Skip to main content

 

อิควานุลมุสลิมูน (MuslimBrotherhood) (1) : อิควานเป็นกลุ่มแนวคิด?

 

 

ช่วงนี้คนพูดเรื่อง Muslim Brotherhood กันเยอะ เลยขอพูดถึงในมุมส่วนตัวที่เคยเก็บข้อมูลบ้าง ว่ากันไปทีละหัวข้อ ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน มองไปตามความยุติธรรมก็แล้วกัน

Muslim Brotherhood หรือ ภราดรภาพมุสลิม หรือ อิควานุลมุสลิมูน "ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีชุดศรัทธาเป็นการเฉพาะอันออกนอกแนวทางอย่างชัดเจน (sect) อย่าง ชีอะฮฺ เคาะวาริจญ์ มุอฺตะซิละฮฺ มัรญิอะฮฺ เกาะดะรียะฮฺ ฯลฯ แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม (Islamic Movement) ที่มีคนมัซฮับทั้งสี่ของสุนนีย์เข้าร่วม"

ความจริงที่ต้องยอมรับกันคืออุละมาอ์มากมายของอิควานเป็นที่ยอมรับในโลกอิสลามกระแสหลัก ไม่ใช่มีแค่คนสองคนแบบตามที่มักจะยกมาอ้างถึง (หะสัน อัลบันนา และสัยยิด กุฏบ) แต่มีคนอีกมากมาย ยกตัวอย่าง สัยยิด สาบิก เจ้าของหนังสือฟิกฮุสสุนนะฮฺ , อับดุล กะรีม ซัยดาน หัวหน้าคนหนึ่งของสาขาอิรัก เจ้าของงาน Encyclopedia เรื่องผู้หญิงและครอบครัว , มุฮัมมัด ฆอซาลีย์ เจ้าของงานเป็นร้อยชิ้น ที่โด่งดังคือ ฟิกฮฺ สิเราะฮฺ , เชคยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวีย์ เจ้าของงานฟิกฮฺ ซะกาต ซึ่งมหาวิทยาลัยคิงอับดุลอะซีซในซาอุฯ นำไปพิมพ์และแปลเป็นภาษาอังกฤษเองเลย ทั้งสี่คนนี้เคยได้รับรางวัล King Faizal Award ของซาอุฯด้วย ในสาขารับใช้อิสลาม เขาเรียกรางวัลโนเบลของโลกอิสลาม

ยังมีอีกมากมาย อย่างเชค ดร.มุสฏอฟา สิบาอีย์ ผู้ก่อตั้งสาขาซีเรีย หนังสือของท่านอย่าง อันสุนนะฮฺ วะ มะกานะตุฮาฯ นั้นพิมพ์อ่านในซาอุฯเอง , อุสตาซ มุฮัมมัด กุฏบ น้องชายสัยยิด กุฏบ ลี้ภัยจากอียิปต์มาสอนหนังสือที่อุมมุล กุรอ ที่มักกะฮฺ สอนหลายสิบปี เพิ่งเสียชีวิตไม่กี่ปีก่อน, เชค ดร.อุมัร อัลอัชก็อร เจ้าของหนังสืออะกีดะฮฺมากมาย คนนี้เป็นชาวปาเลสไตน์ ลูกศิษย์เชคอัลบานีย์ ตำราของเขาเป็นที่แพร่หลาย หาซื้อได้ในซาอุฯ, เชค ดร.อับดุลมะญีด ซินดานีย์ แกนนำสาขาเยเมน ก็มีงานมากมาย หนังสือบางเล่มของท่านอย่างความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน ก็ถูกแปลโดยอาจารยสุนนะฮฺคนหนึ่งที่กรุงเทพฯ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย

ว่ากันตามจริงแล้ว งานที่แปลเป็นภาษาไทยมากมายก็เป็นของพวกเขา ไม่ว่าสำนักพิมพ์สายสัมพันธ์ สำนักพิมพ์อัลญิฮาด สายสุนนะฮฺบ้านเราตีพิมพ์ให้มาแต่ไหนแต่ไร

