Skip to main content

 

 

"Make our planet great again !"

ทันทีที่คำกล่าวของท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศสใหม่ถอดด้าม นาม "Emmanuel Macron" ผู้สร้างความฮือฮาในเวทีการเมืองโลกเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ออกเสียงดังขึ้น

เป็นการแสดงความเห็นในรูปแบบเหน็บแหนมที่น่าสนใจ ไม่เพียงเฉพาะการตอบโต้ด้วยความไม่เห็นด้วยในกรณีที่ท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โดนัลล์ ทรัมป์" ประกาศถอดถอนสหรัฐอเมริกาออกจาก "ข้อตกลงปารีส" เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ 

"ข้อตกลงปารีส" หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า " Paris Agreement" เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเป้าไปในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๓ 

มีจุดมุ่งหมายในการบรรเทาสภาวะปัญหาโลกร้อน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เฉพาะเพียงชาติมหาอำนาจ หรือชาติสมาชิกเท่านั้น

กว่าจะได้ข้อตกลงปารีสที่ว่ามานี้ ก็มีความพยายามมากมายในการผลักดันให้เกิดผล ทั้งการเจรจาทวิภาคี ไปจนถึงการประชุมร่วมระหว่างประเทศต่างๆ จนก่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ จนนำไปสู่การลงนามที่ "นิวยอร์ค" เมื่อ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมานี้เอง และได้เก็บความตกลงนี้ไว้กับ "เลขาธิการสหประชาชาติ" 

ในเวลานั้น สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกชื่อว่า "บารัก โอบามา" จากพรรคเดโมแครตเป็นหัวหอกหลักของข้อตกลงนี้เลยทีเดียว

ถือเป็น "ผลงานชิ้นโบว์แดง" ในวาระสุดท้ายของประธานาธิบดีผิวสีคนนี้ ก่อนจะลาจากทำเนียบขาวไปในปีถัดมา

เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปรากฏชื่อของ "โดนัลล์ ทรัมป์" เข้าชัยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จากพรรครีพับริกัน แทนที่ "บารัก โอบามา" 

ความมั่นคงของความตกลงปารีสนี้ก็ถูกคุกคาม เนื่องด้วยนโยบายหาเสียงข้อใหญ่ข้อนึงของ "โดนัลล์ ทรัมป์" คือการถอน "สหรัฐอเมริกา" จากข้อตกลงปารีสนี้ 

โดยให้เหตุผลว่า "สหรัฐฯก้าวพลาดที่ไปสังฆกรรมกับข้อตกลงนี้ " และไม่ถือเป็นผลงานดีเด่นอะไรเลยของโอบาม่า สำหรับเขาก็คือ " Make America great again !" ต้องทำให้สหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง 

และความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯไม่จำต้องถูกผูกมัดในหลักเกณฑ์ที่จำกัดขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดังที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสที่เพิ่งเซ็นต์กันไปไม่ถึงปี

จนมาถึงต้นเดือนมิถุนายน ๖๐ , ประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้แถลงถึงการตัดสินใจที่จะเดินหน้าพาสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้ให้ได้ 

ตามมาด้วยคลื่นลูกใหญ่จากหลายฝั่งฝา ที่ตอบโต้การตัดสินใจของประธานาธิบดีวัย ๗๐ ปี จากพรรครีพับริกันรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเวทีการเมืองระดับโลก ไปจนถึงความเห็นของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือ การซุบซิบของประชาชน 

ต่อจากนี้ หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสนี้ ก็น่าสนใจที่สถานะของชาติมหาอำนาจที่ครองมานานนับสิบๆ ปี จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไร ? 

ด้วยบุคลิก ความคิด ทัศนคติของประธานาธิบดีที่อาจถือว่าเป็นสีสันมากที่สุดคนนึงของโลกนามว่า "โดนัลล์ ทรัมป์" คนนี้ จะทำให้นโยบายของสหรัฐฯพลิกผันไปทางใด เจ้าหน้าที่การเมือง หรือฝ่ายปฏิบัติการจะทำงานยากขึ้น หรือ ง่ายขึ้นแค่ไหน ? 

อย่าลืมนะครับว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็น "ทรัมป์" คนนี้แหละ ที่ไปเยือนยุโรป แล้วไปทวงหนี้บรรดาชาติพันธมิตรนาโต้มาหน้าด้านๆโดยไม่สนมารยาททางการเมืองมาแล้ว 

มาคราวนี้ ถอนตัวไป แบบนี้ 
เห็นที ... ชาติพันธมิตรหรือแนวร่วมต่างๆของสหรัฐฯ คงต้องทบทวนอะไรมากมายเลยทีเดียว 

รอดูต่อไปครับ ว่าหาก "ทรัมป์" ยังเชื่อว่าตนเองจะนำพาสหรัฐฯ ไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยไม่สนใจรากฐานของความยิ่งใหญ่ของโลกนั้นต่อไป 

ความเห็นต่างกันนี้ มองอีกมุม ก็น่าสนใจยิ่ง 
ถึงแนวคิดคนรุ่นก่อน กับ คนรุ่นใหม่ ที่ใช้แว่นตาในการมองโลกต่างกันจริงๆ .

#PrinceAlessandro
02-06-2017

ปล. "ข้อตกลงปารีส" นี้เป็นผลการประชุมร่วมกันของสมาชิกภาคีในกลุ่ม "United Nations Framework Convention on Climate Change" หรือ (UNFCCC) ที่มีชาติสมาชิกมากกว่า ๔๓ ประเทศ (รวมกลุ่มสมาชิก EU ส่วนใหญ่ด้วย) 

ปล๒. "ญี่ปุ่น" เป็นประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวในภาคีกลุ่ม UNFCCC นี้ ส่วน จีน , อินเดีย , ไทย , หรือกลุ่มประเทศ อาเซียน ไม่ได้อยู่ในภาคีนี้ครับ .