เผยแพร่วันที่ 27 ตุลาคม 2553
แถลงการณ์
6 ปี ตากใบกับการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์:
เรียกร้องให้ยุติการกระทำที่โหดร้ายต่อผู้บริสุทธ์ รัฐต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้เป็นธรรม
จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 รายงานว่าในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเกิดเหตุระเบิด 9 จุดและการเผาทำลาย 1 จุด ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 13 ราย โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งตรงกับวันครบรอบหกปีเหตุการณ์ตากใบ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ผู้ก่อเหตุร้ายยุติการกระทำที่โหดร้ายต่อผู้บริสุทธิ์และขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่อาจกลายเป็นผู้พิการซึ่งต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม ทั้งนี้เพื่อเยียวยาความเสียหายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง13 ราย โดยเฉพาะบุคคลที่สูญเสียขาทั้งสองข้างจำนวนหนึ่งรายและเสียขาซ้ายจากเหตุระเบิดรวมเป็นจำนวนสองรายตามที่เป็นข่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตามข้อเสนอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยเป็นการต่ออายุพรก.ฉุกเฉินครั้งที่ 21 มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2553 -19 ม.ค.2554 โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังมีความรุนแรงในบางจุดถึงแม้เจ้าหน้าที่จะพยายามระงับยับยั้งและป้องกันก็ตาม แต่ยังจำเป็นต้องขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไป
มูลนิธิ ฯ มีความเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาอาจเป็นเครื่องมือของรัฐที่ไม่ได้ผล เพราะยังไม่สามารถระงับเหตุ ไม่สามารถพาแนวทางนโยบายสันติวิธีได้ และยังไม่มีแนวโน้มว่าฝ่ายความมั่นคงจะสามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนได้ ฝ่ายก่ออาชญกรรมก็ไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมายดังกล่าว แม้จะมีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับพร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงไปปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากถึง 60,000 นาย คิดเป็นสัดสวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่อประชากรในพื้นที่ซึ่งสูงถึง 1: 30 คน โดยเปรียบเทียบกับสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของประเทศไทยคือ 1: 1,985 คน หรือสัดส่วนของพยาบาลสัดส่วนของพยาบาลต่อจำนวนประชากรคือ 1: 532 คน ตัวเลขจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดังกล่าวนี้จึงเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า การให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐในความหมายแคบซึ่งหมายแต่เพียงการปราบปรามการก่อความไม่สงบอาจไม่ใช่เพียงหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้ง อาจเป็นเครื่องมือใหม่ที่รัฐบาลต้องนำมาทบทวนอย่างเร่งด่วนและร่วมกันทุกภาคส่วนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองเพื่อทำให้กฎหมายและกลไกปกติของหน่วยงานพลเรือนเข้ามาพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ให้ไม่น้อยไปกว่าการรักษาความมั่นคงของรัฐ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ใดใด ที่มุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ไปมากกว่านี้เกิดขึ้นอีก โดยต้องยึดหลักการจากถ้อยคำซึ่งมีอิทธิพลในทางวิชาการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงที่ว่า “สนับสนุน ไม่แย่งชิงอำนาจที่ชอบธรรมของพลเรือน” (“Support, not Supplant, Civilian Authority”)[1]
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอยืนยันว่า “สิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน เมื่อมีการเข่นฆ่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม รัฐมีหน้าที่ต้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม มีเพียงสองสาเหตุเท่านั้นที่รัฐไม่ดำเนินการดังกล่าว คือรัฐไม่เต็มใจ (Unwilling) ที่จะจับกุมผู้กระทำผิด เนื่องจากอาจเป็นกระทำผิดโดยรัฐหรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของรัฐ หรือรัฐไม่สามารถ (Unable) ที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งรัฐที่ไม่สามารถก็คือรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ในที่สุดผู้ที่ถูกกดขี่รังแก ทำร้ายเข่นฆ่า ก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง จนอาจถึงขั้นจับอาวุธและกลายเป็นสงครามกลางเมือง ตามข้อความในอารัมภบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในวรรคที่สามได้กล่าวไว้ว่า “ด้วยเหตุที่เป็นสิ่งจำเป็นที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม ถ้าไม่ต้องการให้มนุษย์ถูกบีบบังคับให้หาทางออกสุดท้ายโดยการขบถต่อทรราชย์และการกดขี่”
แถลงการณ์ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939
กรุณา ติดตามอ่านหนังสือเรื่อง กฎหมายความมั่นคง: หนทางการแก้ไขความขัดแย้ง?
ศึกษากรณีสี่อำเภอจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553
หมายเหตุ : ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ
เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ในช่วงระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตบนรถขนย้ายผู้ชุมนุม 78 รายเสียชีวิตที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ 6ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย มีผู้ถูกจับกุมจำนวนกว่า 1,300 คน และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุถึงพฤติการณ์และผู้ที่ทำให้ตาย ทำให้ญาติผู้ตายเห็นว่ายังไม่เป็นธรรมต่อผู้ตาย ญาติผู้ตายจึงร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา และขอให้มีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรมตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 และตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ษ.43/2552 คดีหมายเลขแดงที่ ษ. 42/ 2552 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาที่ไม่รับคำร้องดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีแพ่งญาติบางส่วนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและได้รับเงินชดเชยไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมพ.ศ 2550 สำหรับคดีอาญา ปัจจุบันกลุ่มญาติตากใบได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เพื่อร้องขอให้กสม. ช่วยเหลือในการฟ้องคดีอาญาเพื่อเยียวยาด้านความยุติธรรมและต้องการให้ความจริงปรากฎ ซึ่งขณะนี้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสม. จากการทำงานของภาคประชาสังคมต่อกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกรณีตากใบพบว่าแม้รัฐบาลจะถอนฟ้องคดีที่ผู้ชุมนุมตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาข้อหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมและต่อสู้ขัดขวางฯเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ตากใบจำนวน 58 คนไปแล้วเมื่อพ.ศ. 2551 แต่ญาติและกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังคงถูกติดตามและหลายกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบ หลายรายหลบหนีหรือต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยความหวาดกลัว เชื่อได้ว่ามีการนำเหตุการณ์ตากใบที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมไปขยายความให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐและต่อกระบวนการยุติธรรม ผู้ได้รับผลกระทบหลายคนอยากจะลืมเหตุการณ์ดังกล่าวและเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่มีญาติผู้สูญเสียลูกชายรายหนึ่งได้เคยกล่าวว่า “เมื่อใดที่พูดถึงเหตุการณ์ตากใบ พวกเราทุกคนจะรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันเพิ่งจะเกิดขึ้นมาเมื่อวานนี้เอง”