ความจริงถ้าอิควานเป็นกลุ่มชุดศรัทธาพิเศษแบบกลุ่มนิกายจะไม่ถูกยอมรับ แต่พวกเขากลับได้รับการบรรจุเป็นครูบาอาจารย์ในซาอุฯ ก็หลายคน ตำราได้รับการแพร่หลาย มหาวิทยาลัยในซาอุฯ นั่นแหละที่ตีพิมพ์ให้

สรุปได้เหมือนๆ กับคนศึกษาเรื่อง Muslim Brotherhood จำนวนมากว่า นี่คือขบวนการ Revivalist ไม่ใช่กลุ่มที่มีชุดศรัทธาบิดเบือนเป็นการเฉพาะอย่างที่คนกำลังยัดเยียดให้

อีกประเด็นหนึ่งเท่าที่ฟังๆ มาจากคนที่ต่อต้านอิควานพยายามจะบอกว่าอิควานเป็น "ซูฟีย์" แต่พอขุดไปจริงๆ แบบที่เปิดเผยชัดเจนนั้น เป็นกลุ่มที่รับอิทธิพลมาจาก มุฮัมมัด รอชีด ริฎอ ซึ่งเป็นหัวหน้า Salafist Movement ที่มีชื่อเสียงที่สุดในรอบร้อยปี มีชีวิตช่วงรอยต่อระหว่างปี 1900 เป็นชาวเลบานอน มีเชื้อสายนบี ต่อมาเดินทางมาปักหลักที่อียิปต์ คนนี้ต่างหากที่ทรงอิทธิพลกับหะสัน อัล บันนามาก ถามว่าอัลบันนาได้รับแนวคิดจากซูฟีย์มั้ย ก็มี แต่ไม่ใช่ซูฟีย์แบบสายโยก แต่เป็นแบบแนวคิดเรื่องอิหฺซาน หรือเรื่องซุฮุดในอิสลาม รากฐานจะดีไม่ดียังพิสูจน์ได้จากคนที่สืบทอดตามมา ก็อุละมาอ์ที่เป็นศิษย์หะสันอัล บันนาตั้งแต่ยุคแรก ตามที่กล่าวถึงไปข้างบนๆ แล้ว

เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่มีชุดศรัทธาพิเศษแบบกลุ่มนิกาย อย่าง ชีอะฮฺ เคาะวาริจญ์ มันจึงฟังไม่ขึ้นเอาเลย และที่ทำให้งงไปอีกผู้ที่ใช้ข้อกล่าวหานี้กับอิควานขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่ปล่อยให้แนวคิดหลากหลายจำนวนมากยังคงอยู่ด้วยกัน นั่นหมายถึงไม่ได้เป็นกลุ่มที่เป็นสำนักคิดนั่นเอง ตกลงว่าอิควานเป็นอะไรกันแน่ ?

อิควานเป็นกลุ่มทำงานที่เปิดให้มีความคิดพัฒนาการได้ มีความหลากหลาย คล้ายๆ งานวิชาการ ใครที่เสนอหลักฐานที่ดีกว่า มีกระบวนการวินิจฉัยที่ดีกว่าก็ย่อมแย้งได้อยู่เสมอ มันเหมือนสังคมวิชาการในยุคแรก ๆ

เพราะฉะนั้นใครพยายามไปกำหนดแนวคิดอิควานตามหะสัน บันนา ตามสัยยิด กุฏบ ตามเกาะเราะฎอวีย์ ตามสิบาอีย์ ตามสะอีด ฮาวา หรือแม้แต่ตามมุรชีดสูงสุด ถือว่าไม่เข้าใจธรรมชาติอิควาน เพราะอิควานไม่ใช่กลุ่มสำนักคิดไง ถึงทำอย่างนั้นไม่ได้

เราตัดสินตามที่เห็น ไม่ตัดสินบนความสงสัย เอาที่ชัดๆ หมดหน้าที่เรา เราก็ต้องตัดสินแบบนี้กับอุละมาอ์และคนทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน