Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1)

America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรในงานประชุมวิชาการโลกมุสลิม ประจำปี 2560 จัดโดย ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาให้ความรู้ในหลากหลายแง่มุม

หัวข้อที่ผมบรรยายร่วมกับวิทยากรท่านอื่น ๆ ในช่วงบ่ายคือ “America First Agenda :ปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไทย” ทั้งนี้ เห็นว่าเนื้อหาเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับประเด็นที่ผมพยายามติดตามหรือ “เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ” เพราะ America First ถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของทรัมป์ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากจะนำเนื้อหาโดยสรุปในส่วนของผมมาเสนอในที่นี้ด้วยครับ

แม้จะผ่านมาแล้วหลายเดือนสำหรับการทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัล ทรัมป์ แต่นโยบาย America First ของเขาก็ยังมีข้อคำถามให้ได้ถกเถียงกันต่อเนื่องในปลายประเด็น ทั้งในแง่นัยและการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อโลก ตลอดจนการทบทวนว่านโยบายต่างประเทศ America first หรือผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อนจะมีรูปแบบวิธีการอย่างไรหรือด้วยลักษณะที่กลับไปกลับมาของนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ ก็ทำให้ชวนคิดวิเคราะห์ว่านโยบาย America First ของทรัมป์ที่ใช้ตอนหาเสียง จะสามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ หรือว่าได้ปรับเปลี่ยนไปแล้วหลังเข้ารับตำแหน่ง

ในช่วงหาเสียง ทั่วโลกค่อนข้างฮือหากับนโยบาย America First โดยเฉพาะเมื่อผลการเลือกตั้งยืนยันว่าเขาเป็นผุ้ชนะ ยิ่งทำให้นานาประเทศรีบประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเอง เพราะในความหมายของมันคือการที่อเมริกากำลังจะหันหลังให้โลกกาภิวัตน์ กำลังจะพังระเบียบโลกที่ตัวเองสร้างมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือระเบียบโลกเสรีนิยม (Liberal World Order: ที่อเมริกาครอบงำมาตลอด) ทรัมป์กำลังปลุกกระแสชาตินิยม กระแสขวาจัด กีดกันการค้าและปกป้องทางการค้า (protectionism) โดยศาสตราจารย์อมิตาฟ อจาร์ยา แห่งมหาวิทยาลัยอเมริกัน กรุงวอชิงตัน มองว่าเป็น “the end of American World Order” หรือจุดจบสำหรับระเบียบโลกของอเมริกา

การชูนโยบาย America First เพื่อจะสื่อว่าที่ผ่านมา อเมริกายึดหลักผลประโยชน์สากลหรือพูดง่าย ๆ คือ อะไรที่อเมริกาทำย่อมดีต่อโลกและสังคมระหว่างประเทศเสมอ ๆ (Internationalism) แต่ต่อไปนี้อเมริกาจะยึดผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งซึ่งไม่ได้รับประกันว่าจะดีต่อโลกเสมอไป ประเทศอื่น ๆ ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอง อย่างไรก็ตาม หากมองโลกตามสภาพจริง (realism) ชาติต่าง ๆ ก็ยึดผลประโยชน์ของตนเป็นตัวตั้ง รวมทั้งอเมริกาก็ยึดผลประโยชน์ของตนต้องมาก่อนอยู่แล้ว แต่ที่ไม่มีปัญหาเพราะสามารถทำให้ผลประโยชน์สากลเป็นผลประโยชน์ของตัวเองได้ในลักษณะที่สอดรับไปด้วยกัน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั่น สหรัฐฯกำลังประสบปัญหาหลายด้านและไม่สามารถบังคับทิศทางของโลกาภิวัตน์(uncontrolled globalization) ให้สอดรับกับผลประโยชน์ของชาติหรือในระเบียบที่อเมริกาสร้างขึ้นมาได้อีกต่อไปด้วยกับหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะอำนาจของกลุ่มใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาท้าทายผลประโยชน์ของอเมริกาโดยตรง ดังนั้น America First จึงไม่ใช่เรื่องใหม่

หากย้อนกลับไปมองอดีตก็จะมีหลายกรณีที่อาจสะท้อนแนวทางในการกำหนดนโยบายของอเมริกาที่เมื่อใดก็ตามผลประโยชน์แห่งชาติขัดกับผลประโยชน์สากล เมื่อใดที่สหรัฐไม่สามารถควบคุมหรือกรณีที่จะนำไปสู่การถูกผูกมัดระหว่างประเทศ สหรัฐฯจะละทิ้งระบบนั้น ๆ หรือไม่เอาตัวเองไปผูกมัดด้วย แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมโลกก็ตาม เช่น การที่สหรัฐฯไม่เข้าร่วมกับสันนิบาตชาติเพราะไม่ต้องการถูกผูกมัด การที่สหรัฐฯล้มระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) เพราะขาดดุลทางการค้า และกรณีไม่ลงนามพิธีสารเกียวโตด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งไม่ต่างจากปัจจุบันที่อเมริกาได้ยกเลิกข้อตกลง TPP และเผชิญปัญหาขาดดุลการค้าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ America First ตามที่ทรัมป์ต้องการคือการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ Make America great again เพราะมองว่าอเมริกากำลังเสื่อมลง ๆ ทั้งในแง่อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจการว่างงาน และปัญหาอื่น ๆ

แต่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญมากสำหรับสหรัฐฯในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ก็คือการที่พันธมิตรหลักของสหรัฐฯในภูมิภาคต่าง ๆ กำลังทยอยตีตัวออกห่างแล้วไปซบรัสเซียหรือไม่ก็จีน ซาอุดีอาระเบีย (ก่อนหน้านี้) ก็ทำท่าจะเดินหนีจากสหรัฐฯ เห็นได้จากนโยบายพึงพาตนเองทางด้านความั่นคงและเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะไม่พอใจอเมริกาหลายเรื่อง เช่น การเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านจนนำไปสู่การยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน การผ่านกฎหมายเพื่อความยุติธรรมต่อต้านการสนับสนุนการก่อการร้าย (Justice Against Sponsors of Terrorism Act: JASTA) และกรณีที่ซาอุดีอาระเบียกับตุรกีเคยเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้าปฏิบัติการใช้กำลังโค่นล้มระบอบอัซสาด แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ทำตาม จึงอาจทำให้พันธมิตรหลักอย่างซาอุดีอาระเบียและตุรกีนำบทบาทของสหรัฐฯไปเปรียบเทียบกับรัสเซียที่ทุ่มกำลังเต็มที่เพื่ออุ้มรัฐบาลอัซสาด จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นซาอุดีอาระเบียเริ่มหันไปหารัสเซีย ไปลงทุนมหาศาลในจีน เดินสายเชื่อมสัมพันธ์กับหลายประเทศในเอเชียในช่วงที่ผ่านมา กรณีของตุรกีก็หันไปหารัสเซียอย่างที่ปรากฏ

กรณีของฟิลิปปินส์พันธมิตรสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท้ายที่สุดการหนุนหลังของสหรัฐฯในปัญหาทะเลจีนใต้ก็ไม่สามารถหยุดยั้งจีนในการสร้างเกาะเทียมได้ ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและหันไปดีกับจีนแทน ทั้งนี้ ยังมีสัญญานจากอีกหลายประเทศที่อาจย้ายค่ายหรือไม่ก็เริ่มขยับออกห่างสหรัฐฯ เพราะไม่มั่นใจว่าสหรัฐจะคุ้มครองผลประโยชน์ของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เช่น กรณีเกาหลีใต้ในช่วงหาเสียงก็มีการรณรงค์ say no to America โดยผู้สมัครที่ต่อมาชนะการเลือกตั้งเสียด้วย แม้แต่ไทยก็ต้องปรับสมดุลใหม่

ปากีสถานพันธมิตรแนวหน้าในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ก็ยกระดับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีนอยู่แล้วให้กระชับมากยิ่งขึ้น อีกทั้งปากีสถานก็มีความสำคัญกับจีนมากในการสร้างเส้นทางสายไหม

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบกับความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายตั้งแต่สมัยโอบาม่า ยิ่งไปกว่านั้นพันธมิตรทั้งหลายยังต้องถูกผลักให้ต้องออกห่างจากสหรัฐฯ ด้วยนโยบาย America First ในสมัยของทรัมป์ ที่เน้นผลประโยชน์อเมริกาและมองว่าถูกพันธมิตรเอาเปรียบมาตลอด จากนี้ไปพันธมิตรของสหรัฐฯต้องดูแลตัวเองบ้าง สหรัฐฯจะไม่ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการคุ้มครองประเทศอื่น ๆ เหมือนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นแค่การรณรงค์ช่วงหาเสียงหรือทรัมป์มีนโยบายแบบนี้จริง ๆ แต่มันก็ส่งผลให้เกิดการปรับดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทรัมป์และพรรคริพับลิกันคงตระหนักเป็นอย่างดีว่าถ้าต้องการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ต้องรีบแก้ปัญหาพันธมิตรย้ายค่ายอย่างเร่งด่วน โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าทรัมป์ได้ทำแล้วและได้ผลระดับหนึ่ง แต่ด้วยวิธีการไหนอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

 

อ่านตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน