ่งการอย่างชัดเจน ทั้งนี้ถือว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ทั้งทางกายภาพ และทางความคิด โดยการนำหลักประชาธิปไตยมาเป็นตัวตั้ง โดยอ้างถึงสังคมอุดมคติ หรือประชาธิปไตยที่ปราศจากการการครอบงำของอำนาจที่มองไม่เห็น คนกลุ่มนี้มีขั้วความคิด 2 ขั้วหลัก คือกลุ่มแดงอุดมการณ์ ภายใต้การนำของอดีตสหายเดือนตุลา(อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และแกนนำความคิดที่อิงแอบกับแนวคิดนี้ คนกลุ่มนี้มีการทำความคิดทางการเมือง โดยการหล่อหลอมจากสายสหายทั่วทุกภูมิภาค และมีการจับมือกันอย่างเหนียวแน่น ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลคนกลุ่มนี้ก็จะมีอำนาจการต่อรองตำแหน่งทางการเมืองอยู่ไม่น้อย กลุ่มนี้ได้มีการผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้แนวทางการจัดตั้งตามทฤษฎีการเมืองแบบมาร์กซิส ซึ่งผลผลิตของชุดความคิดนี้ก็ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนั้นอย่างน่าติดตามเช่นกัน กลุ่ม “แดงอุดมการณ์” ถือว่ามีการเคลื่อนไหวภายใต้อุดมการณ์และความเชื่อของตน ในขณะที่มีเป้าหมายรองเพื่อการช่วยเหลือรัฐบาลในตระกูลชินวัตรร่วมด้วย แต่ที่มากไปกว่านั้นคือในทัศนะหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็ให้ค่ากับอดีตนายกฯทักษิณ หรือรัฐบาลของตระกูลชินวัตรว่าเป็นพาหะเพื่อนำไปสู่อุดมการณ์ที่ตั้งไว้ หรือถ้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมาคนกลุ่มนี้มีความคิดเพียงว่า “ต้องใช้ระบอบทักษิณเป็นเครื่องมือ” เพื่อนำไปสู่สิ่งที่มุ่งหวัง หรืออาจจะเป็นไปตามทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายว่าเป็นยุคของทุนใหม่กินทุนเก่า หรือการปล่อยให้ทุนตีกันเอง เพื่อนำไปสู่ยุคเปลี่ยนผ่านดังนั้นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าของคนกลุ่มนี้คือ การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยใหม่ ที่หมายรวมถึงการเปลี่ยน หรือล้มโครงสร้างอำนาจเก่าของประเทศนี้ด้วย ส่วนแดงอีกกลุ่ม อาจจะเรียกว่า “แดงแม่ยก” หรือ “ แดงผลประโยชน์” คนกลุ่มนี้อาจจะมีความรักชอบ และเสน่หาในความเป็นนายกรัฐมนตรีของทักษิณ และตระกูลชินวัตร อาจจะด้วยความสามารถทางการบริหารบ้านเมืองที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ที่สำคัญคือการสร้างนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนระดับล่างสามารถจับต้องรูปธรรมนโยบายของรัฐได้แบบตาเห็น มือคลำได้ จนเป็นที่พึงพาใจของประชาชนฐานรากทั่วไป โดยเฉพาะพี่น้องชาวอีสาน ภาคเหนือ และในจำนวนนั้นก็มีพวกแกนนำที่ต้องการชะเลีย เอาอกเอาใจ รวมถึงหวังผลประโยชน์ต่างตอบแทน และรวมถึงผลประโยชน์ทางการเมืองภายในพรรคนั้นด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบท่อน้ำเลี้ยงที่ตระกูลชินวัตรจัดให้ในช่วงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นได้สร้างสีสันการเคลื่อนไหวของสายแดงนี้ได้อย่างคึกคัก

• กลุ่มวางเฉย หรือถ้ามองในแง่ดีก็อาจจะเรียกว่าพวก “พลังเงียบ” คนกลุ่มนี้แสดงท่าทีไม่พอใจต่อความวุ่นวายทางการเมืองในยุคเหลืองแดง แต่ในความจริงแล้วคนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกไม่พอใจกับทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือทางสังคมจะไม่ว่าจะสาเหตุใด แม้แต่การออกมาประท้วงของชาวบ้านทั่วไปที่ได้รับความทุกข์ร้อนจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐ คนกลุ่มนี้มีมวลชนที่ไม่ได้จัดตั้ง แต่ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่มิได้หมายความว่าเขาจะไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง แต่เขาอาจจะต้องการเห็นการเป็นไปทางการเมืองตามระบบปกติ คือใครจะมีปัญหาอะไรก็ค่อยไปว่ากันตอนเลือกตั้ง กลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบตัวแทน และนั่นก็คือการยินยอมมอบสิทธิทุกอย่างของตนให้กับผู้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้แทนคนนั้นทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอก็จะถูกลงโทษตอนเลือกตั้ง ซึ่งหากว่ากันตามขนมประเพณีของการปกครองระบอบนี้ มันควรต้องเป็นเช่นนั้น คนกลุ่มนี้จึงเป็นพวกนิยมประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และจะปล่อยให้รัฐบาล หรือผู้ที่ตนได้เลือกไปแล้วทำงานไปตามหน้าที่ และตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ ไปจนกว่าจะครบวาระ

