Skip to main content

 

 

แอมเนสตี้เสนอกระบวนการ UPR ของ UN

เรียกร้องไทยผ่าน พ.ร.บ. ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

 

 

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย ตลอดจนปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ผ่านกระบวนการของ UN โดยตัวแทนรัฐบาลไทยจะถูกทวงถามความคืบหน้าจากกระบวนการครั้งก่ออน โดยตัวแทนรัฐบาลไทยถูกทวงถามความคืบหน้าจากกระบวนการครั้งก่อนในวันนี้ (11 พ.ค.59)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งสำนักงานเลขาธิการใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เสนอสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนล่าสุดในประเทศไทยต่อกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review--UPR) ตามวาระของสหประชาชาติหรือ UN ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปีครึ่ง โดยระบุว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไทยอ่อนแอลงจากกระบวนการ UPR ครั้งก่อนเมื่อปี 2554

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งที่ส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการ UPR ยังพบว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการทบทวนครั้งก่อนด้วย โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก การลอยนวลพ้นผิดผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพ

ในกระบวนการ UPR รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ที่แรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยจะถูกถวงทามเกี่ยวประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดทำข้อเสนอแนะหลายประการต่อประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ที่ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ ไปจนถึงการยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และคำสั่งที่ให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีของพลเรือนด้วย

 

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

  • ยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และให้นำข้อบทตามรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกลับมาใช้ใหม่
  • ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และคำสั่งอื่น ๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมโดยสงบ และการเดินทางโดยพลการ และยกเลิกคำสั่งที่ให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนพลเรือน

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายพิเศษ

  • ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านี้ โดยให้ตัดข้อบทที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนออกไป โดยเฉพาะข้อบทที่ให้อำนาจกองทัพในการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และเปิดโอกาสให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนลอยนวลพ้นผิด
  • ประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนสามารถติดต่อกับครอบครัวทนายความ และแพทย์ที่เป็นอิสระ และมีการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบังคับใช้หลักประกันสิทธิเหล่านี้
  • ให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี(Optional Protocol to the Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)และให้หน่วยงานตรวจสอบสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระสามารถเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งโดยทันทีและไม่มีการปิดกั้นใด ๆ
  • ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ถูกควบคุมตัวต้องยอมรับหากต้องการได้รับการปล่อยตัวจาก “การปรับทัศนคติ” และให้นำผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนไปปรากฏตัวต่อศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที

กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ

  • ประกันการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ และให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจำคุกเนื่องจากใช้สิทธิเหล่านี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
  • ให้ยกเลิกอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบทลงโทษ คำตัดสินให้มีความผิดใด ๆและข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่ถูกฟ้องคดีเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ
  • ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อประกันให้ไม่มีการนำมาใช้ลงโทษผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก

โทษประหารชีวิต

  • ให้ประกาศการพักใช้โทษประหารชีวิตโดยทันที ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด
  • ให้เปลี่ยนฐานความผิดที่ระบุโทษประหารชีวิตใด ๆ เป็นโทษจำคุกแทนโดยไม่ล่าช้า
  • ให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต

การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

  • ออกกฎหมายในประเทศที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญานี้
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศอันสอดคล้องตามข้อบทของอนุสัญญา
  • ให้ชี้แจงที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และประกันว่าจะนำตัวผู้ที่กระทำการบังคับสูญหายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • ประกันให้มีการสอบสวนโดยทันที อย่างถี่ถ้วนและเป็นอิสระ เมื่อมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังฝ่ายความมั่นคงละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับการไต่สวนในศาลพลเรือน โดยระหว่างรอการสอบสวน ให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว
  • ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างเต็มที่

ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 และให้ตรวจสอบคำร้องขอที่พักพิงตามขั้นตอนปฏิบัติโดยพลันและอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อหลักการไม่บังคับส่งกลับ ประกันไม่ให้มีการบังคับเคลื่อนย้ายหรือส่งกลับบุคคลไปยังประเทศหรือดินแดนใดที่เสี่ยงอย่างแท้จริงว่าบุคคลจะถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
  • ยุติการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงและยุติการควบคุมตัวเด็กด้วยวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการอพยพเข้าเมือง

UPR คืออะไร? ภาษาไทย

UPR คืออะไร? ภาษาอังกฤษ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.amnesty.or.th/news/press/772