เชิญชวนร่วมงาน "คืนความทรงจำ: เมืองญาบะ" ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ณ ศาลาประชาคมอำเภอรือเสาะ / โรงเรียนภัทรียาอนุบาล จ.นราธิวาส
ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ที่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ จนถึงบัดนี้ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่าห้าพันคน และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน หลายพื้นที่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดโดยความถี่และความรุนแรงให้กลายเป็นเขตสีแดงไปโดยอัตโนมัติ หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงในแง่มุมดังกล่าวนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องรวมอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสอยู่ในรายชื่อดังกล่าวด้วย
ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองในมิติของความมั่นคงแล้ว พื้นที่อำเภอรือเสาะและรัศมีใกล้เคียงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เจ้าหน้าที่ทุ่มเทสรรพกำลังทางการทหารในการพยายามแก้ไขปัญหาความไม่สงบ การแก้ปัญหาในมิติความมั่นคงบ่อยครั้งทำให้ทำให้เจ้าหน้าที่ละเลยและมองข้ามความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เคยมีมาอย่างยาวนาน และเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่
อำเภอรือเสาะ หรือ เมือง “ญาบะ” ในบริบทความเข้าใจของคนที่อยู่อาศัยหลายชั่วอายุคนนั้น เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ และมีความสำคัญในหลายมิติสำหรับพวกเขา และที่สำคัญที่สุดในความทรงจำของพวกเขา ความเป็นคนญาบะ คือสิ่งที่ยังตราตรึงใจพวกเขาให้ผูกพันกับเมืองแห่งนี้อย่างมิเสื่อมคลาย
ในวันวาน เมืองญาบะ ถือได้ว่าเป็นเมืองชุมทางทางการค้าที่ซ่อนตัวอยู่ในเขตภูเขาและห่างไกลจากศูนย์กลางของสามจังหวัดอย่างปัตตานีอยู่พอสมควร เส้นทางรถไฟที่พาดผ่านตัวเมืองญาบะได้กำหนดให้เมืองญาบะกลายเป็นชุมทางทางการค้าและแลกเปลี่ยนของสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเกตรกรรม และลักษณะนิสัยของคนญาบะเองที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน พร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆ ทำให้เมืองญาบะมีการเติบโตกว่าบริเวณโดยรอบไปโดยปริยาย และที่สำคัญยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้คนจากภายกับทรัพยากรจากแผ่นดินตอนใน ญาบะจึงเป็นเมืองที่ดึงดูดให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายความเชื่อและหลากหลายวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันในเมือง
และเฉกเช่นเดียวกันยังเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้คนจากในพื้นที่เดินทางออกไปพบโลกกว้างและนำตำนานการเดินทางของพวกเขามาเผยแพร่และสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่น เมืองญาบะในอดีตจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธ์ วัฒนธรรมถ้อยทีถ้อยอาศัยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้า และเมืองญาบะแห่งนี้ยังเป็นเมืองสร้างนวัตกรรมทางความคิดอีกหลายประการ ทั้งหลายทั้งปวงคือสายใยที่ทำให้ผู้คนที่หลากหลายได้เชื่อมร้อยความทรงจำของพวกเขากับเข้าไว้กับเมือง ญาบะ แห่งนี้
เหตุการณ์ความไม่สงบอาจทำให้สายใยในอดีตคลายตัวเองลงเมื่อปัจจัยในเรื่องความไม่ปลอดภัยได้เร่งเร้าให้หลายคนต้องย้ายภูมิลำเนาออกจากพื้นที่ แต่เชื่อได้ว่าเมื่อทุกคนได้สำรวมจิตใจตัวเอง และแง้มมองความทรงจำ และความผูกพันที่เชื่อมต่อเข้ากับเมืองญาบะแล้ว ทุกๆ คนต่างถวิลหาถึงความอบอุ่นนั้น ให้ตระหนักได้ว่า หนึ่งในความพยายามของหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบนั้นคือการรื้อฟื้นความหลากหลายและสายใยผูกพันที่เชื่อมร้อยกันในอดีตให้กลับมาเป็นดั่งเดิม โครงการคืนความทรงจำ : เมืองญาบะ จึงน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญที่จะเร่งปัจจัยต่างๆ ที่ได้แตกสลายลงให้กลับมาเป็นดั่งเดิมได้บ้างพอสมควร
อนึ่ง ตลอดงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “คืนความทรงจำ : เมืองญาบะ” ประกอบไปด้วยภาพถ่ายการเสด็จประพาสเมืองญาบะ การแสดงภาพถ่ายเมืองญาบะในความทรงจำ การจัดแสดงวัตถุโบราณและมรดกประจำตระกูลของคนญาบะ การจัดแสดงพาหนะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนญาบะเช่น รถคลาสสิค และรถโบราณต่างๆ รวมถึง การแสดงสาธิตการทำอาหารโบราณเลื่องชื่อ
(บางส่วนของภาพถ่ายกว่า 130 ภาพที่ทางคณะจัดงานเตรียมที่จะจัดแสดงภายในวันงาน)
หมายเหตุ : นิทรรศการ “คืนความทรงจำ : เมืองญาบะ” จะจัดต่อไปอีก 2 วัน ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2556 โดยจัดแสดงในบริเวณลานโรงเรียนภัทรียาอนุบาล ยกเว้นการแสดงสาธิตการทำอาหารโบราณเลื่องชื่อ
######################
กำหนดการ
คืนความทรงจำ : เมืองญาบะ
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ณ ศาลาประชาคมอำเภอรือเสาะ / โรงเรียนภัทรียาอนุบาล
คืนความทรงจำ : เมืองญาบะ
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ณ ศาลาประชาคมอำเภอรือเสาะ / โรงเรียนภัทรียาอนุบาล
08.30 - 08.40 น. พิธีเปิด โดยการเชิญอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน(โดยทายาทคอรีอาเซียน)
08.40 - 09.00 น. คณะทำงานกล่าวถึงที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
09.00 - 09.50 น. ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ชุมชนพหุวัฒนธรรม และการสร้างสันติภาพ
09.50 - 10.00 น. ฉายสารคดีสั้นเรื่อง “คืนความทรงจำ : เมืองญาบะ”
10.00 - 12.00 น. เสวนาในหัวข้อ “คนแห่งญาบะ”
12.00 - 14.00 น. พักรับประทานอาหารและละหมาดซุฮรี
14.00 - 17.30 น. เสวนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ผ่านคำบอกเล่า”