ส่วนของนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ และกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ อาจจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไปอยู่กับกลุ่มต่างๆเบื้องต้นนั้นตามแต่จริตของตน บ้างก็แอบนิยมชมชอบ และร่วมเชียร์อยู่เบื้องหลัง บ้างก็ออกตัวประกาศเข้าร่วมกับสีเสื้อสีใด สีหนึ่ง อย่างออกหน้าออกตา แต่อาจจะเห็นคุณค่าของคนกลุ่มนี้ในเหตุผลของการเข้าร่วมที่อาจจะอยู่เหนือผลประโยชน์เฉพาะตน ซึ่งมักแฝงไปกับความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆที่ตนทำงานอยู่ด้วย ส่วนหนึ่งมีคำอธิบายความคิดว่าได้ใช้โอกาสของสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยการเอาปัญหาของผู้ทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นในทุกหย่อมย่าน ไปสู่การสื่อสารสาธารณะ และมีการเชื่อมโยงปัญหาเหล่านั้นให้เห็นเป็นภาพใหญ่ในระดับโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไปด้วย

ในขณะที่อีกความคิดหนึ่งของคนกลุ่มนี้เห็นว่าปัญหาที่ชุมชนต่างๆพบเจอกันอยู่คือสิ่งที่เกิดขึ้นปลายทางจากปัญหาใหญ่ต้นทาง นั่นคือปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่สามารถทำให้ระบบประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง หากเป็นระบบที่ถูกครอบงำจากโครงสร้างอำนาจที่มองไม่เห็น หรือเป็นอำนาจเหนือรัฐ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเห็นว่าต้องช่วยกันทำภารกิจโค่นล้มอะไรบางอย่าง เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่า เมื่อนั้นปัญหาความทุกข์ร้อนของพี่น้องคนชั้นล่างก็จะถูกคลี่คลายไปด้วย คนกลุ่มคิดนี้จึงโน้มเอียงไปกับชุดความคิดของกลุ่มแดงอุดมการณ์ และในกลุ่มของนักพัฒนาทางสังคมด้วยกันจึงมีการคัดง้างระหว่างความคิดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ผ่านการวิวาทะทางความคิดในหลายรูปแบบ ในหมู่นักพัฒนาก็ยังมีความคิดที่สามด้วยเช่นกัน และเป็นกลุ่มที่ที่ไม่ต้องการอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งใดๆ แต่ยังเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด และเอาใจใส่ แต่ไม่แสดงตัวชัดเจนซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ในบริบทของความขัดแย้ง และความคิดเห็นอันแตกต่าง บนฐานของเหตุผลอันแข็งแรงของแต่ละฝ่าย ล้วนเป็นเหตุผลที่ชวนรับฟังทั้งสิ้น การเพรี้ยงพร้ำทางการเมืองของแต่ละฝ่ายก็จะถูกพิพากษาทางสังคมอย่างเจ็บปวด ไม่มีคำว่ามิตรแท้ในสถานการณ์เช่นนี้ คนที่ไม่มีความชัดเจนต่อแนวทางใดแนวทางหนึ่งก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเลื่อนลอย ไม่ชัดเจน ไร้หลักการ และถูกให้ความหมายว่าเป็นพวก “สลิ่ม” ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลุ่มเฉยกับกลุ่มเสื้อเหลือง ถือเป็นคำยามที่ฝ่ายสีเสื้อหนึ่งตีความหมายให้กับอีกสีเสื้อหนึ่งอย่างสนุกปากจนถึงวันนี้ ที่ผ่านมาในท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด หรือการแบ่งฝ่ายของชุดความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจของกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้แทบไม่สามารถหาพื้นที่แลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาร่วมกันได้ แม้จะมีความพยายามของคนบางกลุ่มที่อยากจะอาสาเพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าว ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “โลกสวย” หรือพวกมองอะไรในแง่ดีมากไป ที่ต้องการเห็นการหลอมรวมความคิดที่แตกต่างเหล่านี้อย่างที่ไม่ควรจะเป็น หรือด้วยความคิดว่าการยอมรับแนวความคิดของการหลอมรวมเปรียบเสมือนการเสียจุดยืน หรืออุดมการณ์ที่ยึดถืออยู่ แต่ด้วยเจตนาของคนที่ต้องการเปิดพื้นที่กลางเพื่อการสื่อสารนี้ เพราะด้วยความหวังว่าความสมานฉันท์ การปรองดอง หรือจะอะไรก็แล้วแต่ในลักษณะนั้นจะเกิดขึ้นได้หากมีการสร้างบรรยากาศทางสังคมให้ดีขึ้นท่ามกลางความร้อนระอุของการเมือง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ยังไม่เห็นการเปิดพื้นที่เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันให้ถึงที่สุดได้จนถึงบัดนี้ จึงยังไม่สามารถหาบทสรุปอันจะเป็นทางออกต่อเรื่องนี้ได้

การหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมานำเสนอ มิใช่ต้องการจะฟื้นฝอยเพื่อหาตะเข็บแห่งความผิดพลาดของใคร แต่ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะบอกถึงเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลทหารปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ดำรงตนอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และยิ่งมีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้น หลายคนมีความเข้าใจถึงเหตุผลต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาในห้วงเวลากว่าสิบปี การแตกขั้วทางความคิดภายใต้ระบบการเมืองเดียวกัน เราเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน หากแต่เรามีมุมมองต่อความเป็นประชาธิปไตยในมิติที่ต่างกันนั่นเอง บรรจง นะแส ในฐานะแกนนำนักพัฒนาองค์กรเอกชนรุ่นใหญ่ในภาคใต้ ผู้มีบทบาทนำคนหนึ่งในยุคการเมืองสีเสื้อ ได้กล่าวเชิงตลกขบขันต่อการเข้ามายึดอำนาจของฝ่ายทหารว่า “ทหารไม่ใช่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่เมื่อใครเป่านกหวีดก็จะต้องออกมา” เพราะเรายังวิเคราะห์เรื่องนี้กันแผ่วเบาเกินไป และง่ายที่สุดคือการยกความผิดพลาดนี้ให้กับคนที่ออกมาท้าชนและขับไล่ระบอบทักษิณ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ก็ได้ตกเป็นจำเลยต่อเรื่องนี้ มันอาจจะซับซ้อนเกินกว่าจะจำแนกสาเหตุของเรื่องนี้ได้

การดำรงอยู่ของรัฐบาลเผด็จการในทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เราจะต้องวิเคราะห์และค้นหาคำตอบกันให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะส่งผลต่อการกำหนดแนวทางที่จะปฏิบัติการทางสังคม และการเมืองได้อย่างชัดเจน ความชอบธรรมของรัฐบาลนี้คืออะไร

- คือการเบื่อหน่ายความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ ?

- คือความสามารถของผู้นำรัฐบาล และคนที่อยู่ในรัฐนาวานี้ หรือไม่ ?

- คือความห่วงใยเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านอันสำคัญหรือไม่ ?

- คือความผิดพลาดจากการเคลื่อนไหวของทุกคน ทุกฝ่าย ที่มีส่วนทำให้ตาอยู่มาคว้าปลาไปกินคนเดียวใช่หรือไม่ ?

- คือการสมประโยชน์ของฝ่ายอำนาจ(ทหาร ข้าราชการ และฝ่ายทุน(ทุนเก่า ทุนใหม่) ที่กำลังวางแผนกลืนกินประเทศไทย หรือไม่ ?

- หรือเพราะเราหมดหนทางไป

“คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ คสช. จะอยู่ในอำนาจอีกพักใหญ่ และจะเป็นขุมอำนาจที่แข็งแรงมากขึ้น บนความไว้วางใจของคนกลุ่มใหญ่ และคนจำนวนนี้ก็พร้อมที่จะสูญเสียหลักการใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สิ่งนี้ยังคงอยู่อยู่ต่อไปเพื่อทำหน้าที่ที่เราไม่ได้มอบหมาย เราเพียงแต่คิดว่าอำนาจเช่นนี้จะทำให้ทุกอย่าง “ความสงบ”

“ขาลง” ของรัฐบาลชุดนี้ยังมาไม่ถึง มันอาจจะเป็นเพียงบทวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องนักหากเราเข้าใจว่ารัฐบาลชดนี้กำลังหมดสภาพ เพราะอาจจะตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ที่อำนาจนี้กำลังได้รับการสถาปนา และยอมรับเพิ่มมากขึ้นในสังคม ที่ไม่ใช่แค่ในหมู่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่คือการเกาะกลุ่มกับขุมอำนาจอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคืออำนาจของกลุ่มทุน อำนาจราชการ อำนาจการเมืองแบบเก่าที่กำลังร่วมผนวกกันในเวลานี้ “ ความเบ็ดเสร็จทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ” ในขณะที่กลุ่มความคิดทางการเมืองต่างๆยังวิวาทะกันไม่เลิกรา และความทุกข์ร้อนของประชาชนถูกมองจากฝ่ายหนึ่งว่าต้องรอประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างกระจัดกระจาย และกลับถูกตราหน้าว่าไม่แสวงหาความสงบเรียบร้อยในสังคม และไม่ร่วมเดินหน้าพัฒนาบ้านเมือง

เสียงเรียกร้องโหยหาความสามัคคีปรองดองของคนชั้นกลางผู้เบื่อหน่ายความวุ่นวาย ประสมประสานกับเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มอำนาจต่างๆ ในเวลานี้กำลังดังกังวานขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสภาวะจำนนของประชาชนไทย และนี่คือ “ขาลง” ของพวกเราทุกคนอย่างแท้จริง

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ค Somboon Khamhang 26 พฤษภาคม 2560